แก้ปัญหาซื้อเสียงยังไงหรอ? แจกเงินค่าเดินทางให้ผู้มาเลือกตั้งคนละ 500 สิ!
ข้อความข้างต้น คือสิ่งที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เสนอให้ภาครัฐหรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จ่ายค่าเดินทางให้ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งคนละ 500 บาท เพื่อแก้ปัญหาซื้อเสียงและทุจริตในการเลือกตั้ง
เท้าความก่อนว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา ระหว่างการประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) มีการพิจารณา ‘รายงานการศึกษาแนวทางการส่งเสริมและการพัฒนาการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม’ ของคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา
ไอเดียจ่าย 500 มีที่มาจากรายงานการศึกษานี่แหละ โดย ส.ว.วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี ชี้แจงสาระสำคัญของรายงานว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมามีปัญหาการซื้อเสียงและทุจริตเลือกตั้ง การเลือกตั้งไม่เป็นไปตามกฎหมาย
จึงเสนอให้ ภาครัฐ หรือ กกต. จ่ายค่าพาหนะให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งคนละ 500 บาท รวมเป็นงบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท (คำนวณจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 40 ล้านคน) ด้วยเชื่อว่าเงินอุดหนุนจะกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างแรงจูงใจให้คนไปเลือกตั้ง และจะทำให้ประชาชนตอบแทนคุณแผ่นดิน เลือกคนดีมีความรู้ ไม่ซื้อสิทธิขายเสียง เพราะได้เงินจากหลวง ไม่ใช่นักการเมือง ..แถมทำให้เห็นว่า ประชาธิปไตยกินได้
หลังชี้แจงสาระจากรายงานการศึกษาฯ ที่ประชุม ส.ว. ก็อภิปรายกัน มีผู้สนับสนุนให้จ่ายเงิน 500 บาท พร้อมกับเสนอแนวทางป้องกันการซื้อเสียงอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย จนท้ายที่สุดก็ไม่มี ส.ว.คนไหนคัดค้านรายงานนี้เลย ถือว่าที่ประชุม ส.ว. เห็นชอบ และอยู่ในขั้นตอนนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป
นำมาสู่คำถามจากสังคมว่า เป็นการซื้อเสียงจากรัฐบาลหรือไม่? จ่าย 500 แล้วจะแก้ทุจริตเลือกตั้งได้จริงหรือเปล่า? อันตรายกับระบอบประชาธิปไตยไหม? The MATTER จึงสัมภาษณ์ สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย และชวนทุกคนไขข้อสงสัยไปด้วยกัน
สติธรยืนยันว่า การอุดหนุนเงิน 500 ไม่สามารถแก้ปัญหาทุจริตเลือกตั้งได้ “คำถามที่ตามมาคือ ถ้ารัฐจะสู้ด้วยการเอาเงินไปแจกแข่งกับนักการเมือง มันต้องแจกแค่ไหนถึงจะพอ สมมติแจก 500 มันจะใช้เดินทางได้แค่ไหน กทม. ไปเชียงใหม่หรืออีสานขาเดียวยังอาจไม่พอเลย กลายเป็นว่าพอจ่ายน้อยเกินไป นักการเมืองอาจจะบอกว่าเดี๋ยวให้เพิ่ม 1,500 เพื่อให้ครบ 2,000 ก็ได้”
ในท้ายที่สุด เงินอุดหนุนจากรัฐอาจเป็นแค่การแบ่งเบาภาระนักการเมืองให้จ่ายเงินน้อยลง และอาจทำให้นักการเมืองซื้อเสียงได้มากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะยิ่งจ่ายราคาถูกลง ก็จะได้จำนวนหัวคนที่ซื้อมากขึ้น
ฝั่ง ส.ว. อธิบายว่า ข้อเสนอจ่ายเงิน 500 มีเหตุเพราะอยากลดการซื้อสิทธิขายเสียง ขณะเดียวกันก็อยากจูงใจและลดค่าใช้จ่ายในการมาเลือกตั้งด้วย ซึ่งสติธรเสนอว่า หากอยากลดภาระค่ายใช้จ่ายในการไปใช้สิทธิจริง ก็ควรทำให้การใช้สิทธิเลือกตั้งสะดวกขึ้น เช่น ทำให้การเลือกตั้งมาอยู่ใกล้ที่ทำงาน ไม่ต้องกดดันให้ประชาชนต้องกลับภูมิลำเนา ขยายเวลาเลือกตั้งนอกเขตให้นานขึ้น เช่น จากวันเดียวเป็น 5-7 วัน และเปิดนอกเวลาราชการด้วย เป็นต้น
“ซึ่งมันแก้ปัญหาเรื่องซื้อเสียงได้ด้วย เพราะประชาชนที่ใช้สิทธิก็ไม่ต้องไปเจอนักการเมืองที่ไล่ซื้อเสียง เพราะมาทำงานนอกพื้นที่ นักการเมืองจะจ่ายเงินให้ที่ไหน จะจ่ายเงินให้ที่บ้านให้พ่อแม่ ก็ไม่มั่นใจและเช็คไม่ได้ว่าจะเลือกไหม นักการเมืองก็ไม่จ่าย แก้ปัญหาซื้อเสียงได้ดีกว่า” สติธร กล่าว
หรือถ้าอยากใช้โมเดลจ่ายเงินจริงๆ สติธรเล่าว่า ในต่างประเทศก็มีโมเดลจูงใจลักษณะนี้เช่นกัน แต่ไม่ใช่การตั้งงบประมาณภาษีมาจ่ายให้คนไปเลือกตั้ง
“ในต่างประเทศจะมีโมเดลที่ หากคุณไม่ไปเลือกตั้งจะปรับเงิน เพื่อเอาเงินไปให้คนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นการเอาเงินคนที่ไม่มาเลือกไปถัวเฉลี่ยแจกให้คนที่มาเลือก ถ้าอยากแจกเงินจริงๆ โมเดลนี้มันก็ได้ไง ไม่ต้องใช้ภาษีประชาชนด้วย หรือถ้าหารมาแล้วเงินมันน้อย ก็ทำเป็นระบบลอตเตอรี่รางวัลใหญ่เลยก็ได้ บางประเทศก็ทำแบบนี้”
“แต่ละประเทศจะมีโมเดลจูงใจแตกต่างกัน แต่เขาไม่ได้ให้เงินฟรีๆ แบบนี้ ไม่ได้เอาภาษีมาแจก หากจะทำโมเดลนี้ได้ต้องหาวิธีเอาเงินมาก่อน” สติธร อธิบาย
หากแจกเงินจริง เป็นการซื้อเสียงจากรัฐบาลหรือไม่? สติธรระบุว่าไม่แปลกที่คนจะคิดเช่นนั้น เพราะหากเงินอุดหนุนมาจากการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ คนก็จะมองว่าเงินมาจากรัฐบาล ในทางการเมืองคนก็จะรู้สึกว่ารัฐบาลเป็นคนให้เงิน ซึ่งหากจะทำจริง ก็ควรต้องระมัดระวัง และให้หน่วยงานที่ไม่ใช่รัฐบาลเป็นผู้จัดสรรงบประมาณ เช่น กกต. หรือองค์กรอิสระที่ไม่ข้องเกี่ยวกับรัฐบาลและพรรคการเมือง
หลายฝ่ายกังวลว่าอาจอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย สติธรชี้แจงว่า “จะอันตรายหรือไม่อยู่ที่เจตนาและวิธีการ ซึ่งมาตรการที่ไม่รอบคอบพอ ก็อาจยิ่งตอกย้ำให้คนคิดว่า ‘ถ้าไม่ได้เงิน ก็จะไม่ไปใช้สิทธินะ‘ แบบนี้มันก็ทำลายระบอบประชาธิปไตย”
สติธรยกตัวอย่างว่า ในต่างประเทศทำด้วยเจตนาจูงใจให้คนไปใช้สิทธิเยอะๆ ด้วยฐานคิดว่า ในระยะยาวหากคนไปใช้สิทธิสม่ำเสมอก็จะเกิดการเรียนรู้และพัฒนาเชิงคุณภาพได้ ดังนั้น หากทำก็ต้องรอบคอบ ทำให้คนเห็นว่าสิทธิเสรีภาพการแสดงออกคือเรื่องปกติ การได้เงินชดเชยเป็นเพียงการแบ่งเบาภาระโดยรัฐ ส่วนสิทธิในการออกเสียงยังเป็นอำนาจของเรา สิทธิเสรีภาพของเรายังไม่ได้ถูกลดทอนไป แบบนี้จึงจะไม่ทำลายระบอบประชาธิปไตย
เมื่อถามว่าโอกาสที่รัฐบาลจะพิจารณาเห็นชอบหรือไม่ สติธรตอบว่า “ไม่น่าจะเป็นไปได้”
อย่างไรก็ดี ข้อเสนอนี้อาจไม่ทันการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า แนวคิดนี้สามารถทำได้ แต่ถ้าจะทำต้องแก้กฎหมาย เพราะตอนนี้กฎหมายยังไม่อนุญาตให้จ่ายเงินสำหรับการเลือกตั้ง
“ส.ว. พูดเพื่อให้ทำในอีก 2-3 ปีข้างหน้า หมายถึงทุกเรื่องที่ ส.ว. เสนอมา” คือสิ่งที่วิษณุกล่าว เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเสนอจะไม่ทันเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะถึงใช่หรือไม่
เมื่อถามย้ำว่ามีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ วิษณุตอบว่า “ไม่เคยเห็นที่ไหนใครทำ”
ทั้งนี้ ประเด็นแจกเงิน 500 ให้คนไปใช้สิทธิ ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตาต่อไปว่า รัฐบาลจะพิจารณาเห็นชอบหรือไม่ อย่างไร
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก
https://www.matichon.co.th/politics/news_3785468
https://workpointtoday.com/politic-wisanu-2/