ดังที่ทุกท่านคงได้รับทราบกันแล้วว่าสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ที่ได้รับการแต่งตั้งมานั้นเป็นใครบ้าง สื่อเจ้าต่างๆ แทบทุกเจ้าเองก็ได้ทำกราฟิกแจกแจงรายละเอียดให้เห็นว่า ‘ใครเป็นใคร’ บ้าง ในหมู่ ส.ว. ชุดนี้ ทั้งในแง่มุมของอาชีพ สถาบันและรุ่นที่เรียนจบมา ความเป็นเพื่อนว่าเป็นมิตรสหายของใครบ้าง กราฟิกแสดงรายละเอียดญาติมิตรของบุคคลสำคัญที่ดูจะมีส่วนได้ส่วนเสีย หรือกระทั่งแจกแจงรายละเอียดในมุมของ ‘ความต่อเนื่อง’ ยาวนานของการได้รับเลือกให้ดำรงอยู่ในตำแหน่ง ที่บางคนต่อเนื่องยาวมาตั้งแต่รัฐประหารปี พ.ศ. 2549 กันเลยทีเดียว
จากข้อมูลเหล่านี้ที่ถูกแจกแจงรายละเอียดมาให้เห็นมากมายและครอบคลุมทุกด้านมากแล้วนี่เองครับ ที่ผมคิดว่าพอจะพูดอย่างแฟร์ๆ ได้ว่า หากติดตามข่าวและรายละเอียดเรื่องนี้บ้าง ก็ต้องยอมรับได้โดยชัดเจนว่า ส.ว. ชุดนี้ไม่มีทางจะสามารถเรียกได้ว่า ‘เป็นกลาง’ หรือ ‘ไม่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียในตำแหน่งทางการเมือง’ เป็นแน่แท้ และแทบทุกคนนั้นสามารถถามถึงความเหมาะสมด้านคุณสมบัติ (นอกเหนือไปจากปัญหาเรื่องความไม่เป็นกลางนี้) ได้แทบทั้งสิ้นด้วย ว่าแบบภาษาบ้านๆ คือ ไม่เพียงแต่จะมีส่วนได้เสีย แต่ยังห่วยเกินกว่าจะสมควรมาดำรงตำแหน่งนี้ สนช. บางคนเคยโดดประชุมลงมติกว่าสองพันครั้งก็ยังได้รับเลือกกลับมาเป็น ส.ว. อีก เพียงเพราะความสัมพันธ์ทางเครือญาติเพื่อนฝูงที่แข็งแกร่ง
สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าไม่มีทางปฏิเสธได้แล้วว่า มันคือการลงทุนทุกอย่างเพื่อให้พรรคพลังประชารัฐได้ครองสภาให้จงได้ (ซึ่งก็ดูจะสอดคล้องกับบทความที่ผมเขียนถึงพรรคพลังประชารัฐเมื่อสัปดาห์ก่อน) ว่าง่ายๆ ก็คือ เป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนที่เหนือยิ่งกว่าที่สมัยก่อนเคยด่าว่า ‘สภาผัวเมีย’ อะไรใดๆ มาอีก
คืองี้ครับ อำนาจในตำแหน่งทางการเมืองมีการแบ่งระดับของมันอยู่ ในระบบประชาธิปไตย การจะทำอะไรก็ตามที่มีอำนาจมาก (เช่น ออกกฎหมาย บริหารจัดการภาษี ฯลฯ) หรือพวกอำนาจในเชิงรุกนั้น ล้วนต้องมาจากฐานเสียงของประชาชน เพราะถือว่าต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองทางอำนาจจากเจ้าของอำนาจที่แท้จริง (ประชาชน) ผ่านกระบวนการที่เรียกว่าการเลือกตั้ง ในขณะที่อำนาจที่น้อยมากๆ เช่น อำนาจในการตรวจสอบหรือให้คำแนะนำอย่างเดียว หรืออำนาจเชิงรับ (passive power) ที่ไม่ได้สามารถเข้าไปยุ่มย่ามดำเนินเรื่องอะไรเองได้ จะใช้อำนาจได้ก็ต่อเมื่อมีคนยื่นเรื่องเข้ามาให้เท่านั้น (แบบกรณี ศาลยุติธรรม) ถึงสามารถใช้ผู้แทนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้ และการสืบทอดตำแหน่งโดยคัดเลือกเอาคนที่ชำนาญในด้านนั้นๆ เป็นการเฉพาะ หรือกระทั่งทางสายเลือดก็ยังพอเกิดขึ้นได้ อย่างการตั้งคณะกรรมมาธิการ คณะที่ปรึกษารัฐบาล หรือวุฒิสภาของอังกฤษ ที่เป็นสภาน้ำลาย ให้คำปรึกษาได้อย่างเดียวจริงๆ เป็นต้น
อย่าง ส.ว. จากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ถูกโจมตีว่าเป็นสภาผัวเมีย เพราะมาจากการเลือกตั้งแบบเดียวกับ ส.ส. ทำให้ได้คน ‘กลุ่มเดียวกัน’ นั้นอาจจะจริงในแง่เครือข่ายกลุ่มบุคคล แต่เค้ายังมีที่มาที่ชอบธรรมมากๆ และเป็นเหตุเป็นผล เพราะ ส.ว. ยุคนั้นมีอำนาจมาก อย่างการตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ซึ่งมีอำนาจในการตรวจสอบรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เป็นต้น เช่นนี้แล้ว การได้รับการรับรองทางอำนาจจึงจำเป็น กระนั้นก็ยังไม่วายโดนเรียกว่าสภาผัวเมีย
ในครั้งนี้ หนักยิ่งขึ้นไปอีกมากครับ เพราะอำนาจของ ส.ว. ชุดนี้เยอะขึ้นไปอีก คือ นอกจากจะมีอำนาจตามเดิมที่ ส.ว. ยุครัฐธรรมนูญ 2540 มีแล้ว ยังเป็น ส.ว. ชุดแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่สามารถลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีได้อย่างที่ทุกคนทราบกันดี ทำให้ ส.ว. ชุดนี้ถือได้อย่างชัดเจนว่ามีอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่พร้อมๆ กันไป ก็มีที่มาที่ไร้ความชอบธรรมและไร้ซึ่งที่มาของการรับรองอำนาจที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยด้วย นี่จึงไม่ใช่สภาผัวเมีย ที่ผัวเมียยังอาจจะเห็นต่างกันได้บ้าง ทะเลาะกันบ้าง และต่างก็ชอบธรรมในฐานะปัจเจกของตนเองอยู่ แต่ที่เป็นอยู่นี้มันคือ ‘สภาทาสในเรือนเบี้ย’ ชัดๆ มีไว้เพื่อเลียตีนผู้แต่งตั้งตนเอง โดยไม่ตั้งคำถาม พยายามอย่างที่สุดที่จะทำตัวเองให้ไร้ความคิด แล้วทำเพื่อนายไปวันๆ
ลักษณะที่เป็นอยู่ของรัฐสภาไทยในตอนนี้ มีคำของโลกตะวันตกที่เหมาะสมอยู่ 2 คำครับ นั่นคือ Cronyism และ Nepotism คำแรกนั้นแปลเป็นไทยพอจะได้ว่า ‘พวกพ้องนิยม’ ส่วนคำหลังนั้นแปลพอได้ว่า ‘เครือญาตินิยม’’ ครับ
จริงๆ แล้วสองคำนี้มีความหมายที่ใกล้เคียงกันมากนะครับ แค่เปลี่ยนกลุ่มบุคคลที่พูดถึงแต่เพียงเล็กน้อย ว่ากลุ่มนึงคือเพื่อน อีกกลุ่มหนึ่งคือญาติ แต่หากดูจริงๆ แล้วความต่างก็พอจะมีอยู่บ้างครับ คือ พวกพ้องนิยมนั้นจะมีเซนส์ของการ ‘ตบรางวัล’ ‘ให้รางวัลตอบแทน’ หรือ ‘สร้างเงื่อนไขอันเป็นประโยชน์’ แก่เพื่อนพ้องของเรา เมื่อมันเป็นการให้รางวัล หรือตบรางวัล Cronyism จึงมีนัยที่สื่อว่า อีกฝั่งนั้นมีแนวโน้มที่จะสร้างผลงานอันเป็นประโยชน์ให้กับเรามาก่อน แล้วเราจึงให้รางวัลเขากลับ เพื่อคงโครงสร้างของผลประโยชน์ต่างตอบแทนนี้ไว้
ในขณะที่ Nepotism มีลักษณะไปในทางการ ‘ให้เปล่า’ (grant) มากกว่าครับ โดยเฉพาะกับคนในเครือญาติของเรา เมื่อมันเป็นการให้เปล่านั้น มันจึงมักจะถูกใช้เวลาอธิบายความสัมพันธ์แบบ ‘ทิศทางเดียว’ มากกว่า Cronyism ที่เป็นความสัมพันธ์แบบ 2 ทิศทางเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ที่ว่ามานี้ไม่ใช่แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนะครับ Nepotism เองจะใช้ในเซนส์ของความสัมพันธ์ 2 ฝั่งด้วยก็พอได้ นั่นคือเป็น ‘การลงทุนให้ไปก่อน’ เพื่อหวังจะสร้างบุญคุณอันนำไปสู่การตอบแทนในอนาคตก็ได้ ซึ่งในแง่นี้ก็คือการใช้ Nepotism ในเซนส์ว่าเป็นจุดเริ่มต้นหรือการลงทุนอันนำไปสู่ Cronyism นั่นเองครับ
อีกแง่หนึ่งที่จะเห็นความต่างของสองเคสนี้ได้บ้าง นั่นคือ ตัวที่มาและนัยของการใช้ที่ผูกอยู่กับประวัติศาสตร์ของคำ Nepotism ถูกใช้ครั้งแรกในบริบทการเมืองศาสนาครับ ด้วยความที่คำนี้นั้นถูกใช้ครั้งแรกเพื่อเรียกการแต่งตั้งหลานของตัวเองมาอยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ ในนิกายคาธอลิกโดยโป๊ปและบิช็อปหลายคน แล้วค่อยกระจายไปสู่การใช้งานในวงการอื่นๆ
ส่วน Cronyism เป็นคำที่เกิดขึ้นครั้งแรกราวๆ ศตวรรษที่ 17 โดยเชื่อกันว่า คำว่า crony นั้น แผลงมาจากภาษากรีกคือคำว่า ‘chronios’ ที่แปลว่า ‘ระยะยาว’ (long-term) และการใช้งานของคำคำนี้มักอิงกับการบริหารจัดการต่างๆ ที่ผูกอยู่กับระบอบการเมือง สถาบันการเมือง และการบริหารจัดการ ‘ภาษีของประชาชน’ โดยตรง เมื่อมันโยงกับสถาบันการเมืองที่เป็นระบบใหญ่ ทำให้ Cronyism มักถูกมองในฐานะระบบเครือข่ายที่ซับซ้อน เททับ สลับไปมาหลายชั้นกว่าด้วย
เมื่อที่มาของคำเป็นแบบนี้ คำว่า Nepotism จึงถูกใช้งานกับเงื่อนไขสถานการณ์ที่ความซับซ้อนในการเอื้อประโยชน์กันไม่ได้เป็นระบบโครงสร้างที่ซับซ้อนเท่า หรือมีลักษณะการให้ที่แลดูจะมีส่วนผสมของ blind faith หรือความเชื่ออย่างมืดบอดมากกว่า หรือการเอื้อประโยชน์กันในกรณีที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเงินภาษีของประชาชนโดยตรงนัก (แล้วแต่ว่าคนที่ใช้จะเน้นจุดไหนครับ)
เพราะฉะนั้นแล้ว ในกรณีของ ส.ว. ไทยนี้ ผมคิดว่าน่าสนุกดีถ้าเราจะลองทำการเรียบเรียง ‘กลุ่มประชากร ส.ว. ไทย’ โดยจำแนกตามคอนเซ็ปต์ที่ว่านี้ดูนะครับ ว่ารายไหนเป็น Cronyism และรายไหนน่าจะเป็น Nepotism มากกว่า
เพราะผมคิดว่าทั้งสอง ism นี้ใช้ได้หมดเลย เราจะมองว่าที่ทำๆ กันอยู่เป็นงานหยาบแสนหยาบ เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต (การเลือกนายกฯ) และตัว ส.ว. ไม่ได้จัดการกับภาษีโดยตรง ก็พูดได้ว่าเป็น Nepotism แต่หากเราจะมองว่ามันอาจจะดูเป็นการกระทำที่หยาบๆ แต่แท้จริงแล้วมีโครงสร้างอำนาจที่เป็นระบบ สลับซับซ้อน มันเป็นการตอบแทนคุณกันไปมาระหว่างหมู่มิตร และ ส.ว. เองก็เกี่ยวโยงกับการจัดสรรภาษีประชาชน (อย่างน้อยๆ การมีสิทธิเลือกนายกก็เกี่ยวแน่ๆ ไม่นับถึงเงินเดือน ส.ว.) ในแง่นี้ก็อาจจะต้องมองเป็น Cronyism ไป
หรือจะแยกมองรายคนไปก็อาจจะทำได้ครับ น่าสนุกดี ทุกวันนี้ต้องหาเรื่องสนุกๆ ทำจากความเลวร้ายที่มันเกิดขึ้นนี่แหละครับ เพื่อบรรเทาใจตัวเองไป
แต่ไม่ต้องห่วงนะครับ ไม่ว่าจะ Cronyism หรือ Nepotism ก็ตาม มันล้วนเป็นอะไรที่แย่ ที่เลวร้ายทั้งสิ้น ฉะนั้นไม่ว่าจะเลือกมองว่า ส.ว. นี้เป็นแบบไหน ท่านก็มั่นใจได้ครับ ว่าไม่ได้กำลังชื่นชมพวกเขาอยู่