ปลายเดือนที่ผ่านมา หลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง ส.ว. ของญี่ปุ่นที่เป็นที่จับตามองมากๆ ในหลายๆ แง่ เพราะหลายคนก็อยากจะรู้ว่าอำนาจของพรรครัฐบาล Liberal Democratic Party ของ ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) จะถูกท้าทายแค่ไหน รวมไปถึงการคาดหวังกับเสียงของคนรุ่นใหม่ว่าจะออกไปส่งเสียงแสดงพลังของตัวเองแค่ไหน ตามที่ผมเคยเขียนไปในงานครั้งก่อน (อ่านได้ที่นี่) ซึ่งก็น่าเศร้าว่า อัตราการออกไปใช้สิทธิ์ในครั้งนี้ก็ยังต่ำอยู่เช่นเคย
แต่ถึงอย่างนั้น ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ก็มีอะไรน่าสนใจ ชวนให้มองโลกในแง่บวกได้อยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นจำนวน ส.ว. หญิงที่ถูกเลือกเข้าไป 28 คน ถือเป็น 22.6% ของจำนวนผู้สมัครทั้งหมด และเป็นจำนวน ส.ว. หญิงที่สูงเท่ากับการเลือกตั้งครั้งก่อนในปี ค.ศ. 2016 ที่ทำสถิติที่ 28 คนเท่ากัน รวมไปถึงยังมีผู้สมัครที่เปิดเผยตัวว่าเป็นชาว LGBT แล้วได้รับเลือกเข้าไปด้วย เรียกได้ว่า แม้สัดส่วนผู้ใช้สิทธิ์จะชวนให้หนักใจ และพรรครัฐบาลก็ยังครองอำนาจอยู่ แต่ก็ยังมีข่าวดีให้ชื่นใจบ้าง
และในการเลือกตั้ง ส.ว. ในครั้งนี้ มี ส.ว. หน้าใหม่ที่เป็นที่จับตามองที่สุด 2 ราย เพราะขนาดยังไม่ได้เข้ารับตำแหน่งและประชุมสภาอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้เปลี่ยนแปลงสังคมญี่ปุ่นแล้ว ทั้งสองคนคือ คุณยาซุฮิโกะ ฟุนาโกะ (Yasuhiko Funago) และคุณเอโกะ คิมูระ (Eiko Kimura) จากพรรค Reiwa Shinsengumi เพราะทั้งสองคนคือ ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือในการใช้ชีวิตประจำวัน และต้องใข้รถวีลแชร์อยู่ตลอด จนกลายมาเป็นประเด็นว่า ทั้งสองคนจะทำหน้าที่ ส.ว. อย่างไร และทางสภาจะเตรียมความพร้อมเพื่อให้ทั้งสองคนได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างไร
เริ่มจาก คุณยาซุฮิโกะ ที่เป็นผู้ป่วยอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS นั้นเป็นที่รู้จักมากขึ้นในตอนที่มีกระแส Ice Bucket Challenge เมื่อสามสี่ปีก่อน ซึ่ง คุณยาซุฮิโกะ ที่ปัจจุบันอายุ 61 ปี ก็พบว่าตัวเองเป็นโรคดังกล่าวเมื่อปี ค.ศ. 1999 และปี ค.ศ. 2002 ก็ต้องทำการผ่าตัดเพื่อใส่เครื่องช่วยหายใจ และปัจจุบันก็ต้องอาศัยเดินทางด้วยวีลแชร์แบบอัตโนมัติซึ่งติดตั้งเครื่องช่วยหายใจตลอด และสื่อสารผ่านการกดสัญญาณด้วยการกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในกล้ามเนื้อของคุณยาซุฮิโกะที่ยังทำงานได้อยู่ และจำเป็นต้องมีผู้ช่วยคอยดูแลเกือบตลอดเวลา ซึ่งผู้ช่วยก็ยังทำหน้าที่ช่วยสื่อสารในสิ่งที่คุณยาซุฮิโกะต้องการพูดด้วยการดูจากสายตาว่ากำลังมองไปที่ตัวอักษรไหนในตาราง
ส่วนคุณเอโกะ อายุ 54 ปี เป็นผู้ป่วยอาการสมองพิการ (cerebral palsy) ตั้งแต่อายุ 8 เดือน ซึ่งเกิดจากอุบัติเหตุในตอนนั้น และทำให้เธอมีปัญหากับการเคลื่อนไหวตั้งแต่ส่วนคอลงมา ยกเว้นแต่แขนขวาของเธอเท่านั้น ซึ่งช่วยให้เธอสามารถควบคุมรถวีลแชร์ด้วยตัวเองได้ และตั้งแต่เรียนจบมัธยม เธอก็ใช้ชีวิตด้วยตนเอง และทำงานเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้มีอาการป่วยจนไม่สามารถช่วยตัวเองได้
การที่ทั้งสองคนได้เป็น ส.ว. ก็ถือว่า
เป็นเรื่องใหม่มากในสังคมญี่ปุ่น
และอาจจะรวมถึงในระดับโลกด้วยก็ได้
เมื่อผู้ป่วยที่มีอาการระดับนี้ทำหน้าที่ในการเมืองระดับชาติ
โดยเฉพาะกรณีของ คุณยาซุฮิโกะ ที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งก็ต้องให้เครดิตกับพรรคการเมืองที่เลือกส่งทั้งสองคนลงสมัคร แม้จะไม่ได้ลงแบบเขต แต่ได้รับเลือกในลักษณะคล้ายกับแบบบัญชีรายชื่อของการเลือกตั้งบ้านเรา ซึ่งพรรค Reiwa Shinsengumi ก็ได้มา 2 ที่ ซึ่งเป็นของทั้งสองคนนั่นเอง แม้หัวหน้าพรรคจะไม่ได้รับเลือกในครั้งนี้ แต่เขาก็มองไปถึงการลงสมัคร สส. ในครั้งหน้า ที่เขาเชื่อว่าจะมาถึงเร็วกว่าที่คิด เพราะเขาเชื่อว่ารัฐบาลของชินโซ อาเบะ จะอยู่ไม่ครบสมัย ซึ่งหัวหน้าพรรค Reiwa Shinsengumi ก็คือ ทาโร่ ยามาโมโตะ (Tarou Yamamoto)
ถ้าใครคุ้นกับสื่อบันเทิงญี่ปุ่น แต่ไม่ได้สนใจการเมืองนัก พอเห็นหน้าทาโร่ ยามาโมโตะ ก็อาจจะรู้สึกคุ้นๆ ซึ่งไม่แปลกอะไร เพราะ ทาโร่ ยามาโมโตะ ก็เคยเป็นนักแสดงมาก่อน และเราอาจจะคุ้นหน้าเขาจากภาพยนตร์เรื่อง ‘Battle Royale’ ที่เขาเองก็รับบทเด่นในเรื่อง แต่ต่อมาเขาก็หันความสนใจมาที่แวดวงการเมืองหลังจากเหตุการณ์วิกฤตเตาปฏิกรณ์พลังงานนิวเคลียร์ที่จังหวัดฟุกุชิมะ จนกลายมาเป็นนักกิจกรรมต่อต้านนิวเคลียร์ และหันเข้าสู่วงการการเมืองเต็มตัว โดยมีแนวทางซ้ายจัด และมักต่อต้านรัฐบาลของชินโซ อาเบะ มาโดยตลอด
และเมื่อพรรค Liberal Party ที่เขาสังกัด ประกาศรวมพรรคกับพรรค Democratic Party for the People ในช่วงต้นปีนี้ เขาก็ตัดสินใจแยกตัวออกมาตั้งพรรคใหม่ในชื่อว่า Reiwa Shinsengumi (れいわ新選組) โดยเล่นกับคำว่า Reiwa ที่เป็นชื่อรัชสมัยใหม่ กับ Shinsengumi หรือก็คือชื่อกลุ่มที่ต้องการรักษาโครงสร้างอำนาจเดิมของรัฐบาลเอโดะในช่วงการปฏิรูปเมจิ (พูดง่ายๆ ก็กลุ่มต่อต้านการปฏิรูปนั่นเอง) เพียงแต่เล่นคำใช้ตัวอักษรคันจิของ sen เป็นคนละตัว ซึ่งก็ย้อนแย้งน่าดู เพราะตัวพรรคเขาเองเป็นพรรคสายปฏิรูป ต้องการล้มอำนาจเก่าสถาบันการเมืองเดิม ซึ่งตรงข้ามกับที่มาของชื่อ แต่ทาโร่ ยามาโมโตะก็ตอบคำถามนี้ว่า ก็พรรคที่ใช้ชื่อ ‘ปฏิรูป’ ยังรักษาอำนาจได้เลย (แซะพรรคการเมืองอื่น) ทำไมเขาจะใช้ชื่อ Shinsengumi ไม่ได้
แน่นอนว่าในแง่มุมการเมือง แนวทางแบบซ้ายจัดของ ทาโร่ ยามาโมโตะและพรรค Reiwa Shinsengumi ก็ดูน่ากังขาในหลายๆ เรื่อง ว่าจะสามารถเป็นไปได้จริงแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง การยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ปกป้องสิทธิของผู้พิการ ชาว LGBT รวมถึงสิทธิสัตว์ด้วย รวมถึงการแสดงออกของ ทาโร่ ยามาโมโตะ ที่หลายครั้งดูออกจะห้าวตามสไตล์อดีตนักแสดงสายลุย แต่การที่เขาเน้นย้ำนโยบายที่ให้ความสำคัญกับคนที่ไม่เคยถูกเหลียวแลมาก่อน ก็ทำให้สามารถครองใจคนจำนวนไม่น้อย ซึ่งด้วยระบบการเลือก ส.ว. แบบของญี่ปุ่น ทำให้คะแนนเสียงพอส่งผู้ป่วยทั้งสองคนเข้าสภาได้
แม้จะมีเสียงครหาว่า ทาง ทาโร่ ยามาโมโตะ เอาผู้ป่วยมาหากิน แต่ในความเห็นของทั้งสองคนแล้ว ไม่ใช่ปัญหาอะไรเลย คุณเอโกะ เองก็ทำงานด้านนี้มาตลอดอยู่แล้ว การได้เข้ามาทำงานการเมืองก็ถือเป็นการเติบโตในแนวทางการทำงานของเธอ ส่วนตัว คุณยาซุฮิโกะ ก็มองว่า ถ้าเขาจะถูกใช้เอามาหากิน แสดงว่า ตัวเขาเองก็มี ‘คุณค่า’ อยู่แล้วสิ ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ เพราะเขาจะได้ใช้ประโยชน์จากคุณค่าในตัวของเขาเองให้เต็มที่
เขาเองอยากจะเปลี่ยนแปลงความย้อนแย้ง
ในสังคมญี่ปุ่นเกี่ยวกับผู้ป่วยอาการหนักหรือพิการ
ตัวอย่างความย้อนแย้งที่ คุณยาซุฮิโกะ พูดถึงก็คือ สวัสดิการเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยอาการหนัก หรือผู้พิการ ซึ่งทางรัฐสามารถออกค่าใช้จ่ายช่วยในส่วนของการจ้างผู้ช่วยดูแล กรณีที่เป็นผู้ป่วยหรือผู้พิการที่จำเป็นต้องมีผู้ดูแลเป็นช่วงเวลานาน (เช่นผู้ป่วยนอนติดเตียงหรือผู้ที่มีอาการอัมพาตทั้งตัว)
แต่เมื่อบุคคลคนนั้นต้องการที่จะออกไปทำงานเท่าที่จะทำได้ ทางรัฐกลับตัดเงินสนับสนุนตรงนี้ เพราะถือว่าผู้ป่วยก็สามารถทำงานได้ ในความเห็นของ คุณยาซุฮิโกะ คือ นี่เท่ากับการบอกผู้ป่วยหรือผู้พิการว่า อย่าทำงาน ให้อยู่เฉยๆ ซึ่งการได้เข้าไปทำงานในสภาของพวกเขาก็จะช่วยให้คนตระหนักถึงปัญหาตรงนี้ ว่ายังมีคนในสังคมที่ยังลำบากกับเรื่องเหล่านี้อยู่อีก ซึ่งก็ตามที่ได้บอกไปตั้งแต่ต้นว่า การได้เข้าสภาของทั้งสองคน ได้สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมญี่ปุ่นตั้งแต่ยังไม่ได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
เพราะนอกจากชาวญี่ปุ่นทั่วไปจะให้ความสนใจเป็นอย่างมากแล้ว ทางรัฐสภา ก็ต้องปรับเปลี่ยนอะไรหลายต่อหลายอย่าง เพื่อให้ทั้งสองคนสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เหมือนกับสมาชิกสภารายอื่น แม้ที่ผ่านมาจะเคยมีสมาชิกสภาที่มีปัญหาทางร่างกายหรือพิการมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้มีปัญหาเรื่องการมองเห็น หรือไม่สามารถเดินได้เอง แต่ในครั้งนี้ต่างออกไปมากครับ เพราะอาการของทั้งสองคนหนักกว่ามา โดยเฉพาะ คุณยาซุฮิโกะ ทำให้ต้องหาข้อสรุปหลายต่อหลายเรื่อง
ประเด็นแรกที่ต้องคิดคือ การจัดการเปลี่ยนรัฐสภาให้กลายเป็นอาคารไร้สิ่งกีดขวาง (อ่านเรื่องการออกแบบเพื่อคนพิการได้ที่นี่) เพื่อให้รถวีลแชร์ขนาดใหญ่ของทั้งสองคนสามารถเข้าไปได้ และในกรณีของ คุณยาซุฮิโกะ วีลแชร์ก็มีเครื่องช่วยหายใจติดตั้งอยู่ด้วย และแน่นอนว่ามันทำงานด้วยแบตเตอรี่ ซึ่งก็ไม่เพียงพอกับการทำงานตลอดทั้งวัน ก็ต้องมานั่งคิดอีกว่าจะทำอย่างไรให้ชาร์จไฟได้อีก
และยังต่อเนื่องไปถึงปัญหาอื่นอีก เช่นในการประชุมสภา ก็ไม่อนุญาตให้นำโทรศัพท์มือถือเข้าไป แต่สำหรับกรณี คุณยาซุฮิโกะ แล้ว ก็อาจจะเกิดปัญหาที่ถึงกับชีวิตได้ตลอด ดังนั้นจะทำอย่างไรหากเกิดเหตุฉุกเฉิน นอกจากนี้แล้ว ก็ต้องมาปรึกษาหาวิธีในการลงคะแนนโหวตต่างๆ ว่าจะทำเช่นไร จะอนุญาตให้มีผู้ช่วยเข้าไปได้หรือไม่
รวมไปถึงเรื่องการแต่งกายตามมารยาทสภา เพราะสมาชิกสภาก็ต้องผูกเน็กไทล์และติดเข็มกลัดแสดงตนที่ปกสูท ซึ่งก็น่าจะยากสำหรับผู้ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอีก แถมยังมีเรื่องยิบย่อยตามระเบียบสภา เช่น สมาชิกสภาต้องเข้าประจำตำแหน่งภายในเวลาไม่กี่นาที แต่กับ คุณยาซุฮิโกะ แล้ว ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องใช้เวลาประมาณ 30 นาที คงต้องปรึกษากันอีกเยอะนั่นล่ะครับ
ฟังดูแล้วก็ชวนเหนื่อยเหมือนกัน แต่ก็น่าจะช่วยให้สมาชิกสภาเข้าใจถึงความลำบากของชีวิตของผู้ป่วยอาการหนักหรือผู้พิการได้ไม่น้อยเลย และการเข้ารับตำแหน่งของทั้งสองคน ก็น่าจะกลายเป็นการเคลื่อนไหวที่สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมญี่ปุ่นได้อีกมาก ซึ่งต้องไม่ลืมว่า จำนวนผู้พิการในสังคมญี่ปุ่นก็มีไม่น้อยเช่นกัน หลายต่อหลายคนก็คงคาดหวังการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ไม่ทิ้งพวกเขาไว้ข้างหลัง
อย่าลืมว่า ปีหน้า ญี่ปุ่นไม่ได้เป็นแค่เจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก แต่ยังเป็นเจ้าภาพกีฬาพาราลิมปิกอีกด้วย ถ้าจะทำงานระดับโลกให้ได้ดี ก็คงต้องเริ่มจากในบ้านตัวเองก่อนนั่นล่ะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก