ระบบกฎหมายทั้งตัวบทกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การใช้อำนาจรัฐ ฯลฯ ของไทยยุติธรรมขนาดไหน?
รายงานจาก The World Justice Project (WJP) ชี้ว่าในปี 2022 ประทศไทยรั้งอันดับ 80 จาก 140 ประเทศด้านหลักนิติธรรม โดยได้คะแนนทั้งสิ้น 0.50 คะแนน เต็ม 1 ซึ่งประเทศที่ได้อันดับ 1 คือประเทศเดนมาร์ก และเวเนซุเอลารั้งท้ายที่อันดับ 140
The World Justice Project (WJP) ชุดรายงานประจำปีที่ใช้วัดหลักนิติธรรม รายงานคะแนนของหลักนิติธรรมไทยในปี 2022 โดยใช้เกณฑ์การชี้วัดทั้งสิ้น 8 เกณฑ์คือ การจำกัดอำนาจของรัฐบาล การปราศจากการคอร์รัปชัน รัฐบาลที่โปร่งใส สิทธิขั้นพื้นฐาน ระเบียบและความมั่นคง การบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยมีคะแนนเต็ม 1 และอันดับจาก 140 ประเทศดังนี้
- การจำกัดอำนาจของรัฐบาล 0.45 คะแนน ได้อันดับ 98
- การปราศจากการคอร์รัปชัน 0.47 คะแนน ได้อันดับ 68
- รัฐบาลที่โปร่งใส 0.48 คะแนน ได้อันดับ 77
- สิทธิขั้นพื้นฐาน 0.46 คะแนน ได้อันดับ 98
- ระเบียบและความมั่นคง 0.74 คะแนน ได้อันดับ 63
- การบังคับใช้กฎหมาย 0.45 คะแนน ได้อันดับ 101
- กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง 0.48 คะแนน ได้อันดับ 85
- กระบวนการยุติธรรมทางอาญา 0.42 คะแนน ได้อันดับ 73
เมื่อพิจารณาเกณฑ์ย่อยๆ บางส่วนที่ใช้วัดผลเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีการรับประกันเสรีภาพในการรวมตัวเป็นหมู่คณะหรือสมาคม หรือการชุมนุม อยู่อันดับที่ 116, การรับประกันสิทธิในชีวิตและความมั่นคงปลอดภัยของบุคคล อยู่อันดับที่ 110, การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและไม่มีการเลือกปฏิบัติ อยู่อันดับที่ 106 และการรับประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก อยู่อันดับที่ 93
เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย หนึ่งเกณฑ์ตัดสินคือ ขั้นตอนการทำงานเป็นไปตามกฎเกณฑ์อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งประเทศไทยได้อันดับ 124
ส่วนประเด็นเรื่องระเบียบและความมั่นคง เป็นอย่างเดียวใน 8 เกณฑ์ที่ประเทศไทยมีคะแนนเพิ่มขึ้นมีคะแนนมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยจากทุกประเทศ โดยมีเกณฑ์การชี้วัดคือ การจำกัดความขัดแย้งทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ การควบคุมอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพ และประชาชนไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ (ศาลเตี้ย) เพื่อการแก้แค้นส่วนบุคคล
เมื่อย้อนกลับมามองถึงกระบวนการยุติธรรมในกฎหมายไทย จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของไทย (ปี 2560) ก็รับรองหลักการดังกล่าวนี้ไว้ในมาตรา 3 วรรคสอง “รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไป ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของ ประชาชนโดยรวม” และ มาตรา 26 วรรคแรก “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไป ตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าว ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม…”
นิติธรรม คือหลักการที่รับรองความเป็นธรรมให้กับสังคมทั้งในเรื่องของตัวบทกฎหมาย กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย โดยเชื่อว่าสังคมจะต้องถูกปกครองโดยกฎหมาย ซึ่งมีพื้นฐานแนวคิดมาจากประเทศอังกฤษ โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญ คือ บุคคลทุกคนย่อมเสมอกันต่อหน้ากฎหมาย บุคคลไม่ว่าจะในชนชั้นใดย่อมต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายปกติธรรมดาของแผ่นดินและบรรดาศาลธรรมดาทั้งหลายจะเป็นผู้รักษาไว้ซึ่งกฎหมายดังกล่าว
นอกจากนี้ ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำวิชาสายกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ The101.World ว่า “นิติธรรมกับประชาธิปไตยเหมือนเป็นเสาสองต้นที่ค้ำยันกันอยู่ หากเสาต้นใดล้ม อีกต้นจะล้มด้วย หากเสาต้นหนึ่งแตกร้าว เสาอีกต้นก็จะเริ่มผุพัง ดังนั้น การจะชี้ว่าประเทศนั้นมีนิติธรรมหรือยัง ดัชนีชี้วัดหนึ่งที่ตอบได้คือประเทศนั้นเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ และในทางเดียวกัน ถ้าจะดูว่าประเทศนั้นเป็นประชาธิปไตยหรือยัง ให้ดูว่าประเทศนั้นมีนิติธรรมหรือไม่”
อ้างอิงจาก