ขณะที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ถูกจัดให้เป็นเมืองที่มีมลพิษสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก (อีกแล้ว) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ยังคงดองและเพิกเฉยต่อ ‘ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับประชาชน’ กฎหมายจากประชาชนที่หวังให้รัฐคุ้มครองสิทธิที่จะหายใจในอากาศสะอาดบริสุทธิ์
เพราะฟ้าสีขุ่นและค่าฝุ่น PM 2.5 สีแดงแจ๋มักจะวนเวียนมาแทบทุกปี และเป็นมลพิษที่ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพของเราด้วย เพราะเป็นปัจจัยที่อาจทำให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย เช่น ภูมิแพ้ หืด ถุงลมโป่งพอง และมะเร็งปอด (แถมฝุ่นรอบนี้อาจอยู่กับเราอีกสักพัก เพราะเรากำลังอยู่ในปรากฎการณ์ ‘ฝาชีครอบต่ำ’ ที่ลมสงบจนกดฝุ่นให้โดนครอบและไม่กระจายไปไหน)
ปัญหาฝุ่นจิ๋วคงแก้ที่ตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ ทำให้เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐแก้ไขมลพิษอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการจัดทำ ‘ร่างพระราชบัญญัติกํากับดูแลการ จัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …’ (จากนี้เรียกย่อๆ ว่า ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด) พร้อมแบกรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 22,251 รายชื่อ เข้ายื่นต่อรัฐสภาตามกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน ตั้งแต่มกราคมปี 2565
เครือข่ายอากาศสะอาดชี้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการ ‘ปฏิรูป’ การจัดการภาครัฐเพื่ออากาศสะอาดอย่างแท้จริง โดยเนื้อหาผลักดันให้รัฐรับรองสิทธิที่จะหายใจในอากาศสะอาด, หน่วยงานรัฐบังคับใช้กฎหมายอากาศสะอาดจริงจังขึ้น, เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมช่วยแก้ปัญหาฝุ่น, และให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับอากาศสะอาด เป็นต้น
ยื่นไปเป็นปีแล้ว ตอนนี้ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดที่เสนอโดยประชาชน ยังสบายดีอยู่ไหมนะ? อยู่ที่กระบวนการไหนแล้ว? ทำไมไม่เห็นเอามาถกกันในรัฐสภาสักที? The MATTER จึงต่อสายตรงคุยกับ ดนัยภัทร โภควณิช ผู้ประสานงานด้านกฎหมายจากเครือข่ายอากาศสะอาด เพื่อหาคำตอบ
“ตอนนี้ ร่างกฎหมายอยู่ในขั้นตอนที่นายกรัฐมนตรีกำลังพิจารณาว่าจะรับรองหรือไม่รับรอง ซึ่งอยู่ที่ตัวท่านนายกฯ มาประมาณปีนึงแล้ว ยังไม่ได้ข่าวคราวว่านายกฯ จะทำอะไรกับร่าง เป็นอะไรที่ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวออกก้อย ไม่รู้ว่านายกฯ จะปัดตก จะปล่อยให้เข้าสภา หรือจะยุบสภา มันยังค้างอยู่ตรงนั้นไปเรื่อยๆ” ดนัยภัทร กล่าว
เพราะ พ.ร.บ.อากาศสะอาดถูกวินิจฉัยว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน ซึ่งรัฐธรรมนูญระบุว่าจะต้องส่งไปให้นายกฯ พิจารณารับรองเสียก่อน จึงจะบรรจุกฎหมายเข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณาของรัฐสภาได้ ในขั้นตอนนี้ นายกฯ จะต้องนำร่างกฎหมายไปขอความเห็นชอบจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ เป็นต้น และเมื่อได้รับความเห็นแล้ว นายกฯ จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะรับรองหรือไม่รับรองร่าง
ดนัยภัทรประเมินว่า ที่กระบวนการล่าช้า ส่วนหนึ่งอาจเพราะหน่วยงานภาครัฐมีทัศนคติที่อคติกับ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ด้วยมองว่าไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่ออากาศโดยเฉพาะ แค่กฎหมายสิ่งแวดล้อมเดิมที่มีอยู่ก็พอแล้ว ปรับปรุงนิดหน่อยก็แก้ปัญหาได้แล้ว
“ผมคิดว่าเขา [หน่วยงานรัฐ] ยังไม่อยากให้มีกฎหมายนี้ และอาจมองว่า ปล่อยให้เกิดการถ่วงเวลาเพื่อให้คนลืมประเด็นนี้ไป แต่ถ้ามองในแง่ดี ถ้ามองแบบโลกสวย เขาก็อาจจะแค่ขอเวลาในการศึกษาและพิจารณาก็ได้” ตัวแทนเครือข่ายอากาศสะอาด กล่าว
เมื่อถามว่าความเป็นไปได้ของกฎหมายนี้เป็นอย่างไร ดนัยภัทรอธิบายว่า เครือข่ายประเมินไว้ 3 รูปแบบ ดังนี้
- พล.อ.ประยุทธ์ รับร่างกฎหมาย: เป็นแง่บวกที่หวังไว้ และแม้ไม่ทันสภานี้ที่ใกล้จะหมดวาระ ร่างกฎหมายก็จะถูกนำเข้าไปพิจารณาในรัฐสภาสมัยหน้าอยู่ดี
- พล.อ.ประยุทธ์ ไม่รับร่างกฎหมาย: หากปัดตก เครือข่ายจะชวนประชาชนมารวมตัวเพื่อกดดันและเรียกร้องขอเหตุผลที่ปัดตก เพราะทกฎหมายไม่ได้เขียนบังคับว่าต้องให้เหตุผลว่าทำไมจึงปัดตก ทำให้ประชาชนไม่รู้ว่าต้องแก้ร่างกฎหมายอย่างไรต่อไป
- พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ทำอะไรเลย: ในกรณีที่นายกฯ เพิกเฉย ไม่เผยว่าจะรับรองหรือไม่รับรอง และสภาดันหมดวาระไป โดยหลักแล้ว ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด จะยังค้างอยู่และรอนายกฯ คนถัดไปมาพิจารณาต่อว่าจะรับรองไหม ซึ่งทางเครือข่ายก็จะผลักดันต่อไป
ปัญหาสำคัญคือ รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดขอบเขตเวลาในการพิจารณาร่างกฎหมายที่เข้าชื่อและเสนอโดยประชาชน นั่นหมายความว่า นายกฯ จะดองนานเท่าไหร่ก็ได้ จะเตะถ่วงแค่ไหนก็ไม่ผิด
“ร่างกฎหมายยังไม่มีโอกาสแม้แต่จะเข้าประตูสภา ยังค้างอยู่ทำเนียบ … ร่างเราควรมีโอกาสได้เข้าไปถกในสภา ได้ถูกพิจารณาโดยผู้แทนประชาชน ถึงไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร เพราะถ้ามันจะตกก็ขอให้มันตกในกำมือของประชาชน ไม่ใช่ตกเพราะแค่นายกฯ ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. นี้ ผมว่าไม่แฟร์กับร่างกฎหมายของประชาชน” ดนัยภัทร ระบุ
เป้าหมายสูงสุดของ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด คือ สิทธิของประชาชนที่จะได้รับอากาศสะอาด ซึ่งฝุ่นและมลพิษไม่ได้กระทบต่อสุขภาพเท่านั้น แต่กระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต้องเสียไปด้วย เช่น การใช้งบประมาณรักษาผู้ป่วยมลพิษ
“กฎหมายเดิมที่มีอยู่เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เพราะแม้จะพยายามแก้ไข ก็เป็นแค่การแก้เล็กแก้น้อย เป็นการปะอุดไปเรื่อยๆ แต่อยู่บนโครงสร้างฐานรากแบบเดิมที่ไม่ตอบสนองกับปัญหา กฎหมายแก้มานานแล้วแต่ไม่เคยแก้ปัญหาได้ เพราะปัญหายังอยู่บนพื้นฐานความไม่ได้เรื่องแบบเดิม”
“เครือข่ายอากาศสะอาดจึงต้องการกฎหมายเชิงปฏิรูปและนวัตกรรม ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการอากาศสะอาดแบบใหม่ที่ไม่ย่ำบนโครงสร้างเดิม” ดนัยภัทร กล่าว
ผู้ประสานงานทางกฎหมายจากเครือข่ายอากาศสะอาดทิ้งท้ายว่า ตอนนี้นายกรัฐมนตรีกำลังเพิกเฉยต่อความเป็นความตายของประชาชน แลอยากชวนให้ทุกคนร่วมกันส่งเสียงผ่านแคมเปญบน change.org ไปด้วยกัน ด้วยเชื่อว่าแม้จะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่การร่วมส่งเสียงอาจสร้างผลในเชิงสังคมได้ ซึ่งขณะนี้มีผู้สนับสนุนแล้วอย่างน้อย 50,000 คนแล้ว
ร่วมลงชื่อผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.อากาศสะอาดกันได้ที่: https://bit.ly/3XNqaYH
ฟังสรุปรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ได้ที่: https://youtu.be/MbVz1VgGrN8
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก
https://thematter.co/quick-bite/clean-air-act/134356