‘ทุกคนมีสิทธิในการกำหนดเพศของตนเอง เพราะมันคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน’ เมื่อศาลอุทธรณ์ของฮ่องกงมีคำตัดสินให้ คนข้ามเพศในฮ่องกงได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนเพศที่อยู่หน้าบัตรประจำตัวต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัดแปลงเพศ เมื่อวานนี้ (7 กุมภาพันธ์)
คำตัดสินนี้สืบเนื่องมาจากการเรียกร้องของผู้ชายข้ามเพศชาวฮ่องกง 2 คน ที่ยื่นเรื่องต่อศาลไปเมื่อปี 2019 หลังสำนักทะเบียนราษฎร์ของฮ่องกงปฏิเสธที่จะเปลี่ยนเครื่องหมายระบุเพศในบัตรประจำตัวประชาชนและเอกสารอื่นๆ เช่น พาสปอร์ต ใบขับขี่ ของพวกเขา โดยให้เหตุผลว่า “เพราะพวกเขายังไม่ได้ผ่าตัดศัลยกรรมแปลงเพศ”
คำตัดสินของศาลชั้นต้นในฮ่องกงปฏิเสธคำอุทธรณ์ของชายข้ามเพศ 2 คนนี้ โดยระบุการเห็นด้วยต่อกฎหมายที่กำหนดให้ ‘บุคคลข้ามเพศต้องเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศก่อนเท่านั้น ถึงจะเปลี่ยเพศในบัตรประจำตัวต่างๆ ของพวกเขาได้’
ขณะที่ ชายข้ามเพศ 2 คนนี้ ให้เหตุผลว่าทำไมเขาถึงไม่ผ่าตัดแปลงเพศว่า “กระบวนการการผ่าตัดแปลงเพศนั้นมีความเสี่ยงและนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนได้ เพราะพวกเขาจะต้องตัดมดลูกและรังไข่ออก รวมถึงต้องสร้างอวัยวะเพศชายขึ้นมาทดแทน” ซึ่งการผ่าตัดแปลงเพศ ถือเป็นการรักษาทางแพทย์ที่ไม่จำเป็น หรืออธิบายง่ายๆ ก็คือ จะทำหรือไม่ทำก็ได้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละบุคคล
“การกำหนดเพศตามกฎหมายของตนเองเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเราจะไม่ยอมถูกริดรอนสิทธิในการแต่งงานและสร้างครอบครัว ซึ่งตามจริงแล้วคดีนี้ไม่สมควรเกิดขึ้นตั้งแต่แรก” ทั้งสองกล่าวปิดท้าย
อย่างไรก็ดี เมื่อเรื่องไปถึงศาลอุทธรณ์ ก็มีการกลับคำตัดสิน โดยแอนดรูว์ เช็ง (Andrew Cheung) หัวหน้าผู้พิพากษาจากศาลอุทธรณ์พบว่า กฎหมายดังกล่าว ‘ละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัว สิทธิมนุษยชน และความสมบูรณ์ของร่างกาย’ ของกลุ่มคนข้ามเพศ ซึ่งสิทธิเหล่านี้ล้วนได้รับการคุ้มครองจาก Bill of Right หรือการรับรองสิทธิต่างๆ เช่น เสรีภาพในการพูด การชุมนุม ฯลฯ ของฮ่องกง
“ผลประโยชน์ทางสังคมจากนโยบายต่างๆ ในฮ่องกง เป็นเพียงภาพลวงตาและใช้ไม่ได้จริง” เช่น นโยบายดังกล่าวที่กำหนดให้คนข้ามเพศต้องจำเป็นต้องเลือกว่า “จะยอมถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน หรือยอมรับการผ่าตัดแปลงเพศ เพื่อจะสามารถเปลี่ยนการระบุเพศของพวกเขาได้” เช็งกล่าวเสริม
“เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียแล้ว ฮ่องกงอยู่ตรงกลางในแง่ของสิทธิคนข้ามเพศ” เคลลีย์ โลเปอร์ (Kelley Loper) ผู้อำนวยการฯ สาขากฎหมายสิทธิมนุษยชนแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าว
โดยเธอได้ยกตัวอย่างสิทธิคนข้ามเพศในประเทศอื่นๆ เช่น อินเดียให้คนข้ามเพศสามารถกำหนดเพศของตนเองได้แล้ว หรือไต้หวันพึ่งยกเลิกข้อกำหนดให้ต้องผ่าตัดแปลงเพศก่อน ถึงจะเปลี่ยนแปลงเพศตามกฎหมายได้ และไทยที่ในขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายให้คนข้ามเพศเปลี่ยนคำนำหน้าในบัตรประจำตัวต่างๆ
“หวังว่าการตัดสินของศาลฯ ฮ่องกงในครั้งนี้จะเป็นการจุดประกายในการถกเถียงกันเกี่ยวกับกฎหมายความเท่าเทียมต่างๆ ในฮ่องกงที่เกี่ยวข้องกับคนในกลุ่ม LGBTQIA+” โลเปอร์กล่าว
อ้างอิงจาก