“ผู้หญิงเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น”
เราได้ยินข้อความนี้ตั้งแต่ตอนที่เสียงเรียกร้องเรื่อง ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ ยังไม่ดัง จนปัจจุบันที่เรามีโอกาสได้เห็น ‘ผู้หญิง’ ในบทบาทที่หลากหลายขึ้น แต่คำกล่าวที่ว่า อาจ (ยัง) ไม่จริงทั้งหมด เมื่อเส้นทางสู่ปลายฝันนั้นเต็มไปด้วยขวากหนามจากอคติทางเพศมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ โอกาส หรือการถูกยอมรับก็ตาม
ทุกวันนี้เราจึงได้เห็นทั้งคนและองค์กรต่างๆ ออกมาพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น เพื่อส่งให้ผู้หญิงและเพศอื่นๆ ได้มีโอกาสทำตามฝันในพื้นที่ที่เคยเชื่อว่า “เป็นของผู้ชาย” มาก่อน โดยแบรนด์เครื่องประดับระดับโลกที่หลายคนรู้จักอย่างคาร์เทียร์ (Cartier) ก็เป็นหนึ่งในนั้น
เนื่องด้วยคาร์เทียร์เองก็เล็งเห็นว่า ‘นักธุรกิจ’ เป็นหนึ่งบทบาทที่กีดกันผู้หญิงมากที่สุด จึงส่งเสริมการทำธุรกิจเพื่อสังคมของผู้หญิงทั่วโลกผ่านโครงการ Cartier Women’s Initiative (CWI) ที่จะตอกย้ำว่า ผู้หญิงเองก็มีศักยภาพในการเป็นนักธุรกิจไม่ต่างกัน และมันมากพอจะเปลี่ยนแปลงสังคมของเราให้ดีขึ้นได้
ปีนี้เอง ก็เป็นอีกครั้งที่คาร์เทียร์เปิดเวที Cartier Women’s Initiative เพื่อเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงสำคัญที่จะช่วยจุดประกายฝันให้กับผู้หญิงมากมาย The MATTER เลยถือโอกาสสัมภาษณ์นักธุรกิจหญิงที่เข้าร่วมโครงการนี้ เพื่อสำรวจเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบของพวกเธอกัน
จีวอน พัค (Jiwon Park) ตัวแทนธุรกิจหญิงจากประเทศเกาหลีใต้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประจำปี 2024 ให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ถึงจุดเริ่มต้นและเหตุผลที่ทำให้เธอตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ
เธอเริ่มด้วยการเท้าความถึงแรงกดดันที่สังคมอนุรักษ์นิยมและชายเป็นใหญ่ในเกาหลีใต้ทำให้เพศศึกษาไม่ใช่หัวข้อที่พูดถึงได้อย่างเปิดเผย จนคนเกาหลีไม่เข้าใจเรื่องเพศมากเท่าที่ควร ก่อนจะเล่าว่า เธอตัดสินใจก่อตั้ง ‘SAIB’ ธุรกิจที่จะช่วยให้ผู้หญิงมีสุขภาวะทางเพศที่ดีขึ้น หลังจากไปเป็นอาจารย์อยู่ที่อเมริกาแล้ว
“ที่เกาหลี เราไม่ได้เรียนรู้เรื่องเพศศึกษามากเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่โรงเรียนก็ตาม อย่างโรงเรียนเองก็สอนเพียงเรื่องผิวเผินเท่านั้น ไม่มีใครรู้เรื่องเชิงปฏิบัติอย่างการใช้ยาคุมกำเนิดเลย”
“ฉันไม่เคยรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา จนกระทั่งไปเป็นอาจารย์อยู่อเมริกาแล้วพบว่า นักเรียนที่มีอายุน้อยกว่าฉันมากๆ มีมุมมองแบบผู้ใหญ่และเข้าใจเรื่องเพศศึกษามากกว่าฉันเสียอีก ฉันจึงตัดสินใจก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา”
ทั้งนี้ เธอในฐานะผู้หญิงและผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจมาแล้วกว่า 6 ปี ยอมรับว่า การเผชิญหน้ากับเสียงวิพากษ์วิจารณ์และกระแสต่อต้านจากสังคมเป็นเรื่องยาก ทำให้ช่วงหนึ่งเธอมีความคิดที่จะล้มเลิกธุรกิจนี้ไปเลย
“ทุกครั้งที่ฉันปรากฏตัวในบทสัมภาษณ์หรือบทความบนนิตยสาร ฉันมักจะเห็นคอมเมนต์แย่ๆ จากผู้ชายมากมายที่ถ้าไม่ตีตรา (Slut Shaming) ฉันด้วยถ้อยคำบางอย่าง วิจารณ์สิ่งที่ฉันทำ ก็พูดจาในเชิงคุกคามทางเพศฉันอยู่เสมอ” เธอกล่าวพร้อมย้ำภายหลังว่า สิ่งที่ทำให้เธอข้ามผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นไปได้ คือแรงสนับสนุนจากผู้หญิงมากมาย
จีวอนตัดสินใจร่วมโครงการ Cartier Women’s Initiative เพราะเธอเชื่อว่า การได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนทางธุรกิจระดับโลกจะช่วยเปิดโอกาสให้เธอได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับตัวแทนธุรกิจหญิงคนอื่นๆ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับธุรกิจของเธอ และนอกจาก SAIB แล้ว Cartier Women’s Initiative ยังรวบรวมธุรกิจประเภทอื่นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเพื่อสุขภาพ ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือธุรกิจเพื่อการเรียนรู้
การมีอยู่ของพวกเธอจึงเป็นเครื่องยืนยันว่า ความเชื่อเรื่อง ‘ธุรกิจเป็นพื้นที่ของผู้ชาย’ นั้น ‘ไม่จริง’ โดย แคลร์ แวน แองค์ (Claire van Enk) อีกหนึ่งตัวแทนจาก FARM TO FEED ธุรกิจที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผ่านการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรส่วนเกินแล้วนำมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุด บอกกับเราระหว่างงาน Cartier Women’s Initiative 2024 ที่เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (23 พฤษภาคม) ว่า ความเชื่อดังกล่าวเป็นเพียงภาพจำที่เติบโตมาพร้อมกับเราเท่านั้น
“2 สัปดาห์ก่อนตอนที่ฉันนั่งอยู่ในคาเฟ่กับเพื่อนร่วมงาน ฉันเห็นชายวัยกลางคนคนหนึ่ง สวมเสื้อโปโล ดูมีภูมิฐาน นั่งทำงานอยู่ข้างโต๊ะของหญิงร่างบางคนหนึ่งในอิริยาบถเดียวกัน
ฉันหันไปบอกเพื่อนร่วมงานว่า ชายคนนั้นน่าจะเป็น CEO ของสักบริษัท ส่วนอีกคนน่าจะเป็นพนักงานพาร์ทไทม์คนหนึ่ง
ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ฉันเองก็ตัดสินคนแบบเขาเป็น CEO ในทันทีเหมือนกัน แต่ฉันคิดว่ามันเป็นเพราะเราถูกเลี้ยงดูมาให้มีภาพจำว่า คนแบบไหนคือผู้บริหารมากกว่า”
เธออธิบายพร้อมบอกว่า แม้จะไม่ศรัทธาในความเชื่อดังกล่าว แต่ก็เข้าใจดีว่า มันมีที่มาจากอะไร พร้อมย้ำว่า นี่เป็นอุปสรรคที่เราทุกคนจะต้องข้ามผ่านไปให้ได้
คาร์เทียร์จึงไม่เพียงสร้างเวที Cartier Women’s Initiative เพื่อส่งเสียงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนทรัพยากรสำคัญให้นักธุรกิจหญิงที่ได้รับคัดเลือก เพื่อให้เราข้ามผ่านอุปสรรคที่ว่าไปด้วยกันด้วย
ปัจจุบันคาร์เทียร์คัดเลือกธุรกิจที่สมัครเข้าร่วมโครงการ Cartier Women’s Initiative และชนะรางวัล 3 อันดับแรก จาก 11 ประเภทรางวัล (รวมทั้งสิ้น 33 รางวัล) ได้แก่ รางวัลระดับภูมิภาค 9 รางวัล และรางวัล Thematic Awards ซึ่งประกอบด้วย รางวัลผู้บุกเบิกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Pioneer Award) และรางวัลความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการเปิดรับทุกคน (Diversity, Equity and Inclusion Award) 2 รางวัล เพื่อมอบทั้งเงินทุนสนับสนุน โอกาสเข้าร่วมเครือข่ายทางธุรกิจของคาร์เทียร์ ตลอดจนการอบรมเพิ่มศักยภาพการบริหารและการจัดการให้กับตัวแทนธุรกิจที่คาร์เทียร์เห็นว่า มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคมของเรา รวมถึงทำให้พวกเธอมีโอกาสได้ทำตามฝันและผลักดันให้พวกเธอมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจมากขึ้น
ดังนั้น หากใครเชื่อว่า ธุรกิจของตัวเองสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้สังคม และสนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับโลกนี้ สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่: https://www.cartierwomensinitiative.com/