“เพศของเรา เราเลือกเอง เพศของเรา เราเลือกเอง เพศของเรา เราเลือกเอง”
เสียงตะโกนลั่นจากผู้ร่วมภาคีขบวน ‘Gender X เพศเลือกได้’ ที่งานบางกอกไพรด์ (Bangkok Pride 2023) ภายใต้สโลแกน ‘เพราะเพศของเรา เราเลือกเอง สนับสนุนกฎหมายรับรองเพศสภาพ Gender X และคำนำหน้านามตามความสมัครใจ’
เชื่อว่าหลายคนคงติดตามหรือแม้แต่ไปร่วมงานบางกอกไพรด์ที่ถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเดือนแห่งเพศหลากหลาย (LGBTQIAN+) แม้ว่างานนี้จะจบลงไปแล้ว แต่ตลอดทั้งเดือนมิถุนายนก็ยังถือเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจและการส่งเสียงแห่งการยอมรับในสังคมของพวกเขา
หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจจากงานนี้ก็คือ การเรียกร้องให้เราสามารถกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศเองได้ หรือก็คือ Gender X นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ เราจึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักและเข้าใจว่า Gender X คืออะไร และมีที่มาอย่างไร และทำไมถึงสำคัญกับหลายๆ กลุ่มโดยเฉพาะผู้คนที่นิยามตัวเองอยู่นอกระบบ 2 เพศ (ชายและหญิง) จนนำมาสู่การเรียกร้องให้เพิ่มการระบุ ‘นาม’ หรือ ‘X’ นอกเหนือจากเพศชาย (Male) และเพศหญิง (Female) ในเอกสารราชการต่างๆ พร้อมกับพูดคุยกับ คิว—คณาสิต พ่วงอำไพ นอนไบนารีที่ขับเคลื่อนและเรียกร้องสิทธิเพื่อคนข้ามเพศและผู้มีความหลากหลายทางเพศเกี่ยวกับประเด็นนี้อีกด้วย
ที่มาของคำว่า Gender X
ก่อนอื่นขอเริ่มอธิบายจากจุดกำเนิดของว่า Gender X กันก่อนว่ามีที่ไปที่มาอย่างไร ซึ่ง จีน่า วิลสัน (Gina Wilson) นักเคลื่อนไหวอินเตอร์เซ็กซ์ (intersex) หรือผู้ที่มีคุณลักษณะทางเพศที่ไม่ได้ตรงตามชายและหญิง กล่าวว่า ‘X’ ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยกลุ่มคนอินเตอร์เซ็กซ์หรือคนข้ามเพศ (transgender) พร้อมกับเล่าย้อนถึงจุดกำเนิดของมันว่า
“หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้รับมอบหมายจากสหประชาชาติให้รับผิดชอบดูแลพาสปอร์ต… แต่ขณะนั้นการออกพาสปอร์ตโดยการเข้าพบเจ้าหน้าที่ถือเป็นเรื่องที่ยากลำบาก โดยเฉพาะปัญหาการเดินทางเพราะอยู่ในช่วงหลังสงครามไม่นาน ดังนั้นเอกสารจึงมักถูกจัดทำขึ้นโดยไม่มีเจ้าของพาสปอร์ตอยู่ด้วย นอกจากนี้ปัญหาด้านภาษาก็สำคัญเช่นกัน ส่งผลให้ข้อมูลที่บางคนให้มาจึงไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าพวกเขาเป็นเพศชายหรือหญิง ฉะนั้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ICAO จึงอนุญาตให้ระบุ ‘X’ ก็ต่อเมื่อ ‘ไม่ทราบเพศ’ ของผู้ขอทำพาสปอร์ต
อย่างไรก็ตาม อเล็กซ์ แมคฟาร์เลน (Alex MacFarlane) อินเตอร์เซ็กซ์ชาวออสเตรเลียที่ถือเป็นผู้บุกเบิกการใช้เครื่องหมาย X เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศในเอกสารราชการคนแรกของโลกเมื่อปี 2003 โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เขาสามารถเป็นทั้งชายและหญิง ซึ่งแมคฟาร์เลนเรียกร้องให้รัฐระบุให้เขาเป็นอินเตอร์เซ็กซ์ ทำให้เจ้าหน้าที่ของออสเตรเลียจึงตัดสินใจแก้ไขระบบเพศที่ตอนแรกมีเพียง M (Male) และ F (Female) โดยการเพิ่ม X เข้าไปด้วย เพราะถือเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตภายใต้หลักเกณฑ์ของ ICAO สำหรับการขอหนังสือเดินทาง
“ผู้คนที่นิยามตัวเองว่าอยู่นอกระบบ 2 เพศ ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย พวกเราไม่จำเป็นต้องแสร้งทำเป็นเป็นชายหรือหญิงเพื่อลงคะแนนเสียง แต่งงาน มีใบอนุญาต หรือเป็นเจ้าของทรัพย์สิน”
นอกจากนี้ พาสปอร์ตที่มีเครื่องหมาย X รุ่นแรกมีไว้ให้เฉพาะชาวออสเตรเลียเพียงไม่กี่คนที่ในสูติบัตรมีการระบุว่า ‘ไม่ระบุเพศ’ และยังมีแค่ในรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลียเท่านั้นที่ใช้กฎหมายนี้ แต่ต่อมาในปี 2011 ตามคำเรียกร้องของนักกิจกรรมอินเตอร์เซ็กซ์และทรานส์เจนเดอร์ รัฐบาลออสเตรเลียจึงผ่านกฎหมายที่อนุญาตให้พลเมืองอินเตอร์เซ็กซ์ นอนไบนารี และอื่นๆ สามารถระบุเครื่องหมาย X ซึ่งหมายถึง ‘ไม่ระบุเพศ’ ในเอกสารราชการได้
การอนุญาตใช้เครื่องหมาย X ในสหรัฐฯ สร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคมทั่วโลก
ตั้งแต่ 11 เมษายน 2022 เป็นต้นมา พลเมืองสหรัฐฯ สามารถเลือกใช้เครื่องหมาย X ในช่องระบุเพศของพาสปอร์ตได้แล้ว นอกเหนือจากเพศชาย (Male) หรือหญิง (Female) ซึ่งตัวเลือกดังกล่าวจะพร้อมใช้งานสำหรับเอกสารรูปแบบอื่นๆ ในปีนี้
ขอเล่าย้อนก่อนว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2021 แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงการณ์เนื่องในวันสากลของการตระหนักถึงตัวตนของคนข้ามเพศ (International Transgender Day of Visibility) ว่า “ได้เตรียมการเพื่อเพิ่มเครื่องหมายระบุเพศสำหรับนอนไบนารี (non-binary) หรืออัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่ได้อยู่ในระบบสองขั้วที่เป็นชายและหญิง, อินเตอร์เซ็กซ์ และบุคคลที่แสดงออกไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานทางเพศ (gender non-conforming persons) ในพาสปอร์ตสหรัฐฯ”
พร้อมกล่าวเสริมว่า “นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไปผู้คนจะได้รับอนุญาตให้สามารถเลือกเพศของตนเองในเอกสารราชการได้ โดยไม่ต้องยื่นเอกสารทางการแพทย์ใดๆ ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้บรรลุเป้าหมายอีกขั้นในการให้บริการพลเมืองสหรัฐฯ อย่างทั่วถึงโดยไม่คำนึงถึงเพศสภาพ”
ไม่เพียงเท่านี้ บลิงเคนยังอธิบายถึงรายละเอียดของกระบวนการนี้ว่ากินระยะเวลานานหลายเดือน เพราะนอกจากจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนแล้ว กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังต้องปรึกษาหารือกับประเทศพันธมิตรอีกด้วย
“ประเทศพันธมิตรที่ตระหนักถึงความหลากหลายทางเพศ และมีการอนุญาตให้ระบุเครื่องหมาย X ในหนังสือเดินทางของประชาชนแล้ว ก็จะมีประสบการณ์ในการดำเนินการขั้นตอนต่างๆ มากกว่า เราจึงต้องหารือและปรึกษาถึงประเด็นนี้”
นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังทำงานร่วมกับศูนย์สถิติสุขภาพแห่งชาติในสังกัดของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention) เพื่อทำการวิจัยเชิงคุณภาพว่าด้วยคำจำกัดความของเครื่องหมายเพศ X อย่างไรก็ดี ทำเนียบขาวสหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์ว่า “การดำเนินนโยบายนี้ถือเป็นเรื่องของการเคารพศักดิ์ศรีของเพศหลากหลาย”
อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนตุลาคม 2021 พลเมืองสหรัฐฯ นามว่า ดานา ซิม (Dana Zzyym) นักเคลื่อนไหวชาวอินเตอร์เซ็กซ์และนอนไบนารี และอดีตนาวิกโยธินสหรัฐฯ วัย 66 ปี สามารถระบุเพศ X บนพาสปอร์ตเป็นคนแรกในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม กว่าเขาจะได้รับสิทธินี้มาได้ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2015 ที่เขาตัดสินใจฟ้องกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยเรื่อง ‘การถูกปฏิเสธการทำพาสปอร์ต เพราะเขาต้องการใช้เครื่องหมาย X ในช่องระบุเพศ’
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เขาต่อสู้กับการเรียกร้องในครั้งนี้นานถึง 6 ปี ในที่สุดซิมก็ได้รับพาสปอร์ตเล่มใหม่ที่มีการระบุเพศว่า X เพราะศาลสามแห่งได้ตัดสินว่า ถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายที่กระทรวงการต่างประเทศปฏิเสธการออกหนังสือเดินทางให้กับเขา
“นี่คือช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับฉัน ..นี่แหละคือตัวฉัน เพราะฉันเคยถูกปฏิเสธสถานะการเป็นมนุษย์ เหมือนกับว่าฉันไม่ใช่พลเมืองของประเทศนี้ เพราะฉันถูกปฏิเสธไม่ให้เดินทาง ซึ่งไม่ต่างกับคนร้ายและนักโทษ ..ฉันเหมือนอยู่ในคุก”
ทั้งนี้ ในขณะนี้มีประเทศทั่วโลกมากกว่า 10 ประเทศที่อนุญาตให้ระบุเพศ X ในเอกสารราชการต่างๆ นอกเหนือจากชายและหญิง เช่น แคนาดา เยอรมนี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย
หลายประเทศเริ่มโอบรับความหลากหลาย แต่ไทยยังติดอยู่กับระบบ 2 เพศ
ปัจจุบันกฎหมายของหลายประเทศทั่วโลกสามารถก้าวหน้าไปไกลกว่าการมองเรื่อง ‘เพศ’ เป็นเพียงเรื่องเพศสรีระ และเพศชายหรือหญิงเท่านั้น ดังนั้นจึงเปิดทางไปสู่การผลักดันสิทธิเท่าเทียมสำหรับกลุ่มเพศหลากหลาย แต่กฎหมายไทยยังติดอยู่กับหลักความคิดอยู่ในกรอบ 2 เพศ ทั้งที่มีความพยายามจะผลักดันกฎหมายต่างๆ สำหรับกลุ่มเพศหลากหลาย เช่น การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศและสมรสเท่าเทียม แต่การเมืองไทยกลับมองเรื่องเหล่านี้ว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญหรือเร่งด่วนอะไร
ถึงแม้ว่าช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เรื่องสิทธิมนุษยชนได้รับความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศระหว่างเพศชายและหญิง จนในปี 2006 นักกฎหมายกลุ่มหนึ่งได้พบความไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มคนเพศหลากหลาย จึงเกิด ‘หลักการยอร์กยากาตาร์ (The Yogyakarta Principles)’ ที่พูดถึงสิทธิของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาและการออกกฎหมายทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วยที่ได้กล่าวถึงหลักการนี้และยังเผยแพร่สู่ประชาชนให้เข้าใจร่วมกัน โดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้สนับสนุนและจัดพิมพ์หลักการดังกล่าวในรูปแบบภาษาไทยว่า หลักการยอกยาการ์ตา ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศฯ ตั้งแต่ปี 2007
นอกจากนี้ เมื่อปี 2008 ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นไว้ว่า “หลักการยอกยาการ์ตาปฏิบัติไม่ได้ ถ้าคนยังไม่เข้าถึงประชาธิปไตย” พร้อมเสริมว่า หลักการยอกยาการ์ตาจะเป็นผลในทางปฏิบัติได้ต้องอาศัยความเข้าใจทั้งของรัฐและภาคประชาชน
ไม่เพียงเท่านี้ เสน่ห์ จามริก อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยกล่าวไว้ว่า “ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย มักเข้าใจกันว่าเป็นเรื่องสิทธิทางการเมือง เพราะฉะนั้นเวลาต่อสู้เรื่องสิทธิ คนจะพูดเรื่องถึงสิทธิทางการเมืองอย่าง สิทธิในการชุมนุม สิทธิในการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น แต่จะไม่เคยหมายรวมถึงจินตนาการในทางเพศ เพราะเราไม่เคยเห็นประเด็นนี้ในมิติสังคมหรือเศรษฐกิจ”
“สังคมการเมืองไทยเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นเพียงโครงสร้างและหน้าตา แต่เราไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตย เราไม่มีความอดทนอดกลั้นต่อคนที่ไม่เหมือนเรา“ ชลิดาภรณ์กล่าวปิดท้าย
กลับมาที่ปัจจุบัน เมื่อพูดเรื่อง ‘เพศ’ ผู้คนมักจะพูดถึงมุมมองด้านเพศแบบ 4 ด้าน (SOGIESC) ได้แก่
1. รสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation: SO) คือ อารมณ์ ความรู้สึก ความดึงดูดทางเพศ
2. อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity: GI) คือ สำนึกถึงตัวตนทางเพศ
3. การแสดงออกทางเพศ (Gender Expression: GE) การแสดงออกทางเพศ กิริยาท่าทาง การแต่งตัว
4. เพศสรีระ (Sex Characteristic: SC) คือลักษณะทางเพศที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด
สรุปง่ายๆ ได้ว่ากฎหมายไทยยังมองเรื่อง ‘เพศ’ ในมุมมองของเพศสรีระเท่านั้น จึงทำให้กฎหมายทั้งหมดยังอยู่บนพื้นฐานของเพศชายและหญิง จนละเลย ‘เพศ’ ในมุมมองอื่นๆ ไปอย่างสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ทวงถามความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศจาก จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่ามีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า “การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ เป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเรียกว่า การขับเคลื่อนกฎหมายการรับรองเพศ (Gender X Recognition)”
“แต่ของไทยมีการยื่นร่างกฎหมายนี้ไป 2 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีวี่แววความคืบหน้าเลยแม้แต่น้อย และขณะนี้ประเด็น Gender X หรือเพศที่ไม่ต้องการนิยามทางเพศว่าเป็นชายหรือหญิง ซึ่งในทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย และอินเดีย มีการรับรองกฎหมายนี้แล้ว และญี่ปุ่นเองก็กำลังผลักดันประเด็นนี้อยู่ รวมถึงสหรัฐฯ ก็มีการกำหนดเพศดังกล่าวในเอกสารราชการและหนังสือเดินทางแล้ว”
“การจำกัดความให้คนที่มีเพศวิถีหรือเพศสภาพที่หลากหลายอยู่ในระบบ 2 เพศ จึงเปรียบเสมือนกับการไม่มีเสรีภาพ หรือมีเสรีภาพเพียงแค่ครึ่งๆ กลางๆ ไม่สามารถสมรสกับคนที่มีรสนิยมทางเพศที่เป็นเพศเดียวกัน หรืออัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างกัน ทำให้ประชาชนยังต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว”
เมื่อสิทธิพลเมือง เคลื่อนได้ด้วยการเมือง แต่ภาคประชาสังคมกลับต่อสู้มากกว่า
เราพูดคุยกับ คิว—คณาสิต พ่วงอำไพ นอนไบนารีที่ขับเคลื่อนและเรียกร้องสิทธิต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ เกี่ยวกับความสำคัญของการใส่ Gender X ในเอกสารราชการ และ พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ ที่ครอบคลุมผู้คนที่ไม่ได้อยู่ในระบบ 2 เพศ
โดยคณาสิตเริ่มต้นว่า “ในขณะนี้ยังไม่มีใครยื่นร่าง พ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพในสภาผู้แทนราษฎร แต่อาจจะมีการยื่นแสดงความคิดเห็นบ้าง แต่พรรคก้าวไกลระบุว่าจะยื่น ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ภายใน 100 วันแรก หากได้เป็นรัฐบาล และในช่วงบางกอกไพรด์ (4 มิถุนายน) ที่ผ่านมา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ก็พูดบนเวทีไว้ว่า นอกจากจะผลักดันสมรสเท่าเทียมแล้ว อีกร่างที่จะผลักดันก็คือการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ”
อย่างไรก็ดี ภาคประชาสังคมก็มีการจัดทำร่างนี้ขึ้นมาแล้ว เช่น กลุ่ม GEN-ACT, Intersex Thailand และอื่นๆ แต่ร่างเหล่านี้ยังไม่เคยถูกนำเข้าไปพิจารณาในสภาฯ
“300 นโยบายของพรรคก้าวไกล มีหนึ่งนโยบายที่ระบุว่า ‘รับรองทุกเพศสภาพ คำนำหน้าสมัครใจ’ ซึ่งการกล่าวว่า ‘รับรองทุกเพศสภาพ’ ก็หมายถึงนอนไบนารีด้วย และรายละเอียดของคำนำหน้าที่จะให้ผู้คนสามารถเลือกระบุเอง ได้แก่ นาย นาง นางสาว และนาม ซึ่งคำว่า ‘นาม’ คือ เป็นคำนำหน้าที่ไม่ระบุเพศ ที่คนในชุมชนนอนไบนารีเคยเรียกร้องให้ใช้มาก่อน ดังนั้นจึงมั่นใจว่าพรรคก้าวไกลจะรับรองสิทธิดังกล่าวครอบคลุมถึงนอนไบนารีด้วย ทั้งประเด็นเรื่อง Gender X และคำนำหน้าที่มีคำว่า ‘นาม’”
ซึ่งนโยบายดังกล่าวแบ่งออกเป็น 4 ข้อ
1. คุ้มครองสิทธิการรับรองทางกฎหมาย ผ่านการกำหนดมาตรการรับรองสถานะความเป็นบุคคลให้ตรงกับเจตจำนงในเพศสภาพของบุคคลนั้น โดยไม่ต้องผ่านการรับรองหรือกระบวนการทางการแพทย์ และคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการใช้คำนำหน้านามตามความสมัครใจ
2. สิทธิในการเปลี่ยนคำนำหน้านามให้ตรงกับเพศสภาพ คณาสิตระบุว่า “ข้อนี้หมายถึงคนข้ามเพศ (ผู้ชายและผู้หญิงข้ามเพศ) ที่พวกเขาสามารถเปลี่ยนไปใช้คำนำหน้าที่เหมาะสมกับเพศสภาพของตนเองได้ แต่ขอย้ำว่าไม่เสมอไป สมมุติว่าผู้ชายข้ามเพศบางคนเขาอาจต้องการระบุคำนำหน้าว่า ‘นาม’ หรือ ‘ไม่ระบุเพศ’ ก็ได้ เพราะจริงๆ แล้วมันถือเป็นคนละเรื่องกันระหว่างเพศสภาพกับสิ่งที่เขาต้องการระบุ แก้ไข ในเอกสารราชการ”
อย่างไรก็ตาม คณาสิตเสริมว่า แต่ส่วนใหญ่แล้วคนข้ามเพศมักจะเปลี่ยนคำนำหน้าให้สอดคล้องกับเพศสภาพของตนเอง
3. สิทธิในการเลือกคำนำหน้านามที่เป็นกลางทางเพศ (เช่น ‘นาม’) “นอนไบนารี ต้องการ Gender X ซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษาต่างประเทศที่หมายถึงคนที่อยู่นอกระบบ 2 เพศ ซึ่งถ้า Female เท่ากับผู้หญิงและ Male เท่ากับผู้ชาย ดังนั้น X ควรจะแปลเป็นไทยว่า ‘นอกระบบสองเพศ’ เพราะมันจะครอบคลุมทุกเพศสภาพที่อยู่นอกระบบสองเพศ ไม่ว่าจะเป็นนอนไบนารี ทอม และกะเทย (ที่ไม่ได้หมายถึงคนข้ามเพศ แต่เป็นคำศัพท์แรกเริ่มเดิมทีของประเทศไทย) ซึ่งประเทศไทยมีผู้คนที่อยู่นอกระบบสองเพศอยู่แล้ว ดังนั้นคำนำหน้าที่จะระบุในทะเบียนราษฎร หรือเอกสารราชการควรจะใช้คำนี้” คณาสิตกล่าว
4. สิทธิในการเลือกไม่ใส่คำนำหน้านาม (ระบุเพียงชื่อและนามสกุล) คือ ‘การไม่ระบุเพศ’ ซึ่งคณาสิตมองว่า ไม่รู้ว่าใครต้องการการไม่ระบุเพศบ้าง แต่คิดว่าข้อนี้ก็ต้องมีอยู่ดี เพราะต้องมีกลุ่มคนที่ต้องการอย่างแน่นอนแม้ว่าจะเป็นคนส่วนน้อยก็ตาม
คณาสิตอธิบายสรุปว่า สิ่งที่พูดมาทั้งหมด คือ การร่วมมือกันระหว่างพรรคก้าวไกลและภาคประชาสังคมที่มีแนวคิดที่สอดคล้องกันอย่างกลุ่มนอนไบนารีก็สนับสนุนการมีทั้ง 4 ข้อตั้งแต่แรก ซึ่งก็ไปตรงกับนโยบายของพรรคก้าวไกลพอดี
“นอนไบนารีไม่ได้ ‘ไม่ต้องการการระบุเพศ’ แต่ต้องการการระบุว่า ‘ตนเองเป็นนอนไบนารี'”
การต่อสู้ของ Gender X กับระบบกฎหมายแบบ 2 เพศ
คณาสิตกล่าวย้ำถึงการให้ความสำคัญของทั้ง 4 ข้อที่กล่าวข้างต้นว่า ถ้าหากรวมทุกอย่างไปเป็น X หมด หรือตัดข้อใดข้อหนึ่งออก ก็จะสร้างความสับสนและความเข้าใจผิดได้ เพราะในหลายๆ สื่อตอนนี้ยังตีความนอนไบนารีว่า ‘ไม่มีเพศ’ อยู่เลย ซึ่งตามจริงแล้วนอนไบนารีถือเป็นอัตลักษณ์หนึ่ง เป็นเพศสภาพหนึ่ง (gender identity) แต่ตอนนี้สื่อกำลังเข้าใจผิดว่าพวกเราไม่มีเพศ ไม่ต้องการเพศ และไม่ต้องการการจัดหมวดหมู่เรื่องเพศ ซึ่งที่จริงแล้วเราต้องการว่าเรานั่น คือ ‘เพศนอนไบนารี’
“ดังนั้นประเด็นนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะกลายเป็นว่าเราที่เป็นนอนไบนารีเป็นคนที่ไม่มีเพศ ซึ่งนอนไบนารีถือเป็นร่มกว้างๆ ของอัตลักษณ์ที่มีอยู่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นเพศชายหญิงรวมกัน หรือเป็นเพศอื่นๆ เลยอย่างเป็นเพศที่ผูกติดกับประเด็นอะไรบางอย่าง อย่างไรก็ตาม จะมีกลุ่มที่เรียกว่า ‘Agender’ เป็นกลุ่มคนที่เป็นกลางทางเพศ หรือระบุว่าเพศไม่มีอยู่จริง ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของนอนไบนารี ไม่ใช่ส่วนใหญ่” คณาสิตระบุ
คณาสิตกล่าวเพิ่มว่า มายาคติที่เกิดขึ้นในสังคมกลายเป็นว่านอนไบนารีถูกเหมารวมไปแล้วว่า ‘ไม่มีเพศ’ ซึ่งสร้างความไม่สบายใจต่อชุมชนของเรา เพราะพวกเรามีเพศ แต่อยู่ๆ คนก็เข้าใจว่าพวกเราไม่มีเพศ ซึ่งเราไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับสื่อ ทั้งๆ ที่เราพยายามสื่อสาร ออกบทความ เพื่ออธิบายความเป็นนอนไบนารี แต่ผู้คนก็ยังไม่เข้าใจอย่างถูกต้องเสียที ซึ่งเราก็ไม่ได้โทษตัวเองมาก แต่คิดว่าทางภาคประชาสังคมทำได้เพียงเท่านี้ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องอาศัยสื่อหรือผู้คนจากหลายๆ กลุ่ม เพื่อช่วยกันสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้
“ถึงแม้จะมีการกล่าวถึงหรือมีกฎหมาย แต่คิดว่าขณะนี้เสียงที่ยังเบาอยู่ คือ ‘เสียงของชุมชนเราเอง’ เพราะเวลาพูดถึง Gender X น้ำหนักที่ทุกคนควรให้มากที่สุด ก็คือคนที่จะต้องใช้หรือเป็นเจ้าของเรื่อง ไม่ใช่นักกฎหมาย นักการเมือง หรือใครก็ตามที่ออกตัวให้พวกเรา ซึ่งส่วนใหญ่มักจะ ‘ไม่ฟัง’ ความต้องการของเราจริงๆ ทำให้กฎหมายที่ออกมามันก็ใช้ไม่ได้อยู่ดี และพวกเราก็ต้องทนอยู่กับความผิดพลาดของความไม่สมบูรณ์ต่อไป”
ท้ายที่สุดแล้ว เสียงที่ถูกควรฟังที่สุดจะต้องไม่ใช่เสียงของพรรคการเมืองใดๆ เลย ถึงแม้เราจะทำงานร่วมกับพรรคการเมืองก็ตาม แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดก็ควรเป็นเสียงของเจ้าของปัญหาว่าพวกเขาอยากจะแก้ตรงไหนถึงจะถูกต้อง ถ้าเป็นอย่างที่ว่าได้ก็จะทำให้พวกเราได้รับการเคารพ มีตัวตน และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ฉะนั้นน้ำหนักสูงสุดของเรื่องนี้ควรเป็นชุมชนเรา โดยคณาสิตเล่าประสบการณ์หนึ่งให้เราฟังว่า
“เคยไปประชุมเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ และมีนักกฎหมายคนหนึ่งพยายามบอกเราว่าทำแบบนี้ แบบนั้นดีกว่า หรือ อันนี้ทำไม่ได้ อันนั้นแก้ไม่ได้ ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจแทนเรา และคุณเป็นนักกฎหมายผู้ทำประเด็นนี้ คุณมีหน้าที่ใช้ความรู้วิชาการของวิชาชีพของคุณในการช่วยชุมชน ให้บรรลุเจตจำนงในการปกป้องและคุ้มครอง ไม่ใช่มาบอกเราว่าทำไม่ได้หรอก เพราะระบบกฎหมายเป็นแบบ 2 เพศ”
นอกจากนี้ คณาสิตยังเล่าอีกว่า เคยได้ไปแสดงความคิดเห็นบนเวทีหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายแล้วกลุ่ม GEN-ACT ซึ่งเป็นภาคประชาสังคมที่มีการรวบรวมหลายๆ กลุ่มเข้าไว้ด้วยกัน ได้ตัดเรื่อง Gender X ออกจากร่าง พ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของภาคประชาสังคม โดยคณาสิตเสริมว่า ทั้งๆ ที่ตอนแรกมีเราเป็นที่ปรึกษา แต่สุดท้ายแล้วทั้งเราและเพื่อนๆ อีกสองกลุ่ม ซึ่งก็คือกลุ่มนอนไบนารี, อินเตอร์เซ็กซ์ และทีค—พลังทรานส์ ต่างถอนตัวออกมา เพราะเกิดความรู้สึกผิดหวัง เนื่องจากพวกเขาให้เหตุผลกับเราว่า เพราะกฎหมายไทยเป็นระบบกฎหมายแบบ 2 เพศ ซึ่งเราคิดว่าถ้าใช้เหตุผลนี้ คนข้ามเพศก็ไม่ต้องออกมาเรียกร้องเรื่องรับรองอัตลักษณ์ทางเพศเหมือนกันหรือเปล่า เพราะเราทุกคนก็รู้ว่ากฎหมายมีไว้เพื่อ ‘คนตรงเพศ’ เท่านั้น
ซึ่งการกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า พวกเขาทำเพื่อคนข้ามเพศที่อยู่ในขั้วเพศชายและหญิงหรือไบนารีเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วนอนไบนารีเองก็อยู่ใต้ร่มของคนข้ามเพศ เพราะนิยามของคนข้ามเพศคือ เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด แต่สุดท้ายแล้ว เราก็ไปส่งเสียงให้พวกเขารับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้พวกเขาต้องกลับไปพิจารณากันใหม่
คณาสิตกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เราก็รู้สึกแย่ไปแล้ว ซึ่งนับว่าตรงนี้เป็นจุดแตกหักที่ทำให้เราไม่อยากทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมอื่นอีก และพยายามขับเคลื่อนประเด็นของกลุ่มเอง ถึงแม้ว่าจะไม่ค่อยจะมีทรัพยากรมากมาย แต่โชคดีที่มีพรรคการเมืองตอบรับเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่ได้สบายใจเสียทีเดียว
ไม่เพียงเท่านี้ คณาสิตยังกล่าวถึง ‘ต้นแบบแนวคิด Gender X จากประเทศอื่นๆ’ ว่า ในขณะนี้มีเกือบ 20 ประเทศทั่วโลกที่มีการรับรองเรื่อง Gender X ซึ่งประเทศล่าสุดก็คือ เม็กซิโก แต่ถึงจะยอมรับเรื่อง Gender X จริง แต่ก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้นอยู่ เพราะมีคนบางส่วนมองว่าช่อง X ที่รองรับนอนไบนารี มันไปกระทบกับเรื่องเพศกำเนิด (sex) ที่เกี่ยวข้องกับทะเบียนราษฎรและเอกสารข้าราชการ ซึ่งนอนไบนารีถือเป็นอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ (gender Identity) ดังนั้นเพศกำเนิด (biological sex) จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
“ปัญหาที่เกิด คือ การระบุ X ในช่องเพศกำเนิด (sex) เพื่อระบุถึงนอนไบนารีในเอกสารราชการอย่างสูติบัตร ตรงนี้แหละที่ทำให้คนเกิดความสับสนเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเพศกำเนิด เพศสภาพ และอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งเม็กซิโกยังไม่มีวิธีแก้ไข และคนติเตียนเรื่องนี้ก็เป็นนักกิจกรรมนอนไบนารีเองอีกด้วย อย่างไรก็ดี แต่ละประเทศมีวิธีแก้ไขต่างกัน ซึ่งกฎหมายตัวนี้ค่อนข้างมีความแตกต่างหลากหลายมากกว่าสมรสเท่าเทียม เพราะว่ามันจะมีบริบทของแต่ละประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น X ไม่เท่ากับนอนไบนารีอย่างเดียว แต่หมายถึงอย่างอื่นอีกด้วย เช่น เพศหลากหลาย หรืออินเตอร์เซ็กซ์”
ประเด็นคำนำหน้าก็ไม่ต่างกับ Gender X
นอกจากนี้ คณาสิตยังกล่าวถึงประเด็นคำนำหน้าว่า ในบางประเทศการจะเปลี่ยนคำนำหน้าได้ต้องได้รับการยินยอมโดยแพทย์ก่อน ซึ่งประเทศที่ถือเป็นโรลโมเดลที่ดีที่สุดของภาคประชาสังคมไทยในการทำร่าง พ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ คือ ประเทศอาร์เจนติน่าและมอลตาเพราะ 2 ประเทศนี้มีหลักการที่สำคัญคือ อัตลักษณ์ทางเพศสภาพเป็น ‘เจตจำนงเสรี’ (self-determination) หรือเป็นสิทธิมนุษยชนในการนิยามตนเอง ดังนั้นไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ ซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลว่าด้วยเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศสภาพว่า ทุกคนมีสิทธิในการนิยามตัวเองและยังต้องได้รับการเคารพ ซึ่งหลักการนี้สอดคล้องกับองค์กรอนามัยโลก (WHO)
อย่างไรก็ดี คณาสิตเสนอทางแก้ปัญหาในกรณีของเม็กซิโกว่า ย้อนกลับไปเมื่อปี 2021 สมาคมแพทย์อเมริกัน (american medical association) ให้ข้อเสนอแนะว่า จริงๆ แล้วในสูติบัตรเราไม่ควรระบุเพศที่ถูกกำหนดตอนเกิดเอาไว้ในส่วนที่มองเห็นได้ แต่ควรจะระบุเอาไว้ให้แค่แพทย์เข้าถึงได้เท่านั้น และเปลี่ยนเป็นการระบุเพศสภาพลงไปแทน
“สมมุติในประเทศไทย อาจจะเปลี่ยนสูติบัตรให้มีคิวอาร์โค้ดที่แพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลเพศกำเนิดของเราได้เท่านั้น หรืออย่างในบัตรประชาชนที่ไม่ได้มีการระบุเพศอยู่แล้ว แต่มีการระบุคำนำหน้า ก็ให้มีกฎหมายให้เปลี่ยนคำนำหน้าตามสมัครใจ แต่อาจจะต้องเพิ่มวิธีที่ระบุข้อมูลทางชีวภาพของเราเอาไว้ ซึ่งเราเห็นด้วยกับสมาคมแพทย์อเมริกัน เพราะการระบุเพศกำเนิดในสูติบัตรมันสร้างการเลือกปฏิบัติให้แก่คนข้ามเพศ นอนไบนารี และอินเตอร์เซ็กซ์ เพราะมันถือเป็นข้อมูลสาธารณะ”
คณาสิตจึงสรุปว่า ควรเปลี่ยนคำว่า ‘เพศกำเนิด (sex)’ ในเอกสารราชการต่างๆ ให้เป็น ‘เพศสภาพ (gender)’ แทน และให้เพศกำเนิดเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่เป็นข้อมูลที่มีอยู่เพื่อการแพทย์เท่านั้น เพราะไม่มีความจำเป็นที่ผู้อื่นจะต้องเข้าถึงข้อมูลส่วนนี้ ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดของเราในสังคมไทยเช่นกันว่า
“ถ้าวันหนึ่งมีกฎหมายนี้ขึ้นมา และทุกคนต่างถกเถียงกันถึงประเด็นนี้ เราก็จะแนะนำวิธีนี้ไป จะได้ไม่ต้องมาตีกันว่าเพศกำเนิดไม่สามารถแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนได้ เพราะมันสำคัญ ดังนั้น ก็แค่เปลี่ยนข้อมูลที่ตามจริงเป็นสาธารณะในเอกสารราชการและทะเบียนราษฎรให้กลายเป็น ‘เพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศ’ และข้อมูลเกี่ยวกับเพศกำเนิดและร่างกายก็จัดเก็บไว้ในพื้นที่ไพรเวท”
ฉะนั้นเวลาพูดถึงเรื่อง Gender X ต้องลงรายละเอียดก่อนว่ามันมีจุดเริ่มต้นมาจากชุมชนของผู้คนที่อยู่นอกระบบ 2 เพศ ที่ไม่ตรงตามกรอบเพศชายและหญิง พวกเขาจึงต้องการ ‘เครื่องหมายเพศ (gender marker)’ และคำนำหน้าที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งกลุ่มที่เรียกร้องในไทยก็คือนอนไบนารี เพราะพวกเรามีหน้าที่ออกแบบระบบให้เป็นมิตรและรับรองคนทุกคนในประเทศ
ก็เหมือนกับทุกๆ กรณี ถ้าทุกคนมองว่าคนเหล่านี้เป็นแค่คนส่วนน้อย มันก็ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะว่าคนกลุ่มน้อยก็จะยังเป็นคนกลุ่มน้อย และไม่มีวันเป็นคนกลุ่มใหญ่ในประเทศได้ ซึ่งการละเลยและไม่สนใจพวกเขา มันก็เกิดปัญหาขึ้นกับสังคมอยู่ดี ถึงแม้จะมีไม่กี่คน แต่รัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องก็มีหน้าที่ในการแก้ไขกฎหมายและระบบที่มันล้าหลังที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมโลกยุคปัจจุบัน และประเทศไทยก็อยู่บนโลกนี้เช่นกัน
ทั้งนี้ เหตุผลที่เรามีตัว ‘N’ ใน LGBTQIAN+ เกิดจากการที่ชุมชนของเราส่งเสียงเรียกร้องออกไป นอกจากนี้ เรายังพูดถึงตัวอักษร I (intersex) และ A (asexual) อีกด้วย ซึ่งมีแค่ประเทศไทยที่ใช้ ‘LGBTQIAN+’ ด้วยเหตุผลที่ว่าพวกเราต้องการให้เกิดความเท่าเทียมครอบคลุมกับทุกๆ กลุ่ม
นอนไบนารีมีตัวตนอยู่จริง และหน้าที่ของพรรคการเมืองและรัฐ คือ ต้องพยายามฟังเสียงของประชาชนทุกกลุ่ม และถึงเวลาแล้วที่นอนไบนารีต้องได้รับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ และได้รับคำนำหน้าที่ต้องการ ซึ่งไม่ได้ขอความเห็นใจ แต่พวกเราถูกพรากสิทธิที่ควรจะได้รับมานานเกินไปแล้ว ดังนั้นควรคืนชีวิตและศักดิ์ศรีให้กับคนนอนไบนารีสักที
อ้างอิงจาก