หลังจากที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.8 บริเวณชายแดนตุรกี–ซีเรีย เมื่อวัน 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลายๆ ประเทศก็ทยอยส่งความช่วยเหลือทั้งด้านการเงิน อาหาร ส่งแรงไป หรือแม้กระทั่งส่งสุนัขเข้าไปช่วยเหลือ
สำหรับผู้ประสบภัย สุนัขอาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่เขาจะรอดพ้นจากภัยพิบัติในครั้งนี้ เพราะสุนัขกู้ภัยที่ผ่านการฝึกอบรมมีกลิ่นที่ดีกว่า 10,000 เท่าและการได้ยินดีกว่ามนุษย์ 50 เท่า อีกทั้งสุนัขกู้ภัยที่ฝึกมาสามารถเข้าสำรวจพื้นที่ได้รวดเร็ว โดยสุนัขจะถูกฝึกให้ดมกลิ่นมนุษย์และเห่าพร้อมกับวางอุ้งเท้าไว้ตรงจุดที่ได้กลิ่นเพื่อส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าจุดไหนที่เจอผู้ประสบภัย
หนู—ประกาศิต เลาหะเดช ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าหน่วยกู้ภัย FROG Team Thailand เคยให้สัมภาษณ์กับ The Cloud ว่า สุนัขสามารถรับรู้จำนวนคนได้จากกลิ่นเฉพาะของแต่ละบุคคล เช่น ถ้าสุนัขรับกลิ่นได้ 7 คน แต่มองเห็นแค่ 6 คน สุนัขจะพยายามหาว่าอีกกลิ่นอยู่ที่ไหน เพราะมนุษย์มีเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วหลุดลอยออกมาในอากาศอยู่ตลอดเวลา เซลล์ผิวหนังนี้จะผสมกับสารต่างๆ ในร่างกาย ออกมาเป็นกลิ่นเฉพาะของแต่ละบุคคล เมื่อสุนัขจับกลิ่นที่ 7 ได้แล้วจึงเห่าแจ้งตำแหน่งกับเจ้าหน้าที่ในทันที
แม้สุนัขอาจเป็นความหวังสุดท้ายของผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในซากปรักหักพัง แต่ก็ยังคงการตั้งคำถามว่าการให้สุนัขไปช่วยมนุษย์ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้เป็นการทารุณกรรมสัตว์หรือไม่
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 กุมภาพันธ์) มีข่าวว่า โปรเตโอ (Proteo) สุนัขที่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวตุรกี ได้เป็นจำนวนมากได้เสียชีวิตลง โดยไม่มีรายงานถึงสาเหตุการเสียชีวิต อีกทั้งยังมีสุนัขที่บาดเจ็บจากการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยหนึ่งในนั้นก็คือ โทแบก สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ ที่ได้รับบาดเจ็บที่อุ้งเท้าหลังจากเหยียบของมีคม
หลังจากที่น้องโทแบกบาดเจ็บ ก็มีความเห็นว่า รู้สึกขอบคุณที่เจ้าโทแบกทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็มีความเห็นที่มองว่าสุนัขก็เป็นหนึ่งชีวิตเหมือนกัน ทำไมต้องปล่อยให้น้องออกไปลำบากขนาดนี้ ไม่ใช่ว่าเขาไม่เห็นใจมนุษย์ แต่สงสารสุนัขจากทุกประเทศที่ไปช่วยเหลือ
หรือบางคนก็กล่าวว่า “ดูหน้าโทแบกสิ เขาดูเศร้ามาก เราควรให้ความคุ้มครองเขาเพื่อความปลอดภัยในสถานที่เกิดภัยพิบัติ” ฯลฯ
อย่างไรก็ตามทีมงานกู้ภัยของเกาหลีใต้ (KDRT) ที่รับผิดชอบการฝึกอบรมและการจัดการ ก็ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการทารุณกรรมสัตว์ และยืนยันว่าพวกเขาพยายามอย่างเต็มที่เพื่อความปลอดภัยของสัตว์กู้ภัยตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะปฏิบัติหน้าที่
เมื่อมองในประเด็นความปลอดภัยของสุนัขกู้ภัยที่มีคนสังเกตเห็นว่าเจ้าโทแบกไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน ทางเจ้าหน้าที่ KDRT ก็ตอบว่า “การที่เราเลือกติดตั้งหรือไม่ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันขึ้นอยู่กับประเภทของสถานที่เกิดภัยพิบัติ บางครั้ง การใส่อุปกรณ์ป้องกันสุนัขกู้ภัยอาจเป็นอันตรายกว่า เพราะอาจติดอยู่ในเศษซากหรือรู้สึกไม่สบายใจเมื่อเคลื่อนไหว”
“เรา (ผู้ดูแลและบุคลากรในทีมกู้ภัย) ใส่ใจสุนัขกู้ภัยมากพอๆ กับที่เราทำกับเจ้าหน้าที่กู้ภัยของมนุษย์ เราจะไม่มีวันทำให้พวกเขาตกอยู่ในอันตราย” เจ้าหน้าที่กล่าว
“เรารักพวกเขามากกว่าใคร”
อ้างอิงจาก