“ผมได้คะแนนดีมาก แต่ผมก็ยังถูกตำหนิเมื่อกลับถึงบ้าน”
การเลี้ยงลูกแบบเข้มงวด กลายเป็นภาพจำการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ชาวเอเชียที่ฟังดูแล้วเหมือนจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ลูกเดินไปในเส้นทางที่ดี แต่ในบางครั้งก็เป็นเหมือนดาบสองคมที่ส่งผลเสียต่อตัวลูกมากกว่า เมื่อตำรวจจีนพบเด็กผู้ชายเดินร้องไห้บนทางด่วนคนเดียว เพราะว่าเขาโดนพ่อแม่ตำหนิ หลังจากเขาสอบได้ที่ 4 ของห้อง
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตำรวจพบเด็กชายวัย 14 ปีกำลังเดินเตร็ดเตร่ร้องไห้คนเดียว อยู่บนทางหลวงในมณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน หลังการสอบถาม เด็กชายคนนี้ก็ได้คำตอบว่าเขาถูกพ่อแม่ตำหนิว่าเขาไม่พยายามมากพอ หลังจากเขาทำคะแนนสอบกลางภาคของโรงเรียนได้ 630 คะแนนจากทั้งหมด 700 คะแนน ทำให้เขาได้อันดับ 4 ของห้อง และอยู่อันดับ 20 ของชั้น
หลังจากเรื่องราวนี้เผยแพร่ออกไป คนนับล้านทางสื่อสังคมออนไลน์ของจีน ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์พ่อแม่ของเด็กว่าทัศนคติที่พวกเขามีต่อการศึกษาของลูกอาจนำไปสู่ปัญหาชีวิตของเด็กในภายหลัง เช่น เด็กป่วยเป็นโรคเครียด เพราะได้รับแรงกดดันที่มากจนเกินไป
ขณะเดียวกัน ก็มีข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่พบว่า ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง เด็กๆ มักจะถูกปลูกฝังให้ต้องตั้งใจเรียนอย่างหนัก เช่น ในประเทศจีน สหรัฐฯ และไทย
ตรงข้ามกับประเทศแถบสแกนดิเนเวียอย่างสวีเดน และนอร์เวย์ จะมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ต่ำ มักจะให้ค่ากับความเป็นตัวของตัวเองและการมีจินตนาการมากกว่า และไม่มีค่านิยมปลูกฝั่งเรื่องบุญคุณเท่าเอเชีย เช่น ลูกจำเป็นต้องได้งานดีๆ เพื่อหาเงินมาเลี้ยงพ่อแม่
ทั้งนี้ ทาง BBC เคยทดลองให้เด็กอังกฤษ 5 คน ให้มาเรียนหนังสือแบบจีนเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ผลจากการวิจัยพบว่า นักเรียนอังกฤษตามรูปแบบการสอนไม่ทัน ทำให้เริ่มไม่ตั้งใจเรียน หลับในคาบ และบางคนเริ่มคิดว่า ‘ตัวเองจะมีคุณค่า’ ก็ต่อเมื่อได้เป็นที่หนึ่งในการแก้โจทย์ในห้องเรียน หรือแม้แต่บางคนร้องไห้ออกมาขณะนั่งเรียนอยู่
อ้างอิงจาก