เช้าวันใหม่อันแสนสดใส ควรจะมาพร้อมกับความรู้สึกสดชื่นจากการพักผ่อนอย่างเต็มอิ่ม แต่บางคนกลับรู้สึกตรงกันข้าม เพราะทั้งเบื่อหน่าย หดหู่ ไม่อยากลุกจากเตียง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในบางวัน
แต่หากวันไหนตื่นมาพร้อมความรู้สึกเศร้าและหดหู่ในระดับรุนแรงกว่าปกติ แถมอาการที่ว่านี้กลับค่อยๆ หายไปหรือดีขึ้นระหว่างวัน เป็นไปได้ว่าเราอาจกำลังเผชิญกับอาการ ‘morning depression’ หรือภาวะซึมเศร้าในตอนเช้า
ในเว็บไซต์ BayviewRecovery ระบุว่าก่อนหน้านี้เคยมีการวินิจฉัยทางคลินิกที่แยก morning depression ออกมาเดี่ยวๆ แต่ในปัจจุบัน morning depression ถือว่าเป็นอาการหนึ่งของโรคซึมเศร้าซึ่งเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยบางคน โดยงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ.2021 พบว่า อาการนี้มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ แต่ยังไม่มีคำอธิบายสาเหตุที่แน่ชัด
แค่รู้สึกเศร้าตอนเช้า หรือเป็น Morning Depression?
เป็นธรรมดาที่แต่ละวันเราจะมีหลากหลายอารมณ์ปะปนกันไป โดยมีการศึกษาที่พบว่า อารมณ์แปรปรวนเฉพาะช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง สามารถเกิดกับคนที่ไม่มีภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน แต่อารมณ์เศร้าของคนทั่วไปมักจะเป็น ‘ความเศร้าที่อธิบายสาเหตุได้’ ซึ่งเกิดจากกิจกรรมบางอย่างหรือปัจจัยภายนอก เช่น ความเครียดจากปัญหาส่วนตัว หรือเป็นเช้าที่อยู่ในช่วง caffeine withdrawal (คนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำแล้วเลิกดื่มแบบหักดิบ)
ขณะที่ morning depression จะทำให้คนคนนั้นรู้สึกเศร้าอย่างหนักหน่วงกว่า รุนแรงกว่า รวมทั้งใช้เวลานานก่อนจะค่อยๆ ดีขึ้นระหว่างวัน แล้วกลับมาวนลูปเดิมในเช้าวันใหม่ โดยส่วนใหญ่จะไม่ได้มีสาเหตุของความเศร้าอย่างชัดเจน ไม่สามารถควบคุมความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ และอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ นอนหลับมากกว่าปกติ
ดังนั้น ถ้ายังไม่แน่ใจว่าความเศร้าที่กำลังเผชิญอยู่ในระดับไหน เราอาจจะเริ่มทบทวนจากคำถามที่ว่า อะไรทำให้เช้านี้รู้สึกเศร้า? ปกติเราจะเศร้าเพราะสาเหตุนี้อยู่แล้ว หรือเศร้าอย่างรุนแรงเกินกว่าจะใช้สาเหตุดังกล่าวมาอธิบายได้? และอาจพิจารณาจากอาการของโรคซึมเศร้าเพิ่มเติม (สามารถเข้าไปทำแบบทดสอบได้ใน rama.mahidol.ac.th) หากมีความเสี่ยงหรือไม่แน่ใจควรปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
ทำไมต้องเป็นช่วงเช้า?
แม้จะยังไม่มีคำอธิบายที่แน่ชัดว่า ทำไมต้องเป็นช่วงเวลานี้ แต่งานวิจัยหลายชิ้นสันนิษฐานว่า morning depression อาจเป็นการตอบสนองต่อนาฬิกาชีวิต (circadian rhythm) ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะปกติร่างกายของคนเราจะมีรูปแบบการตื่นตัว นอนหลับ ปรับอุณหภูมิ ความดัน และระดับฮอร์โมนร่างกายตลอด 24 ชั่วโมง เช่น ช่วงที่ฟ้าเริ่มสว่าง ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมากกว่าช่วงเย็น ขณะที่เมลาโทนินจะถูกกระตุ้นให้ผลิตออกมาช่วงที่แสงสว่างน้อยหรือตอนกลางคืนนั่นเอง ซึ่งผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าบางคนอาจพบปัญหาการนอนหรือมีนาฬิกาชีวิตที่ค่อนข้างรวน ทำให้มีโอกาสเกิด morning depression ขึ้นมาได้ (ส่วนคนที่ไม่ได้มีอาการซึมเศร้า การกินนอนไม่เป็นเวลาจากวิถีชีวิตของตัวเอง ก็ส่งผลต่อการเกิดอารมณ์ทางลบและเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้เช่นเดียวกัน)
แน่นอนว่าอาจจะมีหลากหลายวิธีที่ช่วยสร้างบรรยากาศให้เหมาะแก่การนอนหลับ ไม่ว่าจะแสง เสียง หรือกลิ่นหอมๆ ให้รู้สึกผ่อนคลาย แต่สำหรับบางคนอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะข่มตานอนหลับได้อย่างเต็มอิ่ม สตีเฟน สแมกูลา (Stephen Smagula) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์และระบาดวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก จึงมองว่า เราควรเริ่มจากการหาวิธีตื่นให้เป็นเวลาเพราะสามารถควบคุมได้มากกว่าการพยายามหลับ เช่น การจัดเวลาตื่นนอนให้เป็นกิจวัตร พร้อมจับคู่กับกิจกรรมบางอย่างที่ทำแล้วมีความสุข เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายจดจำว่าช่วงเช้าเป็นเวลาที่ดีและน่าตื่นเต้น
แม้ว่าการพักผ่อนให้เพียงพอและสอดคล้องกับนาฬิกาชีวิตจะเป็นพื้นฐานสำคัญของสุขภาพกายใจที่ดี ทั้งยังสามารถลดความรุนแรงของ morning depression ได้ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจ รวมทั้งปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา หากไม่แน่ใจว่าอารมณ์ความรู้สึกที่เผชิญอยู่นั้น ควรได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญด้วยหรือไม่ เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจและดูแลตัวเองได้อย่างถูกวิธี
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan