“ต่อให้พ่อแม่ของเด็กจะทำผิดจารีตประเพณี หรือเป็นผู้กระทำผิดในท้ายที่สุด ก็ไม่มีใครมีสิทธิพิพากษา ก่อนที่ศาลจะตัดสิน กฎหมายมีบทลงโทษอยู่แล้ว แต่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ พวกเขาเป็น ‘เด็ก’ ”
ดูเหมือนปริศนาของคดีน้องต่อ เด็กที่หายตัวไปแล้ว 22 วันเต็ม กำลังจะถึงจุดเปลี่ยนของการสืบสวนอีกหนหนึ่ง หลังแม่เด็กยอมพูดว่าทิ้งลูกลงแม่น้ำจริง นั่นยิ่งทำให้ระดับอารมณ์ร่วมที่ผู้คนมีต่อเหตุการณ์สูงตาม จนบ้างอาจลืมไปว่า หลายตัวละครสำคัญของเรื่องนี้ยังเป็น ‘เด็ก’ แทบทั้งหมด
‘ไม่ว่าผมจะมีลมหายใจ หรือจากโลกใบนี้ไปแล้วก็ตาม เรื่องราวของผมและคนรอบตัวผม กำลังถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ โลกที่ผมสงสัยว่า พวกเขาห่วงใยผมจริงๆ หรือไม่’
ข้อความดังกล่าวที่เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กของมูลนิธิกระจกเงา ได้รับความสนใจด้วยอาจจะไปกระทบใจผู้คนที่ติดตามการค้นหาเด็กน้อยวัย 8 เดือน ที่หายตัวไปจากบ้าน โดยพ่อและแม่ของเด็กยังคงให้การสับสน จนนำไปสู่การขุดคุ้ยพฤติการณ์ของคนในครอบครัวไม่สิ้นสุด ส่งผลให้ข้อมูลส่วนตัวที่อาจเกินจำเป็นถูกทิ้งร่องรอยไว้ในโลกออนไลน์
แล้วเป้าหมายของการตามหาเด็กหายคืออะไร? The MATTER มีโอกาสพูดคุยกับ ‘เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข’ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ถึงประเด็นสิทธิของเด็กหายที่คนพึงระวังทั้งในฐานะคนทำงาน และผู้เสพข่าวที่คอยเอาใจช่วย
- สถานการณ์เด็กหายของไทย
เชื่อว่าใครหลายคนคงเติบโตมากับช่วงเวลาที่ถูกขู่ให้กลัว ‘รถตู้จับเด็ก’ เวลาออกไปเล่นสนุกนอกบ้าน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะหากย้อนไปดูตัวเลขเด็กหายของบ้านเราในช่วง 10 ปีก่อน นับเป็นบันไดขาขึ้น ที่ปีๆ หนึ่งมีมากกว่า 400 ราย ซึ่งสูงที่สุดในทุกช่วงวัย ก่อนที่ช่วง 3-4 ปีทีผ่านมาจำนวนลดลง เหลือราว 200 รายต่อปี
เอกลักษณ์ อธิบายว่า สืบเนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลง รวมถึงอัตราผู้สูงอายุเพิ่มสูง นับเป็นปัจจัยที่ทำให้สถิติบุคคลสูญหายกลับไปสูงขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ
จนมาถึงปี 2565 มูลนิธิฯ ได้รับแจ้งเด็กหายเพิ่มสูงถึง 25% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 โดยสาเหตุหลักกว่า 61% หรือ 161 ราย มาจากเด็กสมัครใจหนีออกจากบ้าน รองลงมาคือ กลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการช้า มีความพิการทางสติปัญญา หรือป่วยทางจิตเวช ซึ่งมีโอกาสพลัดหลงกับผู้ดูแล และการลักพาตัวของเด็กเล็ก
“ล็อกดาวน์ก็มีส่วนให้คนมีปฏิสัมพันธ์กันน้อย แต่เมื่อเริ่มผ่อนคลายมาตรการ เด็กๆ มีโอกาสกลับไปเจอกันที่โรงเรียน ในขณะเดียวกันหลายครอบครัวมีความบอบช้ำทางเศรษฐกิจ จนจุดระเบิดความรุนแรงในครอบครัว ยิ่งเพิ่มโอกาสเด็กหนีจากบ้าน”
นั่นจึงสนับสนุนว่าเหตุใด เด็กอายุ 11-15 ปี กลายเป็นช่วงอายุที่หายออกจากบ้านมากที่สุด “ยังมีปัจจัยประกอบอื่น อย่างมีการเดินทางไปโรงเรียนเอง เรียนพิเศษ เสาร์อาทิตย์มีกิจกรรมกับเพื่อน และมีแรงขับทางเพศตามธรรมชาติ”
- หัวใจของการช่วยเหลือเด็ก
“เวลาเราตามหาเด็กสมัครใจหนีออกจากบ้าน เราไม่โพสต์หรือทำประกาศในโลกออนไลน์เลย แต่ใช้กระบวนการสืบสวนเป็นหลัก”
เอกลักษณ์ เล่าว่า ในการทำงานตามหาร่องรอยของเด็กหาย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นจะใช้วิธี ‘หายจากสิ่งไหนเราตามจากสิ่งนั้น’ ยกตัวอย่างเช่น หากเด็กมีโอกาสถูกชักชวนทางโซเชียลฯ เจ้าหน้าที่ก็จะตรวจสอบการใช้งานบัญชีดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการเผยแพร่ข้อมูลทางออนไลน์
“เขายังต้องมีชีวิตต่อไปในสังคม ต้องกลับมาเรียนหนังสือ หรือเข้าระบบทำงาน ถ้าข้อมูลถูกบันทึกไว้ว่า เคยหนีหายไปตอนวัยรุ่น จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเขาหลังจากนั้น”
เช่นเดียวกันกับกรณีการตามหาเด็กเล็ก ที่เป้าหมายเป็นไปเพื่อคืนเด็กสู่สังคม ดังนั้นการคำนึงถึงผลลัพธ์ของการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวจึงเป็นประเด็นสำคัญ
- ‘สิทธิเด็ก’ ที่ไม่อาจมองข้าม
ในกรณีของการตามหาเด็กเล็กหาย หลายครั้งเมื่อการสืบสวนคลี่คลาย คนในครอบครัวอาจมีส่วนเกี่ยวข้องหรือเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง แต่นั่นก็อาจไม่ใช่เหตุผลให้สังคมพิพากษาบุคคลเหล่านั้นแทนเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ โดยเฉพาะหากพวกเขายังอยู่ภายใต้เส้นแบ่งความเป็นเด็ก อย่างที่เกิดขึ้นกับคดีของน้องต่อในตอนนี้
“พ่อแม่ของน้องต่อยังไม่บรรลุนิติภาวะทั้งคู่ โดยเฉพาะแม่เด็กที่อายุ 17 ปี ซึ่งในทางกฎหมายยังอยู่ภายใต้เส้นอายุ 18 ปีบริบูรณ์ที่แบ่งความเป็นเด็ก”
ตลอดระยะเวลาราว 20 วันที่ความจริงยังไม่ปรากฏ พฤติกรรมส่วนตัวของครอบครัวนี้ถูกตีแผ่ออกมา ซึ่งบางส่วนก็ขัดต่อจารีตของสังคม นั่นจึงยิ่งทำให้คำวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมถาโถมเข้าใส่
“ในความเป็นจริงทางสืบสวนสามารถหาข้อมูลเหล่านี้ได้อยู่แล้ว แต่ต้องเก็บเป็นความลับ เพื่อให้เห็นบุคลิกภาพและพฤติกรรมประกอบ แต่ไม่ใช่สื่อสารเพื่อตีแผ่ประจาน ให้เขาต้องออกมาแก้ต่างตัวเองผ่านสื่อมวลชน”
ประเด็นหนึ่งที่ชัดเจนที่สุด คือ การเปิดเผยผลตรวจดีเอ็นเอของเด็ก ว่าเป็นบุตรตามสายเลือดของใคร “ตอนผมก็เชื่อว่าพ่อแม่เด็ก ทั้งนิ่มและพุด ยังไม่เคยเห็นผลอย่างเป็นทางการที่เป็นเอกสารเลย เขาได้ยินเรื่องนี้จากสื่อ ที่ได้ข้อมูลจากคนที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งในทางสากลเขาไม่ทำกัน”
คงต้องยอมรับว่า โซเชียลมีเดียที่เติบโตขึ้น ส่งผลให้การรักษาสิทธิให้กับเด็กและครอบครัวเป็นเรื่องยากกว่าเดิม เพราะทุกคนสามารถเป็นนักข่าวพลเมืองได้โดยง่าย อีกทั้ง “สังคมให้ค่าข้อคิดเห็น มากกว่าข้อเท็จจริง” เนื่องจากการพิสูจน์ความจริง จำเป็นต้องอาศัยเทคนิคในการตรวจสอบ และระยะเวลา
แม้บ่อยครั้งการกดดันของสังคม อาจทำให้ผู้กระทำผิดให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แต่มีหลายกรณีที่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น อย่างคดีเด็กหายในไร่อ้อย จ.สุพรรณบุรี ที่ผู้คนต่างตั้งเป้าไปที่แม่ของเด็ก จนเปิดโปงข้อมูลที่ไม่จำเป็น เช่น เด็กที่หายไม่ใช่ลูกของสามีปัจจุบัน เป็นต้น แต่ท้ายสุดก็พบว่าเด็กถูกล่อลวงไปโดยคนที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต
“โลกนี้เป็นอารยะแล้ว มีมุมมองในการคุ้มครองเด็ก คุ้มครองผู้เสียหาย มีแนวทางสืบสวนในกระบวนยุติธรรม ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสากล”