“การครอบครองสื่อสิ่งพิมพ์ที่ปลุกระดม เป็นอาชญากรรมร้ายแรง”
ถ้าให้นึกถึงประโยชน์ของหนังสือเด็ก เชื่อว่าหลายคนคงคิดเหมือนกัน อย่างเช่น ช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ และให้ความเพลิดเพลินแก่เด็ก อย่างไรก็ดี มีชายชาวฮ่องกงถูกจับกุมฐานครอบครองหนังสือเด็ก ที่ถูกอ้างว่ามีเนื้อหา ‘ปลุกระดม’
เมื่อไม่นานมานี้ ตำรวจความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกงจับกุมชาย 2 คนที่มีอายุ 38 และ 50 ปี ข้อหาครอบครองหนังสือเด็กที่ทางการมองว่า เป็นการปลุกระดมที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของชาวฮ่องกงที่เน้นย้ำถึงสถานะของเสรีภาพพลเมืองที่พึงมี
โดยเหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อตำรวจและเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจค้นบ้านและสำนักงานของพวกเขา และพบสำเนาของ ‘สิ่งพิมพ์ที่ปลุกระดม’ ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่า หนังสือเหล่านี้ ‘ยุยงให้เกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่น’ ต่อรัฐบาลจีน ฮ่องกง และตุลาการ
“สิ่งพิมพ์สามารถยุยงให้ผู้อื่นใช้ความรุนแรงและไม่เชื่อฟังกฎหมายได้” เจ้าหน้าที่กล่าว
ขอเล่าก่อนว่า ก่อนหน้านี้ในปี 2565 หนังสือในลักษณะนี้เคยถูกตัดสินโดยศาลว่า เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาปลุกระดม และการตัดสินนี้ทำให้นักบำบัดการพูด 5 คนถูกจำคุกเป็นเวลา 19 เดือน ในข้อหา ‘สมรู้ร่วมคิดจัดพิมพ์ แจกจ่าย และจัดแสดงหนังสือ 3 เล่มด้วยเจตนาปลุกระดม’ หลังจากเหตุการณ์นี้ส่งผลให้หนังสือเด็กที่มีเนื้อหาเข้าข่ายการปลุกระดมถูกแบน
เจ้าหน้าที่ยังระบุว่า ‘การครอบครองสื่อสิ่งพิมพ์ปลุกระดม เป็นอาชญากรรมร้ายแรง’ ซึ่งโทษจากการกระทำนี้อาจนำไปสู่การจำคุก 1 ปีในความผิดครั้งแรก และ 2 ปีในความผิดครั้งต่อๆ ไป
ไม่เพียงเท่านี้ ในเวลานั้นตำรวจยังเตือนผู้ปกครองให้ทำลายหนังสือเหล่านี้ทิ้ง โดยให้เหตุผลว่า “รุนแรงเกินไปและยังปลูกฝังให้เด็กมีความคิดต่อต้านรัฐบาล”
อย่างไรก็ตาม ชายชาวฮ่องกงทั้งสองได้รับหนังสือเด็กเหล่านี้ที่ถูกส่งมาจากอังกฤษ ซึ่งเนื้อหาภายในหนังสือเด็กจะมีภาพประกอบเป็นชาวฮ่องกงที่ประท้วงในช่วงปี 2019 โดยหนังสือเล่มนี้ก็คือ วีรบุรุษทั้ง 12 แห่งหมู่บ้านแกะ (The 12 Heroes of Sheep Village) จึงถูกมองว่า ต้องการสะท้อนถึงความพยายามของผู้ประท้วง 12 คน ที่ล้มเหลวจากพยายามหลบหนีออกจากฮ่องกงในปี 2020
ถึงกระนั้น ชายทั้งคู่ได้รับการประกันตัวแล้ว แต่ต้องไปรายงานตัวกับตำรวจในเดือนหน้า (เมษายน 2566) แต่หลายคนเชื่อว่า การจับกุมชายทั้งสองคนด้วยข้อหาดังกล่าวนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ตำรวจจับกุมประชาชนในข้อหา ‘ครอบครอง’ หนังสือที่ถูกกล่าวว่า มีเนื้อหาปลุกระดมอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตำรวจทำการจับกุมผู้คนหลายครั้งที่กระทำสิ่งที่ทางการมองว่าเป็นการยุยง ปลุกปั่น อาทิ หญิงวัย 23 ปีคนหนึ่งถูกจับกุมเมื่อวันพุธ (15 มีนาคม) ที่ผ่านมา เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ข้อความทางออนไลน์ที่ยุยงให้ฮ่องกงแยกตัวเป็นเอกราช
หรือกรณีของ เอลิซาเบธ ถัง (Elizabeth Tang) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานก็ถูกจับกุมเมื่อวานนี้ (16 มีนาคม) เพราะทางการสงสัยว่า เธอสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างชาติ หลังจากเดินทางกลับหลังไปเยี่ยมสามีของเธอ ลี ชุก-ยาน (Lee Cheuk-yan) สมาชิกสภาฝ่ายค้าน ในเรือนจำที่อังกฤษ
ทั้งนี้ กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งกำหนดโดยจีน เกิดขึ้นเมื่อปี 2562 เพราะต้องการยุติการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ยาวนานหลายเดือนของชาวฮ่องกง โดยการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงมากขึ้น เช่น การจำคุกตลอดชีวิตสำหรับคดีอาชญากรรม รวมถึงคดีที่เกี่ยวกับการโค่นล้ม การก่อการร้าย และการสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างชาติอีกด้วย
อ้างอิงจาก