“อะไรคือราคาของคำลวง ไม่ใช่การที่เราจะเข้าใจผิดไปว่ามันเป็นความจริงหรอก อันตรายที่แท้จริงคือ ถ้าเราได้ยินคำลวงมากพอ เราจะไม่รู้ว่าอะไรคือความจริงอีกแล้ว”
ประโยคเปิดของมินิซีรีส์ Chernobyl สร้างแรงสั่นสะเทือนได้รุนแรงพอๆ กับเหตุการณ์ที่ตัวซีรีส์จะเล่า
มันคือเรื่องราวของอุบัติเหตุที่น่าจะหลีกเลี่ยงผลกระทบร้ายแรงได้ แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นหายนะครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ ผู้คนมากมายล้มตายอย่างทรมาน ความเสียหายดึงระยะเวลายาวนานกว่าที่ทุกคนจะชดใช้ราคาของเหตุการณ์ครั้งนี้ได้หมด
นี่คือซีรีส์จากเรื่องจริงขนาดสั้นที่จะเล่าถึงการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทางตอนเหนือของยูเครน หรือที่คนจดจำกันได้ในชื่อ ‘ภัยพิบัติเชอร์โนบิล’ (Chernobyl disaster)
ทุกอย่างเริ่มต้นตอนเช้ามืดของวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1986 เวลา 1 นาฬิกา 23 นาที 40 วินาที ระบบฉุกเฉินของแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทำงาน—การระเบิดได้เกิดขึ้นแล้ว แกนกลางของแหล่งพลังงานที่จ่ายไฟฟ้าให้กับสหภาพโซเวียตถูกเผาไหม้ กลุ่มควันและเปลวไฟสีแปลกตาพวยพุ่งสู่ชั้นบรรยากาศเหนือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เมืองปริปยัต ประเทศยูเครน
แค่ช่วงไม่กี่นาทีแรกที่ซีรีส์ Chernobyl ฉายภาพชนวนความฉิบหายแรก ก่อนที่จะมีตามมาอีกเรื่อยๆ ในภายหลัง ตัวซีรีส์ก็สร้างความหวาดกลัวและแรงกดดันให้คนดูไปเป็นที่เรียบร้อย เราจะได้เฝ้ามองยมทูต—ซึ่งในที่นี้คือกลุ่มก้อนของกัมมันตภาพรังสี—ลอยฟุ้งไปในอากาศ ชาวเมืองปริปยัตที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ออกมายืนสังเกตการณ์ โดยไม่รู้ว่าความตายได้มาเยือนพวกเขาแล้ว ทุกคนยังใช้ชีวิตตามปกติเมื่อยามเช้ามาถึง
เชอร์โนบิลนับเป็นหนึ่งในสองอุบัติเหตุทางพลังงานนิวเคลียร์ที่ได้รับการจัดความรุนแรงไว้ที่ระดับ 7 ซึ่งถือว่าสูงที่สุดตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ (อีกหนึ่งเหตุการณ์คือภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ ปี ค.ศ. 2011) จากการรวบรวมข้อมูลความเสียหายย้อนหลังเท่าที่นับได้ในปัจจุบัน ในคืนนั้นมีผู้เสียชีวิตเกือบ 10 คน มีรายงานผู้ได้สัมผัสกัมมันตภาพรังสีนับร้อย พนักงานดับเพลิง 28 คน ตายภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น ตามมาด้วยผู้รอดชีวิตกว่า 134 ในสิบปีให้หลัง คนงานและพลเรือนราว 500,000 ได้รับผลกระทบ
รัฐใช้เงินไปถึง 18 พันล้านรูเบิลส์ (8.8 พันล้านบาทในปัจจุบัน) เพื่อการป้องกันและเยียวยาความเสียหาย โดยที่ยังต้องรับผิดชอบชีวิตของผู้คนจากเหตุการณ์ครั้งนี้อีกมาก ซึ่งต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะนับรวมความสูญเสียได้ทั้งหมด ถึงขนาดมีการคาดการณ์ว่า ผลของหายนะยังเป็นสาเหตุที่ทำให้คนจำนวนมากเป็นมะเร็งในปี 2065
แล้วใครจะเป็นคนรับผิดชอบทั้งหมด?
ในตอนแรกทุกอย่างดูจะป้ายความผิดไปที่ อนาโตลี ดีอัตลอฟ หัวหน้าประจำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กะกลางคืน เขาและลูกน้องทำการทดสอบกังหันไอน้ำตามคำสั่ง แต่ด้วยความผิดพลาดบางอย่าง บวกกับการบำรุงรักษาโรงงานที่ล่าช้ามานาน เตาปฏิกรณ์จึงระเบิดโดยไม่คาดคิด ในคืนเกิดเหตุ ดีอัตลอฟต้องรายงานกับกรรมการบริหารถึงความร้ายแรงที่เกิดขึ้น แต่แทนที่ดีอัตลอฟจะบอกความจริง เขากลับโกหกและบอกว่าทุกอย่างอยู่ในการควบคุม
แน่นอนว่า ที่ดีอัตลอฟโกหกนั้น ผิด แต่ความเสียหายจะไม่บานปลายไปมากที่เป็นอยู่เลย ถ้ากรรมการในที่ประชุมล้วนตั้งคำถามว่า สิ่งที่ดีอัตลอฟรายงานมานั้นจริงแค่ไหน?
สาเหตุที่การตั้งคำถามไม่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะสังคมที่ยูเครนเป็นในยุคสมัยนั้น คือสังคมที่เชื่อมั่นในระบบมากเกินไป เชื่อมั่นจนไม่นำไปสู่การถกเถียงอย่างจริงจัง ยูเครนในยุคนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต เป็นรัฐคอมมิวนิสต์ที่ทุกการตัดสินใจถูกรวมไว้ตรงศูนย์กลาง การจัดการและบริหารยึดมั่นกับกลไกที่ทุกคนต่างเชื่อว่าอยู่เหนือสิ่งอื่นใด แรงงานทุกชีวิตทำงานอย่างซื่อตรงแข็งขัน และดีอัตลอฟคือหนึ่งในฟันเฟืองของระบบที่ผู้นำฝากความไว้ใจ
ที่เลวร้ายไปกว่านั้น เมื่อชายคนหนึ่งในคณะกรรมการเป็นกังวลกับการระเบิดและสงสัยในคำรายงาน คำโกหกของดีอัตลอฟในที่ประชุมถูกกลับเปลี่ยนให้เป็นความจริงจากการยกผู้นำมาอ้างถึง โดยผู้อาวุโสในกลุ่มคณะกรรมการ
“วลาดีมีร์ ไอ เลนิน… คืนนี้เขาจะภูมิใจในตัวพวกคุณสักแค่ไหน
โดยเฉพาะคุณ ‘พ่อหนุ่ม’ <ชายที่สงสัยการรายงาน> กับความกระตือรือร้นที่คุณมีให้กับผู้คน เพราะนั่นไม่ใช่จุดมุ่งหมายเดียวของกลไกรัฐหรอกหรือ บางครั้งเราลืมไป บางครั้งเราตกเป็นเหยื่อของความกลัว แต่ศรัทธาที่เรามีต่อสังคมนิยมโซเวียตย่อมให้ผลตอบแทนเสมอ รัฐบอกเราว่า สถานการณ์ตอนนี้ไม่อันตราย จงมีศรัทธาเถอะสหาย รัฐบอกว่าพวกเขาอยากระงับความตระหนก จงเชื่อฟัง
มันจริงเวลาที่คนกลัวเมื่อเห็นตำรวจ แต่ประสบการณ์บอกผมว่า เวลาที่ผู้คนถามคำถามซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาเอง เราควรบอกให้พวกเขามุ่งความสนใจไปกับการใช้แรงงาน และปล่อยให้รัฐจัดการเรื่องของรัฐ เราจะปิดเมือง จะไม่มีใครไปไหน และเราจะตัดสายโทรศัพท์ ควบคุมข่าวผิดๆ ไม่ให้ลุกลาม เราจะทำแบบนั้นเพื่อไม่ให้พวกเขาทำให้ผลของแรงงานตัวเองเน่าเสีย
ครับ สหาย เราจะได้รับรางวัลจากสิ่งที่เราได้ทำในคืนนี้ นี่เป็นช่วงเวลาที่เราจะส่องสกาว”
ด้วยคำโป้ปด และการเชื่อมั่นในระบบอย่างสุดโต่ง นำไปสู่การเผยแพร่คำลวง ที่สุดท้ายก่อผลร้ายอย่างให้อภัยไม่ได้ กว่าจะรู้ตัวทันทุกอย่างก็สายเกินแก้ ผู้คนล้มตาย ความทรมานถูกส่งต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน กัมมันตรังสีขยายวงกว้างปกคลุมเกือบทั่วทั้งยุโรป