เวลาไปคอนเสิร์ต ก็ต้องอยากไปเจอศิลปินหรือฟังเพลงที่เราชอบกันเป็นเรื่องปกติ และเชื่อว่า หลายคนอาจเคยเจอพฤติกรรมบางอย่างที่รบกวนใจ ขณะรับชมคอนเสิร์ตเช่นกัน
ประเด็นนี้ เกิดขึ้นจากจากกรณีที่แฟนเพลงคนหนึ่งของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) โพสต์คลิป TikTok ขณะกรี๊ดร้องเพลงอยู่แถวหน้าของเวทีคอนเสิร์ต ดิเอราส์ทัวร์ (The Eras Tour) เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา โดยในแคปชั่นในคลิประบุว่า “ขณะที่เราเห็นเทย์เลอร์ ผู้หญิงที่อยู่ข้างๆ ถามเราว่า ใจเย็นๆ หน่อยได้ไหม? เพราะเราทำให้ลูกวัย 7 ขวบของเธอกลัว….”
จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ดี ก็ทำให้หลายคนสงสัยว่ามีพฤติกรรมอะไรอีกบ้างที่มักจะเกิดขึ้นในคอนเสิร์ต แล้วทำให้ผู้คนตั้งคำถามว่ามันเหมาะสมหรือเปล่า? ซึ่งพฤติกรรมที่มักจะถูกพูดถึงอยู่บ่อยๆ ว่าไม่ค่อยเหมาะสมในคอนเสิร์ตมีดังนี้
– การพูดคุยขณะที่นักร้อง นักเต้น หรือนักแสดงกำลังแสดงอยู่ เพราะว่าเสียงที่เกิดจากการพูดคุยอาจจะไปพรากประสบการณ์ และความเพลิดเพลินกับการแสดงของผู้อื่นได้
– การร้องเพลงและกรี๊ดร้องที่ดังจนเกินไป เพราะ “การกระทำของคุณอาจส่งผลต่อคนรอบข้าง รวมถึงนักร้องบนเวทีด้วย อาจทำให้เสียสมาธิ หรือกระทบต่อความเพลิดเพลินของผู้ชมคนอื่นๆ” ไดแอน ก็อตแมน (Diane Gottsman) นักเขียนชาวอเมริกันกล่าว
– แชทหรือคุยโทรศัพท์ ระหว่างการแสดงคอนเสิร์ต เพราะแสงจากหน้าจอสามารถรบกวนผู้อื่นได้ เฉกเช่นเดียวกับถ่ายภาพหรือวิดิโอตลอดการแสดงคอนเสิร์ต
– ดื่มจนเมามากเกินไป “การเมาอาจนำไปสู่การทะเลาะวิวาท การเอะอะโวยวาย และการสูญเสียการยับยั้งชั่งใจ ซึ่งเป็นการรบกวนคนรอบข้าง” ก็อตแมนกล่าว
– การพยายามเบียดตัวเข้าไปข้างหน้าเวที เพราะอาจจะทำให้ผู้อื่นหายใจไม่ออก ได้รับบาดเจ็บ หรือแม้แต่เสียชีวิตจากการถูกเหยียบ อย่างกรณีคอนเสิร์ต AstroWorld ของทราวิส สก็อตต์ (Travis Scott) เมื่อ 2 ปีที่แล้ว (5 พฤศจิกายน 2021) ซึ่งคนเบียดและเหยียบกัน จนมีผู้เสียชีวิตถึง 8 คน
– การโยนสิ่งของขึ้นไปบนเวทีคอนเสิร์ต เพราะอาจจะนำไปสู่การบาดเจ็บของศิลปินได้ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับศิลปินแทบทุกคน อย่างเมื่อปีที่แล้ว แฮร์รี่ สไตลส์ (Harry Styles) ถูกลูกอมสกิตเติ้ลส์ (Skittle) ปาเข้าตาจนได้รับบาดเจ็บ
หรือแม้แต่ในกรณีของนักร้องสาว บิลลี ไอลิช (BIllie Eilish) ที่เธอโดนปาสิ่งของใส่จนเธอต้องบอกกับแฟนๆ ว่า “ช่วยหยุดโยนสิ่งของใส่ฉันได้ไหม มันเสียมารยาทมากเลยนะ..”
ทั้งนี้ พฤติกรรมที่กล่าวมาข้างต้นมีผู้คนแสดงความคิดเห็นไปสองทางคือเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยบางคนบอกว่า “ฉันรู้สึกว่าพวกเรารุ่นมิลเลนเนียล (คนที่เกิดระหว่างปี 1981-1996) ไม่ได้ทำตัวแบบนี้ในคอนเสิร์ต”
ในขณะที่บางคนระบุว่า “การกรี๊ด ‘เป็นเรื่องปกติ’ เสมอ และไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่คนรุ่นใหม่เท่านั้น” อย่างไรก็ดี หลายคนก็กล่าวว่า บางพฤติกรรมยังพอทำได้ อย่างการร้องเพลงเสียงดังตามศิลปิน การพูดคุยกับเพื่อนที่มาด้วยกัน
ดังนั้น เราจึงตัดสินไม่ได้ว่าพฤติกรรมแบบไหน ‘ทำได้’ หรือ ‘ทำไม่ได้’ เพราะยังไม่มีเส้นแบ่งชัดเจน แต่กรณีนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าวัฒนธรรมการรับชมคอนเสิร์ตเปลี่ยนไปตามยุคสมัยหรือเปล่า?
อ้างอิงจาก