หมุดหมายของการเป็นแฟนเพลง คงไม่ตกหล่นการได้ไปดูคอนเสิร์ตของศิลปินที่ชื่นชอบ ได้ร้องตามเพลงโปรด โยกหัวไปกับเพลงสุดมัน ร้องไห้ไปกับโมเมนต์ที่เห็นด้วยตาเนื้อ เมื่อคนที่เราเห็นในจอมาตลอด ได้มาอยู่ตรงหน้าของเราแล้ว คอนเสิร์ตจึงไม่ได้แค่เรื่องของความบันเทิง แต่ยังเป็นช่วงเวลาแห่งความประทับใจ การพักผ่อนทางอารมณ์ การให้รางวัลตัวเองอีกด้วย
ฟังดูเหมือนสิ่งนี้จะเป็นช่วงเวลาแสนพิเศษ เราคงมีความสุขตั้งแต่ก้าวเท้าออกจากบ้าน และรู้ว่าปลายทางคือศิลปินที่เรารัก แต่ช้าก่อน ชีวิตจริงมันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะการไปคอนเสิร์ตในไทยไม่เคยง่ายดายอย่างที่หวัง ทั้งที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีคอนเสิร์ต Live in Bangkok เยอะเสียจนเราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘กรุงเทพฯเมืองคอนเสิร์ต’ ได้เลย แถมธุรกิจคอนเสิร์ตก็เติบโตจนมีมูลค่าราว 6,000-8,000 ล้านบาทต่อปี
คอนเสิร์ตเยอะน่ะใช่ แต่ไม่ได้หมายความว่าคอนเสิร์ตนั้นจะราบรื่นไปด้วย แม้จัดมากี่งานต่อกี่งาน เสียงบ่นอุบอิบของเหล่าแฟนเพลง ไม่ได้ลดน้อยถอยลงไปเลย หนำซ้ำออกจะหนาหูขึ้นทุกที ยิ่งมีคอนเสิร์ตประเทศใกล้เคียงเป็นตัวเปรียบเทียบแล้ว ยิ่งทำให้เห็นข้อบกพร่องหลายอย่างที่เรายังต้องพัฒนากันต่อไป ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องคอนเน็กชั่นว่าเรามีพาวเวอร์มากพอจะดึงศิลปินเบอร์ดังมาได้แค่ไหน แต่เรื่องที่ต้องแก้ไขมีตั้งแต่เริ่มซื้อบัตรไปยันเดินทางกลับบ้านเลยล่ะ
จากเสียงของเหล่าแฟนเพลง มาดูกันว่ากว่าจะได้ไปดูคอนเสิร์ตแต่ละครั้ง เราต้องเผชิญกับปัญหาด่านไหน และพอจะมีแนวทางแก้ไขเรื่องนี้กันอย่างไรบ้าง
คนพร้อมแล้วใบลาพร้อมยัง?
คอนเสิร์ตประกาศวันที่ว่าลุ้นแล้ว แต่ที่น่าลุ้นมากกว่าคือวันลาของเราต่างหาก กางปฏิทินมาก็ใจเต้นตุ้บตั้บ ไม่รู้ว่าวันคอนเสิร์ตนั้นจะตรงกับวันหยุดไหม เราเองก็อยากเจอหน้าศิลปินใจจะขาด แต่ปากท้องก็ยังต้องพึ่งหน้าที่การงานของเราไปด้วย เลยไม่อาจลงวันลาแบบสุ่มสี่สุ่มห้าได้ กั๊กวันลาให้พอ เคลียร์งานให้โล่ง จะได้ไปสนุกสุดเหวี่ยงแบบไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง
กดบัตรให้ทันบอต
แค่มีเงิน มีเวลา ก็ยังไม่พอ ต้องมีดวงกดบัตรให้ทันด้วย หลายคนคงเคยเจอประสบการณ์ อยู่หน้าเว็บฯ ต่อคิวรอกดบัตรอยู่นาน แต่ก็ไม่เคยทันฝีมือการกดลึกลับจากมุมมืด ที่ไม่อาจบอกได้ว่าเป็นใคร หรือบอตหน้าตาแบบไหน แต่ที่แน่ๆ สามารถกดไปได้ทั้งแถว ไล่จากบนลงล่าง ที่นั่งหายวับไปกับตา ตั๋วปลิวไปจากมือ ไม่รู้ว่ากดไปขายต่อหรือกดรอจ่ายเงิน (ซึ่งก็ไม่ใช่เหตุผลที่ดีทั้งคู่) แต่ที่แน่ๆ ไม่ใช่วิธีการกดแบบทั่วไป คนธรรมดาอย่างเราก็ไม่รู้จะเอากำลังภายในที่ไหนไปกดสู้ได้ทัน
ถ้าปล่อยปัญหานี้ต่อไป จนการกดบัตรด้วยวิธีซิกแซกกลายเป็นเรื่องปกติ แฟนเพลงที่อยากไปดูศิลปินจริงๆ มีตัวตนนั่งรอกดบัตรหน้าจอจริงๆ จะกลายเป็นคนตกขบวน กดบัตรไม่ทันพวกมือผี แล้วเป็นอันต้องจำใจซื้อราคารีเซลที่ขูดเลือดขูดเนื้อกันไป โอเค ผู้จัดอาจรู้สึกว่ายังบัตรก็ขายหมดอยู่ดีนี่ จะไปสนใจวิธีการทำไม แต่ถ้านานวันเข้า การรีเซลในราคาเกินเอื้อมถึงกลายเป็นราคาปกติ แฟนๆ อาจจะเหลือแต่ใจที่สนับสนุนศิลปิน แต่ไม่เหลือเงินมากพอจะไปสนับสนุนในรูปแบบบัตรรีเซลอีกต่อไปแล้ว
หากมีการยืนยันตัวตนอย่างชัดเจนมากขึ้นอาจช่วยให้ปัญหานี้ลดลง เช่น เลขบัตรประชาชน เบอร์ที่ยืนยันตัวตนในประเทศ นอกจากจะช่วยยืนยันตัวตนได้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้จัดควรคำนึงถึง คือการให้สิทธิ์คนในประเทศได้ซื้อบัตรก่อน อาจด้วยระบบสมาชิกที่เคยมีให้เห็นแล้วอย่าง SM True Membership ในไทยเรา ที่เปิดโอกาสให้คนไทยเท่านั้น ที่สามารถซื้อบัตรก่อนได้ 1 คน 1 ใบ ต่อคอนเสิร์ต (แต่ใช่ว่าระบบนี้จะราบรื่นเสมอไป เพราะก็เคยเกิดความผิดพลาดมาแล้ว เพียงแต่เราอยากยกตัวอย่างให้เห็นว่า หากจะทำระบบสมาชิกก็ทำได้นี่นา และก็เคยทำมาแล้วด้วย แน่นอนว่า หากจะทำอีกครั้งต้องเป็นสิ่งที่ดีกว่า สมบูรณ์กว่า และไม่ควรเกิดข้อผิดพลาดเช่นนั้นอีก) หรือจะเอาแบบต่างประเทศ เช่น ในญี่ปุ่น ที่ให้เบอร์ลงทะเบียนในประเทศเท่านั้น สามารถกดซื้อบัตรคอนเสิร์ตได้ อย่างคอนเสิร์ต Taylor Swift ที่ผ่านมา
ลองนึกภาพกรณีคล้ายกับการรีเซล แต่เป็นชาวต่างชาติที่กว้านซื้อบัตรไปหมด ขึ้นชื่อว่าคอนเสิร์ต Live in Bangkok แต่คนไทยที่ซื้อบัตรได้ทันกลับมีเพียงแค่หยิบมือ ก็คงให้ความรู้สึกแปลกๆ อยู่ไม่น้อย
เชื่อไหมว่าสิ่งที่กล่าวไปข้างต้น ไม่ใช่เรื่องสมมติเลยสักอย่าง ทั้งเรื่องใช้บอตกดบัตร เอาไปรีเซลบ้าง กดเอาไว้เองรอจ่ายเงินบ้าง ต่างชาติกว้านซื้อบัตร ทุกอย่างเคยเกิดขึ้นจริงแล้วทั้งนั้น ทุกคนรู้ แฟนคลับรู้ ตอนนี้เหลือผู้จัดแล้วล่ะ จะรับทราบปัญหาและแก้ไขในเรื่องนี้เมื่อไหร่กัน
เพิ่มรอบ ไม่บอกแต่แรก
อ้าวเฮ้ย ไม่เหมือนที่ประกาศไว้นี่นา อุตส่าห์ล็อกคิววันลาเพราะเห็นว่ามีคอนเสิร์ตแค่วันเดียว หรือมีแต่วันที่เราไม่ว่างทั้งนั้น เลยกางปฏิทิน วางแผน และตัดใจใช้วันลาที่มีอันน้อยนิดไป คิดเสียว่าถ้าไม่ลาก็ไม่ได้ดูเป็นแน่ แต่กดบัตรไปยังไม่ทันหายตื่นเต้น ด้วยเสียงตอบรับอันล้มหลาม (อย่างที่ผู้จัดชอบพูด) ก็ประกาศเพิ่มรอบกันซะดื้อๆ
เพิ่มรอบแล้วไม่ดียังไงน่ะหรอ ก็ถ้าเรารู้ว่ามีวันอื่นๆ เป็นตัวเลือกด้วย เราอาจมีโอกาสได้ที่นั่งดีกว่าใบที่เราแย่งกันกดไปวันก่อน วันลาก็ไม่ต้องเสีย เพราะวันที่ประกาศเพิ่มอาจเป็นวันที่เราสะดวกกว่าก็ได้ หรือต่อให้ไม่ใช่วันที่เราสะดวก แต่เราก็ควรได้มีตัวเลือกครบถ้วนตั้งแต่แรกเหมือนกัน แม้จะบอกว่าเพิ่มรอบเพราะเสียงตอบรับดีก็ตาม แต่แหม เจอมุกนี้บ่อยเข้า ก็เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าเป็นการเพิ่มรอบในภายหลังจริงหรือเปล่า
ขนส่งแสนงงงวย
สถานที่จัดคอนเสิร์ตแต่ละที่ของไทย ขึ้นชื่อเรื่องการเดินทางสุดจะท้าทายอยู่แล้ว เพราะส่วนมากจะไม่ได้มีขนส่งสาธารณะที่สะดวกพาไปถึงหน้าฮอลล์ได้เลย เลยต้องมากางแผนที่กันให้ดีว่า ไปจุดนี้แล้วไปต่อจุดไหน จะไปด้วยรถตู้ รถเมล์ รถเก๋ง จักยาน มอเตอร์ไซค์ ทางไหนจะไวที่สุด หัวฟูน้อยที่สุด ค่าเดินทางสมเหตุสมผลที่สุด
ขาไปไม่เท่าไหร่ ขากลับนี่สิ พอมีความต้องการมาก ค่าเดินทางก็แพงขึ้นมาแบบก้าวกระโดด ในระยะทางไม่กี่กิโลเมตรก็เรียกราคากันหลายร้อยบาท ถ้าใครไม่ได้วางแผนล่วงหน้าไว้ เลือกจะโบกวินมอไซ แท็กซี่ ก็ต้องรับความเสี่ยงเรื่องราคากันไป
ยิ่งแฟนเพลงบางคนมาจากต่างจังหวัด ต้องวางแผนเผื่อเดินทางไปยังที่พักด้วย ยิ่งต้องเหนื่อยวางแผนเข้าไปใหญ่ ซูม Google Map เข้าออกนับครั้งไม่ถ้วน บอกชื่อซอยผิดๆ ถูกๆ ไม่รู้ทาง ก็ยิ่งกลายเป็นหวานหมูให้เหล่าคนขับหัวหมอฟันราคาแบบหน้าแห้ง
ต่อคิวเข้าก็ท้อแล้ว
เดินทางมาถึงหน้างาน คิดว่าเผื่อเวลาสำหรับการเดินทางไว้แล้ว คงพอมีเวลาได้ถ่ายรูปสวยๆ ซื้อเครื่องดื่มเย็นๆ แต่พอเห็นแถวเข้าคอนเสิร์ตก็รู้ตัวแล้วว่า เวลาที่คิดว่าเผื่อแล้วนั้นยังไม่พอ ด้วยระบบจัดการอาจต่างกันไปตามผู้จัดแต่ละเจ้า เราเลยใช้ความเคยชินว่าไปเจ้านี้มา จัดการเร็วมาก เจ้าอื่นก็น่าจะใช้เวลาพอๆ กัน แบบนั้นคงไม่ได้ เผื่อเวลาเพิ่มอีกสักหน่อยหากไม่อยากพลาดการเปิดตัวของศิลปินที่ตั้งตาคอย ต่อให้เวลาเหลือยังไง ก็ถือว่าได้มาสำรวจเส้นทางว่าขากลับเราจะต้องออกหรือเดินทางไหนก็ยังได้
แฟนเพลงต่างชาติตัวป่วน
เข้าคอนเสิร์ตมา พร้อมเจอหน้าศิลปินที่เรารัก แต่แฟนๆ รอบข้างกลับทำให้บรรยากาศกร่อยไปเสียได้ หากเป็นชนชาติเดียวกัน ก็พอจะพูดห้ามปรามได้ แต่พอเป็นต่างชาตินี่สิ ดูเหมือนว่าเขาจะปล่อยเบลอเสียงเตือนของเจ้าบ้านไปเลยด้วยซ้ำ เตือนเป็นภาษาอังกฤษก็แล้ว ภาษาแม่ก็แล้ว มีทั้งพูดคุยเสียงดัง ดูดบุหรี่ไฟฟ้าแข่งกับดรายไอซ์บนเวที ตะโกนโหวกเหวกโวยวาย ชูป้ายบังข้างหลัง แอบเอากล้องเข้ามา ไม่สนใจจะทำตามกฎเลยสักนิด
หากเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่พอจะควบคุมได้ ปัญหานี้คงไม่ถูกบ่นอย่างหนาหูแบบนี้ แต่ที่หลายคนต้องเจอ แฟนเพลงต่างชาติตัวป่วนนั้นมาเป็นกลุ่มใหญ่ ใหญ่ขึ้นทุกวัน และไม่ได้มีแค่กลุ่มเดียว ปัญหานี้มาจากอะไร อาจจะต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนกดบัตรเลยล่ะ
ห้องน้ำคิวยาวถึงนอกโลก
บางคอนเสิร์ต ใช้เวลานานหลายชั่วโมง หากจะเดินออกไปเข้าห้องน้ำก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ระหว่างทางไปห้องน้ำ สำหรับบางคอนเสิร์ตนั้น ต้องเดินไกลจนแทบไม่มีแรงเดินกลับ กว่าจะถึงก็เรียกเหงื่อจนเสื้อเปียกได้เหมือนกัน แน่นอนว่าพอเป็นที่ที่คนเรือนหมื่นมาอยู่รวมกัน การต่อคิวใดๆ ก็ตาม จะต้องมีหางแถวยาวกว่าที่คาดไว้เสมอ ห้องน้ำเองก็ด้วย เดินมาไกลว่าท้อแล้ว เจอแถวยาวก็ชวนให้ท้อยิ่งกว่า ถ้าเป็นไปได้ หากพื้นที่นี้มีกิจกรรมอย่างคอนเสิร์ตอยู่บ่อยๆ ก็อยากให้เข้าถึงจุดบริการต่างๆ ได้ง่ายมากกว่านี้
คอนจบ 5 ทุ่ม ถึงบ้านตี 2
ย่านยอดฮิตของสถานที่จัดคอนเสิร์ตอย่าง รามคำแหง เมืองทอง บางนา สยาม ตรงไหนบ้างนะที่รถจะไม่ติด เดินทางง่าย เอาแบบที่เห็นชื่อฮอลล์แล้วโล่งใจ คำตอบคือ ไม่มี ทุกที่ล้วนติดเป็นทุนเดิมอยู่แล้วทั้งนั้น ไม่ต้องรอถึงวันคอนเสิร์ตใหญ่ที่ไหน แค่วันทำงานในทุกสัปดาห์ ผู้ใช้เส้นทางนั้นเป็นประจำเป็นอันรู้กันว่าต้องอยู่บนรถเป็นหลักชั่วโมงกว่าจะผ่านไปได้
นึกภาพคนหลักหมื่นรวมอยู่ในที่เดียวกันแต่ถนนมีเท่าเดิม ทุกอย่างมันจะติดขัดขนาดไหน ไม่ว่าจะเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ รถรับจ้าง หรือรถยนต์ส่วนตัว ดูเหมือนทุกคนก็ต้องออกมากระจุกตัวกันอยู่บนท้องถนนเหมือนกันหมด เรื่องนี้อาจต้องแก้กันที่โครงสร้าง ตั้งแต่ผังเมือง ไปถึงขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้ง่าย ใช้งานง่าย เพื่อลดจำนวนรถบนท้องถนน ว่ากันตามตรง ต่อให้ไม่ใช่เรื่องของคอนเสิร์ต สิ่งนี้ก็ควรเป็นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้ และถ้าหากอยากผลักดันให้คอนเสิร์ต เทศกาลดนตรี กลายเป็นจุดขายของประเทศ แต่คนในพื้นที่เองก็ยังต้องเดินทางแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ โดนฉวยโอกาสขูดรีดจากรถรับจ้าง เราอาจจะต้องมีหลายเรื่องให้คิดและพัฒนาก่อนจะไปถึงเป้าหมายใหญ่นั้นได้
หากหลายๆ ปัญหาถูกแก้ไข แม้จะไม่ทั้งหมด แต่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น คงทำให้การไปคอนเสิร์ตกลายเป็นวันที่ตั้งตาคอย แบบไม่ต้องกังวลกับเรื่องบัตรหรือการเดินทางว่าจะออกมาทุลักทุเลขนาดไหน
อ้างอิงจาก
https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1120100