ช่วงนี้เชื่อว่าหลายคนคงเห็นข่าวคราวของการประท้วงที่ฝรั่งเศส โดยเฉพาะการเห็นภาพขยะเกลื่อนกลาดที่อยู่ตามถนนเมืองปารีส ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่โรแมนติกที่สุดในโลก
แต่คาดว่าหลายคนยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากต่างออกมาประท้วงอย่างต่อเนื่อง The MATTER จึงขอมาเล่าถึงสาเหตุของการประท้วงในครั้งนี้ ว่าต้นตอมาจากอะไร หรือการประท้วงในครั้งนี้ส่งผลกระทบอะไรบ้าง สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร
- ตอนนี้เกิดอะไรขึ้นที่ฝรั่งเศส
วันนี้ (29 มีนาคม) ยังเกิดการประท้วงที่ต่อเนื่องมาหลายวันแล้ว ซึ่งเกิดจากความโกรธเคืองต่อการปฏิรูปเงินบำนาญของประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ที่จะเดินหน้าปฏิรูประบบบำนาญของประชาชน ซึ่งนโยบายสำคัญของแผนนี้ คือการเลื่อนเกษียณอายุออกไป 2 ปี หรือจากอายุ 62 ไปเป็น 64 ปี และยังเพิ่มจำนวนปีที่ประชาชนต้องจ่ายเงินสมทบให้แก่รัฐบาลเป็น 43 ปี
โดยทางรัฐบาลอ้างว่า เพื่อจะให้ประชาชนได้รับเงินเต็มจำนวน ซึ่งการประท้วงได้ส่งผลกระทบต่อระบบขนส่งสาธารณะ หรือโรงเรียนต้องหยุดการเรียนการสอน โรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งต้องหยุดการทำงาน เป็นต้น เพราะผู้คนประมาณ 1 ใน 3 พร้อมใจกันหยุดงานเพื่อแสดงถึงความไม่พอใจต่อรัฐบาล
- สถานการณ์มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
เราขอเล่าย้อนไปตั้งแต่ปี 2019 หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว สหภาพแรงงานฝรั่งเศสออกมาประกาศหยุดงานประท้วงต่อนโยบายการปฏิรูประบบบำนาญ โดยเริ่มจากการหยุดงานก่อน ทั้งครู เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่ในภาคส่วนอื่นๆ ของรัฐบาล รวมถึงแรงงานในภาคเอกชนต่างๆ ซึ่งคาดการณ์ว่ามีผู้เข้าร่วมการชุมนุมราว 700,000 คน ทั้งหมดนี้เพื่อคัดค้านนโยบายการปฏิรูประบบบำนาญ
ต่อมาประธานาธิบดีมาครงกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันปีใหม่ว่า “ผมจะไม่ยอมรับข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูประบบบำนาญ แต่รัฐบาลจะหาวิธีที่ประนีประนอมโดยด่วนเพื่อแก้วิกฤต”
หลังจากนั้น แถลงการณ์ร่วมระหว่างสหภาพแรงงานมองว่า รัฐบาลไม่ต้องการแก้ปัญหาที่เป็นเหตุให้เกิดการประท้วงครั้งนี้ รัฐบาลเพียงกำลังประวิงเวลาออกไปเท่านั้น เพราะรัฐมนตรีหลายคนปฏิเสธที่จะเจรจา ซึ่งการประท้วงครั้งนี้ทำให้ประเทศฝรั่งเศสหยุดชะงัก เนื่องจากมีการนัดหยุดงานในหลายๆ อาชีพที่สำคัญ
ทั้งนี้ มาครงพยายามปฏิรูประบบบำนาญมาตั้งแต่ปี 2017 โดยต้องการรวมระบบบำนาญที่แตกต่างกัน 42 แบบเข้าไว้ด้วยกันเป็นระบบให้เป็นคะแนนแบบเดียว และเพิ่มอายุการเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี แล้วจึงจะได้รับเงินบำนาญเต็ม
อย่างไรก็ตาม การประท้วงยืดเยื้อไปหลายวัน แต่ต้องยุติลงเพราะการระบาดของ COVID-19 และยังทำให้มาครงยอมถอยจากนโยบายนี้ (ชั่วคราว) ต่อการบังคับใช้การปฏิรูประบบบำนาญที่จะส่งผลให้แรงงานฝรั่งเศสต้องทำงานเพิ่มขึ้นไปอีก 2 ปี
หลังผ่านไปหลายปี เมื่อปลายเดือนมกราคม 2022 เกิดการประท้วงขึ้นอีกครั้งในหลายเมืองของฝรั่งเศส เพราะไม่พอใจแผนการขยายอายุเกษียณของแรงงานในประเทศ
ในตอนแรกการประท้วงผ่านไปอย่างสงบ แต่ไม่นานก็มีความรุนแรงเกิดขึ้น เนื่องจากมีการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาทิ ในเมืองปารีส ผู้ประท้วงพากันขว้างปาพลุ ขวดน้ำใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องยิงแก๊สน้ำตาโต้กลับเป็นระยะ เพื่อควบคุมสถานการณ์ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้มีผู้คนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และยังมีผู้ประท้วงถูกจับกุมอีกด้วย
ทั้งนี้ การประท้วงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนเมื่อวันที่ (19 มีนาคม) รัฐสภาฝรั่งเศส เปิดเวทีเพื่อที่จะถอดถอนรัฐบาลและประธานาธิบดีมาคอง หลังรัฐบาลนี้ใช้อำนาจมาตรา 49 วรรค 3 ตามรัฐธรรมนูญ ให้ร่างกฎหมายเพิ่มเกษียญอายุบำนาญให้ผ่านได้เลย แทนการต้องโหวตจากรัฐสภาก่อน
ถึงแม้ว่าฝ่ายค้านยื่นขอลงมติไม่ไว้วางใจ แต่ก็ไม่เป็นผล ซึ่งการกระทำนี้ยิ่งส่งผลให้การประท้วงทวีคูณความรุนแรงมากขึ้น เพราะรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ฟังเสียงของประชาชนเลย
นอกจากนี้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นทั้งหมด 2 ครั้ง โดยระหว่างการอภิปรายก็เกิดความวุ่นวายอย่างสมาชิกฝ่ายค้านหลายคนเดินออกจากสภาฯ หลังนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสขึ้นแถลงต่อสมาชิกรัฐสภา แต่ผลการลงมติออกมาว่า รัฐบาลนี้รอดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้ง 2 ครั้ง
“เนื่องจากการลงมติไม่ไว้วางใจทั้ง 2 รอบผลออกมาล้มเหลว ร่างกฎหมายปฏิรูประบบเงินบำนาญปี 2023 ซึ่งได้รับการพิจารณาโดยคณะกรรมการร่วมและถูกแก้ไขเพิ่มเติมและรัฐบาลล้วนผ่านการรับรองด้วยเช่นกัน” ยาเอล บรอน บิเวต์ (Yaël Braun-Pivet) กล่าว
หลังจากข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ทำให้ในวันที่ 20 มีนาคม ประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงเพิ่มขึ้น โดยการประท้วงครั้งนี้ถือว่ารุนแรงมาก เพราะมีการจุดไฟเผาขยะที่เกลื่อนกลาดอยู่ทั่วเมือง ทำให้เกิดเพลิงไหม้ในหลายพื้นที่ รวมทั้งยังมีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่อยู่เป็นระยะๆ จนเจ้าหน้าที่มีการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อลดการปะทะ
“ฉันไม่รู้สึกแปลกใจที่รัฐบาลนี้รอดจากการลงมติถอดถอนผู้นำที่เกิดขึ้นเมื่อคืนที่ผ่านมา ดังนั้นการประท้วงก็จะยิ่งใหญ่ขึ้นกว่าเดิม…พวกเราจะประท้วงจนกว่ารัฐบาลจะยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายนี้” ผู้ประท้วงคนหนึ่งกล่าว
ต่อมาในวันที่ 23 มีนาคม ประชาชนต่างพากันออกมาเคลื่อนไหว หลังประธานาธิบดีมาครงออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เขายืนยันจะเดินหน้าปฏิรูประบบบำนาญและจ่ายเงินสมทบอีก 2 ปีต่อไป โดยมาครงออกมาระบุว่า จะผลักดันแผนนี้สุดกำลัง ถึงแม้ว่าจะทำให้ความนิยมของตัวเองลดลง เขากล่าวเสริม “เพราะถ้าไม่มีการแก้ไขกฎหมายนี้ อีกไม่กี่ปีข้างหน้าด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่จะมีมากขึ้นในอนาคต ระบบบำนาญของฝรั่งเศสจะขาดดุล และจะกระทบต่อจำนวนเงินเกษียณที่ทุกคนจะได้รับ”
โดยในช่วงค่ำของวันที่ 23 เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้หลายแห่ง การทุบทำลายหน้าต่างร้านค้า ทรัพย์สินสาธารณะ การปิดทางเข้าสนามบิน จนเจ้าหน้าที่ต้องใช้ทั้งแก๊สน้ำตา ระเบิดแฟลช เพื่อลดการจลาจลที่เกิดขึ้น
“ชั่วโมงการทำงานของเรายืดหยุ่น เช้ายันมืด สุดสัปดาห์ วันหยุดราชการ นี่คือการหลอกลวง พวกเราสุดทนแล้ว วันนี้เราต้องรับมือกับรัฐบาลที่ไม่รู้ว่าการทำงานคืออะไร ผมอยากเชิญพวกเขาให้ลองมาทำงานในโรงพยาบาลรัฐฯ แล้วพวกเขาจะรู้สึก” เลขาธิการสหภาพแรงงาน CGT กล่าว
- ทุกฝ่ายจะทำอะไรต่อไป และผลกระทบจากการประท้วงในครั้งนี้?
หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ล้มเหลวทั้ง 2 ครั้ง จะนำไปสู่ขั้นตอนต่อไป ซึ่งก็คือการลงนามโดยประธานาธิบดี เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายอย่างถูกต้องเพราะประธานาธิบดีมาครงยังยืนยันที่จะปฏิรูประบบบำนาญ ถึงแม้ว่าจะทำให้ความนิยมของตัวเองลดลงก็ตาม
นอกจากนี้ ทางด้านกระทรวงแรงงานออกมาระบุว่า รัฐบาลไม่เคยคิดจะสร้างความขัดแย้งกับประชาชน และย้ำว่า แผนนโยบายนี้เกิดขึ้นเพื่อยกระดับความเท่าเทียมในสังคม และยังมอบสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานให้ครอบคลุมกับทุกอาชีพ
ไม่เพียงเท่านี้ เดิมเงินบำนาญขั้นต่ำที่ชาวฝรั่งเศสจะได้รับหลังเกษียณ คือ 1 พันยูโรต่อเดือน (หรือราว 37,109 บาท) แต่ถ้าแผนนโยบายนี้สำเร็จ ชาวฝรั่งเศสจะได้เงินบำนาญเพิ่มเป็น 1.2 พันยูโรต่อเดือน (44,531.42 บาท) และแผนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มวงเงินสมทบประจำปีขึ้นอีกเป็น 17.7 ล้านยูโร (656,838,412 บาท)
ทั้งนี้ ฝ่ายค้านออกมาระบุว่า พวกเขายังมีอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะยับยั้งเพื่อไม่ให้ร่างกฎหมายนี้ผ่าน นั่นก็คือการยื่นอุทธรณ์ไปยังสภารัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ซึ่งตามจริงแล้วต้องใช้เวลาในการพิจารณาเป็นเดือน แต่ในกรณีนี้ฝ่ายค้านใช้มาตรา 61 วรรค 3 ให้พิจารณาให้เร็วขึ้นกว่าเดิมได้โดยเหลือเพียง 8 วันเท่านั้น
และทางฝ่ายสหภาพแรงงานได้เดินหน้าให้ผู้คนหยุดงาน เพื่อกดดันรัฐบาลอีกครั้งในวันที่ 28 มีนาคม ซึ่งตามจริงเดิมเป็นวันเดียวกับที่กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 และราชินีคามิลล่า จะเสด็จมาพบกับประธานาธิบดีมาครง แต่ล่าสุดทางสำนักราชวังได้เลื่อนกำหนดการไปแล้ว
อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่สำคัญจากการประท้วงในครั้งนี้ คือ การนัดหยุดงานของประชาชน เพราะทำให้ประเทศหยุดชะงัก รวมทั้งยังส่งผลให้การจราจรเป็นอัมพาต เพราะการเดินประท้วงของผู้คนตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งการประท้วงในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีคนถูกจับกุม 457 คน และมีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 441 คน และอีกเรื่องที่สำคัญก็คือ การเลื่อนเสด็จเยือนฝรั่งเศสของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งอาจจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ การประท้วงครั้งนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะเป็นเหมือนบททดสอบของรัฐบาลชุดนี้ที่นำโดยประธานาธิบดีมาครง ที่ขณะนี้มีคะแนนความนิยมลดลงอย่างมาก หลังจากที่เขายังยืนยันที่จะผลักดันนโยบายนี้ อย่างไรก็ดี ผู้คนชาวฝรั่งเศส รวมทั้งเรายังต้องติดตามกันต่อไปว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้จะจบลงอย่างไร