ในช่วงหลังๆ มานี้ นอกจากเราจะเห็นกระแสเรื่องความฉลาดของ ChatGPT แล้ว อีกหนึ่งเรื่องน่ากังวลที่ตามมาก็หนีไม่พ้นเรื่องของความปลอดภัย เพราะนอกจากจะมีผู้เชี่ยวชาญ 1,000 กว่าคนที่ร่วมลงนามเรียกร้องให้หยุดพัฒนา AI ที่สูงกว่า ChatGPT 4 แล้ว ล่าสุด อิตาลีก็ยังประกาศแบนเจ้าแชทบอทตัวนี้ชั่วคราวด้วยเช่นกัน
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา หน่วยงานคุ้มครองข้อมูลของอิตาลี ประกาศแบน ChatGPT ด้วยเหตุผลว่าระบบของ AI ตัวนี้ กำลังจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อเอาข้อมูลดังกล่าวไปพัฒนาการตอบคำถามของ ChatGPT เพราะในอิตาลี ไม่มีกฎหมายที่รองรับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมาก เพื่อเอาไปพัฒนาอัลกอริทึม
โดย ทางหน่วยงานให้เวลา OpenAI (ผู้สร้าง ChatGPT) 20 วัน เพื่อชี้แจงว่าพวกเขาจะแก้ไขสิ่งที่เจ้าหน้าที่กังวลอย่างไร และถ้าทางบริษัททำไม่ได้ ก็อาจถูกปรับเงินสูงสุด 20 ล้านยูโร (ประมาณ 741 ล้านบาท) ซึ่งนับเป็น 4% ของรายได้ต่อปีของบริษัท
นอกจากนี้ ทางหน่วยงานยังระบุอีกว่า ChatGPT ไม่มีวิธีตรวจสอบอายุของผู้ใช้ จนทำให้ผู้เยาว์ได้รับคำตอบที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับระดับการพัฒนาและการรับรู้
ส่วนทางด้าน OpenAI ก็ระบุว่าพวกเขาปิดใช้งาน ChatGPT สำหรับผู้ใช้ในอิตาลีแล้ว ตามคำขอของหน่วยงานแล้ว ทำให้ตอนนี้ ผู้ใช้ในอิตาลี ไม่สามารถเข้าถึงการใช้งาน ChatGPT ได้
อย่างไรก็ดี ทาง OpenAI ยังระบุเพิ่มเติมว่า “เราพยายามลดการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในการฝึกฝนระบบ AI ของเราอย่าง ChatGPT เพราะเราต้องการให้ AI ของเราเรียนรู้เกี่ยวกับโลกไม่ใช่เกี่ยวกับบุคคลคนใดคนหนึ่ง”
ทั้งนี้ การสั่งแบนชั่วคราวของอิตาลีในครั้งนี้ ทำให้อิตาลีกลายเป็นประเทศแรกในโลกตะวันตกที่สั่งแบน ChatGPT อย่างเต็มรูปแบบ โดยนอกจากอิตาลีแล้ว แชทบอทตัวนี้ก็ยังไม่สามารถใช้งานได้ในจีน ฮ่องกง อิหร่าน รัสเซีย และบางส่วนของแอฟริกาที่ผู้อยู่อาศัยไม่สามารถสร้างบัญชี OpenAI ได้เช่นกัน
และไม่ใช่เพียงแค่อิตาลีเท่านั้น ที่มีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยของระบบการจัดเก็บข้อมูลของแชทบอทตัวนี้ เพราะหลังจากที่ ChatGPT เปิดตัวเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็ทำให้บริษัทด้านเทคโนโลยีหลายๆ แห่งออกมาพัฒนาระบบ AI กันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการที่ AI ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติในหลายๆ ประเทศ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญหลายคน มองว่าจำเป็นต้องมีกฎระเบียบเพื่อควบคุม AI เพราะมันอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ งาน และการศึกษา
อย่างไรก็ตาม มาร์เกรธ เวสตาเกอร์ (Margrethe Vestager) รองประธานบริหารคณะกรรมาธิการ EU ทวีตเกี่ยวกับกฎหมายที่ควรมีเพื่อควบคุม AI ว่า ไม่มีแนวโน้มที่จะแบน AI
“ไม่ว่าเราจะใช้เทคโนโลยีใด เราต้องพัฒนาเสรีภาพและปกป้องสิทธิของเราต่อไป นั่นเป็นเหตุผลที่เราไม่ควบคุมเทคโนโลยี AI แต่เราควบคุมการใช้ AI…” เวสตาเกอร์กล่าว
ส่วนทางด้านสำนักควบคุมข้อมูลของอังกฤษ (Information Commissioner’s Office) ก็ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ว่า พวกเขาจะสนับสนุนการพัฒนา AI แต่พวกเขาก็พร้อมที่จะประท้วงต่อการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการคุ้มครองข้อมูล
ทั้งนี้ แดน มอร์แกน จากผู้ให้บริการการจัดอันดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ SecurityScorecard กล่าวว่า การแบนครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามกฎระเบียบสำหรับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในยุโรป
“ธุรกิจต้องจัดลำดับความสำคัญให้กับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและปฏิบัติตามกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลที่เข้มงวดของ EU ซึ่งการปฏิบัติตามกฎระเบียบไม่ใช่สิ่งที่เลือกได้” มอร์แกนกล่าว
อ้างอิงจาก