จะเป็นอย่างไร หากในวันที่เราป่วยหนักจนไม่สามารถรักษาต่อไปได้อีกแล้ว เราสามารถขอให้แพทย์ยุติความทรมานโดยการุณยฆาตเราได้?
เนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศแรกที่มีกฎหมายคุ้มครอง ‘การการุณยฆาต’ (euthanasia) ตั้งแต่ปี 2002 โดยในอดีต เนเธอร์แลนด์กำหนดให้การุณยฆาต สามารถกระทำได้กับแค่ผู้ป่วยที่มีสัญชาติเนเธอร์แลนด์อายุมากกว่า 12 ปี และทารกแรกเกิด – 1 ปีที่ป่วยเท่านั้น
แต่เมื่อวันที่ 14 เมษายน ที่ผ่านมา เนเธอร์แลนด์ประกาศว่าจะขยายเกณฑ์ของผู้ที่จะเข้ารับการการุณยฆาต โดยเพิ่มเด็กอายุ 1 – 12 ปี ที่ต้องทรมานจากอาการป่วยสามารถเข้ารับการการุณฆาตได้ เช่นเดียวกับเบลเยี่ยมที่เป็นประเทศแรกที่ระบุให้แพทย์สามารถการุณยฆาตบุคคลได้ทุกช่วงวัยเมื่อปี 2014
กฎใหม่ที่เพิ่มเข้ามานี้จะนำไปใช้กับกลุ่มผู้ป่วยเด็กประมาณ 5 – 10 คนต่อปีที่ต้องทุกข์ทรมานจากอาการป่วย ไม่มีความหวังที่อาการจะดีขึ้น และการดูแลแบบประคับประคองไม่สามารถบรรเทาความทรมานของพวกเขาได้อีกต่อไป
“จุดจบของชีวิตสำหรับ [ผู้ป่วย] กลุ่มนี้เป็นทางเลือกเดียวที่สมเหตุสมผลสำหรับความทุกข์ทรมานมิอาจทนได้และความสิ้นหวังของเด็ก” รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ระบุ
อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยเด็กที่เข้ารับการการุณยฆาตไม่ได้มีจำนวนมาก เพราะในปี 2022 คณะกรรมการตรวจสอบการุณยฆาตรายงานว่า ในผู้เยาว์อายุ 12 -16 ปี มีเพียงรายเดียวเท่านั้นที่เข้ารับการการุณยฆาต
แต่การการุณยฆาตไม่ได้หมายความว่าเมื่อเราอยากตาย ก็เดินไปบอกให้แพทย์ทำการุณยฆาตได้ทันที นพพล วิทย์วรพงศ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของงานวิจัยเรื่อง ‘การตัดสินใจในระยะท้ายของชีวิตกับสังคมไทย: บทเรียนจากประสบการณ์ของต่างประเทศ’ ระบุว่า แพทย์เองก็มีหลักเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และผู้ที่จะเข้ารับการการุณยฆาตก็ต้อง ‘ได้รับความทรมานทางกายหรือทางใจอย่างที่ไม่อาจทนได้ และไม่มีโอกาสที่จะมีสุขภาพหรือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกแล้ว’
อีกทั้ง หลังจากนั้น แพทย์ก็ยังต้องรายการกระบวนการการทำการุณยฆาตให้แก่คณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อพิจารณาว่ากระบวนการที่ทำไปสอดคล้องกับกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่สอดคล้อง ก็จะถูกรายงานต่ออัยการต่อไป
ในงานวิจัยยังระบุอีกว่าการยุติชีวิต มีทั้งสิ้น 6 ทางเลือก ได้แก่ การุณยฆาต (Euthanasia) หมายถึง การยุติชีวิตของผู้ป่วยโดยแพทย์ตามคำร้องขอและความสมัครใจของผู้ป่วยเอง ต่างจากการฆ่าตัวตายโดยความช่วยเหลือของแพทย์ (Physician-Assisted Suicide) ที่หมายถึง การยุติชีวิตของผู้ป่วยด้วยตัวผู้ป่วยเอง โดยแพทย์ให้ความช่วยเหลือด้วยการจัดยาที่มีฤทธิ์ทำให้เสียชีวิตตามคำร้องขอและความสมัครใจของผู้ป่วย
นอกจากนี้ ยังมีการยุติชีวิตโดยปราศจากการแสดงเจตนาของผู้ป่วย การปฏิเสธการรักษาในวาระท้ายของชีวิต การฆ่าตัวตาย และการดูแลแบบประคับประคองที่ผลสุดท้ายคือการเสียชีวิตตามธรรมชาติ ซึ่งการรับการดูแลแบบประคับประคองนี้ เป็นการกระทำที่ถูกกฎหมายในทุกประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ดี การการุณยฆาตในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายฉบับใดรองรับ แต่มีเพียงกฎหมายที่ระบุว่า บุคคลสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้เท่านั้น
อ้างอิงจาก