เป็นแพทย์เต็มเวลา และเมื่อใดที่ว่างก็เลือกทุ่มเวลาให้กับการเขียนนิยายเกี่ยวกับแพทย์
ข้างต้นไม่ได้เป็นเพียงแค่การเล่นคำ แต่น่าจะเป็นการนิยามที่กระชับและเห็นภาพที่สุดของ แซม—แพทย์หญิงอิสรีย์ ศิริวรรณกุลธร แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ครอบครัว ผู้ที่ในอีกบทบาทคือเจ้าของนามปากกา แซมม่อน (Sammon) นักเขียนนิยายที่น่าจะมาแรงที่สุดคนหนึ่งในนาทีนี้
ช่วงต้นปี 2024 ตัวอย่างซีรีส์น่าจับตาอย่าง การุณยฆาต ที่ได้ ต่อ—ธนภพ ลีรัตนขจร มาประกบ เจเจ—กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม เพิ่งทะยานติดเทรนด์ทวิตเตอร์ จริงอยู่ที่ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลพวงจากพลังและความสามารถของ 2 นักแสดง ทว่าอีกสาเหตุที่ส่งให้ซีรีส์กลายเป็นที่พูดถึงตั้งแต่ตัวอย่างแรกก็เพราะ นี่คือซีรีส์ซึ่งดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกัน และผู้ที่เขียนนิยายเล่มนั้นก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นแซม คุณหมอที่ลงทุนบินลัดฟ้าจากเชียงใหม่มาให้สัมภาษณ์กับเราถึงออฟฟิศ The MATTER
จากนิยายเล่มแรกอย่าง การวินิจฉัย สู่ พฤติการณ์ที่ตาย ซึ่งถูกพัฒนาไปเป็นซีรีส์ ก็ยังมี ส่งร้อน เสิร์ฟรัก,ทริอาช, ภารกิจนายเทวดา และล่าสุด การุณยฆาต ชื่อของแซมม่อนได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะนักเขียนนิยายผู้หยิบยื่นรสชาติที่แปลกใหม่ เนื้อเรื่องในหนังสือดำเนินไปผ่านการค้นหาความจริง โดยอ้างอิงจากองค์ความรู้การแพทย์ที่เธอคลุกคลีอยู่ทุกวี่วัน เป็นการสร้างสรรค์เรื่องราวที่ไม่จำเป็นต้องกำหนดเพศตัวละคร พูดง่ายๆ ว่า สิ่งที่เธอเขียนคือนิยายแนวสืบสวนสอบสวนที่มีตัวละครหลักเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ถ้าจะมองเป็นนิยายวายก็ไม่ผิด แต่ถ้าคิดว่ามันเป็นนิยายไขปริศนาอีกเล่มก็ไม่อาจโต้แย้ง
เส้นเรื่องที่แซมเรียบเรียงในนิยายลึกลับและสลับซับซ้อนอย่างไม่น่าเชื่อ แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า ชีวิตจริงของเธอก็มีหลากหลายแง่มุมที่น่าเหลือเชื่อไม่แพ้กัน เราจึงมีคำถามนับร้อยที่อยากถามตั้งแต่ก้าวแรกที่เธอเข้ามาในห้อง
สาวผมยาว ท่าทางมั่นใจ มาในเบลเซอร์สีครีม ตัดกับสีกระโปรงยาวและรองเท้าบูทดำ พร้อมแล้วสำหรับคำตอบที่หลายคนอยากรู้
“คนเรียนหมอต้องเขียนหนังสือได้ดีกันทุกคนเลยเหรอครับ”
เนื่องจาก LADYS นักเขียนคนล่าสุดที่เราสัมภาษณ์ก็เรียนแพทย์มาเหมือนกัน เราจึงเริ่มต้นทักทายแซมม่อนด้วยจุดร่วมนี้
“โอ้ ไม่เกี่ยวค่ะ จริงที่คนเป็นหมอต้องเขียนรายงานได้ แต่ถ้าเป็นการเขียนนิยายน่าจะแล้วแต่คนชอบ” เธอหัวเราะพร้อมตอบกลับทันควัน และบทสนทนาว่าด้วยเส้นทางความฝัน ชีวิตที่เป็นทั้งนักเขียนและแพทย์ ตลอดจนแง่มุมในโรงพยาบาลที่เธอต้องการให้สังคมเข้าใจก็ได้เวลาบรรเลง
01 อัจฉริยะรอบด้าน
ย้อนกลับไปในช่วงที่เทคโนโลยียังไม่แพร่หลาย สังคมออนไลน์ยังไม่ช่วงชิงพื้นที่กิจกรรมยามว่างของเด็กๆ แซม ที่ตอนนั้นเป็นเพียงเด็กหญิง คลั่งไคล้ที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว ไล่ตั้งแต่กิจกรรมเพื่อความผ่อนคลายอย่างการอ่าน งานเขียน และการวาดภาพ ไปจนถึงองค์ความรู้วิชาการทั้งฟิสิกส์ เคมี และชีวะฯ หากจะเรียกเธอว่าคนที่เก่งรอบด้านก็คงไม่เกินจริง
อย่างไรก็ดี เธอกลับแย้งสุดตัวว่าทำไปเพียงเพราะใจรัก
“เรามักจะลองทำตามความชอบ พอชอบแล้ว บางทีมันก็กลายเป็นความถนัด หรือบางครั้งถนัดก่อน แล้วก็กลายเป็นความชอบ มันเหมือนล้อกันไป” เธอว่า
การลองช่วยให้เธอค้นเจอตัวเองในหลากหลายแง่มุม รู้ว่าตัวเองชอบสายวิทย์มากกว่าสายศิลป์ พบความสุขจากการขีดเขียน ทั้งยังตกหลุมรักการวาดจริงจัง ถึงขนาดตั้งเป้าหมายกับเพื่อนสนิทสมัย ม.2 ว่าจะไปเรียนทางด้านอนิเมชั่นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทันทีที่จบมัธยม
“เรากับเพื่อนทำพอร์ตกันตั้งแต่ตอนนั้น วาดดรูปทุกวันอย่างน้อยวันละรูป เก็บไว้เป็นแฟ้ม หนามาก มุ่งมั่นมาก เราฝันอยากเป็นหนึ่งในทีมสร้างสรรค์หนัง ซีรีส์ หรืออนิเมชั่น ที่มีตัวละครที่เราออกแบบอยู่ในนั้น”
กับใครหลายคนที่สนใจทางด้านศิลปะเป็นทุนเดิม ความหนักหนาของวิชาฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยาช่วง ม.ปลาย อาจเป็นเหมือนการปิดตายบานประตูสู่วิทยาศาสตร์โดยสมบูรณ์ แต่นั่นไม่ใช่กับแซมที่ไม่เพียงแค่เรียนได้ แต่ไปไกลจนมีทางเลือกทั้งวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และแพทย์
ว่าที่วิศวกรทำได้ดีถึงขั้นถูกอาจารย์เลือกไปแข่งขันระบบ Operation System ระดับประเทศ
ว่าที่แพทย์หญิงเข้าใจสิ่งมีชีวิตเป็นเลิศจนสอบติดค่ายโอลิมปิกฯ วิชาชีววิทยา
ว่าที่อนิเมเตอร์ยังคงวาดรูปเป็นชีวิตจิตใจ แม้เรียนหนักก็ยังไม่ละทิ้งความฝันในวัยเยาว์
แต่ท้ายที่สุด เมื่อถึงทางสามแพร่ง แซมก็ตัดสินใจเก็บความชอบไว้เป็นเพียงงานอดิเรก พับทักษะคอมพิวเตอร์เข้ากรุความทรงจำ แล้วเดินหน้าสู่เส้นทางสายสุขภาพเต็มกำลัง
“ถ้าให้พูดตามตรง การที่เราเรียนหมอก็คงทำให้พ่อแม่และโรงเรียนภูมิใจ พอทำได้ เราก็รู้สึกภูมิใจไปด้วย ก็เลยขอเลือกทางนี้”
02 นักเขียนที่เรียนหมอ
“ขอโทษนะครับ ฟังมาจนถึงตรงนี้ยังไม่มีอะไรเกี่ยวกับงานเขียนเลยนะ” เราแซว
สาวผมยาวหัวเราะ พลางเล่าต่อว่า จริงๆ แล้ว ความหลงใหลที่มีต่อตัวอักษรก็มาควบคู่กับการวาด ทั้ง 2 ศาสตร์ต่างเริ่มต้นจากการอ่านนิยาย เพราะทุกครั้งที่ได้อ่าน จินตนาการของเธอจะพรั่งพรู เกิดเป็นความรู้สึกอยากออกแบบตัวละครเจ๋งๆ แบบนั้นบ้าง อยากเนรมิตเรื่องราวน่าตื่นเต้นที่ทุกคนจะเพลิดเพลิน
ในวัยประถมปลาย เธอหยิบดินสอขึ้นมาเขียนบรรยายประสบการณ์ต่างๆ ที่พบเจอ
พอขึ้นชั้นมัธยม ทักษะที่เพิ่มพูนและการมาถึงของคอมพิวเตอร์ก็เชื้อเชิญให้เธอลองพิมพ์เรื่องที่แต่งเองลงบนหน้าจอ
แซมทำเช่นนี้เรื่อยมา เป็นความสุขส่วนตัวอันล้ำค่า แม้ว่าจะไม่มีแม้แต่เรื่องเดียวที่เขียนได้จนจบ
“เวลาจะแต่งนิยาย เรามักจะวาดรูปตัวละครขึ้นมาก่อน ทุกตัวจะมีเรื่องราว มีปูมหลัง ทุกวันนี้ก็ยังทำแบบนี้อยู่ แล้วพอวาดเสร็จถึงค่อยเขียน เขียนแล้วก็อ่านทวน แค่อ่านทวนเรื่องที่เขียนเองก็สนุกแล้วค่ะ” รอยยิ้มปรากฏบนในหน้าของนักเขียนที่กำลังหวนระลึกถึงอดีต
แต่แล้วความสุขก็จำต้องกระตุกชะงัก เพราะความรับผิดชอบอันหนักอึ้งของการเรียนแพทย์ 4 ปีแรกในรั้วมหาวิทยาลัย แซมแทบจะไม่ได้วาดภาพหรือแต่งนิยายเลย เวลาส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการทบทวนเนื้อหา อยู่เวร และรักษาคนไข้ จนกระทั่งนักศึกษาแพทย์ชั้นปี 5 ได้เข้าไปเรียนรู้ในแผนกที่มีชื่อว่าจิตเวช แรงบันดาลใจครั้งใหม่ก็ค่อยๆ งอกเงย
“ปี 5 ได้วนไปอยู่จิตเวช เจอปุ๊บ ชอบเลย เนื้อหาสนุกมาก ตอนนั้นแหละที่เริ่มปะติปะต่อในหัวว่าเราอยากเขียนนิยายเกี่ยวกับจิตเวช”
และช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง นิยายประเภทหนึ่งก็กำลังเป็นที่นิยมแบบสุดๆ จากที่เคยมีผู้สนใจเฉพาะกลุ่ม ก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง และเมื่อถูกสร้างเป็นซีรีส์ก็ยังได้รับเสียงตอบรับที่ดีเยี่ยมไม่แพ้กัน
แน่นอน เรากำลังพูดถึงจุดเริ่มต้นยุคทองของนิยายและซีรีส์วาย
“ตอนนั้น SOTUS: The Series ดังมาก เป็นขาขึ้นของวายไทย ใครเขียนแนวนี้ได้ดีก็จะมีคนอ่านเยอะ เราเองเป็นสาววายอยู่แล้ว เออ งั้นก็เขียนนิยายวายที่ตัวเอกเป็นหมอ เล่าเรื่องจิตเวชเลยดีกว่า”
ตลอดเวลาที่ผ่านมา แซมไม่เคยเขียนนิยายจนจบเรื่อง ทั้งยังไม่เคยเผยแพร่จินตนาการของตัวเองที่ไหนมาก่อน แต่กับ การวินิจฉัย (Diagnosis) เธอทุ่มเทแรงกายแรงใจระหว่างเรียนแพทย์จนสามารถเขียนมันได้จนจบ แถมยังอัปโหลดให้อ่านฟรีบนเว็บไซต์ Dek-D ตั้งแต่เขียนไปได้ประมาณครึ่งเรื่อง
แม้ในช่วงแรก ยอดคนอ่านจะมีเพียงหลักสิบ แต่แซมก็ดีใจมาก เพราะจากเดิมที่มีเพียงเธอและกลุ่มเพื่อนสนิทที่ได้อ่าน ตอนนี้มีคนที่เธอไม่รู้จักเข้ามาอ่านและติชมผลงานที่เธอเขียน และไม่น่าเชื่อว่าในเวลาเพียง 2 สัปดาห์หลังเผยแพร่ นิยายเรื่องการวินิจฉัยก็ถูกสำนักพิมพ์ติดต่อขอไปพิมพ์เป็นรูปเล่มในทันที
“คุณเอาเวลาที่ไหนเขียน แค่เรียนหมอก็น่าจะหนักมากแล้ว” เราถาม
“เสี้ยวของเวลาว่างค่ะ เราฮึบมาก ตอนนั้นขึ้นปี 6 แล้ว ยุ่งสุดๆ แต่ก็พยายามบอกตัวเองว่า นิยายเล่มแรกในชีวิตที่จะได้ตีพิมพ์เลยนะ เอาวะ ต้องทำให้ได้”
แซมขยายความว่า เธอต้องกดสูตร วางพล็อตเรื่องให้รัดกุมสมบูรณ์เอาไว้ก่อน หรือก็คือต้องมีต้น กลาง จบอย่างครบถ้วน จากนั้นเศษเสี้ยวเวลาว่างที่เหลือก็มีไว้เพื่อการเติมเต็ม เขียนรายละเอียดต่างๆ ให้เป็นไปตามแนวทางที่วางไว้ แต่ถึงเธอจะบอกว่าไม่ได้ลำบากอะไร เราฟังแล้วก็ยังทึ่งอยู่ดี เพราะเธอเขียนได้ตลอดเวลา กระทั่ง 5 นาทีที่รอคนไข้เข้ามาตรวจ เธอก็ยังเขียนนิยายได้
“ซึ่งท้ายที่สุด คุณก็เขียนนิยายเล่มแรกจบ พร้อมๆ กับเรียนจบหมอ”
“ใช่ค่ะ ก็จบการวินิจฉัยได้อย่างที่ตั้งใจ แล้วระหว่างที่จะเป็นอินเทิร์นก็เริ่มเปิด พฤติการณ์ที่ตาย เป็นเรื่องที่ 2 พอดี”
03 จากเคสจริงที่พบเจอ สู่เรื่องราวบนหน้าจอ
ไม่ใช่ทุกคนที่จะมองว่า จิตเวชเป็นสาขาวิชาที่น่าสนใจ นักศึกษาแพทย์หลายคนที่หมุนเวียนมาแผนกนี้ยังถึงกับเอามือก่ายหน้าผาก เพราะต้องใช้พลังใจเยอะมากในการรับฟังและสังเกตผู้ป่วย
ถึงอย่างนั้น แซมกลับมองว่าการซักประวัติ ศึกษาพฤติกรรม และสำรวจตรวจดูพื้นฐานจิตใจของคนไข้คือสิ่งสำคัญที่ตัวเธอสนุกที่จะทำ และอีกหนึ่งแผนกที่เธอติดใจไม่แพ้กันก็คือนิติเวช
“มันมีความลึกลับ น่าสงสัย แต่ก็น่าค้นหา เอ๊ะ คนนี้เสียชีวิตเพราะอะไร พฤติการณ์ที่ตายของเขาคืออะไรกันแน่”
นั่นเองนำมาซึ่งงานเขียนเรื่องที่ 2 ในชีวิตอย่าง พฤติการณ์ที่ตาย คำที่คนทั่วไปอาจไม่คุ้นหูมากนัก แต่ในทางนิติวิทยาศาสตร์ หมายถึง เหตุการณ์ที่เป็นที่มาของการเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าตัวตาย ถูกผู้อื่นทำให้ตาย ถูกสัตว์ทำร้าย อุบัติเหตุ และโรคธรรมชาติ
เราถามแซมว่า ความสนุกที่ได้นำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในชีวิตจริงมาเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนนิยายคืออะไร เธอตอบกลับด้วยสีหน้ามั่นใจว่า คือการนำเนื้อหาทฤษฎีมาดัดแปลงให้น่าติดตาม บอกเล่าให้ผู้ชมตื่นเต้น เพราะเมื่อตัวเรื่องสนุกแล้ว สารที่แซมต้องการสื่อก็จะไปถึงผู้อ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
“ถ้าเรามานั่งอธิบายว่าพฤติการณ์ที่ตายมีอยู่ 5 อย่าง 1 2 3 4 5 มันก็จะไม่น่าดู ไปอ่านตำราเอาก็ได้ แต่ถ้าเราเล่าเป็นเหตุการณ์ว่ามีคนโดนยิงหัว แล้วต้องค้นหาว่าพฤติการณ์ที่ตายคืออะไร ฆ่าตัวตาย โดนฆ่า หรือโดนลูกหลง ก็คงสนุกกว่า”
ถึงจะมีกระแสตอบรับในเชิงบวก และเริ่มมีแฟนคลับเฝ้ารอผลงานอย่างเหนียวแน่น แต่แซมก็ไม่คาดคิดว่าเรื่องราวที่ตัวเองปลุกปั้นจะได้รับโอกาสสร้างสรรค์เป็นซีรีส์ ความรู้สึกของเธอ ณ ตอนนั้นมันไกลเกินความฝันไปมาก จากที่ครั้งหนึ่งเคยอยากวาดภาพ ขีดเขียน และเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมออกแบบตัวละคร ตอนนี้ เนื้อหาจากจินตนาการของเธอได้กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวที่ผู้คนมากมายหลงรัก แม้จะไม่เหมือนความฝันตั้งต้นซะทีเดียว แต่ก็ยิ่งใหญ่และเป็นความภาคภูมิใจที่ช่วยให้เธอมีรอยยิ้ม
“ทุกวันนี้มีคนไข้ทักเรื่องนิยายบ้างมั้ยครับ” เราถาม
“คนไข้ยังไม่มีนะคะ แต่เพื่อนร่วมงานทักค่ะ และที่พีคกว่าคือนิสิต พอดีเราเป็นอาจารย์ด้วย พอสอนเสร็จปุ๊บ นิสิตเขาก็ขอลายเซ็น” แซมเล่าไปเขินไป
04 คุณหมอตะลุยกองถ่าย
หลังจาก พฤติการณ์ที่ตาย ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แซมก็ได้พบกับความท้าทายครั้งใหม่ที่ช่วยให้หัวใจเต้นแรงกว่าที่เคย
ด้วยความที่ขาอีกข้างอยู่ในบทบาทแพทย์ ผู้จัดทำซีรีส์จึงต้องการคำปรึกษาของเธอเพื่อความสมจริงในการถ่ายทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทางการรักษาและอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ในฉาก
ประสบการณ์ในกระบวนการโปรดักชั่นช่วยให้เธอเห็นภาพรวม เข้าใจความแตกต่างระหว่างการเล่าเรื่องด้วยภาพและตัวหนังสือ และเมื่อเรียนรู้ได้มากพอ เธอก็ได้รับมอบหมายอีกหนึ่งภารกิจอย่างการดัดแปลงบทนิยายของตัวเองให้กลายเป็นบทซีรีส์ซึ่งมีวิธีนำเสนอที่แตกต่าง บทต้องสั้นกระชับ เน้นเขียนให้เห็นภาพมากกว่าพรรณนา
“ตอนเป็นที่ปรึกษาทางการแพทย์ เราก็ได้เห็นหน้าตาของบทซีรีส์ ก็มีส่วนช่วยปรับแก้ให้ตรงตามความเป็นจริง ครูพักลักจำไปเรื่อยๆ ไปลงเรียนเพิ่มด้วย เรียกว่ากำลังฝึกเขียนบทซีรีส์อยู่นั่นแหละ”
ในฐานะที่เธอเป็นแพทย์ ทั้งยังมีโอกาสได้เข้าไปสังเกตการณ์ในกองถ่าย เราจึงอดไม่ได้ที่จะถามเธอว่ารู้สึกยังไงเมื่อต้องเห็นฉากการแพทย์ที่ไม่สมจริงบนหน้าจอ
แซมฟังคำถามจนจบ ก่อนจะตอบอย่างใจเย็นว่าต้องพิจารณาจากระดับความไม่สมจริงนั้นๆ ตราบใดที่มันยังไม่ใช่ ‘Major Error’ หรือความผิดพลาดที่ใหญ่เกินให้อภัย เธอก็จะถือว่าเป็นแนวทางที่ยอมรับได้
“ที่เราไม่โอเคคือความผิดพลาดที่จะนำไปสู่ความเข้าใจผิดครั้งยิ่งใหญ่ เช่น ช่วยคนจมน้ำโดยการจับห้อยหัวแล้วเขย่า หรือเอาสายสวนปัสสาวะมาใส่จมูก อันนี้รับไม่ได้”
ในมุมหนึ่ง การกลายมาเป็นคนเบื้องหลังก็ช่วยให้เธอได้เข้าใจเหตุผลของความไม่สมจริงมากขึ้น เช่น อุปกรณ์การแพทย์ที่น้อยกว่าความเป็นจริงอาจเป็นผลมาจากข้อจำกัดทางโปรดักชั่น หรือห้องผ่าตัด ที่ในความเป็นจริงต้องสว่างมาก แต่ในซีรีส์จำเป็นต้องมืดเพื่อสร้างความลุ้นระทึกให้ผู้ชม เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุผลที่เข้าใจได้
“เอาจริงๆ ฝั่งซีรีส์เกาหลีอย่าง Dr. Romantic ก็ไม่ได้สมจริง 100% นะ แต่มันสนุกจนเราลืมมอง และจุดที่ผิดก็ไม่ได้รุนแรงจนให้อภัยไม่ได้ เขามีมาตรฐานของเขา” หมอแซมสรุป
05 อยากสื่อสารเรื่องการแพทย์
นับถึงวันนี้ก็ย่างเข้าปีที่ 10 ที่แพทย์หญิงอิสรีย์ เริ่มต้นชีวิตนักเขียน 1 ทศวรรษที่หลายคนมองว่าหนักหนาและเหน็ดเหนื่อย สำหรับเธอคือขวบปีแห่งความสุขและการทำฝันให้เป็นจริง และเมื่อเป็นสิ่งที่รักแล้วก็ดูเหมือนว่า มันจะไม่ใช่ความเหนื่อยล้าเลยสำหรับแซม
“แซมคิดว่าตัวเองเขียนนิยายไปเพื่ออะไร” เราถามเธอเมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงท้าย
แซมนิ่งไปหลายวินาที ก่อนจะตอบว่า เธอเขียนเพราะการเขียนคือความสุขของเธอ หากวันใดรู้สึกไม่สนุกแล้ว เธอก็คงไม่สามารถเขียนต่อไปได้ จริงอยู่ที่ว่า วันนี้งานเขียนของเธอมีความเป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น ขณะเขียนต้องวางแผนอย่างถี่ถ้วนมากขึ้นเพราะอาจต้องนำไปขาย แปล และดัดแปลงเป็นซีรีส์ แต่ไม่ว่ายังไงก็ตาม หลักใหญ่ใจความที่เธอยึดมั่นไม่เปลี่ยนแปลงคือตัวเธอต้องมีความสุขกับทุกตัวอักษรที่ได้พิมพ์ออกไป
นอกเหนือจากการเขียนเพื่อตัวเอง อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญที่เธออยากสื่อสารคือประเด็นทางการแพทย์ ในเมื่อมีพื้นที่สื่ออยู่ในมือแล้ว แซมก็คิดว่าน่าจะใช้สิ่งนี้ส่งต่อเรื่องที่อยากให้คนทั่วไปได้เข้าใจ ซึ่งตัวอย่างที่ดีที่สุดก็คือเกร็ดความรู้ที่ถูกบอกเล่าในนิยายเรื่อง ทริอาช
“ตอนนั้นมีข่าวบุคลากรห้องฉุกเฉินโดนทำร้ายเพราะไปรักษาเคสเร่งด่วนก่อน ไม่ยอมรักษาเขาที่มาก่อน แต่อาการเร่งด่วนน้อยกว่า เราอยากให้คนเข้าใจเรื่องนี้ เข้าใจการทำงานของห้องฉุกเฉิน เลยเขียนเรื่องทริอาชที่ว่าด้วยกระบวนการจัดลำดับความสำคัญของคนไข้ แต่จะมานั่งเล่าว่าสีเขียว สีแดง คืออะไรก็คงไม่ได้ จึงต้องแต่งเรื่องโดยมีประเด็นทริอาชเป็นธีมหลัก จะเรียกว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้มั้ยนะ”
หรือผลงานใหม่ที่กำลังจะออกอากาศอย่างการุณยฆาต หมอแซมก็เลือกบอกเล่าแนวคิดเรื่องการดูแลผู้ป่วยประคับประคอง ตั้งคำถามกับสังคมว่า ระหว่างการฉีดยาให้เขาจากไปอย่างไม่ทรมานกับการยื้อชีวิตของผู้ป่วย แบบไหนกันแน่ที่เป็นการช่วยเหลือเขาอย่างแท้จริง
เท่าที่ได้รับฟัง สิ่งที่แซมทำช่วยสร้างความเข้าใจให้คนในสังคมไทยไม่มากก็น้อย และเราเห็นด้วยว่า มันคือหนึ่งสิ่งที่น่าชื่นชมเหลือเกิน
06 มันก็ยังเป็นซีรีส์สืบสวนสอบสวนไม่ต่างจากเรื่องอื่นๆ
“เราไม่อยากให้ ‘วาย’ แตกต่างไปจากนิยายหรือซีรีส์ประเภทอื่นๆ สุดท้าย LGBTQ+ ก็เป็นเพียงอัตลักษณ์ทางเพศของตัวละคร ส่วนตัวละครจะไปทำภารกิจอะไร อยู่ในเรื่องแนวไหน ก็ขึ้นอยู่กับประเภทของเรื่องนั้นๆ เพศไม่ควรเป็นสาระสำคัญที่แยกเนื้อหาแนวนี้ออกจากเนื้อหาอื่นๆ”
นี่คือคำตอบเมื่อเราถามแซมถึงมุมมองที่มีต่อนิยายและซีรีส์ที่มีตัวดำเนินเรื่องหลักเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ แซมยกตัวอย่างให้ฟังว่าในซีรีส์ต่างประเทศ เพศของตัวละครไม่ได้กระทบกับเส้นเรื่องหลัก ตัวละครจะเป็นเพศอะไรหรือมีรสนิยมทางเพศแบบใด ก็สามารถตอบสนองซึ่งเรื่องราวที่ผู้สร้างตั้งใจถ่ายทอดได้ หรือต่อให้ใช้ประเด็นเรื่องเพศมาเป็นจุดขัดแย้งของเรื่องก็ยังสามารถทำได้อยู่ดี เพราะประเด็นนี้คือเรื่องปกติที่มีการถกเถียงพูดคุยกันในสังคม
“ซีรีส์ต่างประเทศที่เราดู ถึงตัวละครหลักจะเป็นผู้หญิงคบกับผู้หญิง เขาก็ไม่ได้นิยามว่ามันคือซีรีส์แซฟฟิก มันก็ยังเป็นซีรีส์สืบสวนสอบสวนไม่ต่างจากเรื่องอื่นๆ” นักเขียนอธิบายหนักแน่น
2 คำถามสุดท้ายก่อนจะร่ำลา เราย้อนถามหมอแซมว่า เพื่อนที่ครั้งหนึ่งเคยสัญญาว่าจะไปเรียนด้านอนิเมชั่นด้วยกัน ทุกวันนี้เขาคนนั้นเป็นยังไงบ้าง
แซมพูดพลางหัวเราะ เล่าว่าเธอคนนั้นได้เรียนอนิเมชั่นอย่างที่ตั้งใจ แน่วแน่กับเส้นทางฝัน จนถึงวันนี้ก็ยังโลดแล่นในสายงานอนิเมชั่นอยู่ในบริษัทแห่งหนึ่ง ฟังดูแล้ว ทั้งเธอคนนั้นและคุณหมอคนนี้ต่างก็ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ต่างขวนขวายเพื่อเป้าหมายและความฝัน เพียงแค่เลือกเดินคนละเส้นทางเท่านั้นเอง
“คำถามสุดท้าย ตอนนี้คุณเป็นแพทย์และนักเขียน ยังมีอะไรอีกมั้ยที่คุณอยากทำ”
“ตอนนี้อยากทำสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีกว่าเดิม ในบทบาทหมอก็อยากพัฒนางานการแพทย์ให้ดีที่สุด พัฒนาระบบงานเท่าที่ทำได้ ฝั่งเขียนก็ค้นหาลู่ทางว่าจะไปสุดที่ไหน ณ ตอนนี้เกินความคาดหมายไปเยอะมาก แต่ก็ยังเปิดรับทุกโอกาสที่เข้ามา พร้อมกับพัฒนาตัวเองให้สมกับที่เขามองว่าเราทำได้ดี…”
แซมนิ่งไปครู่หนึ่ง
“ล่าสุดก็เริ่มมีคนทาบทามให้เขียนบทภาพยนตร์ค่ะ” เธอว่าด้วยแววตาเป็นประกาย
“ก็ถือว่าเป็นความท้าทายครั้งใหม่เนอะ” เราว่าด้วยน้ำเสียงยินดี
“ค่ะ เป็นอีกก้าวหนึ่งที่ตอบตกลงไปแล้ว ก็ต้องลองดูว่าจะทำได้มั้ย และทำได้ดีแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ ก็จะตั้งใจทำให้ดีที่สุด”
ต่อให้ไม่มีประโยคสุดท้ายที่เธอพูด เราก็มั่นใจว่า นักเขียนเจ้าของนามปากกาแซมม่อนจะทำในสิ่งที่เธอรักต่อไปอย่างสุดความสามารถ ตราบใดที่นี่คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้แพทย์หญิงคนหนึ่งมีความสุข เธอก็คงเต็มใจที่จะทำมันต่อไป ทั้งเพื่อตัวเธอเอง วงการแพทย์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกคน