คนไทยบางกลุ่ม เริ่มหันมาสนใจเรื่อง euthanasia หรือ ‘การุณยฆาต’ เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีหลัง
อาจเพราะกระแสความตื่นตัวเรื่อง ‘สิทธิ’ ในการเลือกกำหนดเส้นทางชีวิตของตัวเอง ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ไปจนถึงสิทธิในการเลือกจุดจบของตัวเอง
ไม่รวมถึงข่าวใหญ่ เมื่อปี 2561 กรณีที่เดวิด กู๊ดออล (David Goodall) นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียวัย 104 ปี ที่เลือกบินไปจบชีวิตตัวเองด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งกลายเป็นข้อถกเถียงไปทั่วโลก
และต่อมา ในปี 2562 ยังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวไทยรายหนึ่งระบุว่า จะไปขอรับบริการการุณยฆาตที่สวิตเซอร์แลนด์
คำถามที่น่าสนใจก็คือ ถึงปัจจุบันนี้มีกี่ประเทศในโลกที่อนุญาตให้ประชาชนเลือกจากไปด้วย euthanasia ได้ และมีโอกาสแค่ไหน ที่วิธีการนี้จะถูกนำมาใช้ในเมืองไทย
The MATTER ติดต่อไปพูดคุยผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน เพื่อขอข้อมูล ความคิดเห็น และมุมมองต่อเรื่องราวเหล่านี้
‘การุณยฆาต’ คืออะไร
รัฐสภาไทยเคยจัดทำเอกสารเมื่อปี 2559 ให้ที่มาของคำว่า ‘การุณยฆาต’ หรือ euthanasia ว่า มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ eu ที่แปลว่า “ดี” กับ thanatos ที่แปลว่า “ความตาย” แปลรวมๆ ว่า ตายดีหรือตายสงบ
สำหรับความหมายของ euthanasia มีหลากหลาย แต่โดยมากมักมีองค์ประกอบร่วม 3 อย่าง คือ (1) บุคคลเจ้าของชีวิตนั้นๆ เลือกที่จะจบชีวิตของตัวเอง (2) เพื่อยุติความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมาน และ (3) โดยความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์
euthanasia จะต่างจากการฆ่าตัวตาย (suicide) ตรงที่มักมีบุคลากรทางการแพทย์มาช่วยเหลือ ผ่านกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ค่อนข้างเข้มงวด ตามที่กฎหมายของประเทศนั้นๆ กำหนด โดยบุคลากรทางการแพทย์เหล่านั้นจะไม่ถูกตั้งข้อหาและเอาผิดฐานฆาตกรรม
euthanasia ยังแตกต่างจาก living will ซึ่งไทยกำหนดให้สามารถทำได้ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ปี 2550 เพราะคำหลังหมายถึง การที่ผู้ป่วยแสดงเจตจำนงที่จะปฏิเสธการรักษาเพื่อยื้อชีวิตในวาระท้ายเพื่อให้เขาสามารถจากไปอย่างสงบ ส่วนคำแรกนั้นหมายถึงการเลือกจบชีวิต แม้อาการเจ็บป่วยนั้นจะยังไม่มาถึงวาระท้าย ภายใต้ 3 องค์ประกอบข้างต้น
ยังมีคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับ euthanasia อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีทั้งจุดที่เหมือนและแตกต่าง เช่น active euthanasia, passive euthanasia, assisted suicide, assisted dying ฯลฯ
แต่ในบทความนี้ จะเน้นพูดถึง euthanasia ที่เป็น active euthanasia ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์ ที่บางครั้งเรียกว่า physician assisted suicide เป็นหลัก
โดยเราจะขอเรียกคำๆ นี้ว่า ‘การุณยฆาต’ (แม้บางคนจะแย้งว่า ความหมายในภาษาไทยไม่ตรงกับความหมายในภาษาอังกฤษนัก)
ปัจจุบัน เหตุผลที่ทำให้ การุณยฆาตยังเกิดขึ้นในไทยไม่ได้มีหลากหลายสาเหตุ ทั้งจากมุมมองทางศาสนา การแพทย์ สังคม รัฐศาสตร์ ฯลฯ แต่ที่เป็นข้อจำกัดจริงๆ ก็คือกฎหมายที่กำหนดโทษของการ ‘ฆ่าผู้อื่น-ทำร้ายผู้อื่น’ เอาไว้ในประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) โดยมีอัตราโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต
แล้วโอกาสที่วิธีการนี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทย จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?
หลายปัจจัยที่น่ากังวล
“ผมคิดว่ามันอาจจะมีประโยชน์ในบางกรณี ถ้าเราพิจารณาอย่างถ้วนถี่ แม้มันจะสามารถทำได้ในประเทศไทย แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยกับ euthanasia ขนาดนั้น เอาจุดยืนอย่างนี้ก่อน”
คือคำตอบจากปากของ นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อคำถามของ The MATTER ว่า หากการุณยฆาตเกิดขึ้นในเมืองไทยจะมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
ราวปี 2562 นพ.ฉันชายเคยพูดไว้ว่า “การุณยฆาตมีได้..แต่ยังไม่ได้ในตอนนี้” ผ่านมา 3 ปี เขายังยืนยันในจุดยืนเดิม โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยน่ากังวลไว้หลายข้อ
หนึ่ง การุณยฆาตอาจไม่ใช่สิ่งที่ผู้ป่วยต้องการอย่างแท้จริง เพราะผู้ป่วยอาจยังไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอจนรู้สึกว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดี ว่าง่ายๆ ก็คือ คนไข้อาจอยากจบชีวิตเพราะไม่ได้รับการดูแลขั้นพื้นฐานครบถ้วนจนรู้สึกว่าที่ทรมานอยู่มันแก้ไขไม่ได้แล้วจริงๆ ก็ได้
สอง การุณยฆาตอาจเกิดจากปัจจัยอื่น เช่น ผู้ป่วยรู้สึกว่าเป็นภาระ (burden) ของคนอื่น โดยเฉพาะในสังคมไทยที่ต้องกังวลว่าแก่ตัวไปใครจะดูแล ซึ่งหากการทำการุณยฆาตมีปัจจัยลักษณะนี้เข้ามาเป็นประเด็น ก็อาจไม่ตรงตามวัตถุประสงค์หลักก็ได้
สาม อาจเกิดสภาวะ slippery slope หรือการที่หมอเริ่มลดข้อจำกัดของผู้ป่วยที่สมควรทำการุณยฆาตลงเรื่อยๆ จนอาจเป็นสภาวะที่ ‘หยุดไม่อยู่’
“จะเห็นได้ว่า ในข้อโต้แย้งที่ผมยกมา ไม่มีเหตุผลด้านความเชื่อหรือศาสนาอยู่ในนั้นเลย”
นพ.ฉันชายยังมองว่า ถ้าคนอยากทำการุณยฆาตรู้ปัญหาตัวเองอย่างแท้จริง กำลังเผชิญกับความทรมานที่รักษาไม่ได้ มีสติสัมปชัญญะครบถ้วน รับรู้ข้อมูลครบทุกด้าน ไม่มีแรงกดดันอื่นใด และมีหมอที่ยินดีทำให้ การุณยฆาตก็สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ปัจจัยเหล่านี้อาจควบคุมไม่ได้เท่าไหร่นัก ยิ่งโดยเฉพาะในสังคมไทยที่การ ‘บังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง’ อาจไม่เกิดขึ้น 100%
นพ.ฉันชายยังกล่าวถึงเงื่อนไขต่างๆ ที่จะต้องหาข้อสรุปให้ชัดเจน หากจะทำให้ euthanasia เกิดขึ้นในไทยได้ เช่น ใครจะมีอำนาจตัดสินใจ, ใครจะเป็นผู้เริ่มดำเนินการ, คนไข้แบบไหนบ้างที่แพทย์จะทำการุณยฆาตให้, จะใช้วิธีการใดเพื่อประเมินอย่างถี่ถ้วน, จะต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาหรือบุคลากรจากกลุ่มวิชาชีพใดบ้างมาช่วยในการประเมินว่า เขายินดีจากไปโดยไม่ได้มีปัจจัยบังคับให้เขาฆ่าตัวตาย
“ผมว่าอนาคตคงมีการุณยฆาตได้ แต่มันมีอีกหลายขั้นตอน ผมยังเชื่อว่ามีอีกหลายเรื่องที่น่าทำมากกว่านี้ ถ้าเราดูกฎหมายเรื่องความตายตอนนี้ เรามีแค่ living will มาฉบับเดียวแล้วก็ไม่มีอะไรที่พูดถึงความตายอีกเลย” นพ.ฉันชาย กล่าว
ยังมีทางเลือกอื่นอยู่
เมื่อพูดถึงประเด็นเรื่องการุณยฆาต สิทธิในการตาย หรือสิทธิในการจบชีวิต คีย์เวิร์ดหนึ่งที่คนจากแวดวงแพทย์มักจะหยิบขึ้นมาเสมอ ก็คือการดูแลแบบประคับประคอง (palliative care) ซึ่งหมายถึงศาสตร์ในการดูแลรักษาคนไข้แบบประคับประคองเพื่อสร้าง ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’ ในช่วงท้ายของชีวิต แม้อาจจะไม่ได้รับยาที่ช่วยให้หายขาดจากโรค แต่จะได้รับยาที่บรรเทาความเจ็บปวดทรมาน รวมถึงจะได้รับการดูแลทางจิตใจและจิตวิญญาณ
นพ.ภิญโญ ศรีวีระชัย แพทย์ชำนาญการพิเศษด้านดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจาก รพ.ศิริราช มองว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาของการการุณยฆาต เพราะคนไข้ส่วนหนึ่งที่มีความทรมานยังเข้าไม่ถึงการดูแลแบบประคับประคองด้วยซ้ำ
“คือคนส่วนหนึ่งที่ทรมานแล้วหมอทั่วไปรักษาไม่ได้ ก็เลือกที่จะตาย แต่จริงๆ แล้วเขายังเข้าไม่ถึงการดูแลแบบประคับประคองเลย”
นพ.ภิญโญยังให้ข้อมูลว่า ประเทศที่อนุญาตให้ทำการุณยฆาตได้ ส่วนใหญ่มักจะเป็นประเทศที่การรักษาแบบประคับประคองมันเจริญรุ่งเรืองและผู้ป่วยเข้าถึงได้อย่างถ้วนถึง
แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะพยายามให้ทุกโรงพยาบาลมีการดูแลแบบประคับประคองก็ตาม นพ.ภิญโญกลับมองว่ามันยังไม่เพียงพอ โดยเหตุผลที่การดูแลแบบประคับประคองในไทยยังไม่กว้างขวาง เพราะหมอที่มีความรู้เฉพาะทางด้านนี้จริงๆ อาจมีไม่ถึงร้อยคน
“คือมันจะมีหลายโรงพยาบาลที่เข้าใจไม่ตรงกับศาสตร์นี้จริงๆ บางคนเข้าใจว่ามันคือการช่วยกันสวดมนต์ให้ผู้ป่วยจากไปอย่างดี แต่จริงๆ มันก็ไม่ได้มีแค่นั้น มันใหญ่กว่านั้น” นพ.ภิญโญระบุ
เมื่อสมมติว่าไทยจะต้องมีการุณยฆาตจริง นพ.ภิญโญชี้ว่าควรจะมีแค่ในผู้ป่วยระยะท้ายที่รักษาไม่ได้จริงๆ เท่านั้น โดยเขาเหล่านั้นต้องผ่านการรักษาแบบประคับประครองอย่างดีที่สุดแล้วด้วย ซึ่งก็เป็นปัญหาเพราะหมอผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลแบบประคับประคองมีไม่มากและมักกระจุกตัวอยู่ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ
ระหว่างบทสนทนา นพ.ภิญโญเล่าให้ฟังว่า มีคนร้องขอการการุณยฆาตประมาณเดือนละ 1-2 ราย แต่ส่วนมากก็ไม่ร้องขออีกหลังเริ่มรับการรักษาแบบประคับประคอง
สอดคล้องกับความเห็นของ วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานกลุ่ม Peaceful Death กลุ่มกิจกรรมที่รณรงค์เรื่องตายดีแห่งแรกๆ ของเมืองไทย ที่มองว่า แม้การุณยฆาตจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้ในการยุติความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย แต่สำหรับบ้านเราอาจยังเร็วเกินไป เพราะคนส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงการรักษาแบบประคับประคองเลย
“สิ่งสำคัญตอนนี้คือการทำให้คนรู้ว่าถ้าป่วยระยะสุดท้ายก็ยังมีโอกาสมีคุณภาพชีวิตที่ดีและไม่ทรมาน จากนั้นอาจจะเหลือไม่กี่เคสที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองแล้วแต่ยังยากอยู่ ซึ่งคงมีไม่เยอะ ค่อยไปถึงจุดที่กระทำการุณยฆาต” วรรณากล่าว
ประธานกลุ่ม Peaceful Death ยังเชื่อว่า หากทำให้คนไทยเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานต่างๆ ได้ดีพอ ทางเลือกอย่างการุณยฆาตก็อาจไม่จำเป็น
“สังคมไทยยังมีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมในการเข้าถึงระบบสวัสดิการ ไม่ใช่แค่มีการุณยฆาตแล้วทุกอย่างจะจบ ถ้าคนดูแลยังให้สวัสดิการได้ไม่ดีพอ เขาก็อาจจะใช้การุณยฆาตเป็นทางออกก็ได้ ซึ่งมันผิดจุดประสงค์ของการุณยฆาต ดังนั้นก่อนจะมีได้ หนึ่ง ต้องทำระบบดูแลแบบประคับประคองให้ดี กับสอง ต้องทำสวัสดิการให้ดีด้วย” วรรณาสรุป
สร้างพื้นที่เพื่อหาคำตอบ
อีกคำถามที่น่าสนใจก็คือ สังคมไทยเคยมีการถกเถียงในที่สาธารณะ (public debate) เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันเรื่องการุณยฆาตหรือไม่
ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สอนวิชาสังคมวิทยาความตาย ยกประเด็นเรื่องความเชื่อทางศาสนาที่บอกว่าการฆ่าคนตายเป็นบาป มาเป็นหนึ่งใน ‘ข้อจำกัด’ ที่ทำให้การพูดคุยเรื่องนี้ในสังคมไทยยังไม่กว้างขวางมากนัก แตกต่างกับหลายๆ ประเทศที่พูดคุยกันอย่างเปิดเผย จนตกผลึกร่วมกันแล้วว่า ควรจะให้มีหรือไม่ให้มีการุณยฆาต โดยอาจมีตัวจุดประเด็นเป็นกรณีที่มีคนยื่นฟ้องต่อศาล แต่ประเทศไทยยังไปไม่ถึงจุดนั้น
อีกปัจจัยที่ อ.ภาวิกามองว่า ทำให้ประเด็นเรื่องการุณยฆาตยังไม่ถึงกับเป็น public debate ก็คือฐานคิดเรื่อง ‘สิทธิ’ ที่สังคมไทยยังต่างจากหลายชาติตะวันตก ไม่รวมถึงขั้นตอนการพิจารณากฎหมายต่างๆ ที่บางฉบับ แทบไม่มีประชาชนรู้เลยว่ามีอยู่ ซึ่งแปลว่าหลายเรื่องไม่ได้มาจากความต้องการของประชาชน
ผู้สอนวิชาสังคมวิทยาความตาย เสนอว่า หากจะสร้างการถกเถียงในสังคมเพื่อหาคำตอบว่าควรจะมีการุณยฆาตขึ้นในเมืองไทยหรือไม่ อาจต้องเริ่มจากการพูดคุยเรื่องความตายก่อน เพื่อให้คนเข้าใจว่าเรามีทางเลือกในการตายซักกี่แบบ อะไรที่มันกระทบคนอื่น อะไรอยู่ในวิสัยที่เราจะเลือกได้ แต่ละทางเลือกมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร
“ถ้าได้คุย ได้สื่อสาร มันก็จะช่วยสร้างความพร้อมได้” อ.ภาวิการะบุ
ปัจจุบันมีหลายประเทศที่อนุญาตให้สามารถทำการุณยฆาต (euthanasia, active euthanasia) ได้อยู่หลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม แคนาดา โคลัมเบีย ลัมเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สเปน ฯลฯ ที่แม้ชาติต่างๆ จะมีฐานคิดและประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน แต่มีจุดร่วมเดียวกันก็คือ ชาติเหล่านี้ผ่านการถกเถียง แลกเปลี่ยน จนตกผลึกมาเป็นกฎหมายการุณยฆาต
คำถามว่า การุณยฆาตหรือ euthanasia จะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้จริงไหมและเมื่อไร? จึงอาจไม่ใช่คำถามที่เพียงสื่อมวลชนหรือผู้เกี่ยวข้องไม่กี่คนจะสามารถให้คำตอบได้
เพราะน่าจะเป็นคำถามใหญ่ๆ ที่โยนขึ้นไปกลางวงให้ทุกคนในสังคมไทย ถกเถียง แลกเปลี่ยน และหาข้อสรุปร่วมกัน
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก
https://medicine.missouri.edu/centers-institutes-labs/health-ethics/faq/euthanasia
https://www.nia.nih.gov/health/what-are-palliative-care-and-hospice-care
https://www.nhs.uk/conditions/euthanasia-and-assisted-suicide/