หลายคนอาจเห็นกรณีที่ แพร—มินตรา เชื้อวังคำ หรือมินตัน เน็ตไอดอลหญิงเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ‘หนูมินตันทาสกระดาน’ ถูกชายคนหนึ่งคุกคามมาตลอด 2 ปี ซึ่งเธอทั้งแจ้งความกับตำรวจ ทั้งร้องเรียนจนเคยเป็นข่าวแล้วผู้กระทำผิดก็เคยถูกจับมาแล้ว แต่กฎหมายก็ยังไม่สามารถเข้ามาคุ้มครองเธอได้ จนผู้ก่อเหตุรายเดิมก่อเหตุซ้ำขึ้นมาอีก ซึ่งเป็นที่มาของคำถามที่ว่า แล้วกระบวนการยุติธรรมนี้มีปัญหาตั้งแต่ตรงไหนกัน?
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว มีชายคนหนึ่งคุกคามมินตันผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งภาพโป๊ ใส่ชื่อตนไปในทะเบียนสมรสรวมถึงข้อความขู่ต่างๆ ไปให้เธอ อ้างว่าเป็นเด็กตำรวจ แค่เขายัดเงินให้ก็ไม่ถูกตามแล้ว และเหตุการณ์ก็เลยเถิดไปถึงขั้นที่เขาติดตามมินตันไปตามอีเว้นท์ต่างๆ พยายามจะมาหาถึงบ้าน ข่มขู่ว่าจะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหากไม่ยอมเป็นแฟนด้วย
กระทั่งช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 มินตันก็แจ้งความคดีคุกคามที่สถานีตำรวจ แต่เรื่องไม่คืบหน้า เธอจึงไปร้องเรียนตำรวจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในวันที่ 26 กรกฎาคม พร้อมกับทนายความ ซึ่งทนายความของเธอระบุว่า การกระทำของผู้ก่อเหตุเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ข้อหาตัดต่อภาพ และนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบ, ทำผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญ, ปลอมเอกสาร และหมิ่นประมาท ต่อมา ตำรวจก็สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565
แต่เรื่องราวดังกล่าวยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะเมื่อวานนี้ (18 เมษายน) มินตัน โพสต์ว่าเธอต้องเจอกับ ‘โรคจิต’ มากว่า 2 ปี “ปีที่แล้วที่มีการแถลงข่าวว่าโรคจิตคนนี้โดนจับ สร้างภาพให้คนเชื่อว่าผู้ถูกกระทำชนะ แต่ที่จริงนั้น เป็น ‘คดีมีสื่อลามกเกี่ยวกับเด็ก’ และไม่ได้โดนจับเพราะคดีคุกคามมินตัน แถมแค่รอลงอาญา ไม่ติดคุก”
“กฎหมายบ้านเรามันเป็นแบบนี้ กฎหมายมีไว้รอให้เหยื่อถูกกระทำรุนแรงก่อน กฎหมายไม่ใช่มีไว้เพื่อป้องกันเหยื่อไม่ให้เกิดเหตุ” มินตันระบุ
สำหรับคำว่า ‘การคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment)’ นั้น มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความหมายไว้ว่า เป็นการกระทำที่ทำให้รู้สึกถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพในทางเพศ และเรื่องเพศสภาพ “ในทางกฎหมายไม่มีนิยามของการคุกคามทางเพศที่แน่ชัด แต่สามารถบอกได้ว่าเป็นเรื่องที่ตั้งอยู่บนหลักของการกระทำละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพทางเพศที่วิญญูชนทั่วไปพึงรู้สึกได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม”
อย่างไรก็ดี ความรู้สึกว่ากฎหมายไม่ได้ช่วยผู้ถูกกระทำที่ถูกคุกคาม ไม่ได้เกิดกับมินตันแต่เพียงคนเดียว เพราะเราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยทำให้คนถูกกระทำเสียเปรียบในกระบวนการยุติธรรมนี้ ซึ่งประเด็นดังกล่าว สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เคยวิเคราะห์เอาไว้ว่า ในกระบวนการยุติธรรมของไทย มีอยู่ 4 ขั้นตอน ที่เป็นช่องว่างส่งผลให้ผู้เสียหายเสียเปรียบ ได้แก่
- ขั้นตอนการแจ้งเหตุ: ด้วยค่านิยมชายเป็นใหญ่ และการด้อยค่าผู้หญิงผ่านเรื่องเพศ ทำให้ผู้ถูกกระทำที่เป็นผู้หญิงไม่กล้าแจ้งความ หรือถ้าแจ้งความ พนักงานในชั้นสอบสวนก็มีพนักงานผู้หญิงไม่ถึง 10% จากจำนวนพนักงานสอบสวนทั้งหมด ซึ่งในบางสถานีตำรวจก็อาจจะไม่มีพนักงานสอบสวนผู้หญิงเลย ส่งผลให้ผู้ถูกกระทำมักจะไม่กล้าเล่าเหตุการณ์ให้พนักงานสอบสวนผู้ชายฟัง
อีกทั้ง ถ้าหากแจ้งเหตุ ตำรวจก็มักจะถามหาพยานหลักฐานที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้เสียหายโดนคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศจริงถึงจะรับแจ้งความไว้ ทำให้ตำรวจไม่รับแจ้งความผู้เสียหายที่ถูกคุกคามทางเพศไม่ว่าด้วยวาจาหรือท่าทาง เช่น ถูกสะกดรอยตามหรือส่งข้อความ “เพราะยังไม่ได้มีความเสียหายที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้น และอาจมองว่าการคุกคามหรือการล่วงละเมิดที่เป็นการกอด จูบ ลูบคลำไม่ใช่เรื่องใหญ่และเป็นธรรมชาติของผู้ชายที่ต้องมีความคึกคะนองและแสดงออกทางเพศ”
- ขั้นการสอบสวนและรวบรวมหลักฐาน: เมื่อผู้เสียหายต้องกลับไปที่เกิดเหตุเพื่อแสดงให้ตำรวจดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งเป็นการซ้ำเติมบาดแผลทางจิตใจให้แก้ผู้เสียหาย
ทั้งยังมีประเด็นเรื่องความยินยอม ที่ผู้ก่อเหตุมักจะพยายามงัดหลักฐานเพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ถูกกระทำ ‘ยินยอม’ ทั้งข้อความ รูปถ่าย หรือแม้แต่การที่ผู้ถูกกระทำไม่ปฏิเสธอย่างชัดแจ้ง ต่างก็ส่งผลเสียต่อผู้ถูกกระทำในคดีคุกคามเช่นเดียวกัน
- การดำเนินคดีในศาล: หลักการพื้นฐานทางกฎหมายคือ ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลย (คนที่ถูกฟ้อง) เป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ากระทำความผิด และการพิจารณาคดีอาญาในประเทศไทยเป็นระบบ ‘การกล่าวหา’ ทำให้ผู้ถูกกระทำในคดีคุกคามต้องเป็นผู้พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า ผู้ก่อเหตุที่ถูกฟ้องกระทำความผิดจริง
รวมไปถึงในกระบวนการพิจารณาคดี ผู้ก่อเหตุก็มักจะตั้งคำถามถึงความยินยอมที่สื่อไปในทางกล่าวโทษผู้ถูกกระทำ และผู้ถูกกระทำก็ยังต้องเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา เพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ก่อเหตุ ซึ่งในบางครั้ง ก็อาจจะเป็นไปไม่ได้เลยว่าผู้ถูกกระทำจะสามารถจำรายละเอียดทุกอย่างได้ เพราะอาจถูกทำให้หมดสติ หรือหวาดกลัว
อีกทั้ง กรณีการคุกคามทางเพศที่ไม่ได้มีลักษณะเข้าข่ายความผิดถึงขั้นกระทำอนาจาร หรือการข่มขืนกระทำชำเรา ก็อาจเข้าข่ายความผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 ที่วรรคแรกเป็นเรื่องการสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น ที่มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือวรรคสอง ที่ทำความผิดตามวรรคแรกแต่กระทำในที่สาธารณะหรือต่อหน้าธารกำนัล หรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ ก็มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับเท่านั้น “ซึ่งสำหรับผู้เสียหายแล้วบทลงโทษอาจไม่คุ้มกับค่าทนาย ระยะเวลาในการดำเนินคดี และความอับอายจากการถูกตีตรา”
- ขั้นการชดเชยและช่วยเหลือผู้เสียหาย: ในทางอาญา ผู้เสียหายที่จะขอรับค่าเสียหายได้เพียงแค่ในความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 – 287 ที่เป็นการข่มขืนกระทำชำเรา หรือการกระทำอนาจารเท่านั้น
นอกจากนี้ จากภาพที่มินตันนำมาโพสต์ ยังพบว่าผู้ก่อเหตุสามารถติดตามมินตันไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งเขียนกระดาษเหน็บไว้ที่รถของมินตัน บอกว่า “คิดถึง จะไปหา” บางครั้งยังมีการตามไปที่รถ และขู่ว่าจะติด GPS เอาไว้ติดตาม ซึ่ง ผจญ คงเมือง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังเคยระบุไว้ว่า โดยสถิติจากต่างประเทศ พบว่าการติดตามและสะกดรอยบุคคล มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความผิดอย่างอื่นตามมา ในบางประเทศจึงบัญญัติกฎหมายให้การกระทำลักษณะนี้ [การติดตาม หรือ Stalking] เป็นความผิดเฉพาะที่ต้องรับโทษทางอาญา
กฎหมายของต่างประเทศที่อาจารย์ผจญอ้างอิงมา มีหลักการว่า หากบุคคลใดเฝ้าติดตามโดยไม่มีเหตุอันควรตามกฎหมาย และมีลักษณะเป็นการขู่เข็ญที่จะทำอันตรายต่อร่างกายในทันทีหรืออนาคต หรือเพื่อกักขัง หน่วงเหนี่ยว ทำให้บุคคลนั้นกลัว หรือทำให้คนนั้นเชื่อว่าสมาชิกในครอบครัวจะได้รับอันตรายต่อร่างกาย หรือมีการละเมิดทางเพศ มีโทษจำคุกถึง 5 ปีหากเป็นกรณีร้ายแรง และให้มีโทษปรับไม่เกิน 2.5 หมื่นดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นการ Stalking ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติถึงความผิดดังกล่าว ซึ่งอาจารย์ผจญ ระบุว่า ในประเทศไทยหากมีปัญหาเรื่องการ Stalking เกิดขึ้น กฎหมายจะคุ้มครองผู้เสียหายได้จะต้องปล่อยให้สถานการณ์ผ่านเลยไปจนถึงเกิดเป็นความผิดทางอาญาฐานที่กำหนดที่เป็นการเฉพาะเสียก่อน
อ้างอิงจาก