แล้วทำไมกฎหมายถึงไม่สามารถช่วยอะไรผู้ถูกกระทำในกรณีดังกล่าวเลย? จากข้อสงสัยดังกล่าวนี้ The MATTER จึงได้ชวน มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาอธิบายเพื่อหาคำตอบในประเด็นนี้
“ปัญหาหลักคือเราไม่มีความผิดฐานสตอล์กเกอร์หรือความผิดที่เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ หรือการคุกคามรูปแบต่างๆ ในประมวลกฎหมายอาญา” อ.มาตาลักษณ์กล่าว
เมื่อไม่มีกฎหมาย การที่บุคคลใดจะเข้าไปติดตาม คอยเฝ้าดู ก็จึงไม่มีความผิด ดังเช่นหลักการที่ว่า ‘ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย’ (nullum crimen nulla poena sine lege) เพราะฉะนั้น อ.มาตาลักษณ์จึงมองว่า ด่านแรกที่ทำให้ตำรวจไม่สามารถนำตัวผู้ต้องสงสัย หรือผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ ก็เป็นเพราะไม่มีตัวบทกฎหมายที่บัญญัติฐานความผิดเอาไว้
ตราบใดที่ยังไม่มีฐานความผิดที่ชัดเจน จนทำให้เห็นว่าผู้กระทำมีเจตนาทำผิดในฐานใด อ.มาตาลักษณ์ก็ระบุว่า กฎหมายก็จะไม่สามารถลงโทษคนนั้นได้ เมื่อการติดตามยังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่สามารถลงโทษบุคคลดังกล่าวได้นั่นเอง
ประเด็นนี้ อ.มาตาลักษณ์อธิบายเพิ่มเติมว่า ในเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติฐานความผิดเอาไว้ ก็ต้องกลับไปใช้กฎหมายในความผิดฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญซึ่งเป็นเพียงความผิดลหุโทษ หรือถ้าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ก็ต้องไปดูตามกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นประมาท จึงกลายเป็นว่าต้องปรับใช้กฎหมายตามเท่าที่มีอยู่เท่านั้น
“การที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติฐานความผิดตรงนี้เอาไว้ ก็ยิ่งทำให้ไม่เห็นองค์ประกอบว่าการติดตามคนอื่นแบบนี้มันเป็นความผิดอะไร เพราะกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็ยังไม่มีส่วนไหนที่จะเข้าองค์ประกอบที่การติดตามมันจะมีความผิดได้ แล้วการติดตามก็ยังไม่เห็นถึงความชัดเจนว่า จะเกิดภยันตรายกับเขาในฐานความผิดอื่นๆ ที่มีอยู่ ก็เลยตัดสินไม่ได้ว่าเขาไปละเมิดสิทธิของเราในฐานความผิดใด ก็ทำให้ลงโทษไม่ได้ ไม่สามารถที่จะดำเนินคดีกับเขาได้” อ.มาตาลักษณ์กล่าว
อ.มาตาลักษณ์ยังยกตัวอย่างให้เห็นภาพเพิ่มเติมอีกว่า ในกรณีที่ ก ฉุด ข เข้าข้างทางไปในช่วงค่ำมืดเปลี่ยวๆ ก็ไม่สามารถบอกได้ว่า ก ตั้งใจที่จะข่มขืน ข เพราะว่าการฉุดเข้าข้างทางอาจจะฉุดไปทำร้าย ฉุดไปฆ่า ฉุดไปต่อว่า หรือฉุดเพื่อช่วยเหลือให้หลบจากภยันตรายก็ได้ ซึ่งพฤติกรรมของ ก ก็ไม่ชัดเจนพอที่จะเห็นได้ว่าเขามีแนวโน้มจะกระทำสิ่งใดหรือถ้าหากจะเป็นความผิดพื้นฐาน ก็เป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพเท่านั้น
“เมื่อเราไม่สามารถที่จะตัดสินได้ว่าการกระทำนั้นเป็นผลร้ายในลักษณะแบบไหน เราก็ต้องใช้หลักที่ต้องดูให้ปราศจากข้อสงสัย หรือใช้หลักความใกล้ชิดต่อผล [พยายาม] เพื่อให้เห็นว่าบุคคลดังกล่าวต้องการกระทำสิ่งใดที่อาจเป็นการละเมิดต่อสิทธิของผู้อื่นหรือไม่” อ.มาตาลักษณ์ระบุ
ถ้าอย่างนั้นแล้วกฎหมายจะช่วยคุ้มครองผู้ถูกกระทำอย่างไรบ้าง? ประเด็นนี้ อ.มาตาลักษณ์ระบุว่า ผู้ถูกกระทำก็อาจจะไปแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันเอาไว้เป็นหลักฐานว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เช่น ก เฝ้าติดตาม ข อยู่ ข ก็อาจไปแจ้งความไว้ก่อนว่าเขาถูก ก ติดตาม หากวันหนึ่งเกิดเหตุอะไรขึ้น แล้วยังไม่ทราบผู้กระทำความผิด เจ้าหน้าที่ก็อาจสามารถสันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่า ก อาจจะอยู่ในขอบเขตที่ต้องสงสัย
“ก็ทำได้แค่นี้…แต่จะถามว่าจะไปทำอะไรเขาได้ไหม ในระหว่างที่ยังไม่เกิดเหตุ? เราก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ การลงบันทึกประจำวันก็เป็นวิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นที่ทำในเชิงปฏิบัติ เพราะฉะนั้นทางออกที่ดีที่สุดก็คือต้องมีกฎหมายบัญญัติในเรื่องนี้ให้ชัดเจน” อ.มาตาลักษณ์ย้ำ
อ.มาตาลักษณ์ยังระบุอีกว่า ถ้ายังไม่มีการบัญญัติความผิดฐานสตอล์กเกอร์ เจ้าหน้าที่ก็ไม่อาจไปคุ้มครองผู้ที่ถูกคุกคามได้ เว้นแต่เรื่องราวนั้นจะกลายเป็นคดีความ [มีความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติ] ซึ่งผู้เสียหายจะอยู่ในฐานะพยานปากเอก ก็อาจสามารถได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองพยานได้ในบางกรณี
นั่นจึงเป็นที่มาที่ทำให้ อ.มาตาลักษณ์มองว่า ‘ต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด’ เพราะประเด็นในเรื่องสตอล์กเกอร์ หรือการถูกติดตามนี้ไม่ใช่เรื่องการไม่มีคนไปคุ้มครองผู้ถูกกระทำ แต่เป็นเรื่องที่ผู้ถูกกระทำไม่ได้สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตั้งแต่แรก เพราะพฤติกรรมการสตอล์กเกอร์ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด
“อาจารย์ก็พูดมาตลอดว่าควรจะมี [กฎหมายสตอล์กเกอร์] ได้ตั้งนานแล้ว เพราะการถูกสตอล์กเกอร์ สตอล์กกิ้ง ติดตามไปในทุกพื้นที่ มันไม่ได้ทำให้เรารู้สึก secure (ปลอดภัย) แม้มันจะยังไม่เกิดผลอะไร แต่มันก็ทำให้เรารู้สึกหวาดระแวง ใช้ชีวิตอย่างไม่ปกติสุขเหมือนกัน มันก็ควรได้รับการดูแลในระดับหนึ่ง แต่เมื่อมันไม่มีกฎหมายอะไรเลย มันก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าสิ่งที่เขาทำยังไม่เป็นฐานความผิดใดๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน” อ.มาตาลักษณ์กล่าวทิ้งท้าย
อ้างอิงจาก