นับเป็นเรื่องน่าจับตามองไม่น้อย เมื่อสภาเกาหลีใต้ผ่านร่างกฎหมายสตอล์กเกอร์ฉบับใหม่เมื่อวานนี้ (21 มิถุนายน) โดยระบุว่า ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในความผิดดังกล่าว ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายก่อนที่จะถูกดำเนินคดี
ขอเล่าก่อนว่าที่ผ่านมา เกาหลีใต้ก็มีกฎหมายเกี่ยวกับการสตอล์กเกอร์-การล่วงละเมิด (harassment) อยู่แล้ว แต่ก็พบว่ากฎหมายที่บังคับใช้ก่อนหน้านี้ มีบทลงโทษที่เบาเกินไป ขนาดที่ผู้ก่อเหตุกล่าวว่าทำผิดก็แค่โดนปรับนิดหน่อย (98,000 วอน หรือประมาณ 2,600 บาท) เท่านั้น
ประกอบกับจำนวนผู้กระทำความผิดข้อหาสตอล์กเกอร์หรือการสะกดรอยตามก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทางรัฐบาลจึงเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไขอัตราโทษ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมของเกาหลีใต้ก็ประกาศบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่เมื่อเดือนตุลาคม 2021 เปลี่ยนเป็น ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30 ล้านวอน (ประมาณ 8.1 แสนบาท) และถ้าพกวัตถุอันตรายก็ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50 ล้านวอน (ประมาณ 1.3 ล้านบาท) และห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหายหรือที่อยู่อาศัยของพวกเขาในระยะ 100 เมตร
แม้จะปรับอัตราโทษเพิ่มขึ้นแล้ว แต่อาชญากรรมรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการสะกดรอยตามยังคงปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สาธารณชนก็ต้องการให้มีกฎหมายที่เข้มงวดขึ้น
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญก็เตือนว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับกรณีดังกล่าว คือเรื่องความปลอดภัยของผู้ถูกกระทำที่มักจะถูกผู้ร่างกฎหมายมองข้ามไป เพราะก็เคยเกิดกรณี ‘ฆาตกรรมที่สถานีรถไฟชินดัง’ เมื่อจอนจูฮวาน ชายวัย 31 ปี สังหารอดีตเพื่อนร่วมงานหญิงที่ห้องน้ำสถานีรถไฟใต้ดิน หลังจากที่สะกดรอยตามเธอไปเป็นเวลา 3 ปี และผู้เสียหายก็ฟ้องจอนจูฮวานไปแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่มีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้เสียหาย จนสุดท้ายเธอก็ถูกฆ่าเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2022
เหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับสตอล์กเกอร์ และได้มีการเสนอร่างกฎหมายแก้ไขฉบับใหม่ซึ่งผ่านมติของสภาเป็นที่เรียบร้อยในเมื่อวานนี้
ส่วนในร่างกฎหมายเกี่ยวกับสตอล์กเกอร์-การล่วงละเมิดฉบับใหม่นี้ มีการระบุว่าเจ้าหน้าที่สามารถลงโทษผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด โดยไม่ต้องได้รับคำยินยอมจากผู้เสียหายได้เลย เนื่องจากผู้ที่กระทำความผิดมักจะข่มขู่ผู้เสียหายให้พวกเขาบรรลุข้อตกลงนอกห้องพิจารณาคดีเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตัดสินโทษ
อีกทั้ง ในสถานการณ์ที่รุนแรง ผู้ที่สะกดรอยตามก็อาจจะกระทำการที่รุนแรงกับผู้เสียหาย เช่นกรณีฆาตกรรมที่สถานีรถไฟชินดัง
รวมไปถึง ก็ยังเคยเกิดกรณีที่สตอล์กเกอร์ทำร้ายและฆ่าคนในครอบครัวของผู้เสียหายอีกเช่นกัน
ทำให้ นอกจากจะต้องแก้ไขบทบัญญัติในส่วนของผู้เสียหายต้องยินยอมให้ดำเนินคดีแล้ว ก็ยังจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการการป้องกันอื่นๆ อย่างการอนุมัติการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับการติดตามผู้กระทำความผิด เมื่อมีคำสั่งห้ามผู้กระทำผิดเข้าใกล้ผู้เสียหาย โดยคำสั่งดังกล่าวจะมีระยะเวลาบังคับใช้นาน 9 เดือน (ปัจจุบันสั่งห้ามเข้าใกล้ได้นานสูงสุด 6 เดือน) ซึ่งกฎหมายส่วนนี้จะมีผลบังคับใช้ 3 เดือน หลังจากประกาศ
นอกจากนี้ ตำรวจจะไม่เพียงแต่ปกป้องตัวผู้เสียหายเท่านั้น เพราะยังกำหนดขอบเขตการฟ้องกันให้รวมไปถึงสมาชิกในครอบครัวด้วย
การแก้ไขดังกล่าวยังขยายคำจำกัดความของการสะกดรอยตามและการล่วงละเมิด โดยให้หมายความรวมไปถึงผู้กระทำความผิดฐานล่วงละเมิดทางออนไลน์ที่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับความยินยอม ด้วยเจตนาที่ต้องการข่มขู่พวกเขาให้ถูกลงโทษอีกเช่นกัน
อ้างอิงจาก