หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับ Yves Rocher แบรนด์ด้านความงามจากฝรั่งเศสในฐานะแบรนด์ที่เน้นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและยืนหยัดมายาวนานกว่า 64 ปี
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมาเรามีโอกาสได้ไปร่วมงานแถลงข่าวโครงการ ‘Act Beautiful to Make a Sustainable Difference’ โดย Yves Rocher x LG and Friends เราเลยอยากหยิบยก 4 แนวคิดด้านความยั่งยืนที่น่าสนใจจาก Yves Rocher มาเล่าสู่กันฟังในบทความนี้
- ร่วมมือกับชุมชนเพื่อดูแลพื้นที่เพาะปลูก
กระบวนการผลิตของ Yves Rocher เริ่มต้นจากสวนพฤกษศาสตร์ในหมู่บ้านลา กาซิลลี (La Gacilly) แคว้นบริตตานี ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งตอนนี้เป็นทั้งพื้นที่เพาะปลูกและหมุดหมายของนักท่องเที่ยวที่อยากไปเยี่ยมชมความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณนานาชนิด เพราะ Yves Rocher ร่วมกับเกษตรกรท้องถิ่นวางแผนการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ พยายามดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งสภาพดิน น้ำ อากาศ สัตว์ และความเป็นอยู่ของคนในชุมชน เพราะเมื่อแหล่งเพาะปลูกนั้นดีต่อโลกและผู้คนในชุมชนแล้ว แบรนด์เองก็จะสามารถสร้างผลผลิตได้ในระยะยาวด้วยเช่นกัน โดย Yves Rocher เป็นแบรนด์แรกที่ได้รับการรับรองจาก UEBT (Union for Ethical BioTrade) องค์กรที่ส่งเสริมการการจัดหาวัตถุดิบที่คงความหลากหลายทางชีวภาพและมีจริยธรรม นอกจากนี้ แบรนด์ยังมีเป้าหมายการดำเนินธุรกิจให้ได้รับการรับรองจาก B Corp Certification อีกด้วย โดย B Corp Certification จะคอยวัดผลว่าธุรกิจนั้นส่งผลต่อพนักงาน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และลูกค้าอย่างไรบ้าง
- ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด
วิธีคิดที่น่าสนใจอีกอย่างคือการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ใช้ทรัพยากรน้อยลง หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อยๆ อย่าง ‘Solid Shampoo Bar’ แชมพูแบบก้อนที่ลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตและลดการผลิตขวดพลาสติก โดย 60% ของบรรจุภัณฑ์แชมพูแบบก้อนนี้เป็นกระดาษรีไซเคิลที่สามารถย่อยสลายได้ 100% ส่วนอีกตัวอย่างคือ ผลิตภัณฑ์อาบน้ำสูตรเข้มข้นเพื่อให้สามารถใช้ได้นานๆ แม้จะอยู่ในขวดเล็กๆ ก็ตาม ซึ่งวิธีนี้ช่วยลดขนาดของบรรจุภัณฑ์และลดการใช้น้ำระหว่างกระบวนการผลิต
- Collective Action กับ CSR ที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้
นอกจากตัวผลิตภัณฑ์แล้ว ยังมีกิจกรรม CSR ที่จับมือกับ LG and Friends โซเชียลคอมมูนิตี้ของลูกกอล์ฟ—คณาธิป สุนทรรักษ์ ที่มีผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคน เพื่อทำกิจกรรมที่สร้างทั้งความตระหนักรู้และการส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อม โดยโครงการนี้มี 3 พันธมิตร 3 กิจกรรม ได้แก่
- Little Big Green – กิจกรรมที่ชวนผู้คนมาแชร์เรื่องราวบนโลกโซเชียลเกี่ยวกับของที่ ‘ใช้คุ้มที่สุด’ พร้อมแฮชแท็ก #คุ้มยัง เพื่อสนับสนุนให้ผู้คนใช้สิ่งของอย่างคุ้มค่า ไม่ให้กลายเป็นขยะเร็วจนเกินไปโดยกิจกรรมนี้จะเน้นหนักในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2566
- Chula Zero Waste – โครงการตู้กดน้ำประสิทธิภาพดี มีจอแสดงผลคุณภาพของน้ำ โดยให้บริการใน 7 โรงอาหารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจะเริ่มต้นในเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งกิจกรรมนี้มาจาก insight ที่หลายคนไม่อยากพกกระบอกน้ำส่วนตัวเพราะไม่รู้จะกดน้ำจากไหนและไม่มั่นใจในคุณภาพของตู้กดน้ำฟรี ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการใช้ขวดพลาสติกครั้งเดียวจากตู้กดน้ำเย็นได้ถึง 360,000 ครั้งในระยะเวลา 1 ปี
- ECOLIFE – กิจกรรมใน ECOLIFE application ที่ Yves Rocher จะเป็น Official Drop Point สำหรับบรรจุภัณฑ์จากสกินแคร์และแฮร์แคร์ทุกยี่ห้อ โดยมีเป้าในการรวบรวม ขวด 80,000 ขวดตลอดจนสิ้นปี 2566 โดยคนที่ร่วมกิจกรรมจะได้รับ ECO Point เพื่อนำมาแลกรับส่วนลดที่ร้าน Yves Rocher ได้ ซึ่งกิจกรรมนี้จะรายงานผลจำนวนขวดและปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดไปแบบเรียลไทม์ ผ่านเว็บไซต์ www.ecolifeapp.com
- ปรับตัวเทรนด์ผู้บริโภคและกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ Yves Rocher ต้องขยับขยายเรื่องความยั่งยืนนั้น เป็นเพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีข้อมูลว่า 86% ของผู้บริโภคยุคนี้มีความคาดหวังให้แบรนด์ต่างๆ ช่วยให้พวกเขาได้ทำอะไรบางอย่างเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง รวมทั้งกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น ของประเทศทางฝั่งยุโรป เช่น ฝรั่งเศสที่มีกฎหมาย AGEC ที่กำหนดว่าต้องไม่ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในปีพ.ศ.2583 หรือ ห้ามทิ้งพลาสติกลงในถังขยะอีกต่อไป และกฎหมายด้าน Climate and Resilience Act ที่กำหนดให้แบรนด์ต้องเปิดเผยคะแนนด้านสิ่งแวดล้อม