‘ปลูกป่า เก็บขยะ บริจาคสิ่งของ’ เหล่านี้คงเป็นภาพจำของหลายคนเมื่อพูดถึงกิจกรรม CSR แต่เคยสงสัยกันไหมว่าจริงๆ แล้ว CSR คืออะไร และทำไมต้องมีกิจกรรมเหล่านี้ด้วยนะ?
CSR ย่อมาจาก Corporate social responsibility แม้หลายกิจกรรมที่เราคุ้นเคยจะชวนให้เราจดจำว่าเป็นการช่วยเหลือสังคม แต่ถ้าดูจากคำว่า ‘responsibility’ ก็คงบอกในตัวเองแล้วว่าเป็น ‘ความรับผิดชอบ’ ของบริษัทต่อสังคมเสียมากกว่า เพราะแต่ละธุรกิจต่างส่งผลกระทบทางใดทางหนึ่งต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ตั้งแต่ผู้ถือหุ้น พนักงานบริษัท ลูกค้า คู่ค้า ชุมชน ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมและผู้คนบนโลก
อย่างการสร้างโรงงานที่ปล่อยของเสีย ส่งผลต่อความเสี่ยงด้านสุขภาพทั้งพนักงานและคนในชุมชนใกล้เคียง อุตสาหกรรมยาที่อาจพบปัญหาเกี่ยวกับการเสพติดและผลข้างเคียงอื่นๆ การสร้างห้างสรรพสินค้าที่ทำให้ร้านรวงเล็กๆ ในชุมชนรอบข้างรายได้ลดลง
CSR จึงเป็นเหมือนเครื่องมือที่มาช่วยสร้างสมดุลให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือชดเชยสิ่งที่เราหยิบยืมไปจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงของพนักงาน สุขภาพของลูกค้า คุณภาพชีวิตของคนในชุมชน อากาศบริสุทธิ์บนโลก
เมื่อ CSR ไม่ได้เป็นเพียงทางเลือก
คำว่า CSR เริ่มปรากฏอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ.1953 ซึ่งระบุในงานเขียน Social Responsibilities of the Businessman โดย โฮเวิร์ด โบเวน (Howard Bowen) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่ง CSR
แม้แนวคิดนี้จะมีมาอย่างยาวนาน แต่การความสำคัญกับ CSR ได้ค่อยๆ เติบโตขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงปัญหาต่างๆ มากขึ้น อย่างการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำ การใช้แรงงานที่ไม่เป็นธรรม ความไม่เท่าเทียมทางเพศ ซึ่งความตระหนักรู้ดังกล่าวช่วยสร้างแรงกระเพื่อมให้บริษัทต่างๆ หันมาสนใจเรื่อง CSR เช่นเดียวกัน
โดยข้อมูลจากสถาบัน Governance Accountability Institute (G&A) ประกาศว่า ปี ค.ศ.2019 บริษัทขนาดใหญ่ในดัชนี S&P 500 กว่า 90% ได้เผยแพร่รายงาน CSR ซึ่งต่างกันลิบลับกับปี ค.ศ.2011 ที่มีเพียง 20% เท่านั้น ทั้งยังมีผลการศึกษาที่พบว่า บริษัทที่มีโครงการ CSR ที่ดีและมีประสิทธิภาพจะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงาน สร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า และด้านอื่นๆ ที่ช่วยสร้างผลกำไรให้กับบริษัท
CSR ยุคใหม่ที่ควรไปไกลกว่าการปลูกป่า?
อย่างที่เล่าไปว่าภาพจำเดิมของเรา คือการปลูกป่า เก็บขยะ บริจาคสิ่งของ หรือภาพอื่นๆ ที่บางครั้งก็อาจจะสอดคล้องกับพันธกิจหรือโครงสร้างขององค์กร แต่บางทีก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกันสักเท่าไร ส่วนในแง่สิ่งแวดล้อมเราอาจจะพบบริษัทฟอกเขียว (Greenwashing) หรือบริษัทที่บอกว่ารักษ์โลกแต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง
ซึ่งก่อนหน้านี้กิจกรรม CSR อาจไม่ได้ถูกจับตามองมากนัก เพราะปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างเข้มข้นอย่างในปัจจุบัน ทั้งยังไม่ได้มีโซเชียลมีเดียให้เข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายดาย แต่แน่นอนว่าเทรนด์ในโลกยุคใหม่ได้มีแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเรื่องความยั่งยืนและความโปร่งใสของกิจกรรม CSR
อย่างสถิติในเว็บไซต์ Harvard Business School Online ที่พบว่า นักลงทุน 73 % กล่าวว่า ความพยายามของบริษัทที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมและสังคมดีขึ้นมีส่วนในการตัดสินใจลงทุนของพวกเขา และหากมองแยกตามช่วงวัยจะพบว่า นักลงทุนรุ่นมิลเลนเนียลกว่า 41% พยายามทำความเข้าใจแนวทาง CSR ของบริษัท เทียบกับ Gen X ที่มีเพียง 27% และกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่มีเพียง 16%
ส่วนมุมมองของลูกค้าก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะ 70% ของผู้บริโภคมีแรงจูงใจที่จะซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทที่มุ่งมั่นที่จะทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น และผู้บริโภค 25 % พร้อมจะแบนอย่างจริงจัง หากพบว่าบริษัทหลอกลวงผู้บริโภค
นอกจากภาพลักษณ์ภายนอกแล้ว การสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กรก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะหากเป็นกิจกรรมที่เกิดจากการบังคับให้พนักงานเข้าร่วม โดยไม่รู้จุดมุ่งหมาย ไม่สอดคล้องกับหัวใจหลักขององค์กร ผลลัพธ์ที่ออกมาอาจมีเพียงภาพถ่ายยิ้มแห้งๆ ของพนักงานที่ฝืนใจมาในวันหยุด กับป้ายขนาดใหญ่ที่บ่งบอกเป็นนัยว่า “ฉันทำ CSR แล้วนะ” แต่กิจกรรมเหล่านี้กลับเกิดขึ้นและหายไปอย่างเงียบเชียบ
จะได้เห็นว่าเทรนด์ของกิจกรรม CSR ยุคใหม่ในภาพรวมเน้นหนักไปที่ความยั่งยืน (sustainability) เป็นหลัก นั่นคือกิจกรรมที่สามารถแก้ไขปัญหาหรือเกิดผลลัพธ์ที่ดีได้ในระยะยาว มากกว่าการแก้ปัญหาหนึ่ง แล้วสร้างปัญหาใหม่ หรือกิจกรรมที่สร้างภาพลักษณ์อย่างฉาบฉวย ไม่ได้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัทและไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบในเกิดขึ้นในวงกว้าง
ตัวอย่างหนึ่งของ CSR ที่น่าสนใจคงจะเป็นบริษัทของเล่นชื่อดังอย่าง ‘LEGO’ โดยในปี ค.ศ.2018 LEGO เริ่มทำวัสดุจากไบโอโพลีเอทิลีน (bio-PE) ซึ่งได้มาจากอ้อยของบราซิล โดยร่วมมือกับองค์กร WWF เพื่อขอคำแนะนำและเพื่อให้มั่นใจได้ว่าอ้อยที่ได้มาจะไม่กระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งการเปลี่ยนมาใช้วัสดุนี้เป็นเพราะ LEGO ต้องการให้ของเล่นทนทาน อยู่ได้นานๆ และปลอดภัยสำหรับเด็ก
นอกจากนี้ยังมีโครงการต่างๆ ที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างการพัฒนาเลโก้จากพลาสติกรีไซเคิล การพยายามหาวิธีงดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งให้ได้ภายในปี ค.ศ.2025 การจัดหาพลังงานหมุนเวียน และโครงการ LEGO Replay แพลตฟอร์มสำหรับส่งต่อตัวต่อ LEGO ให้กับเด็กๆ ที่ต้องการของเล่นเหล่านี้ เพื่อยืดอายุการใช้งานของเลโก้และลดการทิ้งขยะพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม
หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือบริษัทไอศกรีมอย่าง Ben & Jerry’s ที่มีทั้งโครงการด้านสิ่งแวดล้อม อย่างการตั้งเป้าว่าจะใช้พลังงานสะอาด 100% ให้ได้ภายในปี ค.ศ.2025 โดยใช้แผงโซลาร์เซลล์ สารย่อยสลายทางชีวภาพที่เปลี่ยนการปล่อยมลพิษเป็นพลังงานสะอาดเพื่อผลิตไอศกรีม และเทคโนโลยีตู้แช่แข็งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการเคลื่อนไหวในประเด็นสังคม อย่างปี ค.ศ.2011 บริษัทมีบริการไอศกรีมฟรีสำหรับผู้ที่ออกมาประท้วงประเด็นความไม่เท่าเทียมของรายได้ที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา และปี ค.ศ.2016 Ben & Jerry’s ได้ออกมาเชิญชวนให้ผู้บริโภคร่วมการเคลื่อนไหว Black Lives Matter พร้อมกับตรวจสอบเรื่องการเหยียดสีผิวและเหยียดเชื้อชาติภายในบริษัทอย่างจริงจังอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างนี้อาจไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีที่สุด แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เรายกมาให้เห็นภาพมากขึ้นว่า กิจกรรมที่รับผิดชอบต่อสังคมสามารถทำได้หลากหลายมิติ มากกว่าภาพจำที่เราคุ้นชินกันมาก่อนหน้านี้ ซึ่งแต่ละองค์กรอาจมีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป แต่หัวใจสำคัญมีร่วมกันคงจะเป็นการมองเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจของตนเอง และมองเห็นวิธีการปิดช่องว่างเหล่านั้นได้อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
อ้างอิงข้อมูลจาก