รักหนังสือ แต่ราคาเกินเอื้อมขึ้นทุกวัน
รักทะเล แต่หดหู่ทุกครั้งที่เห็นขยะลอยเกลื่อน
รักตัวเอง ดูแลร่างกายอย่างดี แต่เสี่ยงเป็นมะเร็งปอดจากมลภาวะในแต่ละวัน
‘ความยั่งยืน’ คำที่ฟังเผินๆ ดูเหมือนจะไกลตัว แต่กลายเป็นเรื่องที่ข้องเกี่ยวทุกสิ่งที่คุณชอบ ชีวิตที่คุณรัก เพราะการกระทำเล็กๆ ไม่ว่าจะจากมนุษย์คนหนึ่งจนถึงธุรกิจใหญ่ๆ หรือโลกทั้งใบ ต่างเกี่ยวโยงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แม้จะฟังดูเหมือนเชื่อมโยงกันไปไกล แต่หากได้ลองอ่านเรื่องราวของบริษัท Goodwill Compounding เราอาจเข้าใจมากขึ้นว่า ‘ความยั่งยืน’ ไม่ใช่เรื่องโลกสวย หรือถ้อยคำที่ผูกติดกับสีเขียวรักษ์โลก ตรงกันข้ามความยั่งยืนกลับเป็นการ ‘มองโลกในแง่จริง’ และ ‘มองอย่างไม่ประมาท’ ด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะทำธุรกิจหรือใช้ชีวิตในแต่ละวัน
Goodwill Compounding คือบริษัทที่ให้คำปรึกษาด้านความยั่งยืนกับวิสาหกิจชุมชนไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกทั้ง 6 คน ได้แก่ ผู้ร่วมก่อตั้งคือ ยอด—บุญชัย สุขสุริยะโยธิน, เบนซ์—สายธาร ชัยพรแก้ว, ปาล์ม—ปริณดา กมลนิธิ Strategic Sustainability Consultant (ที่ปรึกษาด้านกลยุทย์ความยั่งยืน) คือ เฌอ—พิรญาณ์ พงษ์พานิช และสมาชิกทีมอีก 2 คน ปุณ—ปุณยวีร์ เบญจลักษณกุล และคิม—จิรัฏฐ์ ปฐวีนิภานันท์
พวกเขาคืออดีตทีมครีเอทีฟเอเจนซี่บริษัท ‘ชูใจ’ ที่สร้างสรรค์โฆษณาเพื่อสังคมมากว่า 12 ปี แต่แล้วก็ตัดสินใจลาออกมาร่วมกันเปิดบริษัทนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2023 พร้อมจุดยืนชัดเจนว่า ‘ยอมปิดบริษัทดีกว่ารับงานที่ทำเรื่องความยั่งยืนอย่างผิวเผิน’ เพราะพวกเขาอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง ด้วยความเชื่อว่า ธุรกิจที่ดีจะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้
ในฐานะผู้ฟัง เรายังรู้สึกมีพลังจากบทสนทนาวันนั้น ซึ่งเราหวังว่าในมุมคนอ่าน คุณจะได้รับพลังนั้นกลับไปเช่นเดียวกัน หรืออย่างน้อยก็เป็นความหวังเล็กๆ ว่าโลกใบนี้ยังมีกลุ่มคนที่เชื่อว่าวันพรุ่งนี้จะดีขึ้นได้ แล้วลงมือทำอย่างไม่ลดละเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม
Transform brands. Transform the world.
อะไรทำให้ทีมลาออกจากบริษัทเอเจนซี่ มาก่อตั้ง Goodwill Compounding
ยอด: ผมเป็นผู้ร่วมก่อตั้งชูใจ ส่วนน้องๆ ในทีมก็ตามมาจากชูใจเหมือนกัน ที่เปลี่ยนจากชูใจมาที่นี่ หลักๆ เพราะเราได้ทำโปรเจกต์เกี่ยวกับความยั่งยืนกับศุภาลัย แล้วก็ ttb พอมีโอกาสได้พูดคุยกับทั้ง 2 บริษัท เราได้เห็นแพสชั่นออกมาจากแววตาเขาเลย แล้วเขาก็ทำจริง อย่างคุณปิติ ตัณฑเกษมก็ช่วยเรื่องของหนี้พนักงาน ชนชั้นกลาง อยากจะช่วยปลดหนี้ หรือว่าคุณกิตติพงษ์ ศิริลักษณ์ตระกูล จากศุภาลัยก็อยากจัดการเรื่องขยะเวลาก่อสร้างคอนโด เพื่อไม่ให้เป็นภาระทางราชการบ้าง NGO บ้าง ประชาชนบ้าง แต่เขาจัดการตัวเขาเองเรียบร้อย เลยทำให้เราอยากทำเรื่องนี้เรื่องเดียว ไม่อยากทำโฆษณาแล้ว
สำหรับคนที่ยังไม่รู้จัก Goodwill Compounding อยากให้คุณเล่าให้ฟังว่าบริษัททำอะไรบ้าง
เบนซ์: เราเป็นที่ปรึกษาด้านแบรนด์ค่ะ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษคือ sustainability branding consultant เราช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สร้างแบรนด์ให้ยั่งยืนได้จริงๆ คำว่ายั่งยืนของเราคือ
- เราสร้างแบรนด์ที่มาจากตัวตนของเจ้าของจริงๆ บางคนอาจจะมองว่าการสร้างแบรนด์คือโลโก้ สีไหน CI เป็นยังไง แต่สำหรับ Goodwill Compounding การสร้างแบรนด์มันคือการตั้งคำถามว่า แบรนด์คุณเกิดมาทำไม วิสัยทัศน์เป็นแบบไหน ให้คุณค่ากับอะไร เราจะพยายามถอดตัวตนของเขาออกมาเพื่อสร้างแบรนด์จากตัวเขาจริงๆ
- ถ้าแบรนด์เขาอยากจะทำเรื่องความยั่งยืน เราจะเอาเรื่องความยั่งยืนแทรกเข้าไปในธุรกิจของเขา แล้วดูว่ามีจุดไหนที่เราสามารถเปลี่ยนให้ยั่งยืนได้มากขึ้นบ้าง เราก็ช่วยแนะนำตรงนั้นได้
ก็คือเริ่มตั้งแต่ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ไม่หลุดจากตัวตนเขา แล้วก็กระบวนการข้างในว่าทำอะไรได้อีกบ้าง
เบนซ์: ใช่ค่ะ จริงๆ เป้าหมายของเรา จะมีประโยคหนึ่งที่บอกว่า Transform brands. Transform the world. เราเชื่อว่าถ้าเราเปลี่ยนแปลงธุรกิจ เปลี่ยนแปลงแบรนด์ได้ เราจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เราทำก็จะกลับไปที่คำนี้ เปลี่ยนธุรกิจลูกค้ายังไงให้มันยั่งยืนมากขึ้น ทำแบรนด์ยังไงให้เป็นตัวตนของเขา แล้วอยู่ได้ไปยาวๆ แล้วก็ยั่งยืนด้วย
เฌอ: จริงๆ แบรนด์อะไรก็ยั่งยืนได้ค่ะ ขอแค่เขามีใจอยากจะทำเรื่องนี้ บางทีเขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเขายั่งยืน หรือเข้ามาคุยแล้ว โห ไม่รู้จะเป็นลูกค้าเราได้ไหม เพราะเขาไม่ได้ทำเรื่องความยั่งยืนเลยนะ แต่พอมานั่งคุยกัน สิ่งที่เขาทำอยู่นั่นแหละ คือความยั่งยืน แต่เขาไม่รู้ตัว แล้วเราจะทำยังไงให้สามารถไฮไลต์จุดนั้นออกมา
ยอด: แม้แต่ร้านขายก๋วยเตี๋ยวข้างทางก็ทำเรื่องความยั่งยืนได้ แยกขยะแห้ง ขยะเปียก คุณทำได้แล้ว จ้างแรงงานพม่า แต่ให้ค่าจ้างที่แฟร์ เราสามารถทำได้ทุกคน ทุกธุรกิจ
เฌอ: เราคิดว่าเมืองไทย ถ้าพูดง่ายๆ คือยังไม่มีเซฟโซนของบริษัทที่อยากยั่งยืน แต่เมืองนอกมีการเคลื่อนไหวเยอะมาก บริษัทหรือทุกคนเริ่มรู้แล้วว่า ความยั่งยืนคือส่วนหนึ่งของธุรกิจ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำ แต่เป็นมันเป็นส่วนหนึ่งไปแล้ว ส่วนในเมืองไทยอาจจะยังไม่ค่อยมีใครมองเห็น คนจะคิดว่าความยั่งยืนเหรอ นึกถึง ESG ตลาดหลักทรัพย์ นึกถึงความเขียวๆ แต่จุดที่พี่ๆ ในทีมเริ่มคิดว่าเมืองไทยต้องมีบริษัทที่มาดูเรื่องความยั่งยืนจริงๆ ได้แล้วนะ เรารู้สึกว่ามันเป็นมูฟเมนต์ใหม่ในเมืองไทยมากๆ ที่มีบริษัท Goodwill Compounding ขึ้นมา
จุดมุ่งหมายของ Goodwill Compounding คืออะไร
เบนซ์: อย่างที่บอกว่า Transform brands. Transform the world. เราอยากจะเปลี่ยนธุรกิจให้มันยั่งยืนมากขึ้น ในใจเราอยากจะทำให้ได้เยอะที่สุด ไม่ว่าในประเทศไทยจะมีกี่แบรนด์ เราก็อยากทำต่อไป เราคิดว่ามันจะค่อยๆ ผสมกันไปเรื่อยๆ นับหนึ่ง นับสอง นับสาม สุดท้ายอิมแพ็กที่ออกมาก็จะขยายผลไปเรื่อยๆ
ยอด เราตั้งใจจะเปลี่ยนทุกแบรนด์จริงๆ ไม่ว่าจะมีเงินหรือไม่มีเงิน แม้แต่ไม่มีเงิน ตอนนี้เราก็มีบริการให้คำปรึกษา 0 บาท สำหรับวิสาหกิจชุมชน ธุรกิจที่อยากจะทำเรื่องความยั่งยืนแต่ไม่มีงบ
หมายถึงใครก็ได้ที่ทำธุรกิจเลยหรือเปล่า
ยอด: และสนใจเรื่องความยั่งยืนด้วย จะมีเงินก็ได้นะ เราก็ยินดีช่วย แต่ถ้ามีธุรกิจที่กำลังน้อยเราก็พอช่วยคุณได้เหมือนกัน
ส่วนใหญ่แบรนด์ที่เข้ามา pain point จะเป็นแบบไหน
เบนซ์: หลากหลายเลยมากเลย บางแบรนด์เข้าใจเรื่องความยั่งยืนเยอะมากนะ แต่เขาอาจจะ เอ๊ะ แล้วจะทำธุรกิจยังไงดี ทำ branding ยังไงดี หรือบางแบรนด์ธุรกิจแข็งแรงมาก แต่ไม่มีความรู้เรื่องความยั่งยืนเลย เราจะทำยังไงให้สามารถเปลี่ยนจากธุรกิจปกติเป็นธุรกิจยั่งยืนได้ เราเป็นเหมือนนักสูบความรู้ เราเป็น machine learning หาความรู้ทุกอย่าง แบรนด์จะติดปัญหาตรงไหน ไม่เข้าใจเรื่องอะไร เราก็จะเอาความรู้ที่เรามีทั้งหมดไปช่วยแก้ปัญหาให้แบรนด์
ยอด: จริงๆ จุดหนึ่งที่เรารู้สึกว่าการจะมาอยู่ตรงนี้แล้วทำได้ดี คือต้องมีความรู้ที่หลากหลายสาย เพราะถ้าเรารู้เรื่องความยั่งยืนอย่างเดียว แต่เราไม่รู้เรื่องธุรกิจ เราช่วยเขาเรื่องธุรกิจไม่ได้ หรือถ้าเราเข้าใจ 2 เรื่องนี้ แต่ไม่รู้เรื่องแบรนด์ เขาก็ไม่สามารถสร้างแบรนด์ได้ หรือถ้าเราเข้าใจ 3 เรื่องนี้ แต่ไม่เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค ลูกค้าก็ไม่ซื้อของๆ เขา เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้หลากหลายสาย ก็จะยิ่งเสนอทางออกที่ตอบโจทย์ธุรกิจเขาได้
แสดงว่าสิ่งสำคัญของการที่เราเป็นที่ปรึกษาคือการอยากจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา
ยอด : ใช่ครับ เพราะ ที่ปรึกษาหน้าที่หลักๆ คือการเรียนรู้ ไม่ใช่การคิด การคิดคือ output การเรียนรู้คือ input การจะคิดกลยุทธ์หรือให้คำปรึกษาได้ เพราะเรามี input ที่ดี เราจะมี คติของเราอันหนึ่งว่า วันนี้ก่อนเราเข้านอน เราจะฉลาดกว่าตอนที่เราตื่นเมื่อเช้า เพราะเราต้องเรียนรู้อะไรบางอย่างที่ทำให้เราฉลาดขึ้น
พอทำเรื่องความยั่งยืน ทำไมภาคธุรกิจถึงสำคัญ
ยอด: จริงๆ ภาคธุรกิจมีพลังมากที่สุดแล้ว มีทั้งพลังทำลายล้างและพลังสร้างสรรค์ พลังทำลายล้างของภาคธุรกิจนี่แหละ สร้างผลกระทบมหาศาล ทั้งขยะ น้ำ ความเหลื่อมล้ำ ความเท่าเทียม ส่วนด้านบวกภาคเศรษฐกิจคือภาคที่มีเงินเยอะสุด เขาสามารถสร้างให้มันอยู่ได้ สร้างให้มันดีขึ้นได้
เราจะเห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่แก้ปัญหาให้กับโลกว่ามาจากภาคธุรกิจ เพราะเป็นภาคที่มีพลังที่สุด แต่คุณจะใช้พลังเพื่อทำลายล้าง หรือพลังที่จะสร้างให้มันดีขึ้น
พอพูดถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแล้ว อยากรู้ว่าการวัดผลเรื่องความยั่งยืน สำคัญมากน้อยแค่ไหน
ยอด: ถ้าโจทย์เป็นเรื่องความยั่งยืนเราก็ต้องใส่เรื่องการวัดผลลงไปด้วยว่า มันต้องเปลี่ยนแปลงได้จริงนะ เพราะเมื่อไรก็ตามที่คุณบอกว่าคุณเปลี่ยนแปลง แต่วัดผลไม่ได้ หรือเปลี่ยนไม่จริง นั่นคือ washing ทันที
งั้นเราจะดูว่าแบรนด์ไหน greenwashing ไหม ง่ายที่สุดคือดูว่าผลลัพธ์เป็นยังไง
ยอด: แล้วไม่ใช่เล่นภาษานะ ยกตัวอย่างการเล่นภาษา เช่น สายการบินในอเมริกา ชื่อ Delta Air Lines เขาทำโฆษณาบอกว่าเราเป็นสายการบิน zero carbon แล้วพอเข้าไปดูไส้ใน zero carbon ของเขาที่วัดผลว่า ปีนี้คุณสร้างคาร์บอนเท่านี้ แล้วไปซื้อคาร์บอนเครดิตแทน เฮ้ยมันไม่ใช่ zero carbon มันสร้างคาร์บอนนะ แค่ไปซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย แล้วคนเขาก็โจมตีเลยว่า greenwashing นี่แหละ เราทำแค่ไหน ควรพูดแค่นั้น อย่าไปพูดภาษาโฆษณา เพราะคุณใช้กับความยั่งยืนไม่ได้นะ แล้วการวัดผลไม่ใช่แค่ด้านบวก มีด้านลบด้วย ถ้าวันนี้คุณขายเหล้าเบียร์ คุณช่วยลดคาร์บอนเท่านั้นเท่านี้ อ้าว แล้วช่วงสงกรานต์ เมาแล้วขับ แล้วตาย ธุรกิจคุณสร้างมันด้วยหรือเปล่า แล้วถ้าตาย ตายกี่คน หรือถ้าเป็นมะเร็งเต้านม ธุรกิจของคุณมีสัดส่วนในการสร้างสิ่งนี้เท่าไร คือวัดทั้งบวกและลบ
ยอมให้บริษัทเจ๊ง ดีกว่ายอมทำอะไรฉาบฉวย
ความท้าทายของการทำสิ่งนี้คืออะไร
เบนซ์: ความท้าทายอันดับแรกเรื่องความเข้าใจของคนในสังคม แล้วก็เขามีใจกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ลองนึกดู เราอยู่ในประเทศที่ทะเลสวยมาก แต่ขยะเต็มไปหมดเลย ต่อมาคือเราดันมาสร้างเงื่อนไขมากขึ้นไปอีก อย่างเวลาที่เราจะรับลูกค้า เราก็จะ เอ๊ะ เขาเป็นลูกค้าที่ดีจริงไหม ไม่ทำเรื่อง greenwashing ใช่ไหม เราจะไม่ทำการบ้านแค่ส่งตลาดหลักทรัพย์ เราจะไม่รับ CSR แค่ถ่ายรูปอันเดียวจบ เราสร้างเงื่อนไขเยอะมาก แต่เงื่อนไขที่เราตั้งขึ้นมานี่แหละ มันคือจุดที่นำเราไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง
เฌอ: เฌอรู้สึกว่าทุกๆ พื้นที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ว่าใครจะลุกขึ้นมาก่อนมากกว่า คือถ้าเรามองย้อนกลับไปในมูฟเมนต์ใหญ่ๆ ที่เปลี่ยนโลกใบนี้ ตั้งแต่อาหรับสปริง (Arab Spring) ก็เกิดจากผู้หญิงคนเดียวที่ลุกขึ้นมาว่าฉันไม่อยากใส่ฮิญาบแล้ว หรือว่ามหาตมะคานธีที่เดินลงไปประท้วง สุดท้ายก็มีคนเดินตามเป็นพัน เป็นหมื่นคน หรือจริงๆ แล้วเราแค่ต้องการคนที่ตั้งใจจะทำอะไรสักอย่างแค่คนเดียว ณ ตอนนั้นแหละ คือโมเมนต์ที่การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือถ้าเห็นง่ายๆ คือคนที่ออกมาพูดเรื่องสมรสเท่าเทียมคนแรกของประเทศไทย เราอาจจะจำไม่ได้ แต่เมื่อก่อนคนเป็นเกย์ยังอยู่บนละครไม่ได้เลย แล้วทุกวันนี้ พ่อของมาตาลดาก็เป็นเกย์ มันเป็นไปได้ยังไง
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตอนนั้นมันไม่มีคนกล้าพูดเรื่องนี้ แต่เพราะเรามาถึงปลายทางการเปลี่ยนแปลงแล้ว เราเลยพูดได้ ตอนนี้เรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง เฌอว่าสิ่งที่ท้าทายที่สุด คือการรักษาความเชื่อของเรา และไม่หันเหไปกับกระแสสังคมที่รู้สึกว่า การทำสิ่งนี้เป็นเรื่องยากเกินไป หรือรู้สึกว่าทำแบบนี้จะมีเงินเหรอ แล้วใครจะมาเป็นลูกค้า แล้วมันจะเปลี่ยนแปลงเหรอ คำถามพวกนี้ สุดท้ายแล้วพวกเราเองในฐานะ compounder คือคนที่จะต้องมีจุดยืนที่สุด สำหรับเฌอนี่คือความท้าทายที่ใหญ่มาก คือเรามุ่งมั่นพอหรือเปล่าที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง
เบนซ์: เราเคยคุยกันในทีมว่าเราจะมี value 5 ข้อ ของ Goodwill Compounding ซึ่งข้อสุดท้ายคือ passion or nothing คือเราเลือกที่จะไม่เอาเงินดีกว่า ถ้าต้องมานั่งทำงานที่ไม่ใช่ เรายอมให้ออฟฟิศเราเจ๊งดีกว่า ถ้าต้องมาทำงานที่เป็น greenwashingเราเลยคิดว่าความมุ่งมั่นตั้งใจนี้แหละที่มันเป็นทั้งความท้าทายและความสนุกในการทำงานด้วยว่าทำยังไงให้ความเชื่อที่เราตั้งมั่นในวันแรกยังคงอยู่ต่อไปและตลอดไปในการทำงานของเรา
เหมือนเป็นข้อพิสูจน์ว่าจริงๆ ก็มีคนที่ทำได้นะ
เบนซ์: ใช่ เพราะเราเปิดบริษัทมาสักพักก็มีคนเข้าหาเราเยอะนะ ลูกค้าอย่างงี้ บางทีเจอลูกค้าคนนี้แล้วขนลุก เขาพูดประโยคนี้แล้วรู้สึกว่า คนนี้มันใช่ คนนี้ตาเป็นประกาย เขามีแพสชั่น อินเรื่องความยั่งยืนจริงๆ แล้วทุกครั้งที่เจอลูกค้าแบบนี้ มันเหมือนฉีดอะดรีนาลีนเข้าเลือด (หัวเราะ) ฉีดกำลังใจเข้าเลือดว่า เฮ้ย สิ่งที่เราเชื่อมันก็มีคนทำอยู่นี่นา ถ้ามีคนหนึ่งที่ทำ ก็ต้องมีคนที่ 2 คนที่ 3 คนที่ 4 มันต้องไปได้สิ ถ้าธุรกิจแย่ๆ ในไทยยังโตได้ แล้วทำไมธุรกิจดีๆ จะโตไม่ได้นะ เวลาเราเจอลูกค้าแบบนี้เราก็จะ โอเค ไปต่อกัน
แสดงว่าแรกผลักหลักๆ ก็คือได้เห็นคนที่เชื่อเหมือนกัน
เบนซ์: เบนซ์เชื่อว่ามีคนกลุ่มนี้เยอะมาก แค่เขาอาจจะยังไม่เห็นว่าคนอื่นก็ทำเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน ถ้าเราเป็นคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาให้ทุกคนเห็นว่า เฮ้ย มาทำเรื่องเดียวกันเถอะ เหนื่อยๆ ก็หันไปมอง เอ้ย แบรนด์นั้นก็ทำ แบรนด์นี้ก็ทำ ก็น่าจะมีกำลังใจในการเดินหน้าเรื่องความยั่งยืนต่อไป
เฌอ: เหมือนบริษัทที่อยากจะทำ เขาต้องการแค่ขอนไม้มายึดหลัก ซึ่งเราอยากเป็นขอนไม้นั้นให้เขา คนที่รู้สึกว่าทำยังไงดี เราจะไปต่อได้จริงๆ หรือเปล่า ทำแบบนี้จะขายได้ไหม จะรอดไหม เราที่เคยผ่านบริษัทมาหลากหลาย แล้วบริษัทเหล่านั้นเขาทำได้จริงๆ เราก็อยากเป็นเหมือนห่วงยางชูชีพหรือขอนไม้อะไรก็ได้ที่ทำให้เขามั่นใจว่า เราจะพากันไปจนถึงจุดที่มันเกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น It’s ok ที่ยูจะเป็นแบรนด์ที่ดี ไม่ใช่แบรนด์ที่กำไรดีอย่างเดียว เพราะว่าพอเราเริ่มจะทำสิ่งดีๆ คนจะต้องถามเราว่าอยู่กับความเป็นจริงหน่อยสิ เปิดบริษัทต้องมีกำไรก่อน ก่อนจะมาเป็นคนดี เป็นคนรวยก่อน ถ้าเป็นคนรวยเนี่ยเป็นคนดีได้ จริงๆ เป็นด้วยกันได้ แต่ประเทศไทยเราไม่ค่อยมีตัวอย่าง ซึ่งจริงๆ แล้วบริษัทเล็กๆ ถ้าเริ่มเป็นคนดีแล้วค่อยๆ หากำไร มันก็มีอยู่จริง
ความยั่งยืนล้วนเกี่ยวโยงกับทุกสิ่งที่เรารัก
‘ความยั่งยืน’ ในนิยามของ Goodwill Compounding คืออะไร
เฌอ: เมื่อก่อนเฌอจะมองคำว่าความยั่งยืนคือการคิดเผื่ออนาคต หรือถ้ามองง่ายๆ คือเราเห็นลูกหลานเรา แล้วรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้ เราจะส่งต่ออะไร ส่งสังคมแบบไหนไปให้เขา แต่ในอีกมุมหนึ่ง ถ้าเราสื่อสารกับคนรุ่นใหม่เลย ความยั่งยืนคือการใช้ชีวิตแบบไม่ประมาท ทั้งในแง่สิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม แล้วก็การคิดให้ถี่ถ้วน เวลาเราจะทำอะไรสักอย่าง เราประมาทไหมที่จะสื่อสารแบบนี้เพื่อให้คนมาซื้ออย่างเดียวโดยที่ไม่สนเลยว่า สิ่งแวดล้อมเป็นยังไง คนเป็นยังไง สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมหรือเปล่า สิ่งที่เราทำตรงนี้ 2 ปี 3 ปี 5 ปีข้างหน้ามันมีผลกระทบยังไงบ้าง
คือมองระยะยาวว่า ถ้าทำสิ่งนี้แล้วมันจะส่งผลกระทบอะไรต่อไป แล้วก็ไปปิดช่องว่างตรงนั้นให้มากที่สุด ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว
เบนซ์: จริงๆ ความยั่งยืนมีทุกมิติเลยค่ะ ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางสังคม ถ้าเราดู UNSDGs (United Nations Sustainable Development Group) จะมี 17 ข้อเลยที่เราสามารถทำเรื่องความยั่งยืนได้
เราเอา 17 ข้อนั้นมาเป็นกรอบไหม หรือจะรู้ได้ยังไงว่าเราต้องดูเรื่องไหนบ้าง
เบนซ์: เราดูที่การให้คุณค่าและแพสชั่นของเจ้าของแบรนด์เลยค่ะ เราทุกคนจะมีเมล็ดพันธุ์ดีๆ อยู่ในตัวอยู่แล้ว ว่าเรื่องไหนที่เราอิน เรื่องไหนที่ฉันใส่ใจ แล้วเอาเรื่องที่เขาอินมาดูซิว่าอยู่ในความยั่งยืนเรื่องไหน มันสามารถขยายไปตรงไหนได้อีกบ้าง
บางทีเรารู้ว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ดี แต่ทำไมคนถึงยังไม่ได้ให้ความสนใจมากขนาดนั้น หรืออาจจะยังไม่ได้มากเท่ากับบางประเทศ
เฌอ: เพราะมันยังไม่มาถึงค่ะ เราไม่แยกขยะ เราขับรถคาร์บอน เรามีรถควันดำ มันไม่ได้เดือดร้อนตอนนี้ เพราะผลลัพธ์ยังไม่ได้มาใกล้ตัวเรา หรือมันเหมือนจะใกล้ตัว แต่เขายังมองไม่เห็นว่าเรื่องนี้มันเกิดจากเรื่องความยั่งยืนนะ เช่น เขาอาจจะเคยมีพื้นที่สีเขียว แต่เขาลืมไปว่าตรงนี้มันเคยเป็นพื้นที่สีเขียว หรือแม้แต่เรื่องความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสังคม ความไม่เท่าเทียม คนก็เลยรู้สึกว่า แกไม่ต้องทำก็ได้ ให้แยกขยะเหรอ ไม่แยกก็ได้หนิ ใช้ชีวิตต่อได้ แต่ถ้าในอีก 5-6 ปี เขาจะเริ่มเห็นว่า ท่อหน้าบ้านเขาตันแล้วนะ อะไรแบบนี้ แต่ปัญหามันค่อยๆ สะสมกว่าคนจะรู้ตัว
ยอด: เอาเข้าจริงความยั่งยืนมันสะท้อนกลับมาที่ตัวเรา มันเชื่อมโยงกันหมด ถ้าเราชอบทะเลมาก เรารู้ไหมปะการังกำลังจะตาย แล้วทะเลที่เรารักจะเป็นยังไง ถ้าเราชอบปีนเขา แต่มี PM 2.5 ภูเขาที่เราจะปีนจะเป็นยังไง
อะไรที่เรารักกับความยั่งยืนมันเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหมด ถ้าเรามองไปถึงตรงนั้น มันก็จะทำให้เราอยากจะลุกขึ้นมาดูแลจัดการเรื่องนี้มากขึ้น
พอจะมี case study เกี่ยวกับความยั่งยืนที่น่าสนใจและอยากแชร์ให้ฟังมั้ย
ยอด: จริงๆ เคสมีเยอะนะ ทั้งเรื่องความเท่าเทียม หรือพนักงานก็ดี อย่างผมชอบอันหนึ่งคือ Ben & Jerry’s เขาดูแลเกษตรกร เลี้ยงวัวแบบออแกนิก ไม่ฉีดยาให้เขา ปล่อยให้วัวไปกินหญ้าตามธรรมชาติ ไม่ใช่ขังในคอกให้ยืนอย่างเดียว ปั๊มนมอย่างเดียว อย่างที่อุตสาหกรรมนมทำกัน หรือโกโก้ก็ปลูกที่แอฟริกา กาแฟปลูกที่อเมริกาใต้ ปกติจะถูกกดค่าแรง แต่เขาให้ราคาที่เป็นธรรม fair trade เพื่อไปจ้างให้พนักงานมีการศึกษาที่ดี ส่งลูกเขาเรียน สร้างความเท่าเทียม หรือแม้แต่รสชาติไอศกรีมรสชาติหนึ่ง เขาใช้บราวนี่ที่ซื้อมาจากร้านเบเกอรี่ในนิวยอร์ก โดยจ้างคนคุกที่ออกมาหางานไม่ได้ งั้นฉันซื้อเบเกอรี่ เหมามาเลย นี่แหละคือการช่วยจัดการเรื่องมนุษย์ เรื่องความเท่าเทียมด้วย
เฌอ: ถ้ายกตัวอย่างอีกอัน เช่น คนพิการหรือผู้สูงอายุในไทย ถ้ารัฐบาลจ่ายเงินให้เขาได้อย่างเดียว 1,000 บาททุกเดือน มันยั่งยืนหรือเปล่า แล้วเขาจะเลี้ยงชีพตัวเองได้ยังไง แต่ถ้ามีธุรกิจมาสนับสนุนเขา อย่างที่เราเห็นกันชัดๆ เช่น Café Amazon for Chance ที่ให้คนพิการทางหูมาเป็นบาริสต้า หรือให้คนอายุ 65 มาทำเบเกอรี่ อันนี้คือการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจที่มาช่วยสร้างความยั่งยืนในสังคม คือทุกคนหาเลี้ยงตัวเองได้ ความยั่งยืนคือตรงนี้ อีก 5-6 ปี เขามีเงินเก็บของตัวเองได้ แล้วถ้าเขามีงาน ทุกอย่างมันลดลง อัตราการก่ออาชญากรรมลดลง อัตราการฆ่าตัวตายลดลง หรือว่างบที่รัฐบาลต้องไปอัดฉีดตรงนี้ก็ลดลงไปด้วย เพราะฉะนั้นรัฐบาลตัวใหญ่ทำได้จริง แต่ธุรกิจเข้ามาช่วยมันทำให้ทุกอย่างเร็วขึ้นและยั่งยืนขึ้นจริงๆ
เวลาพูดถึงเรื่องความยั่งยืน คนยังติดภาพความใจดีหรือเป็นองค์กรการกุศลไม่แสวงผลกำไร เราจะสื่อสารยังไงให้คนเข้าใจมากขึ้น
เบนซ์: เบนซ์มองว่า ความยั่งยืนกับธุรกิจมันเป็นเรื่องเดียวกันเลย อย่างเช่นทรัพยากรที่ใช้ ถ้าเราเลือกทรัพยากรที่ดี เอามาใช้ซ้ำได้ ใช้ให้มันมีประสิทธิภาพที่สุด คุณก็ลดต้นทุนได้แล้ว ถ้าคุณไปลดความเหลื่อมล้ำเรื่องคน ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ผู้บริโภคก็จะมีเงินมากขึ้น เศรษฐกิจมันก็จะหมุนเวียนไปมากขึ้น หรือแม้กระทั่งเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ
สมมุติว่าเราไปสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ผู้หญิงจะมีบทบาทในสังคมมากขึ้น ตลาดที่เป็นผู้บริโภคผู้หญิงก็โตขึ้น ดังนั้นความยั่งยืนกับธุรกิจเป็นเรื่องเดียวกัน
เฌอ: สำหรับเฌอ รู้สึกว่าคนมองภาพบริษัทที่ยั่งยืนเป็นคนดีมาก เป็นเหมือนนางฟ้าแม่ทูนหัวเข้ามาโปรด แต่สำหรับเฌอ บริษัทที่ยั่งยืนจริงๆ เป็นคนเด็ดขาด จะต้องรู้ว่าเราจะทำอะไร ไม่ทำอะไร ต้องตัดตรงไหน เพื่ออะไร ซึ่งจริงๆ แล้วบริษัทแบบนี้คือบริษัทที่เฉียบคมกว่า
คือเรารู้ว่า ถ้าเราตัดงบตรงนี้ไปเพื่อไปเพิ่มตรงนี้ในระยะยาว มันทำได้มากกว่า ความยั่งยืนเป็นเหมือนคนฉลาดที่รู้ว่าจะทำอะไร เพื่ออนาคตอย่างยั่งยืนจริงๆ ในทุกประเด็นเลย อย่างทำไมเราต้องมีสวัสดิการให้ผู้หญิงลาคลอดเท่าเทียมกับผู้ชายลาบวช ถ้าเราเข้าใจเหตุผลตรงนั้น เราไม่ใช่คนดีนะ เราแค่เข้าใจปัญหาว่า อ๋อ คนนี้เขาเจอปัญหาแบบนี้เหมือนกัน
แล้วในมุมผู้บริโภค เราทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน
ยอด: ผู้บริโภคจะเรียกว่ามีพลังมากที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะการซื้อคือการโหวตว่าให้ธุรกิจนี้อยู่หรือไป ถ้าธุรกิจนี้ไม่ดีแล้วเรายังซื้ออยู่ เท่ากับเราโหวตให้เขาทำต่อ นี่คือพลังของผู้บริโภค คิดง่ายๆ ถ้าเราซื้อน้ำที่อยู่ในขวดพลาสติกทุกวัน ขยะนั้นไปอยู่ในกองขยะ แล้วขวดพลาสติกชิ้นใหม่จะถูกสร้างขึ้นมา แล้วเราก็ใช้มัน แต่ถ้าเราโหวตไม่เอาขวดพลาสติก ใช้กระติกน้ำแทน ขวดพลาสติกจะหายไปจากชีวิตเราทันทีเพราะเราโหวตไม่เอา และถ้าเราโหวตไม่เอามากพอ วันหนึ่งขวดน้ำพลาสติกก็จะหายไป
เฌอ: เฌอว่าสำคัญกว่าภาคธุรกิจก็คือภาคประชาชนนี่แหละ ภาคธุรกิจตัวใหญ่ขยับได้เร็วก็จริง แต่คนที่จะเป็นคนขับเคลื่อนจริงๆ คือภาคประชาชนเอง ในฐานะผู้บริโภค เฌอรู้สึกว่าทุกๆ วันมันคือการตัดสินใจของผู้บริโภคอยู่แล้ว เขาสามารถเลือกได้ว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นยังไง โลกเรา สังคมเราจะเป็นยังไง พอพูดอย่างนี้ บางคนจะรู้สึกว่า เราตัวเล็กไปหรือเปล่า คือพูดได้หลายแง่มาก อย่างในแง่ที่พี่ยอดบอกว่าเรามีพลัง เราเป็นคนที่โหวต หรือเมื่อก่อนเราอาจจะมองว่า นักข่าวเท่านั้นที่จะเป็น watchdog คอยสอดส่องทุกอย่าง แต่เดี๋ยวนี้คนธรรมดาก็เป็นได้เหมือนกัน เราสามารถสังเกตพฤติกรรมของแบรนด์ที่เราใช้อยู่ได้เหมือนกัน หรือเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเอง
ถ้าเราค่อยๆ เปลี่ยน ทุกอย่างก็จะเปลี่ยน ยกตัวอย่าง เฌอเรียนที่อังกฤษ ในเมืองที่เฌอไป เวลาไปซื้อนมต้องมีขวดโหลไปกรอกนมเอง ครั้งแรกที่ไปก็งงๆ แต่ทุกคนเขาทำแบบนี้เหมือนกันหมดเลย เพราะงั้นเขา make a choice กันแล้ว แต่อย่าลืมว่าชุมชนนี้ก็ต้องมีคนแรกที่มาเริ่มเหมือนกัน เรารู้สึกว่าตอนนี้เมืองไทยเราคือจุดเริ่มต้น เราคือคนที่ประมาณ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า แต่เรากำลังจะพาทุกคนไปถึงคนที่ 2000 3000 เฌอเป็น branding consult แต่ในอีกบริบทหนึ่งเฌอก็เป็นผู้บริโภคเหมือนกัน เริ่มง่ายๆ เลยเฌอกินกาแฟตอนนี้เฌอก็ไม่ขอหลอด เราก็ค่อยๆ ฝึกตัวเองด้วยเหมือนกัน
จริงๆ เราก็ทำได้ในฐานะคนทั่วไปด้วย
เบนซ์: อย่างเรื่องเปลี่ยนพฤติกรรม เราว่าถ้าผู้บริโภคเราทำทุกอย่างได้จริงๆ ธุรกิจเล็กๆ ที่กำลังพยายามทำดี สุดท้ายเขาก็จะโตขึ้น ต้นทุนที่เขาต้องแบกตอนแรกเพราะไม่มีคนซื้อก็จะลดลง ถ้าทุกคนพร้อมใจกันเลือกใช้ของที่มันยั่งยืน ถ้าทุกคนหันมาเปลี่ยนพร้อมๆ กัน ธุรกิจเล็กก็จะโต ต้นทุนน้อยลง ผู้บริโภคได้ของราคาถูกลง คนดีขึ้น โลกดีขึ้น มันจะเชื่อมโยงกันไปหมดเลยค่ะ
พอเปลี่ยนจากการทำเอเจนซี่มาเป็นบริษัทที่ปรึกษามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป หรือได้เรียนรู้อะไรได้บ้าง
ยอด: ถ้าส่วนตัวผม สิ่งที่แตกต่างมันคือโลกใหม่ โลกใหม่ในที่นี้ไม่ใช่แค่เรื่องความรู้นะ ความรู้ก็เรื่องหนึ่ง คนที่เราเจอก็อีกแบบหนึ่ง ถ้าได้เจอคนในวงการความยั่งยืน เอเนอจี้เขาจะเป็นอีกแบบ เขาจะอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เขาอยากจะแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง และเขาพร้อมจะช่วยกันทำ พอเข้าไปปุ๊บ ไม่มีใครมี ego เลยเวลาเราไปสัมภาษณ์ นี่คืออีกโลกหนึ่งเลยที่มีเอเนอจี้ดีมาก ส่วนกำไรก็ยังต้องทำนะ แต่อยู่บนพื้นฐานว่าฉันต้องสร้างความยั่งยืน และมีจิตใจที่ดีที่อยากทำสิ่งนี้
เฌอ: จริงๆ สิ่งที่พี่ยอดพูดคือการคลุกเคล้าผสมเอเนอจี้ในแต่ละวันของพวกเราเองทั้งหมด พอเราเจอคนที่มีเอเนอจี้ที่ดี มันก็เหมือนทับกันไปเรื่อยๆ ให้เราไม่ได้ท้อกับมันไปด้วย สำหรับเฌอเอง เฌอก็อยากจะใช้ชีวิตให้ยั่งยืนเหมือนกัน คำว่ายั่งยืนของเฌอ ไม่ได้หมายความว่าต้องอยู่ถึง 60-80 ปี แล้วค่อยตายนะคะ แต่ถ้าเราตายในเร็ววันนี้ เราก็ไม่เสียดาย เพราะเฌอไม่ได้ประมาทในการใช้ชีวิต ไม่ได้ประมาทคือ เฌอรู้ว่า ณ วันนี้ เฌอเอาตัวเองไปอยู่ในเอเนอจี้แบบไหน ไม่ใช่เอเนอจี้ที่ท็อกซิกแล้วหนึ่ง เฌออยู่ในเอเนอจี้ที่เฌออยากอยู่ เพราะงั้นมันเริ่มจากเราก่อน เรากำลังใช้ชีวิตที่ยั่งยืนอยู่ในแง่ของความรู้สึก แล้วถ้าเราเจอลูกค้าที่เขามีเอเนอจี้แบบนี้ มันทับๆๆ กันไปจนทำให้เรารู้สึกว่า นี่แหละคือชีวิตที่ยั่งยืนระดับหนึ่ง
เบนซ์: ส่วนในแง่ขององค์กร สิ่งหนึ่งที่เราไม่เหมือนคนอื่นคือการดูแลคนข้างในเอง เราไม่ได้เรียกคนข้างในว่าเป็นพนักงาน เราไม่ได้มองใครเป็นพนักงานเลย ทุกคนในนี้คือ compounder ที่จะมาช่วย Goodwill Compounding สร้างการเปลี่ยนแปลง ก็เป็นจุดที่ค่อนข้างแตกต่างจากคนอื่นและเป็นจุดที่เราแฮปปี้มาก ทุกวันนี้ 7 โมงอยากตื่นมานั่งทำงานแล้ว อยากเจอทุกคนแล้ว
เฌอ: คัลเจอร์ในองค์กรที่นี่ค่อนข้างอุดมคติมาก จะเป็นเหมือนที่เฌอเคยอ่านเรื่อง No Rules Rules ของ Netflix ผสมกับความเป็น Google และ Agoda ผสมทุกอย่าง เพราะเขาไม่ได้ดูแลเราแบบที่ว่า คุณต้องทำกำไรเท่าไร ต้องทำยังไง แต่ดูแลใจกันมากกว่า อย่างเราก็จะมี Better Day (กิจกรรมที่ทุกคนระดมสมองช่วยกันคิดพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้น) ดูแลกันทุกวัน ทุกอาทิตย์เพื่อที่จะทำยังไงให้เราไม่ใช่แค่บริษัทที่ดีขึ้นนะ แต่ตัวเราและทุกคนในบริษัทดีขึ้น น้องๆ อยากเรียนรู้อะไร น้องๆ บอกผมไม่เก่งเรื่องนี้ เราทำยังไงให้น้องรู้
เรารู้สึกว่าก่อนที่เราจะเป็นบริษัทที่ไปช่วยคนอื่นได้ ในองค์กรเอง เราก็ต้องหันกลับมาปรึกษากันเองเหมือนกัน เรารู้สึกว่าคัลเจอร์แบบนี้แหละที่มันจะสร้างบริษัทที่ยั่งยืนด้วย