เคยสงสัยไหมว่าขยะที่เราทิ้งไปในแต่ละวัน ถ้าเอามารวมกันจะเยอะแค่ไหน?
บางครั้งที่ชีวิตอันแสนวุ่นวาย อาจทำให้เราไม่ทันสังเกตว่าการกระทำเล็กๆ อาจส่งผลหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้กับผู้คนและสิ่งแวดล้อมต่อไปเป็นทอดๆ เช่นเดียวกับเรื่องราวของ ‘Flower in Hand by P.’ ร้านดอกไม้แสนน่ารักในซอยประดิพัทธ์ 17
“ในหนึ่งวัน ร้านเราเคยมีขยะประมาณ 1-2 ถุง ตอนนั้นเราไม่ได้แยกขยะเลยด้วยซ้ำ แม่บ้านต้องไปแกะถุง เพื่อแยกขยะอีกที พีกสุดคือช่วงวาเลนไทน์เพราะมีขยะเป็นสิบกว่าถุงเลย จนเรารู้สึกผิดกับแม่บ้านและคนเก็บขยะมาก เราเลยอยากทำให้ร้าน sustainable มากขึ้น”
แพร–พานิชกุล ชัยวัฒนธรรม ผู้ร่วมก่อตั้งร้าน Flower in Hand by P. เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการพยายามทำให้วัสดุในร้านสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากที่สุด ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์ไปจนถึงขยะดอกไม้ ล่าสุดร้านดอกไม้แห่งนี้กำลังจะมีฟาร์มที่เชียงใหม่ ด้วยความตั้งใจอยากจะทดลองปลูกดอกไม้ โดยใช้สารเคมีให้น้อยที่สุดและลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
เริ่มต้นจากความรัก (ดอกไม้) ที่ไม่อาจปฏิเสธ
การเดินทางของ Flower in Hand by P. เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.2016 จากร้านดอกไม้ในอินสตาแกรมที่ก่อตั้งโดย แพร พานิชกุล และนิว กิตติคุณ ชัยวัฒนธรรม ก่อนจะค่อยๆ ขยับขยายมาเปิดร้านแสนน่ารักในย่านอารีย์
“ตอนแรกเราไม่รู้ตัวเองว่าชอบดอกไม้ เราเรียนสายวิทย์มา เราก็คิดว่าต้องไปสายวิทย์ แล้วพอย้อนกลับมาดู เราชอบอะไรที่เป็นลายดอกไม้ ทั้งเสื้อผ้า หนังสือ สมุด ปากกา จะเป็นลายดอกไม้หมดเลย เหมือนเราชอบมาตั้งนานแล้ว แต่พยายามปฏิเสธตัวเองว่าไม่หรอก มันคงเป็นงานอดิเรก จนช่วงเรียนปริญญาโทใกล้จะจบ แล้วเรียนเครียดมาก ตอนนั้นมีรุ่นน้องคนหนึ่งพาไปปากคลองตลาด พอเราไปเดิน เรารู้สึกว่า เฮ้ย มันมีที่อย่างนี้อยู่ในประเทศไทยด้วยเหรอ ดอกไม้มันเยอะขนาดนี้เลยเหรอ เพราะเราเป็นเด็กเชียงใหม่มาก่อน ตลาดดอกไม้ที่เชียงใหม่มันก็ไม่ได้ใหญ่เท่าที่กรุงเทพฯ ด้วย พอเรียนจบปริญญาโท เราเลยขอคุณพ่อคุณแม่ลองเปิดร้านดอกไม้ดู แล้วก็ยาวเลย ไม่ได้กลับไปทำสายที่เรียนอีกเลยค่ะ”
Upcycling Flower
แม้จุดเด่นของร้านดอกไม้แห่งนี้คือการใช้วัสดุแทบทุกชิ้นอย่างคุ้มค่า แต่ทุกอย่างไม่ได้เริ่มมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ เพราะแพรเองก็เพิ่งจะมาสังเกตเรื่องขยะอย่างจริงจังในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อ COVID-19
“ช่วง COVID-19 ระบาดปีแรก เราทำแจกันจิ๋วให้คนเอาไปประดับบ้าน ปรากฏว่าช่วงนั้นลูกค้าเข้ามาค่อนข้างเยอะมาก เราก็ไม่มีเวลามานั่งคิดเลย เพราะไปช่วยที่ร้านอย่างเดียว หลังจากนั้น ปีถัดมาลูกค้าก็เริ่มน้อยลง เพราะคนเริ่มประหยัดมากขึ้น เราเลยมีเวลามานั่งคิดว่าร้านเราขยะเยอะมาก ทั้งจากดอกไม้ ขยะบรรจุภัณฑ์ พลาสติก กระดาษห่อ อย่างที่บอกว่าเราเห็นขยะ แล้วคนอื่นมาเดือดร้อนกับเราด้วย เลยรู้สึกว่าไม่ได้แล้ว ที่ร้านเราเลยเริ่มแยกขยะก่อน แล้วพวกพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวก็จะไม่ใช้เลย”
“คือเราจะค่อนข้างซีเรียสกับบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถนำไปใช้ต่อได้ เพราะอยากให้ลูกค้าสามารถนำสักส่วนหนึ่งของช่อดอกไม้ไปใช้ต่อได้ พอวนมาอีกที วาเลนไทน์เราก็เลยออกโปรดักต์ใหม่เป็น ‘ช่อดอกไม้ห่อผ้า’ ที่นำไป reuse ได้ ต่อมาก็เป็น ‘ช่อดอกไม้ใน tote bag’ จาก moreloop แบรนด์ที่เขานำผ้าเหลือจากโรงงานมาทำกระเป๋า จริงๆ เราลงลึกไปถึงพวกเชือกป่าน หรือสำลีหุ้มดอกไม้ ซึ่งเราก็เปลี่ยนมาใช้เศษผ้าแทนด้วย”
“ส่วนดอกไม้ ตอนแรกสุดก็มีไอเดียมาจากเพื่อนคนหนึ่งที่เขามาร้านแล้วถามว่า ‘แกต้องทิ้งอันนี้เหรอ’ เราก็บอกว่าจริงๆ ต้องทิ้ง เพราะถ้ากลีบช้ำนิดหน่อยก็ใช้ไม่ได้แล้ว ปรากฏว่าเพื่อนบอก เฮ้ย ฉันขอได้ไหม”
“หลังจากวันนั้นเราก็มานั่งคิดว่า จริงๆ คนอื่นที่ไม่ได้ทำร้านดอกไม้ เขายังมองเห็นความสวยของมันอยู่เลย เราก็เลย โอเค งั้นมาเก็บดอกไม้พวกนี้ด้วย เลยกลายเป็นโปรเจกต์ ‘upcycling flower’ บางอันก็เก็บมาเพื่อเข้าช่อใหม่ ถ้าดอกไหนก้านยังโอเคอยู่ แต่กลีบเฉา เราก็จะมาห้อยหัวเพื่อทำเป็นดอกไม้แห้ง ถ้าดอกไหนที่ก้านหัก เราก็จะตัดก้านออกแล้วนำไปใส่กรอบรูป ส่วนพวกกลีบ ใบ ก้านที่ใช้ไม่ได้แล้ว เราก็เก็บเหมือนกัน เพราะว่าเอามาย้อมผ้าได้ คือช่วงหลังๆ มาเนี่ยเก็บหมดเลย (หัวเราะ)”
“แล้วในอนาคตเราก็กำลังทำเป็นกระดาษสา พอดีบ้านแพรอยู่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนกระดาษสา เราเลยลองไปติดต่อให้เอาเศษดอกไม้เหลือทิ้งไปใส่ตอนที่ทำเยื่อกระดาษ ก็จะออกมาเป็นลายดอกไม้ในกระดาษสา”
“จริงๆ ร้านเราเพิ่งทำ mini exhibition เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นนิทรรศการเกี่ยวกับ upcycling ทั้งหมดที่ร้านทำ ตั้งแต่ดอกไม้ในกรอบรูป สีย้อมผ้า หรือสีที่เอามาวาดบน canvas จุดประสงค์คือเราอยากให้ลูกค้าเห็นว่า จริงๆ มันทำไม่ยากนะ สมมติว่าซื้อดอกไม้ช่อหนึ่งไป คุณก็สามารถเอาไปเก็บแห้งด้วยซิลิกาเจล หรือถูๆ กับ canvas วาดเป็นรูปก็ได้เหมือนกัน”
How to ทิ้งแต่เก็บ ขยะดอกไม้ในเทศกาลต่างๆ
ไหนๆ ก็พูดถึงการเก็บดอกไม้แบบทำได้ง่ายๆ ที่บ้านแล้ว เราเลยถามแพรถึงวิธีลดวงจรความสดใสแต่หมดอายุไวของช่อดอกไม้ที่วนอยู่กับการจัดช่อ ถ่ายรูป แล้วทิ้งไป โดยเฉพาะช่วงที่หลายมหาวิทยาลัยใกล้จะมีงานรับปริญญา
“ถ้าเราเอาใส่แจกัน เปลี่ยนน้ำทุกวันก็จะช่วยยืดอายุ แต่ก่อนที่กลีบดอกไม้จะโรย ให้เราเอาออกมาจากน้ำก่อน เพราะยิ่งใส่น้ำ ดอกไม้จะยิ่งบานไปเรื่อยๆ โรยไปเรื่อยๆ พอเอาออกจากน้ำก็อาจจะผูกเชือกห้อยกับราวตากผ้าไว้ เพื่อทำเป็นดอกไม้แห้ง แต่ก็ต้องเป็นก้านที่ยังเพอร์เฟกต์อยู่นะ วิธีนี้ฟอร์มมันอาจจะบิดเบี้ยว สีอาจจะซีดลงได้บ้าง เลยแนะนำให้เป็นแดดเช้าดีกว่า ส่วนใหญ่เวลาเก็บแห้งเขาจะเลือกดอกที่มีสีสดเลย เพราะแห้งแล้วสีจะอ่อนลงพอดี
“ส่วนดอกไหนที่ก้านหัก เราก็ตัดก้านให้เหลือแต่ดอก แล้วเอาไปใส่ในซิลิกาเจล สารดูดความชื้นที่หาซื้อได้ทั่วไป ซึ่งมันสามารถ reuse ได้ เราก็เอาซิลิกาเจลโรยทับดอกไม้ ทิ้งไว้ประมาณ 3-5 วันก็จะได้ดอกไม้แห้ง แล้วมันจะคงรูปร่างมากกว่า และมีสีที่เหมือนดอกปกติเลย จะเก็บเอาไว้แต่งบ้าน หรือทำเป็นการ์ดให้คนอื่นได้เหมือนกัน”
“จริงๆ ที่ร้านเรามีโปรเจกต์หนึ่งขึ้นมาช่วงวาเลนไทน์ ด้วยธรรมชาติของคนไทยที่ชอบดอกไม้สด แต่ชอบดอกไม้ที่อยู่ได้นาน เราเลยจัดเป็นดอกไม้สดให้ลูกค้าเก็บไว้ดูก่อน แล้วอีกสองวัน เราจะไปรับกลับมาเพื่อทำเป็นดอกไม้แห้งใส่กรอบไว้ แล้วส่งกลับไปให้ลูกค้าเก็บได้นานๆ ซึ่งลูกค้าสามารถเอามาเปลี่ยนดอกในกรอบได้ เผื่อสีซีดลงหรือโรยร่วงไป ตอนนี้อยู่ในช่วงรอฟีดแบ็ก ถ้าโอเคก็อาจจะออกแคมเปญนี้โดยไม่ใช่แค่ช่วงเทศกาล”
ความยั่งยืนที่เริ่มจากต้นน้ำ
นอกจากนิทรรศการ สินค้าและโปรเจกต์ที่เล่ามาทั้งหมด ก้าวต่อไปของ Flower in Hand by P. คือการสร้างความยั่งยืนที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นน้ำ นั่นคือแหล่งที่มาของดอกไม้
“ก่อนหน้านี้ประมาณ 1-2 ปี เราได้ทำโปรเจกต์หนึ่งที่ส่งดอกไม้จากฟาร์มของเกษตรกรไทยมาใช้ที่ร้าน ซึ่งโครงการนั้นทำให้เราได้เห็นว่า ไทยเรามีศักยภาพในการปลูกดอกไม้ได้ แต่บางที่เขายังปลูกโดยใช้สารเคมีเยอะมากๆ แล้วก็อาจจะปลูกโดยไม่ได้ผสมผสาน คือปลูกชนิดเดียวไปเลย พอแมลงมาก็กระทบทั้งสวน เลยจำเป็นต้องใช้สารเคมีเยอะขึ้นไปอีก”
“จากโปรเจกต์นั้นบวกกับช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา ดอกไม้จากจีน จากฮอลแลนด์ เริ่มมีปัญหาเรื่องการขนส่ง เลยคิดว่าจริงๆ มันเป็น pain point ของที่ร้านเหมือนกัน เพราะเรานำเข้าดอกไม้มาค่อนข้างเยอะ ไม่ค่อยได้ใช้ดอกของไทย ประกอบกับเราเป็นคนเชียงใหม่ ที่บ้านพอจะมีที่ดินก็เลยคิดว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เราลองปลูกดอกไม้แบบที่มันปลอดภัยดูสักตั้ง เผื่อต่อไปถ้ามันเวิร์ก เราก็อาจจะขยายองค์ความรู้นี้ให้กับเกษตรกรด้วย”
“การที่เริ่มเอาเรื่อง sustainable มาเป็นประเด็นเพราะเราอยากให้ลูกค้าหรือร้านอื่นเริ่มเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ เพราะเราใช้ดอกไม้นำเข้าเยอะ สร้างขยะเยอะ มันก็ไม่เกิดผลดีกับใคร ทั้งตัวเราและลูกหลานของเราอีกในอนาคต เพราะไม่รู้ว่าเขาจะอยู่ได้ไหมในโลกที่มีขยะเยอะขนาดนี้ แล้วจริงๆ เรื่องนี้มันจะประสบความสำเร็จไม่ได้ ถ้าเราไม่ได้ความร่วมมือจากลูกค้าหรือร้านอื่นๆ”
ความพยายามที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อให้ร้านดอกไม้เป็นธุรกิจที่ยั่งยืน ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมแพรถึงหลงใหลและทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจให้กับดอกไม้มากขนาดนี้ ซึ่งแพรกล่าวทิ้งท้ายกับเราว่า
“เรามองว่าดอกไม้มันเป็นอะไรที่เราขาดได้นะ แต่ว่าพอขาดไปแล้วชีวิตมันไม่สดชื่น ไม่สดใส คือเป็นแค่ดอกไม้ริมทางก็ได้ เวลาเราเดินไปเห็นก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย น่ารัก แค่นี้ก็ทำให้ใจเราฟูได้นิดหนึ่งแล้ว เราเลยมาทำเรื่องดอกไม้”
“แต่ร้านเราก็ต้องมี stakeholder หลายที่ มี supplier หรืออย่างที่เราบอกว่ามีแม่บ้านหรือคนเก็บขยะที่เขาเดือดร้อนเพราะเราด้วย พอเราทำธุรกิจ เราไม่จำเป็นต้องได้อยู่ฝ่ายเดียว เราให้คนอื่นได้บ้าง เหมือนทำให้คนอื่นไม่เดือดร้อน แล้วก็สร้าง positive impact ให้ชุมชนหรือผู้คนในสังคม แค่นี้แหละที่เรามองว่าเป็นเหมือนแกนจริงๆ ของธุรกิจร้านดอกไม้ที่เราอยากจะทำ”