กลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งสำหรับเรื่องของ ‘ส.ว.ทรงเอ’ หรือ อุปกิต ปาจีรยางกูร นักธุรกิจพันล้านและผู้กว้างขวางแห่งชายแดนไทย-เมียนมา หลังจากล่าสุดมีการเปิดเผยเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงจำนวน 7 หน้าจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบคดีนี้ ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญระบุถึงสาเหตุที่ ‘หมายจับ’ ของ ส.ว. รายนี้ถูกเปลี่ยนกลายเป็น ‘หมายศาล’
หลายคนน่าจะได้เห็นเอกสารดังกล่าวแล้ว แต่อาจยังสงสัยว่าลำดับเหตุการณ์ของเรื่องราวนี้เกิดขึ้นอย่างไร? ส.ว. รายนี้มีความเกี่ยวข้องกับ ตุน มิน หลัด พ่อค้ายาเสพติดชาวเมียนมาจริงหรือไม่? แล้วหมายจับถึงถูกเสกให้กลายเป็นหมายศาลได้อย่างไร ทำไมกระบวนการยุติธรรมถึงกลับลำเช่นนั้น?
The MATTER สรุปคดีนี้ตั้งแต่คดีของ ตุน มิน หลัด พ่อค้ายาเสพติดชาวเมียนมา จนถึงการอภิปรายของ รังสิมันต์ โรม ส.ส.ก้าวไกลในสภา และเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบคดีที่เพิ่งออกมาล่าสุด เพื่อร่วมต่อจิ๊กซอร์ให้เห็นภาพใหญ่ว่า ใครคืออุปกิต ปาจีรยางกูลกันแน่
ใครคือ อุปกิต ปาจรียางกูร
อุปกิต ปาจรียางกูร เกิดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 เป็นบุตรชาย อุปดิศร์ ปาจรียางกูร กับคุณหญิงอภิรา ปาจรียางกูร พ่อของเขาเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสมัยรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร และ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
อุปกิตเข้ารับการศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Skidmore College Saratoga Springs ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาโท ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม จาก Vrije Universiteit Brussel (VUB) ประเทศเบลเยียม
เขากลับมาเข้ารับราชการในกระทรวงต่างประเทศนับสิบปี และดำรงตำแหน่งนักการทูตระดับชำนาญการ ประจำสำนักเลขานุการ รมว.ต่างประเทศ ก่อนตัดสินใจลาออก ด้วยเหตุผลว่าเบื่อที่ต้องเดินทางบ่อย
หลังจากลาออกจากกระทรวงต่างประเทศ เขาได้รับสัมปทานทำธุรกิจโรงแรม-คาสิโนฝั่งตรงข้ามท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ทำให้ในปี 2543 เขาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท Myanmar Allure Group โรงแรมและคาสิโนบนพื้นที่ขนาด 4,000 ตร.ม. ฝั่งเมียนมา ซึ่งในเวลาต่อมา เขาจะตัดสินใจขายบริษัทแห่งนี้ก่อนเข้ารับตำแหน่ง ส.ว. ในปี 2562 ไปในราคาราว 281.7 ล้านบาท
นอกจากธุรกิจโรงแรม-คาสิโน อุปกิตได้จัดตั้งบริษัท ‘ยูไนเต็ดเพาเวอร์ออฟเอเชีย (United Power of Asia: UPA)’ ทำธุรกิจด้านไฟฟ้าและอสังหาริมทรัพย์ในไทย เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา และลาว ก่อนขายหุ้นทั้งหมดในบริษัทนี้ก่อนเข้ารับตำแหน่ง ส.ว. ไปรวมมูลค่า 554 ล้านบาท
ในตอนที่อุปกิตยื่นบัญชีทรัพย์สินกับ ป.ป.ช. เพื่อรับตำแหน่ง ส.ว. เข้าแจ้งว่ามีทรัพย์สินทั้งหมด 1,774,334,576 บาท ซึ่งสำนักข่าวมติชนรายงานว่าเป็น ส.ว. ที่มีทรัพย์สินอันดับต้นๆ ของสมาชิกทั้งหมด โดยระหว่างที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เขาได้รับการเลือกเป็นที่ปรึกษา กมธ.การคมนาคม และรองเลขาฯ กมธ.การพลังงาน
ทั้งนี้ เขาเคยแต่งงานกับ ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ก่อนตัดสินใจหย่ากันเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2557 โดยทั้งคู่มีบุตรร่วมกัน 1 คน
ก่อนหน้านี้ ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ.2565 นามสกุล ‘ปาจรียางกูร’ กลายเป็นคำยอดฮิตในกูเกิลเทรนด์ไทย โดยมีคนนำคำนี้ไปเสิร์ชมากถึง 100,000 ครั้ง หลังจากมีข่าวว่านักธุรกิจหนุ่มรายนึงมอมยาและล่วงละเมิดทางเพศดาราสาว โดยนักธุรกิจคนดังกล่าวอ้างตัวว่าเป็นหลานรัฐมนตรี ซึ่งสำนักข่าวมติชนรายงานว่าอุปกิตคือญาติของนักธุรกิจคนดังกล่าวนั่นเอง
ไทม์ไลน์เหตุการณ์
- 17 กันยายน 2565
เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับกุม ตุน มิน หลัด นักธุรกิจชาวเมียนมาข้อหาสมคบคิดค้ายาเสพติดและฟอกเงิน ร่วมกับผู้ต้องหาอีก 3 คน ได้ที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง ย่านพระราม 9 ซึ่งตุน มิน หลัดซื้อไว้ 3 ห้องในราคารวม 30 ล้านบาท ทั้งนี้ การจับกุมครั้งนี้มาจากการขยายผลจับกุมเครือข่ายยาเสพติด ซึ่งพบว่ามีธุรกรรมการเงินเกี่ยวข้องกับตุน มิน หลัด
หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมในวันดังกล่าวคือ ‘Dean Young Gultula’ สามีของ อดิศรา ปาจรียางกูร ลูกสาวคนโตของอุปกิต ซึ่งในเวลาต่อมา อุปกิตได้ออกมาพูดผ่านช่องทีวีโทรทัศน์ช่องหนึ่งว่า
“ตัวผมเองก็มีธุรกิจเป็นร้อยล้านพันล้าน คงไม่ให้ครอบครัวไปเกี่ยวข้องกับอะไรที่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง”
ทั้งนี้ ในรายงานชี้แจงข้อเท็จจริงโดย พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ อดีตเจ้าหน้าที่รับผิดชอบคดีดังกล่าวระบุว่า ระหว่างควบคุมตัวผู้ต้องหาที่จับกุมพร้อมตุน มิน หลัด ผู้ต้องหาบางส่วนได้ซักทอดพร้อมแสดงหลักฐานว่า อุปกิตมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด
ต่อมาในวันที่ 22 กันยายน 2565 อุปกิตได้ออกมายืนยันว่ารู้จักกับตุน มิน หลัดจริงๆ และรู้จักมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยพ่อของตุน มิน หลัด เขากล่าวว่า
“ที่ผ่านมาได้ติดต่อกับนายตุน มิน ลัต ตลอดเพราะรู้จักกันมา 20 กว่าปี ยืนยันว่าไม่ได้ขายอาวุธเถื่อน เขาเป็นตัวแทนอย่างถูกต้องขายให้รัฐบาลพม่า และไม่ได้ยุ่งเกี่ยวยาเสพติดแน่นอน แต่ไม่มั่นใจเรื่องความเชื่อมโยงระบบโอนเงินของเขา” นายอุปกิตเคยกล่าวไว้
- 3 ตุลาคม 2565 (ข้อมูลจากเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงการขอออกหมายจับอุปกิตของ พ.ต.ท.มานะพงษ์)
9.00 น. ภายหลังรวบรวมพยานหลักฐาน พ.ต.ท.มานะพงษ์ และผู้ใต้บังคับบัญชารวม 4 คน ได้เดินทางไปที่ศาลอาญาเพื่อขอให้ศาลอนุมัติหมายจับอุปกิตในข้อหาฟอกเงินและยาเสพติด
10.30 น. ผู้พิพากษาเวรได้เรียกตัว พ.ต.ท.มานะพงษ์ ไปสอบ ก่อนอนุมัติให้มีการออกหมายจับศาลอาญาที่ 554/ 2565
12.00 น. เมื่อ พ.ต.ท.มานะพงษ์ กลับถึงกองกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจ เขาระบุว่าได้โทรประสานกับ ปปส. เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาอุปกิต และนัดหมายตรวจยึดพยานหลักฐานและวางแผนจับกุมในวันที่ 4 ต.ค. 2565 เวลา 6.00 น.
13.30 น. พ.ต.ท.มานะพงษ์ ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ศาลให้เอาหมายจับอุปกิต และพยานหลักฐานกลับไปพบรองอธิบดี ศาลอาญา
14.00 น. พ.ต.ท.มานะพงษ์ และผู้ใต้บังคับบัญชาเดินทางถึงศาลอาญา และได้เข้าไปในห้องอธิบดี ศาลอาญา ก่อนพบว่าภายในห้องมีรองอธิบดี ศาลอาญา, อธิบดี ศาลอาญา และเลขาธิการ ศาลอาญากำลังนั่งอยู่ ขณะนั้นรองอธิบดี ศาลอาญากำลังคุยกับตำรวจผู้หนึ่งอยู่ และได้ยื่นโทรศัพท์ให้ พ.ต.ท.มานะพงษ์ พูดคุย
รองอธิบดี ศาลอาญา ได้ต่อว่า พ.ต.ท.มานะพงษ์ ว่าไม่มีวินัย ไว้ผมยาว ไม่แต่งเครื่องแบบ และมีความพยายามทำลายระบบนิติบัญญัติของประเทศ ซึ่งทาง พ.ต.ท.มานะพงษ์ ได้ชี้แจงว่า ตนเป็นสายสืบจึงไม่อาจตัดผมตามระเบียบได้ เพราะจะยากต่อการปฏิบัติงาน
รองอธิบดี ศาลอาญาได้ขอให้ พ.ต.ท.มานะพงษ์ ถอนหมายจับอุปกิต แต่เขาระบุว่าถ้าขอออกหมายจับตอนเช้า แล้วถอนออกในตอนบ่าย ตัวเขาเองอาจถูกดำเนินคดีข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริตได้
ในเวลาต่อมา ผู้พิพากษาเวรได้เดินทางมาถึงห้องดังกล่าว และรองอธิบดี ศาลอาญาได้ขอให้ พ.ต.ท.มานะพงษ์ และผู้ใต้บังคับบัญชาออกจากห้องไปก่อน ผ่านไปประมาณ 10 นาทีจึงเรียกทั้งหมดกลับเข้าไป และอธิบดี ศาลอาญาถาม พ.ต.ท.มานะพงษ์ ขึ้นว่า ถ้าถอนหมายจับอุปกิตจะคิดเห็นอย่างไร? ซึ่งทาง พ.ต.ท.มานะพงษ์ ระบุว่าถ้าถอนหมายจับครั้งนี้ เชื่อว่าจะไม่มีการดำเนินคดีกับอุปกิตอีกในอนาคต
เมื่ออธิบดี ศาลอาญาตัดสินใจถอนหมายจับอุปกิต อธิบดี ศาลอาญาได้เข้ามาพูดคุยกับ พ.ต.ท.มานะพงษ์ ว่า หากไม่มีการถอนหมายจับ “ผู้ใหญ่” น่าจะตำหนิเขาอย่างแน่นอน หลังจากนั้นผู้พิพากษาเวรก็ได้เขียนข้อความเพิกถอนหมายจับ เปลี่ยนเป็นหมายเรียกแทน โดยให้เจ้าหน้าที่เรียกตัวอุปกิตมารับทราบข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน หากไม่มีการออกหมายเรียก หรือเรียกแล้วไม่มา ให้เปลี่ยนเป็นหมายจับได้
- 4 ตุลาคม 2565 (ข้อมูลจากเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงการขอออกหมายจับอุปกิตของ พ.ต.ท.มานะพงษ์)
วันรุ่งขึ้น พ.ต.ท.มานะพงษ์ ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับ ปปส. อีกครั้งเพื่อให้ดำเนินคดีกับอุปกิตในข้อหาฟอกเงินและยาเสพติด ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการจับกุมอุปกิตเกิดขึ้น
- 10 กุมภาพันธ์ 2566 (ข้อมูลจากเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงการขอออกหมายจับอุปกิตของ พ.ต.ท.มานะพงษ์)
มีรายงานว่า พ.ต.ท.มานะพงษ์ และผู้บังคับบัญชาถูกย้ายจากกองกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับคดีดังกล่าวอีก ทั้งที่ไม่มีความผิดและไม่ได้เกิดโดยความสมัครใจ
พ.ต.ท.มานะพงษ์ ระบุไว้ในเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงว่า “การประวิงเวลาของ สตช. ในคดีของ อุปกิต ปาจีรยางกูร ทำให้เกิดผลเสียต่อศรัทธาประชาชนในกระบวนการยุติธรรม และการเพิกถอนหมายจับด้วยเหตุผลว่าผู้ออกหมายจับเป็นบุคคลสำคัญ จะทำลายหลักการที่ว่าบุคคลย่อมเสมอภาคภายใต้กฎหมาย”
- 16 กุมภาพันธ์ 2566
รังสิมันต์ โรม ส.ส.ก้าวไกล ได้อภิปรายความเกี่ยวข้องระหว่าง ตุน มิน หลัด และ ส.ว. ตัวย่อ อ. ในสภา โดยมีการเปิดเผยแชทที่ทั้งคู่คุยกัน และมีการแสดงหลักฐานซึ่งบ่งชี้ว่าอุปกิตทราบดีว่ามีเงินผิดกฎหมายไหลผ่านบัญชีธนาคารคนใกล้ชิดตน
- 17 กุมภาพันธ์ 2566
มีรายงานอุปกิตได้ส่งทนายฟ้องรังสิมันต์ด้วยข้อหา ‘หมิ่นประมาท’ เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท โดยคดีนี้จะนัดไต่สวนครั้งแรกในวันที่ 1 พ.ค. 2566 เวลา 9.00 น.
- 20 กุมภาพันธ์ 2566
มีรานงานว่าทนายของอุปกิตได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาทจาก ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และ อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ หรือ ‘หมาแก่–แมวสาว’ สองผู้ดำเนินรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ข้อหาหมิ่นประมาทเนื่องจากพูดถึงคดีของตุน มิน หลัดและเชื่อมโยงกับอุปกิตในรายการของตัวเอง โดยคดีนี้จะนัดไต่สวนครั้งแรกในวันที่ 22 พ.ค. 2566 เวลา 9.00 น.
- 23 กุมภาพันธ์ 2566
รังสิมันต์ ส.ส.ก้าวไกล ได้เข้ายื่นหนังสือและเอกสารกับ ป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบอุปกิตว่า มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จหรือไม่ และมีความผิดฐานฝืนจริยธรรมในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่
ในประเด็นยื่นบัญชีทรัพย์สิน รังสิมันต์นำเอกสารมายื่นต่อ ป.ป.ช. ว่า การขายอัลลัวร์ รีสอร์ทของอุปกิต ไม่เป็นไปตามที่ยื่นไว้กับ ป.ป.ช. เพราะเป็นการขายให้แก่ ‘เอ็ดดี้’ หนึ่งในเจ้าพ่อการพนันออนไลน์รายใหญ่
ในประเด็นความผิดทางจริยธรรม รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ส.ว. ต้องไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง แต่ปรากฎว่าที่ทำการพรรคไทยสร้างชาติในปัจจุบัน ถูกสร้างขึ้นบนที่ดินของอุปกิต และไม่มีหลักฐานชี้แจงว่ามีการเช่าที่ดินอย่างถูกต้อง ดังนั้น ถือเป็นการกระทำที่ขาดความอิสระ และเอื้อต่อประโยชน์ของพรรครวมไทยสร้างชาติหรือไม่
- 11 มีนาคม 2566
รังสิมันต์ ส.ส.ก้าวไกล ได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงของ พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สารวัตรสืบสวนสถานีตำรวจนครบาล พญาไท ผ่านเฟซบุ๊กตัวเอง โดยเอกสารดังกล่าวมีความยาวทั้งหมด 7 หน้า
สำนักข่าว The Reporter รายงานว่า สรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม แจ้งว่าเห็นเอกสารดังกล่าวที่หลุดออกมาแล้ว และมีการรายงานให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต.ในเรื่องดังกล่าวแล้ว
- 12 มีนาคม 2566
สำนักข่าวเนชั่นและมติชนรายงานคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.ต.คมสิทธิ์ รังไสย์ ผู้บังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 3 (บก.ปส.3) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงคดีดังกล่าว ชี้แจงว่าคดีนี้ต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรกคือคดีทุน มิน หลัดกับพวกรวม 10 คน เข้าข่ายเป็นอาชญากรรมข้ามชาติจึงอยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุด และอยู่ในขั้นตอนการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมอยู่
ส่วนสองคือ การแจ้งข้อหา อุปกิต โดย พล.ต.ต.คมสิทธิ์ ชี้แจงว่าคดีนี้เป็นความผิดตามกฎหมายไทยที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร เช่นเดียวกันกับสำนวนที่ 1 จึงอยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุด และขณะนี้อยู่ในระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน
พล.ต.ต.คมสิทธิ์ชี้แจงประเด็นที่ทำไมเจ้าหน้าที่ถึงไม่ออกหมายเรียก อุปกิต ตามคำสั่งศาล? พล.ต.ต.คมสิทธิ์ชี้แจงว่า เนื่องจากพยานหลักฐานยังไม่มีความสมบูรณ์ เพราะมีหลักฐานที่ไม่ใช่ภาษาไทยจำนวนมากกว่า 1,000 แผ่น จึงต้องอาศัยเวลาในการแปลเพื่อให้ถูกต้องครบถ้วนที่สุด
- 13 มีนาคม 2566
รังสิมันต์ ส.ส.ก้าวไกลได้แถลงข่าวเรื่องการช่วยเหลือ ส.ว.ทรงเอ (อุปกิต) ให้รอดพ้นจากคดี โดยเขาระบุว่าได้มีการถอนหมายจับอุปกิตไปนานกว่า 162 วันแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการเรียกตัวอุปกิตมาให้ปากคำ ซ้ำยังมีการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบคดี จึงมีความกังวลว่าจะมีความพยายามช่วยให้ ส.ว. คนนี้หลุดจากความผิด
รังสิมันต์ กล่าวว่าต้องการคำชี้แจงว่าเหตุใดการทำคดีของ ส.ว.รายนี้มีความล่าช้า โดยเขากังวลว่าอาจมีการแทรกแซงหรือช่วยเหลือคดีนี้จาก นายตำรวจยศใหญ่มากนอกราชการ อักษรย่อ ‘ส.’ ที่เข้ามาพยายามช่วยเหลือพร้อมให้คำแนะนำเรื่องรูปคดี โดยระบุว่าตำรวจคนดังกล่าวเสมือนศูนย์กลางในการวิ่งเต้น เพื่อให้ ส.ว.ท่านนี้ ไม่ถูกดำเนินคดี
รังสิมันต์เพิ่มเติมว่าเขาจะไปยื่นหนังสือคณะกรรมการป้องกันและปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เอาผิดตุลาการทั้ง 3 ท่าน คือ อธิบดีศาลอาญา รองอธิบดีศาล และผู้พิพากษาเวร เรื่องมีการถอนหมายจับทันที หลังช่วงเช้าที่มีออกหมายจับ ด้วยเหตุผลอ้างว่าเป็นบุคคลสำคัญ ซึ่งตามประมวลกฎหมาย ป.วิอาญา ไม่ได้ระบุไว้
ต้องติดตามกันต่อไปว่าคดีนี้จะจบลงอย่างไร เพราะนอกจากมันจะเป็นบทพิสูจน์ระบบยุติธรรมไทยแล้ว มันยังยืนยันหลักการว่า ‘ทุกคนเท่าเทียมกันเบื้องหน้ากฎหมาย’ ยังใช้ได้จริงอยู่ไหมในสังคมไทย
อ้างอิงจาก