เมื่อวาน (18 พ.ค.) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกลร่วมกับอีก 7 พรรคการเมืองแถลงข่าวจับมือจัดตั้งรัฐบาล โดยรวม ส.ส. ได้ทั้งหมด 313 เสียง
ถึงแม้พรรคก้าวไกลจะสามารถรวมเสียงได้เกินครึ่งของสภาล่างแล้ว แต่ในการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ต้องรวมเสียงให้ได้ถึงครึ่งของสองสภา หรือเท่ากับ 376 เสียง ทำให้สังคมกำลังจับตาจุดยืนของ ส.ว. ว่าจะโหวตให้พรรคที่ได้เสียงมากที่สุดหรือไม่
The MATTER ได้พูดคุยกับ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ รองศาสตราจารย์ประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโตถึงแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลของก้าวไกล และคำถามว่า ส.ว. มีไว้ทำไม
- ฝ่าคลื่นลมจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย
“พูดถึง ส.ว. แล้วโกรธมาก มึงเป็นใคร” ปวินเริ่มต้นก่อนกล่าวต่อว่า เมื่อพูดถึงเรื่องจุดยืนการโหวตนากยฯ ของ ส.ว. สิ่งที่เราต้องพูดไปด้วยกันคือ หน้าที่ของ ส.ว. หลังการโหวตเลือกนายกฯ อย่างไรก็ดี ส่วนตัวปวินมองว่าทิศทางการจัดตั้งรัฐบาลตอนนี้เป็นแง่บวก จากเหตุผลทั้งหมด 3 ข้อ
ข้อแรก แรงกดดันจากภาคประชาชน ซึ่งเรียกร้องให้ ส.ว. น้อมรับเสียงของประชาชน อย่างที่เห็นได้จาก #สวมีไว้ทำไม ซึ่งเกิดขึ้นโลกโซเชียลมีเดีย
ข้อที่สอง การขยับตัวของพรรคก้าวไกลและพรรคที่จะร่วมรัฐบาล อย่างที่เห็นว่าเพียงไม่ถึงอาทิตย์นับจากวันประกาศผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ทางพรรคก้าวไกลก็ได้นัดกินข้าวกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม รวมถึงชวนพรรคหน้าใหม่แต่มีอุดมการณ์ใกล้กันอย่าง พรรคเพื่อไทยรวมพลังและพรรคเป็นธรรมเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล
ข้อที่สาม พรรคฝ่ายตรงข้าม ถึงแม้พรรคภูมิใจไทยจะออกแถลงการณ์ไม่โหวตรับนองนายกฯ ให้พิธา แต่ทางด้านพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีเสียงในมือ 24 ที่นั่งกำลังมีท่าทีว่าอาจจะโหวตรับรอง
คนที่พูดถึงเรื่องนี้คนแรกคือ สาธิต ปิตุเตชะ อดีต รมช.สาธารณสุข นอกจากนี้ อลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังกล่าวเมื่อวันที่ 17 พ.ค. ว่า พรรคประชาธิปัตย์ประกาศชัดเจนในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ว่าจะฟังเสียงของประชาชนในการเลือกตั้ง และเมื่อพรรคก้าวไกลเป็นพรรคอันดับ 1 ก็ควรจะโหวตรับรองเป็นนายกฯ โดยยืนยันจะเอาเรื่องนี้เสนอเข้าที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคในวันที่ 24 พ.ค. จึงยังต้องติดตามจุดยืนของพรรคเก่าแก่นี้กันต่อไป
ปวินยังเสริมอีกประเด็นเพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลสำเร็จคือ หัวหน้าพรรคก้าวไกลควรทำตัวเสมือน “เป็นรัฐบาลแล้ว” โดยเฉพาะการเข้าพบเอกอัครราชทูตประจำประเทศต่างๆ ในไทย และเริ่มพูดถึงนโยบายที่จะเริ่มต้นเมื่อรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
ท่ามกลางกระแสกดดันจากสังคม ส.ว.หลายคนเริ่มออกมาแสดงจุดยืนว่าจะโหวตให้กับ พิธา ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคที่ได้คะแนนสูงที่สุด ดังนั้น ปวินจึงมองว่าการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคก้าวไกลอาจเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ปวินยังเตือนถึง “แท็คติกทุเรศๆ” ที่อาจเกิดขึ้น เช่น การยุบพรรค หุ้น itv หรือการแทรกแซงจากศาลรัฐธรรมนูญ
หรือพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมรัฐบาลควรพูดจาดีๆ กับ ส.ว. เพื่ออ้อนขอเสียงรับรองนายกฯ? คือหนึ่งในความเห็นจากโลกอินเตอร์เน็ต ปวินได้ฟังคำถามนี้ถึงกับหัวเราะลั่นก่อนตอบว่า
โน ทุกคนมันเท่ากัน คุณมีหน้าที่ของคุณ คิดว่าคนพวกนี้ (ส.ว.) อยากให้พูดด้วยเพราะๆ แล้วจะปล่อยหมดแม้ผลประยชน์ของตัวเองหรอ ส.ว. ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ที่ยืนอยู่ตรงนี้เพราะได้ประโยชน์
- ประเมินสถานการณ์เลวร้ายที่สุด
ถึงแม้ปวินจะเชื่อว่าพรรคก้าวไกลมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้สูงกว่า แต่ภายใต้แนวคิดว่า ‘ที่นี่การเมืองไทย’ ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาชี้ตรงกันหลายต่อหลายครั้งว่า สิ่งไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ โดยปวินประเมินความเป็นไปได้ในกรณีที่พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จไว้ทั้งหมด 3 กรณี
กรณีแรก เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล ถึงแม้พรรคเพื่อไทยจะย้ำหลายครั้งว่าไม่มีความคิดจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคก้าวไกล แต่ในกรณที่ ส.ว. ไม่โหวตให้พิธา โอกาสในการตั้งรัฐบาลก็ย่อมมาตกในมือพรรคเพื่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่คำถามจากปวินคือ ‘พรรคเพื่อไทยเป็นคำตอบของ ส.ว. และอนุรักษ์นิยมไทยจริงไหม?’ ในมุมของปวิน การเปลี่ยนชื่อนายกฯ จาก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็น แพทองธาร ชินวัตร ไม่น่าส่งผลดีต่อฝากอนุรักษ์นิยมเดิมอยู่ดี ดังนั้น วิธีนี้มีจึงมีความเป็นไปได้น้อย
กรณีที่สอง จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งพรรคที่จะจัดตั้งคงไม่พ้นพรรคภูมิใจไทยของ อนุทิน ชาญวีรกูล
“อาจมีการตั้งรัฐบาลจากเสียงข้างน้อย หรือนายกฯ จะชื่ออนุทิน (หัวเราะ)” ปวินหัวเราะก่อนตัดบทด้วยความเป็นจริงทางการเมืองที่ผ่านมา “แต่หัวเราะแบบนี้ ความจังไรของการเมืองไทยเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่อย่างที่บอกนี่คือภาพที่เลวร้ายที่สุด จนนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลจากเสียงข้างน้อย”
กรณีที่สาม ยุบพรรค ถึงแม้ปวินจะพูดเรื่องนี้ไปหัวเราะไป แต่ก็ย้ำเช่นเดิมว่า ทุกอย่างเป็นไปได้ในการเมืองไทย
- ส.ว.มีไว้ทำไม
“วันนี้ไม่มี ส.ว.ได้ไหม เราก็พิสูจน์แล้วนี่ว่าทุกวันนี้ มีก็เหมือนไม่มี เพราะมันคือสภาตรายาง มันเป็นคำตอบในตัวเองแล้วว่า ไม่มี ส.ว.ก็ได้” ปวินแสดงความเห็น
ขยายความคำว่าสภาตรายาง ข้อมูลจาก iLaw เมื่อปี 2565 พบว่า ส.ว. โหวตไปในทิศทางเดียวกัน และมักเป็นทิศทางที่เป็นคุณกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นผู้เลือกตัวเองมา โดยข้อมูลอาทิ
- 97% ของ ส.ว.แต่งตั้งโหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่มีแตกแถว
- 98% ของ ส.ว.แต่งตั้งอนุมัติร่าง พ.ร.ก. ไม่มีแตกแถว แม้บางฉบับ ส.ส. เห็นชอบไม่ถึง 60%
- 99% ของ ส.ว.แต่งตั้ง ลงมติเห็นชอบ “ร่างกฎหมายปฏิรูป” จากรัฐบาลทุกฉบับ
- ร่างกฎหมายรัฐบาลโหวตผ่าน ร่างฝ่ายค้าน ส.ว.แต่งตั้ง โหวตสวน!
ข้อเสนอของปวินต่อ ส.ว. จึงมี 2 ทางเท่านั้น หนึ่ง ยกเลิกส.ว. สอง ถ้าจะมีอยู่ ต้องกลับไปมีที่มาจากเลือกตั้งเหมือนในรัฐธรรมนูญ 2540
มันเป็นไปได้ไงเมื่อ ส.ว. ถูกออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย แต่ ส.ว.ไทย กลายเป็นปัญหาของระบอบประชาธิปไตย ถ้ามันเป็นแบบนี้ จะมีไว้ทำไม
“ดังนั้น ถ้าจะมีอยู่ต้องผ่านการเลือกตั้ง แต่ถ้าไม่มีก็ไม่มีไปเลย เพราะที่ผ่านมาก็ไม่ทำงานอยู่แล้ว” ปวินสรุป
ติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของ ปวิน ได้ที่ The MATTER เร็วๆ นี้