ถือเป็นเรื่องที่น่าใจหายสำหรับวงการดาราศาสตร์ เพราะล่าสุด NASA ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า วงแหวนน้ำแข็งอันเป็นเอกลักษณ์ของดาวเสาร์ อาจไม่อยู่ให้ผู้ที่ชื่นชอบดูดวงดาวได้เห็นในอนาคตแล้ว
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ข้อมูลจากภารกิจวิจัยอวกาศแคสสินี (Cassini) ของ NASA ที่เป็นการส่งยานสำรวจอวกาศไปศึกษาดาวเสาร์และระบบของมัน ซึ่งยานดังกล่าวโคจรรอบดาวเคราะห์นี้ตั้งแต่ปี 2004-2017 ได้เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกใหม่เกี่ยวกับระยะเวลาของวงแหวน
ขอเล่าก่อนว่า ระบบสุริยะและดาวเคราะห์ของเราก่อตัวขึ้นเมื่อประมาณ 4.6 พันล้านปีก่อน อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าวงแหวนของดาวเสาร์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แต่คาดการณ์ว่าอาจเกิดจากความแปรปรวนของแรงโน้มถ่วงจนดวงจันทร์น้ำแข็งบางส่วนที่โคจรรอบดาวเสาร์ถูกทำลาย และเกิดเป็นวัตถุขนาดใหญ่จนถูกดึงเข้าไปรอบดาวเสาร์
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยถกเถียงเกี่ยวกับอายุและต้นกำเนิดของวงแหวนของดาวเสาร์มาอย่างยาวนานแล้ว ซึ่งนักดาราศาสตร์บางคนเคยแย้งว่า “วงแหวนน้ำแข็งที่สว่างไสวนี้จะมีอายุน้อยกว่าที่คาดไว้”
“ข้อสรุปที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในตอนนี้ คือวงแหวนของดาวเสาร์จะมีอายุค่อนข้างน้อยประมาณไม่กี่ร้อยล้านปีเท่านั้น” ริชาร์ด เดอร์ริเซน (Richard Durisen) ศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยอินเดียน่า-บลูมมิงตัน ประเทศสหรัฐฯ กล่าว นอกจากนี้ นักวิจัยระบุเสริมว่า “มีความเป็นไปได้ที่วงแหวนก่อตัวขึ้น ในขณะที่โลกเราอยู่ในยุคของไดโนเสาร์” เท่ากับว่ามันเกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง
อย่างไรก็ดี ข้อมูลเชิงลึกจากยานแคสสินียังเปิดเผยอีกว่า วงแหวนของดาวเสาร์ประกอบไปด้วยน้ำแข็งเป็นส่วนใหญ่ และมีฝุ่นหินผสมอยู่เล็กเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่เพียงเท่านี้ ในช่วงท้ายๆ ของภารกิจแคสสินี นักวิจัยได้รับข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนอุกกาบาตที่ส่งผลเสียให้แก่วงแหวน
ดังนั้น อุกกาบาตที่แทรกซึมเข้าไปได้ดันส่วนประกอบภายในวงแหวน ให้หลุดลงไปบนดาวเสาร์ด้วยอัตราที่รวดเร็ว ส่งผลให้วงแหวนกำลังสูญเสียมวลหลายตันต่อวินาที ซึ่งหมายความว่าวงแหวนเหลือเวลาอีกไม่มาก
“ในอนาคตหลังจากที่วงแหวนของดาวเสาร์เริ่มเบาบางลง มันจะดูคล้ายกับวงแหวนของดาวยูเรนัสหรือเนปจูน เพราะวงแหวนของพวกมัน ก็เคยมีขนาดใหญ่และสว่างไม่ต่างกับวงแหวนของดาวเสาร์ในปัจจุบัน” พอล เอสตราดา (Paul Estrada) นักวิทยาศาสตร์วิจัยฯ จาก NASA กล่าว
อ้างอิงจาก