เพราะเด็กนักเรียนก็ต้องการเวลาพักผ่อนและชาร์จพลังเหมือนกัน…
โดยสาเหตุที่เวอร์โซซามองว่าต้องมีกฎหมายดังกล่าว ก็เป็นเพราะเขาเห็นว่าการศึกษาในฟิลิปปินส์กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต หลังพบว่า เยาวชนของฟิลิปปินส์เรียนหนักเกินไป แต่กลับสามารถทำคะแนนสอบได้ต่ำกว่ามาตรฐานและยังคงตามหลังประเทศอื่นๆ อยู่
อีกทั้งเมื่อพวกเขากลับบ้าน เวอร์โซซาก็ระบุว่า นักเรียนเหล่านั้นก็ยังต้องง่วนอยู่กับการทำการบ้านจากโรงเรียน ทั้งๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญก็เคยให้ข้อมูลแล้วว่าการทำการบ้านเพียง 1 ชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว
เวอร์โซซายังอ้างถึงการจัดอันดับจากโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) เมื่อปี 2018 ที่ระบุว่าฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งใน 79 ประเทศที่มีผลการศึกษาต่ำสุดด้านการอ่าน ทั้งยังมีผลการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ต่ำสุดเป็นอันดับ 2
นอกจากนี้ เวอร์โซซายังมองว่า นักเรียนก็ต้องการเวลาในการพักผ่อนและเติมพลัง พร้อมเสริมว่าการบ้านยังอาจเป็นสิ่งที่ทำให้เส้นแบ่งของนักเรียนที่ฐานะร่ำรวยกับยากจนแย่ลงอีกด้วย เพราะเด็กที่มากจากครอบครัวที่ยากจนบางคนก็ต้องทำงานพาร์ทไทม์ และไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้
อย่างไรก็ดี ข้อเสนอของเวอร์โซซาดังกล่าว ก็ยังอ้างอิงมาจากคำแนะนำของกระทรวงศึกษาธิการเมื่อปี 2010 ที่แนะนำให้ครูสั่งการบ้านนักเรียนระดับประถมของรัฐในปริมาณที่เหมาะสมในวันธรรมดา และไม่ให้มอบหมายงานในช่วงสุดสัปดาห์ แต่ที่แตกต่างคือ ร่างกฎหมายฉบับของเวอร์โซซานี้จะบังคับใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมด้วย
ทางด้าน รูบี้ เบอร์นาร์โด (Ruby Bernardo) เลขาธิการจากองค์กร Alliance of Concerned Teachers ก็กล่าวว่าเด็กนักเรียนในฟิลิปปินส์ต้องเรียนตั้งแต่ 6-10 ชั่วโมงต่อวันแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และโรงเรียนในเมืองหลวงบางแห่งก็ยังเริ่มเรียนในเวลา 6.00 น.
เบอร์นาร์โด ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงระบบการศึกษาในประเทศว่า โรงเรียนในฟิลลิปปินส์ต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนทรัพยากรและงบประมาณ ตัวของครูเองก็ไม่มีหนังสือและสื่อการสอน จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการสั่งการบ้านให้นักเรียนไปค้นคว้าหาข้อมูลทางออนไลน์เอง
“เราสามารถปริ้นต์เอกสารให้นักเรียนได้ แต่เราก็ต้องจ่ายค่าซีร็อกส์เอง เพราะที่โรงเรียนไม่มีเครื่องถ่ายเอกสารให้” เบอร์นาร์โดกล่าว พร้อมเสริมว่าครูต้องออกเงินเองทุกอย่าง ตั้งแต่ค่าแล็ปท็อป โปรเจ็กเตอร์ไปจนถึงลูกบอลสำหรับวิชาพลศึกษา
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ก็เคยมีการตั้งคำถามเหมือนกันว่า ‘การบ้านยังจำเป็นอยู่ไหม?’
ประเด็นนี้ วีณัฐ สกุลหอม คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ก็เคยให้ข้อมูลถึงที่มาที่ไปของการบ้านกับทางไทยรัฐไว้ว่า การบ้านเกิดขึ้นจากครูไม่มั่นใจว่าเด็กจะเข้าใจการเรียนในห้องเรียน 50 นาทีครบถ้วนหรือไม่ ผู้ปกครองเองก็ไม่มั่นใจในระบบโรงเรียน วันไหนหากไม่มีการบ้าน ผู้ปกครองก็จะต้องถามหาการบ้าน จึงเกิดเป็นปัญหาว่า ทำไมถึงจะต้องมีการบ้านกลับไปทำที่บ้าน
“ถ้าการบ้านคือสิ่งที่เอาไปทำที่บ้าน แล้วเอาไปทำในปริมาณที่เยอะๆ แล้วต้องใช้เวลานานๆ อันนี้อาจารย์ว่าไม่จำเป็น แล้วก็ไม่สำคัญ…ก็ต้องกลับมาดูว่าถ้ามี [การบ้าน] มีเพื่ออะไร ถ้ามีเพื่อทบทวนองค์ความรู้ เพื่อพร้อมที่จะไปเรียนต่อในวันพรุ่งนี้ อันนี้ก็น่าสนใจ” วีณัฐกล่าว
ด้านนักศึกษาจาก คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต อย่าง กชกร เกียรติวิชัยงาม และนรีรัตน์ กระทู้ ก็ได้ออกมาสะท้อนเรื่องการบ้านในตอนที่พวกเขายังเรียนอยู่กับไทยรัฐเช่นกันว่า ครูสั่งการบ้านจำนวนมาก บางครั้งก็แทบไม่ได้นอนเพื่อทำการบ้านแล้วไปเรียนในวันต่อไป พร้อมทั้งมองว่าในช่วงวัยมัธยม ควรเป็นช่วงที่ได้พักผ่อน ได้ค้นหาตัวเอง ได้ไปทำกิจกรรมที่สนใจมากกว่าต้องไปกังวลเรื่องการทำการบ้าน
อ้างอิงจาก