ครูคืออะไร? .. ครูคือผู้สอนหนังสือให้กับนักเรียน – นี่ไม่ใช่คำตอบที่ยากเกินกว่าเด็กอนุบาลจะเอ่ยออกมาได้ หากแต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ทำให้เราต้องย้อนกลับมาถามว่า ‘ครู’ ได้ทำหน้าที่สอนหนังสือให้กับเด็กมากน้อยแค่ไหน?
ภาระงานที่ท่วมเป็นภูเขา ระบบอำนาจนิยมที่ทำให้ครูต้องก้มหน้ารับใช้ผู้บริหาร ระบบประเมินที่ไม่ได้วัดจากคุณภาพการสอนอย่างแท้จริง สวัสดิการและความมั่นคงในอาชีพที่ถูกตั้งคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไปจนถึงปัญหาสุขภาพจิตที่ล้วนเกิดขึ้นหลังครูต้องเผชิญปัญหาที่กล่าวว่า …เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราได้ยินกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเช่นกัน
เมื่อปัญหายังคงปรากฏ การพูดถึงประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไข เพื่อดิ้นรนให้การเปลี่ยนแปลงดังที่ครูทุกคนวันจึงเกิดขึ้น และเป็นเหตุให้ insKru Festival 2023 มหกรรมไอเดียการสอน ความหวังและพลังในตัวครู ซึ่งจัดโดย บริษัท อินสครู จำกัด กำเนิดขึ้น
insKru Festival 2023 จัดขึ้นที่สวนโมกข์กรุงเทพ สวนรถไฟ เขตจตุจักร ในวันที่ 29-30พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่ง The MATTER ได้แวะไปเยี่ยมชมนิทรรศการดังกล่าว และได้เห็นถึงความหวังของเหล่าบุคลากรแวดวงการศึกษาที่ต้องการแชร์ไอเดีย ประสบการณ์ และวิธีการ เพื่อให้ปัญหาทั้งมวลที่ครูไทยเผชิญนั้นได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเสียที
“ปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่ความรับผิดชอบส่วนบุคคล อย่าโทษตัวเองเลยนะ”
ประโยคแรกที่พบเจอหลังเดินเข้าไปในงานของ insKru Festival คือข้อความรีเช็กสุขภาพจิตของตัวเองว่าอยู่ในระดับไหน สาเหตุมาจากอะไร หากใครพบว่าระดับอาการ Burn Out ของตัวเองสูงมากแล้วก็สามารถเดินเข้าไปรับยา
“มีหมอมาตรวจให้เหรอคะ” เราถามออกไปด้วยความตกใจว่า งานนี้เล่นใหญ่ขนาดนั้นเชียว แต่สตาฟประจำบูธยิ้มให้และบอกว่า “ไม่ใช่ยาแบบนั้นค่ะ ลองเดินเข้าไปดูได้นะคะ”
เพราะอยากรู้ว่ายาที่ได้รับจะเป็นแบบไหน เราจึงเดินเข้าไปในช่องรับยา ก่อนจะพบว่า ‘ยา’ ที่ว่าคือ แคปซูลขนาดกลาง ที่เมื่อแกะดูข้างในแล้วจะเจอข้อความส่งกำลังใจให้กับครูมากมาย
และใช่ว่าเราจะต้องเป็นผู้รับกันแต่เพียงฝ่ายเดียว เราสามารถเขียนให้กำลังใจ หรือระบายความอัดอั้นที่มีลงบนโพสต์อิท และแปะติดไว้บนบอร์ดได้ เพื่อให้ผู้รับยาคนอื่นๆ ได้เข้ามาอ่านและรู้ว่า พวกเขาไม่ได้สู้กันเพียงลำพัง
เดินต่อไปอีกสักพัก เราเจอตะแกรงขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยกระดาษสีขาว มองดูใกล้ๆ ถึงรู้ว่า กระดาษเหล่านี้คือ ‘ใบลาออก’ ของคุณครูทั้งหลาย
“การทำงานซ้ำซ้อน ยึดติดกับระบบเก่าๆ รูปแบบเดิมๆ ไม่มีการพัฒนาตามยุคสมัย ไม่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ”
“ภาระงาน ปัญหาเรื่องการพัฒนางานให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น จึงขอลาออก เพื่อไปบรรจุเป็นข้าราชการครู เพื่อพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น มีความมั่นคงมากขึ้น”
“การกระจายงานที่ไม่เป็นธรรม ความไม่เสมอภาคในการประเมินหรือการเลือกปฏิบัติกับครู”
สารพัดข้อความระบุสาเหตุของการลาออกของครู ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในระบบการศึกษาที่เป็นตัวบีบรัดให้ครูเผชิญกับปัญหา จนสุดท้ายต้องลาออกกันไป
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีวงล้อตารางในชีวิตประจำวันของครู ซึ่งตัวโครงเป็นวันและตารางเวลาในหนึ่งวันที่ครูควรได้รับ แต่ก็มีตระกร้าแผ่นป้ายที่จะให้ครูแต่ละท่าน สามารถนำไปคล้องเลือกช่วงเวลาเองได้ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ชีวิตจริงของครู ต้องทำอะไร
ตัวอย่างเช่น เวลา 16.00 น. ครูควรจะได้เตรียมการสอนสำหรับคลาสต่อไปให้กับนักเรียน เพื่อให้การสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ครูหลายท่านกลับเอาแผ่นป้ายที่เขียนว่า ‘เฝ้าเวรกลางคืน’ ไปใส่ในช่วงเวลาดังกล่าวแทน เพราะนั่นคือชีวิตจริงของครู
ขณะเดียวกัน ในงานยังมีโซนสำหรับเล่นบอร์ดเกมอีกด้วย โดยจะมีบอร์ดเกมในหลากหลายรูปแบบ ทั้งบอร์ดเกมที่สามารถนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ และบอร์ดเกมที่ช่วยเป็นไอเดียให้ครูนำไปต่อยอดเองได้ เช่น บอร์ดเกมเรื่อง ‘ทุกข์ของชาวนา’ ซึ่งเป็นวรรณคดีเรื่องหนึ่งของชั้น ม.4 และบอร์ดเกมนี้ก็มีเป้าหมายให้นักเรียนเข้าใจถึงความยากลำบากของชาวนา และมองเห็นเนื้อหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นเช่นกัน
หรือจะเป็นการ์ดเกมผจญภัยหาเงิน ที่จะช่วยให้นักเรียนได้ฝึกวางแผนการลงทุนและการออมของตัวละครผ่านเกม โดยมีการคำนวณและวางแผนระยะยาวที่จะได้กำไร ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้เรื่องราวการเงินอย่างสนุกได้
ความสนุกในงานไม่ได้จบอยู่แค่ชั้นแรก เมื่อเราเดินขึ้นไปยังชั้นสองยังพบกับโซนน่าสนใจอีกมากมาย เช่น จุดที่ให้ครูได้ประเมินความสัมพันธ์ของตัวเองกับนักเรียน ด้วยการผูกโบสีต่างๆ เข้ากับตระแกรง โดยแต่ละสีมีความหมายแตกต่างกันไป
- สีเหลือง: ชั้นให้คำปรึกษากับนักเรียนและสร้างความสัมพันธ์กับเขา
- สีน้ำเงิน: เข้าใจนักเรียนอยู่ลึกๆ ไม่ใช้อำนาจกับนักเรียนแต่ก็ไม่ได้เข้าหาสร้างความสัมพันธ์กับเขา
- สีแดง: ฉันนั้น ดุ ดุ ดุ แต่ว่าฉันหวังดีกับนักเรียน ช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จ
- สีเขียว: ฉันเป็นสายตลก สอนกี่ทีก็ตลกเด็กขำ แต่เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเด็กมีปัญหาอะไรในชั้นเรียน
การผูกโบสีต่างๆ นี้ไม่ได้เป็นเครื่องชี้ชัดว่าวิธีการไหนดีที่สุด แต่เมื่อมองผลงานที่ครูหลายท่านผ่านมาทำไว้ก่อนแล้วนั้น ก็จะทำให้เห็นว่า ครูหลายท่านใช้วิธีการที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งข้อความประจำบูธจะช่วยย้ำเตือนว่า การมีความสัมพันธ์ที่สนับสนุนซึ่งกันและกันนั้น จะเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนได้
อีกโซนหนึ่งที่น่าประทับใจไม่แพ้กันคือ ‘ส่องไอเดียใน insKru’ ซึ่งมีการนำแผ่นป้ายไอเดีย พร้อม QR Code ให้สแกนดูข้อมูลที่เป็นไอเดียในการนำมาใช้สอนในห้องเรียนได้
เผื่อใครนึกภาพไม่ออก ไอเดียที่เราเห็นว่าน่าสนใจ ก็มีตัวอย่างเช่น ‘Attack on Titan สอนอะไรได้บ้าง?’ ซึ่งเมื่อสแกนเข้าไปดูจะพบไอเดียในการนำการ์ตูนยอดฮิตมาใช้สอนในวิชาคณิตศาสตร์ ด้วยการคำนวณพื้นที่ของเมืองในเรื่อง ออกแบบวิธีคำนวณความสูงของไททัน หรือในวิชาสังคมก็สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ชนชั้นทางสังคมในเมืองพาราดีแล้วเชื่อมโยงกับสังคมไทยและโลกได้ รวมไปถึง ยังนำมาสำรวจปัญหาการเหยียดเชื้อชาติได้อีกด้วย
หรืออีกประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือการนำเรื่อง ‘ความหลากหลายทางเพศ’ มาสอดแทรกในห้องเรียน ซึ่งสามารถสอนให้นักเรียนเข้าใจเรื่องนี้ได้ ผ่านการชวนให้นักเรียนช่วยกันตั้งคำถามในประเด็นต่างๆ เช่น ชวนตีความคำว่าสถาบันครอบครัว ทำไมต้องเป็นแบบ พ่อ-แม่-ลูก มีรูปแบบอื่นอีกไหม หรือนำมาใช้ในการเรียนวิชาภาษา ด้วยการชวนเด็กๆ มาลองสวมหมวกเป็นคนอื่น แล้วทำความเข้าใจกับ ‘สรรพนาม’ ที่ใช้ระบุตัวตน เป็นต้น
นอกจากตัวอย่างที่ยกมานี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมาก เช่น จะสอนเด็กอย่างไรโดยไม่ต้องสั่งการบ้าน จะค้นหารูปแบบการสอนที่เหมาะกับตัวเองอย่างไร เรียกได้ว่า ไม่ทำให้ใครต้องสิ้นไร้หนทางในการสอนแน่นอน ซึ่งสตาฟประจำโซนนี้บอกกับเราว่า ไอเดียทั้งหมดที่อยู่บนเว็บไซต์ของ insKru นั้น มีมากถึง 8,000 แบบด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการจัดแสดงศิลปะจัดตั้ง ที่นำเอากระดาษการตรวจทรงผม และกองเส้นผมจริงจำนวนมหาศาล มากองรวมกัน ซึ่งแม้ว่างานในส่วนนี้จะไม่ได้มีคำบรรยายชัดเจน แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการลิดรอนสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของนักเรียน ซึ่งเกิดจากการที่ครูเองก็ถูกระบบบีบบังคับให้ต้องปฏิบัติกับนักเรียนเช่นนั้นเหมือนกัน
เราเดินขึ้นไปถึงชั้นสามของนิทรรศการ เพื่อพบกับนิทรรศการที่จะให้เราได้ทบทวนตัวเองอีกครั้ง สตาฟผู้ดูแลบอกเราว่าเราจะได้เจอกับข้อความมากมาย ให้ใช้เวลาได้เต็มที่กับการทบทวนตัวเองและตอบคำถามเหล่านั้น โดยจะมีม่านกั้นสำหรับแต่ละคำถามไว้ หากเราเห็นด้วยกับข้อความที่อยู่ตรงหน้า ก็ให้มัดผ้าทางซ้าย หากไม่ก็มัดผ้าทางขวา … ทิ้งคำตอบไว้ให้คนที่เดินตามมาได้เห็น
คำถามที่เราพบเจอมีทั้ง “ครูไม่ควรแสดงอารมณ์โกรธ” “ครูไม่ควรเล่นกับเด็ก” “ครูก็ผิดพลาดได้” “เด็กบางคนก็คิดไม่ได้จริง” “ทุกปัญหาในชั้นเรียนจัดการได้โดยวิธีเชิงบวก” เป็นต้น โดยย้ำว่า คำตอบของแต่ละคน ไม่มีถูกหรือผิด ไม่มีการตัดสิน เพียงแต่เป็นคำถามที่ชวนให้ทบทวนตัวเองและถกเถียงกับผืนผ้าที่มีร่องรอยคำตอบของคนที่เข้าชมก่อนหน้าเท่านั้น
และเมื่อเดินจนสุดทางแล้ว จะพบกับแผ่นป้ายที่สะท้อนให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า ‘ครู’ แต่ละคน เป็น ‘ครู’ แบบไหน มีความเชื่อและจุดยืนแบบไหน เพราะความคิดเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความสัมพันธ์ในชั้นเรียน นิยามห้องเรียน และบทบาทของครูต่อสังคมด้วย
ช่วงท้ายของนิทรรศการ ยังมีแผ่นข้อความคล้ายโปสการ์ดให้เราเขียนทิ้งท้ายแล้วไปผูกไว้กับก้อนเมฆ ซึ่งมีข้อความเขียนเอาไว้ก่อนหน้านั้นว่า “แขวนแล้วจะเป็นจริง …ขอให้ทุกๆ ความตั้งใจเป็นไปได้” ที่เมื่อเราเดินสำรวจดูแล้ว จะพบหลากข้อความที่เต็มไปด้วยความหวัง ความตั้งใจ และความอัดอั้นที่ต้องการเปลี่ยนแปลงให้การศึกษาไทยดีขึ้น
“สู้ๆ เพื่อเด็กๆ”
“เปลี่ยนห้องเรียน = เปลี่ยนประเทศ”
“จงอย่าหมดหวัง การศึกษาไทยดีกว่านี้ได้”