คำว่าปฏิรูป หรือ reform มีรากจากภาษาละตินว่า reformo หมายถึงการ ‘ปรับปรุง’ หรือ ‘แก้ไข’ สิ่งที่ผิดพลาด ฉ้อฉล ไม่เป็นที่พึงพอใจ ฯลฯ เพื่อให้มันดีขึ้น ดังนั้น คำนี้จึงมีความหมายโดยรวมหมายถึง ‘การสร้างความเปลี่ยนแปลง’ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงที่สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้ก็เพื่อ ‘ซ่อมสร้าง’ ให้เกิดสิ่งที่ดีกว่าขึ้นมา
การปฏิรูปจึงไม่เท่ากับการล้มล้าง เพราะการล้มล้างไม่ได้พยายามแม้แต่จะ ‘ซ่อม’ และไม่ได้ ‘สร้าง’ อะไรขึ้นมาใหม่ มันทำเพียงแค่ ‘ล้ม’ กับ ‘ล้าง’ สิ่งอื่นๆ เท่านั้น
มนุษย์ที่มองเห็นแต่มิติของการล้มล้าง ย่อมไร้ความสามารถที่จะเห็นความพยายามเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีกว่าในบริบทที่เปลี่ยนไปได้ และมักพยายาม ‘ล้มล้าง’ การเปลี่ยนแปลงนั้น โดยโยนข้อกล่าวหาล้มล้างใส่อีกฝ่าย
ที่จริงแล้ว ในมนุษย์ที่มีสำนึกใฝ่ดีและเปิดกว้าง สิ่งที่เรียกว่า ‘การปฏิรูป’ โดยเฉพาะปฏิรูปตัวเอง ควรเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และทาบสนิทเป็นเนื้อเดียวกับชีวิตด้วยซ้ำ
ในปรัชญาเซ็นแบบญี่ปุ่น มีคำที่เรียกว่า ‘ไคเซ็น’ (Kaizen) หมายถึงการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีที่สุด (หรือ change for the Best) ทว่าแม้จะหมายความถึงการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีที่สุด แต่ปรัชญาเซ็นก็รู้อยู่เต็มอกว่า โลกนี้ไม่มีอะไรที่ ‘ดีที่สุด’ ที่สามารถสถิตนิ่งลอยเหนือพ้นทุกสิ่งทุกอย่างได้ ไม่มีอะไรที่ ‘แข็งตัว’ อยู่กับความดีงามแบบสัมบูรณ์ สูงส่งเสียจนไม่มีอะไรแตะต้องได้ตลอดเวลาและตลอดไป
ในปรัชญาพุทธ ก็มีแนวคิด ไม่มีอะไรจีรัง แต่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้น ไคเซ็นจึงคือการบอกเราว่า มนุษย์ต้องรู้จัก ‘เปลี่ยน’ แม้วางความฝันของตัวเองเอาไว้ตรงปลายทางที่ ‘สิ่งที่ดีที่สุด’ แต่ต้องตระหนักรู้ให้ได้ว่าสิ่งนั้นไม่มีวันไปถึง เพราะไม่มีอะไร ‘ดีที่สุด’ ตลอดกาลได้จริง มนุษย์จึงมีชีวิตอยู่บนการเปลี่ยนแปลงอันเป็น ‘หนทาง’ เป็นเรื่องที่ต้องเดินต่อไปเรื่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทีละเล็กละน้อย เหมือนที่ ติช นัท ฮันห์ สอนเราด้วยคำสอนของพุทธแบบเซ็นว่า เพียงเรายิ้มเล็กน้อย โลกก็จะเปลี่ยนไปเล็กน้อยด้วยเหมือนกัน
ไคเซ็นก็เป็นแบบนั้น มันคือการนำเอา form มา re หรือ ‘สร้างใหม่’ ให้เกิดเป็นคำว่า reform ที่ ‘ใหม่’ ทั้งเนื้อหาและรูปแบบ โดยยังเห็นเค้าลางของ form แบบเดิมอยู่ นั่นคือมีการสืบทอดรากเดิมมาด้วย reform จึงไม่เคยเป็นการ ‘ล้มล้าง’ เลย
หลายคนอาจคุ้นกับโลกตะวันตกที่เกิดการ reform ใหญ่ๆ เช่น การสังคายนาวาติกัน การปฏิวัติสังคม ฯลฯ แต่ไคเซ็นแบบญี่ปุ่นบอกเราว่า—ไม่ต้องรอเวลาให้เกิดการ reform ครั้งใหญ่หรอก เพราะแต่ละคนสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะส่วนเล็กๆ หรือส่วนใหญ่ๆ และสามารถทำได้ ‘ตลอดเวลา’ ด้วย อะไรทำแล้วผิดก็เปลี่ยนใหม่ได้ คือ ค่อยๆ เรียนรู้ร่วมกันไปทีละนิด
แต่ปัญหาก็คือ—ในโลกนี้มี ‘คนหัวดื้อ’ ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแม้สักกระผีก จะหยัดเท้ายืนยงคงมั่นอยู่ในจุดเดิมที่ปักหลักยืนมาหลายสิบหลายร้อยปีโดยไม่ตระหนักเลยว่าบริบทได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และพยายามบอกคนอื่นๆ ว่า การพยายามปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ คือ การล้มล้าง ปัญหาจึงเกิดขึ้น
ทอดตาย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ โดยมากแล้วการ reform ครั้งใหญ่ ซึ่งหลายคนอาจเรียกว่าเป็นการปฏิวัตินั้น หลายครั้งเกิดขึ้นเพราะเกิดสภาวะ deform (หรือทำให้ผิดรูปผิดร่าง) ในทางสังคม ที่มักสั่งสมไปทีละเล็กละน้อยโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากอำนาจเดิมอยากรักษาสภาวะเดิม (status quo) เอาไว้ ทั้งที่บริบททางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และความเป็นพลเมืองโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว
แต่ในโลกที่กำลังจะกลายเป็น metaverse ที่ถือได้ว่าเป็น super-multiconceptual world คือโลกที่มีหลากหลายมโนทัศน์จนนับไม่ถ้วนตามที่แต่ละคนสรรค์สร้างขึ้นมาอยู่รอมร่อแล้ว การพยายามบอกให้ทุกคนต้องอยู่ในโลกแบบเดิม มีกรอบคิดแบบเดิม มีมโนทัศน์แบบเดิมแบบเดียว จึงไม่ใช่อะไรอื่นเลย นอกจากการแสดงให้เห็นถึงอาการ deform ทางความคิดที่เกิดจากความเร่อร่าล้าหลัง ทว่าพยายาม deformalize คนอื่นๆ ให้อยู่ในสภาวะ deform หรือผิดรูปผิดร่างเหมือนตนไปด้วยในนามแห่งความดีงาม
สภาวะแบบ deform จึงมักเกิดขึ้นเพราะสังคมหนึ่งๆ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แต่พยายามขดตัวขังนิ่งอยู่ในกรอบเดิม จนในที่สุดก็เกิดแรงระเบิดออกมาอย่างรุนแรง นั่นเพราะผู้คนต้องจำทนอยู่กับสภาวะ deform นั้นไป โดยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ และนั่นย่อมอึดอัดขัดข้องอย่างยิ่ง สภาวะแบบนี้จึงอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างที่เราเห็นในโลกตะวันตก เพราะเกิดความเค้นเครียดที่สะสมอยู่ในระบบจนระเบิดออกมา แตกต่างจากการปฏิรูปแบบไคเซ็น ที่คือการ ‘เปลี่ยนแปลงร่วมกัน’ อันมีผลให้สังคมดำเนินไปได้อย่างราบรื่น มีอารยะ และมีความศิวิไลซ์
ดูเหมือนสังคมไทยจะไม่เป็นอย่างนั้น—โดยเฉพาะในมโนทัศน์ของผู้มีอำนาจที่ขังตัวเองอยู่ในโลกแบบ single conceptual world และสุดท้ายแล้ว สภาวะ deform จะนำไปสู่สภาวะ deform ครั้งใหม่ มันคือการทำให้พิการ ทำให้ผิดรูปร่าง ทำให้เสียโฉม ซึ่งเกิดขึ้นก็เพราะฝ่ายที่มีอำนาจมี righteous mind หรือสำนึกว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นและทำคือสิ่งที่ดีที่สุด และผลักไสฝั่งที่เห็นต่างออกไปเป็นปีศาจ เป็นมารชั่วร้าย จนสามารถทำอะไรกับอีกฝ่ายก็ได้ แม้กระทั่งการกำจัดอีกฝ่ายออกไปด้วยทุกกลวิธี
แน่นอน มนุษย์ย่อมไม่จำเป็นและไม่สามารถหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้ เพราะมนุษย์มีความแตกต่างหลากหลายซับซ้อน การพยายามทำความเข้าใจความเห็นต่าง จึงน่าจะเป็นคุณธรรม (virtue) ที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ยุคนี้ ยุคที่เราต้องทำให้การ ‘เห็นต่าง’ เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สุดของการอยู่ร่วมกันให้ได้
ไม่ใช่การพยายามทำให้ทุกคนเห็นเหมือนกับตัวกูของกูของเรา
ดังนั้น สิ่งสำคัญในกระบวนการ reform ที่แท้จริง ซึ่งก็คือการร่วมกันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จึงคือกระบวนการ ‘ตรวจสอบตัวเอง’ (และฝั่งของตัวเอง) ที่เข้มแข็งและปลอดอคติพอสมควร (ไม่ได้บอกว่าต้องไร้อคตินะครับ เพราะน่าจะเป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับมนุษย์ทุกคน) โดยกระบวนการ ‘ตรวจสอบตัวเอง’ (และฝั่งของตัวเอง) นั้น ต้องพยายามให้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอด้วย โดยเฉพาะตรวจสอบคนที่เราเห็นว่าเป็น ‘ผู้นำ’ หรือถูกจัดวางเอาไว้ในที่ทางที่แตะต้องไม่ได้ เพื่อให้เห็นว่าแนวคิดของเราอยู่ในสภาวะ deform หรือเปล่า แล้วพยายาม reform หรือจัดเรียงสิ่งต่างๆ เสียใหม่ เพื่อให้มีความอดทน (resilience) ต่อการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น ไม่ใช่ปกป้องด้วยวิธีที่ยิ่งก่อให้เกิดสภาวะ deform มากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะสภาวะ deform ในทางกฎหมาย อันเป็นกฎกติการ่วมของสังคม ที่หากตัวแกนกลางนี้บิดเบี้ยวไป ย่อมเท่ากับคือหนทางสู่อันตรายอย่างยิ่งยวดโดยแท้
Illustration by Kodchakorn Thammachart