คำเตือน: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเกม Legal Dungeon
ในยุคที่นิติรัฐและกระบวนการยุติธรรมในไทยถูกตั้งคำถามดังขึ้นเรื่อยๆ ว่าเสื่อมจนถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง เกมที่นำมิติต่างๆ ของกระบวนการยุติธรรมออกมาตีแผ่น่าจะยังเป็นที่สนใจของเกมเมอร์ชาวไทยไปอีกนาน ในคอลัมน์นี้ผู้เขียนเคยเขียนถึงเกมที่มีแง่มุมน่าสนใจในด้านนี้ ตั้งแต่ประเด็นความหมายของกฎกติกาและหลักนิติรัฐ (ตอนที่เขียนถึงเกม Baba Is You) แนวคิดเรื่องความยุติธรรม (เขียนถึงเกม Tyranny) กระแสตุลาการภิวัตน์และความเป็นมนุษย์ของผู้พิพากษา (เขียนถึงเกม We: The Revolution) ตลอดจนแรงจูงใจและจริยธรรมของตำรวจ (เกม L.A. Noire)
อย่างไรก็ดี ในบรรดาเกมเกี่ยวกับระบบยุติธรรมทั้งหมดที่ได้เล่น เกมที่ทำให้รู้สึก ‘ใกล้ตัว’ มากที่สุด เพราะเหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นในเกมช่างละม้ายคล้ายกับความท้าทายทางศีลธรรมที่ตำรวจไทยต้องเผชิญ ไม่ใช่เกมมหากาพย์กราฟิกเทพใดๆ หากเป็นเกมอินดี้จิ๋วแต่แจ๋ว ฝีมือดีไซเนอร์ตัวคนเดียวจากเกาหลีใต้
Legal Dungeon เป็นผลงานชิ้นเอกของตำรวจตัวจริงผู้ใช้นามแฝงว่า SOMI เวลาที่เขาออกแบบเกมยามว่าง เกมนี้ให้เราเล่นเป็นตำรวจระดับสารวัตร หัวหน้าทีมสอบสวนคนหนึ่งในเกาหลีใต้ มีหน้าที่กรอกข้อมูลคดีอาญาและหลักฐานที่ได้จากการสอบสวนของลูกทีมเข้าระบบคอมพิวเตอร์ จากนั้นซักถามผู้ต้องหาในฉากการ์ตูนที่จำลอง ‘การต่อสู้’ แบบในเกมสวมบทบาท ฝ่ายเราและผู้ต้องหามี G (แทนทองคำ) และ H (แทนค่าพลังชีวิต) แต่ละยกเราจะต้องลากประโยคมาตอบคำถาม ข้อมูลที่เราใช้จะตัดสินว่าสุดท้ายเราจะเสนอให้อัยการฟ้อง (พลังชีวิตผู้ต้องหาเหลือศูนย์) หรือไม่ฟ้อง (พลังชีวิตผู้ต้องหาเต็มเปี่ยมเพราะได้โล่ช่วย) และดูผลลัพธ์ว่าอัยการทำตามข้อเสนอของเราหรือไม่ และถ้าคดีขึ้นสู่ชั้นศาล สุดท้ายศาลพิพากษาให้ผิดหรือไม่ผิดเพราะอะไร
ดูเผินๆ น่าเบื่อไม่น้อย เพราะทั้งเกมให้เราจ้องจอคอมพิวเตอร์(ในเกม) อ่านเอกสารยาวหลายสิบหน้าในสำนวนการสืบสวนของตำรวจ คอยคลิกเมาส์ลากประโยคต่างๆ ในเอกสารเหล่านั้นมาตอบคำถามในระบบ เช่น ที่อยู่ของผู้ต้องหา ฐานความผิดตามกฎหมายอาญา(เกาหลีใต้) ข้อต่อสู้ของผู้ต้องหา คำตัดสินศาลในคดีคล้ายกันก่อนหน้านี้ ฯลฯ แต่ความสนุกของเกมนี้อยู่ที่ความสมจริงของรายละเอียดต่างๆ ในคดีอาญา ซึ่งทั้งหมดมี 8 คดี ทุกคดีซับซ้อนซ่อนเงื่อนและตีความได้หลายทาง ข้อมูลในคดีให้ทั้งความรู้และแง่คิดมากมายเกี่ยวกับระบบกฎหมายเกาหลีใต้ หลักนิติรัฐ รวมถึง ‘การเมือง’ ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีผลต่อแรงจูงใจของเราในเกมและฉากจบ ซึ่งมีมากถึง 14 แบบ สร้างแรงจูงใจชั้นดีให้กลับมาเล่นใหม่ได้เรื่อยๆ เพื่อค้นหาฉากจบให้ครบ
ความสมจริงของรายละเอียดและความน่าสนใจของทุกคดีทำให้การเล่น Legal Dungeon เหมาะมากกับการใช้สอนตำรวจรุ่นใหม่ นักเรียนกฎหมาย และคนทั่วไปที่สนใจหลักกฎหมายพื้นฐานและงานของตำรวจ แม้แต่คดีที่ดูพื้นๆ ยังมีแง่มุมที่น่าสนใจในเกมนี้ ยกตัวอย่างเช่น ในคดีแรกของเกมซึ่งค่อนข้างง่ายเพราะเป็นฉากสอนระบบเกม เราต้องตัดสินใจว่า การหลุดคำผรุสวาทด่าตำรวจว่า “bacon shit!” (ซึ่งฟังแล้วไม่เห็นจะหยาบคายตรงไหน แต่คงเป็นปัญหาของการแปลจากภาษาเกาหลีเป็นอังกฤษ ทำให้สูญเสียความหมายดั้งเดิม) ในสถานีตำรวจซึ่งมีพยานรู้เห็นเป็นตำรวจคนอื่นๆ หกคนนั้นเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ AI ผู้ช่วยในเกมจะเตือนเราว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นดูที่เนื้อหาคำพูดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องประเมินด้วยว่าคนพูดกล่าวใน “ที่สาธารณะ” หรือไม่ เราจะตัดสินว่าผู้ต้องหา “ผิด” หรือ “ไม่ผิด” ในกรณีนี้ก็ได้ สำนวนของตำรวจมีหลักฐานมากพอให้เราตัดสินใจทั้งสองทาง
ในคดีแรกๆ อีกคดี เราจะทำคดีเกี่ยวกับการขโมยหนังสือพิมพ์แจกฟรี กระทำการโดยปู่กับหลานสาว คดีนี้เราต้องหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจตั้งแต่ว่า การขโมยหนังสือพิมพ์แจกฟรีนับเป็นการ ‘ขโมย’ หรือเปล่า หลานสาวควรถูกฟ้องไปด้วยหรือเปล่าในฐานะผู้สมรู้ร่วมคิด ถ้าผู้ต้องหาจะงัดข้ออ้างที่ว่า ‘ไม่รู้กฎหมาย” ขึ้นมา ในคดีนี้มีเหตุมีผลที่ฟังขึ้นมากพอหรือไม่ ผลลัพธ์ในเกมนี้ออกได้มากถึงสามทาง เกมจะขึ้นบอกเราอย่างชัดเจนว่ามีกี่ทางเมื่อจบคดี คล้ายกับหน้าจอแสดง decision tree ในเกม Papers, Please ถ้ากลับมาเล่นคดีนี้อีกรอบเราจะไม่ต้องกรอกข้อมูลพื้นฐานอีก ไปที่ฉากซักถามผู้ต้องหาเลยเพื่อย่นเวลา
คดีถัดมาน่าสนใจกว่านั้นอีก ชายคนหนึ่งฆ่าตัวตายหลังจากที่สั่งยาที่ทำให้ตายจากออนไลน์ เพื่อนของเขาเข้าแจ้งความขอให้ตำรวจจับพ่อค้าออนไลน์ที่เขาปักใจเชื่อว่าขายยาชุดนั้นให้เพื่อน ในข้อหา “สนับสนุนให้ฆ่าตัวตาย” (aiding and abetting) เราต้องตัดสินใจว่า มีหลักฐานมากพอไหมที่บ่งชี้ว่าพ่อค้าออนไลน์คนนี้น่าจะขายยาฆ่าตัวตายให้ผู้ตายจริง เขาโพสต์ข้อความจูงใจหรือช่วยเหลือให้ผู้ตายฆ่าตัวตาย ในทางที่เข้าเค้าว่า “สนับสนุน” ให้ฆ่าตัวตายหรือไม่ และสุดท้ายเราจะเสนอให้อัยการฟ้องหรือไม่ฟ้อง
ความสมจริงของคดีทุกคดีใน Legal Dungeon ว่าเจ๋งแล้ว สิ่งที่เจ๋งกว่านั้นอีกก็คือ เกมนี้สะท้อนด้านมืดของระบบยุติธรรมเกาหลีใต้อย่างชัดเจนผ่านระบบเกม เราจะได้เรียนรู้ตั้งแต่ฉากแรกๆ ว่า ‘ผู้ใหญ่’ ในเกาหลีใต้มีอำนาจและอิทธิพลมหาศาล เป็นที่ยำเกรงของตำรวจชั้นผู้น้อย และเราจะถูกผู้บังคับบัญชากดดันให้ ‘ฟ้อง’ คดีให้ได้มากที่สุดเพื่อทำ ‘แต้ม’ ตามระบบการประเมินผลการดำเนินงานของกรมตำรวจ ถึงแม้ว่าเราอาจมองว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอ หรือไม่เข้าข่ายฐานความผิดก็ตาม
ถ้าเราตัดสินใจไม่ฟ้องผู้ต้องหา เราอาจได้คะแนน “ความแม่นยำทางกฎหมาย” (legal precision) ดีขึ้น แต่คะแนน “ผลงาน” (performance) แย่ลง เพราะเป้าหมายของสำนักงานคือการสั่งฟ้องคดี ถ้าคะแนนผลงานตกถึงตัว F เราจะถูกให้ออกจากงาน และเกมก็จะปิดฉากลง ด้วยเหตุนี้เล่นไปไม่นานเราจะเริ่มรู้สึกถึงความอิหลักอิเหลื่อทางศีลธรรม เริ่มใช้พยานแวดล้อมหรือ ‘พิรุธ’ เป็นข้อมูลประกอบการสั่งฟ้อง แทนที่จะใช้พยานหลักฐานที่แน่นหนา เพียงเพราะว่าอยากเป็นตำรวจต่อไป
ผลลัพธ์ตั้งแต่ของคดีแรกๆ ตลอดจนบทสนทนาระหว่างเรากับลูกทีมระหว่างทางที่คั่นระหว่างคดี ชี้ชัดว่าระบบกฎหมายของเกาหลีใต้ไม่ใช่เป็นเรื่องของความยุติธรรมเท่ากับเป็นเรื่องของการสร้างผลงาน เพราะ ‘ตัวชี้วัด’ ความยุติธรรมมีปัญหา นอกจากนี้บางครั้ง ‘ตัวบท’ ของกฎหมายก็เป็นปัญหาเช่นกัน บางครั้งการตีความตามตัวบทกฎหมายเป๊ะๆ จะทำให้เรารู้สึกแย่ว่าอาจตัดสินใจผิด
กฎหมายจึงอาจกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางคนธรรมดาที่ไม่มีเจตนาร้าย เพียงเพื่อจะทำให้ตำรวจ ‘ดูดี’ ในสายตาของนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพล และเมื่อเราต้องตัดสินใจว่าจะปล่อยผู้ต้องหาดีไหม ด้วยเหตุผลว่าเขาเป็นลูกชายของผู้มีอิทธิพลที่สามารถตัดจบอาชีพเราได้ดื้อๆ เมื่อนั้นเราก็จะถึงบางอ้อว่า แรงจูงใจและจริยธรรมของผู้พิทักษ์กฎหมายนั้นไม่ใช่เรื่องขาวดำแม้แต่น้อย
SOMI ผู้ออกแบบเกมนี้ เขียนอธิบายวิธีคิด กระบวนการออกแบบเกม และสิ่งที่เขาอยากให้ผู้เล่น Legal Dungeon ได้รับ ในบทความขนาดยาวบนเว็บไซต์ Gamasutra อย่างน่าสนใจ ผู้เขียนแปลและเรียบเรียงมาบางส่วน –
“ผมเรียนเอกนิติศาสตร์ตอนอยู่มหาวิทยาลัย และวันนี้ยังทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ในชีวิตการทำงาน ผมปรารถนาที่จะแบ่งปันความคิดและความรู้สึกของผมให้คนอื่นได้รับรู้ โดยเฉพาะความรู้สึกผิดที่ผมรู้สึกตลอดเวลาที่เป็นผู้พิทักษ์กฎหมาย
“ผู้เล่นใน Legal Dungeon มีหน้าที่กรอกเอกสารชื่อ ‘ผลการสอบสวน’ หลังจากที่อ่านข้อมูลคดีนั้นๆ จากพนักงานสอบสวน เนื่องจากเพื่อนร่วมงานของคุณปิดสำนวนการสอบสวนไปแล้ว เกมนี้จึงไม่มีส่วนไหนที่มีข้อมูลใหม่อย่างเช่นการเจอเบาะแสเพิ่มเติม หรือวิ่งไล่จับอาชญากร ผู้เล่นต้องอ่านเอกสารเพื่อดูว่าผู้ต้องหาและพยานให้การว่าอย่างไร ตำรวจพบเบาะแสอะไรบ้าง ผู้ต้องหาควรถูกตั้งข้อหาอะไร มีปัจจัยอะไรบ้างที่จำเป็นต่อการก่ออาชญากรรม รวมทั้งศึกษาผลการตัดสินของศาลในคดีคล้ายกันที่ผ่านมาด้วย
“กระบวนการนี้คล้ายกับบทบาทของตำรวจที่เป็นหัวหน้าทีมมือปราบจริงๆ ในเกาหลีใต้ นอกจากนี้ CIS หรือระบบข้อมูลอาชญากรรมในเกม ยังแทบจะเหมือนระบบ KICS ซึ่งตำรวจเกาหลีใต้ตัวจริงใช้ทุกกระเบียดนิ้ว คดีอาญาแต่ละคดีเดินเส้นเรื่องของเกมไปข้างหน้า ทุกคดีเป็นประเด็นจริงๆ ที่เกิดในโลกจริง ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้เล่นสามารถเข้าถึงความรู้สึกและงานที่ตำรวจทั่วไปต้องทำ ตัดสินว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องด้วยแนวทางที่คล้ายกัน เท่ากับว่าเกมนี้ผลิตซ้ำตรรกะของการตัดสินใจของตำรวจตัวจริง
“แน่นอนครับ ผมคิดว่ากระบวนการผลิตซ้ำนี้ต้องปรับเปลี่ยนบางอย่างเพื่อให้เข้ากับความเป็นเกม การพิมพ์ตัวหนังสือถูกแทนที่ด้วยระบบคลิกลากประโยค เป้าหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บรรยากาศของการทำงานในระบบ แรงกดดันที่ไม่มีใครเอ่ยถึง และอคติทั้งหลายทั้งปวงถูกส่งต่อซึมซับไปยังผู้เล่น ผ่านตัว AI ผู้ช่วยในเกม
“ผมโค้ดเกมทำงานเอกสารน่าเบื่อนี้ขึ้นมาทำไม? ผมอยากถามผู้เล่นว่า พวกเขาเชื่อจริงๆ หรือเปล่าว่ามีทางเลือก อยากรู้ว่าพวกเขาจะสามารถเลือกตัวเลือกอื่นได้หรือเปล่าที่แตกต่างจากมโนทัศน์ของตำรวจทั่วไป ถ้าหากได้ประสบกับสภาพแวดล้อมแบบเดียวกันเป๊ะในโลกจริง
“ผมได้ความคิดที่จะทำเกมนี้จากการอ่านข่าวชิ้นหนึ่งเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.2010 ผู้กำกับสถานีตำรวจยางโชนในเกาหลีใต้ออกมาเรียกร้องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งกรุงโซลลาออก เขาให้เหตุผลว่าผู้บัญชาการตำรวจคนนี้เคี่ยวกรำรีดเค้นผลลัพธ์การทำงานมากเกินไป ในสถานีตำรวจตอนนั้นมีตำรวจ 4 คนที่ถูกจับในข้อหาซ้อมทรมานและล่วงละเมิดผู้ต้องสงสัย เพียงเพราะอยากเพิ่มตัวเลขอัตราการจับกุม หลังจากที่เกิดกรณีนี้ ตำรวจคนที่ออกมาชี้เบาะแสถูกไล่ออก และผู้บัญชาการก็ไม่ลาออก ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การเน้นตัวเลขอัตราการจับกุมยังคงเป็นหลักเกณฑ์ข้อสำคัญที่สุดในการประเมินผลงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
“ตอนที่ผมออกเวอร์ชั่นต้นแบบของเกมนี้ ผมให้ผู้เล่นมีปุ่มง่ายๆ สองปุ่มเท่านั้น คือ โจมตี และ เมตตา คำตอบของผู้เล่นส่วนใหญ่แตกต่างจากคำตอบของตำรวจตัวจริงมาก ผู้เล่นไม่ดิ้นรนอยากได้แต้ม(จากการสั่งฟ้อง) ไม่ว่าระบบเกมจะพยายามชี้ให้เห็นความจำเป็นของการเพิ่มแต้มการจับกุมในระบบเน้นผลลัพธ์ขนาดไหน นอกจากนี้ในโลกจริง การตัดสินใจไม่ได้เกิดขึ้นด้วยคลิกเดียว ในชีวิตจริงมันซับซ้อนกว่านั้นมาก คนเรามักจะทำตามเสียงส่วนใหญ่ ผมเลยต้องคิดระบบเกมใหม่
“สุดท้าย ผมเปลี่ยนระบบใน Legal Dungeon ไม่ให้ผู้เล่นรู้ว่าจุดที่พวกเขาตัดสินใจจริงๆ คือจุดไหน ไม่มีปุ่มอะไรในเกมที่แปะป้าย สั่งฟ้อง หรือ ปล่อยตัวไป ผู้เล่นเลือกได้แต่เพียงว่าจะลากเบาะแสชิ้นไหนมาใส่แบบฟอร์มสุดท้าย นั่นหมายความว่าถ้าคุณเลือกเบาะแสที่พิสูจน์ว่าผู้ต้องหาผิด สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นการสั่งฟ้อง ถ้าคุณเลือกเบาะแสที่ชี้ว่าเขาบริสุทธิ์มากกว่า สุดท้ายคุณก็จะปล่อยตัวเขาไป ผมทำให้การลากข้อความกลายเป็นการตัดสินใจโดยไม่รู้ตัว
“ในกระบวนการนี้ ผมคิดว่าผมสามารถทำให้คนรู้สึกได้ถึงความรู้สึกผิด ความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง และความละอายแก่ใจที่เกิดจากการตัดสินใจของตัวเอง การตัดสินใจฟ้องครอบครัวยากจนว่าเป็นขโมย เพียงเพื่อจะเอาแต้ม 5 แต้มในระบบ
“Legal Dungeon เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับระบบ ในเกาหลีใต้มีตำรวจที่ละทิ้งกฎหมายและศีลธรรม ทรมานผู้ต้องสงสัยที่บริสุทธิ์เพื่อทำแต้ม มีตำรวจที่ใช้พลเมืองเมาแอ๋ที่นอนเกลือกกลิ้งบนถนนเป็น ‘เหยื่อล่อ’ หัวขโมย แทนที่จะช่วยเหลือพวกเขา มีตำรวจที่ไม่จับผู้ชายที่ล่วงละเมิดทางเพศซ้ำซ้อนเพราะอัตราการจับซ้ำ (re-conviction) ทำให้คะแนนของพวกเขาลดลง ประเด็นก็คือพวกเขาไม่ใช่มารร้ายมีเขาเลย เป็นเพียงคนทำงานที่ไม่คิดเอง ทำตามคำสั่งเท่านั้น แล้วอะไรกันเล่าที่ทำให้พวกเขาไม่แยแสต่อมนุษยธรรม ใครกันแน่ที่เป็นอาชญากรตัวจริง
“ผมไม่มั่นใจว่าอาชญากรคือคนอื่นที่ไม่ใช่เรา ดังที่ ฮันนา อาเรนด์ท์ ว่าไว้ว่า ความดาษดื่นของความชั่วร้ายมาจากการไม่คิด ถ้าหากว่าคุณคิดและทำตามมโนธรรมสำนึกของตัวเอง คุณจะเอาชนะในเกมนี้ไม่ได้ การตัดสินใจทางศีลธรรมจะทำให้เกมตัดจบ ถ้าคุณได้รางวัลทุกอย่างในเกม ได้เหรียญในเกมนี้ด้วยการล่อลวงผู้ต้องสงสัยแต่ละคน คุณก็ควรจะคิดถึงความแตกต่างระหว่างตัวคุณเอง กับตำรวจที่ทรมานผู้ต้องสงสัยเพื่อทำแต้ม
“เรื่องทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการตัดสินใจทางศีลธรรมควรจะตั้งอยู่บนความจริง แต่ระหว่างที่ออกแบบเกมนี้ ผมก็กังวลว่าอาจใช้ความทุกข์ยากของคนอื่นสำหรับการสร้างสรรค์ของตัวเอง ผมปรับแก้เรื่องราวในเกมหลายครั้งเพราะกลัวว่าการพูดถึงคดีและเหตุการณ์บางอย่างอาจกลายเป็นการซ้ำเติมคนอื่นที่เคยเจ็บปวดมาก่อน …แต่ผมก็ยังทำเกมนี้ออกมา เพื่อที่ว่าความตายของคนจริงๆ จะได้ไม่สูญเปล่า และอาชญากรตัวจริงจะได้เผยโฉม”