1
หนึ่งในคำพูดที่น่าสนใจในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คือการอภิปรายของ สุทิน คลังแสง ส.ส. เพื่อไทย ที่พาดพิง ‘เนติบริกร’ อย่างวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อย่างถึงพริกถึงขิงโดยระบุว่าระบอบการเมืองทุกวันนี้เป็น “วิษณุรัฐ” รับรองผิดเป็นถูก รับรองดำเป็นขาว
ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อวิษณุผู้ถูกพาดพิงชี้แจงกลับไป ก็เป็นคำพูดที่ ‘เผ็ดร้อน’ ควรค่าแก่การบันทึกไว้เช่นเดียวกัน
“ผมทำหน้าที่อย่างนี้มาตลอด ทำหน้าที่ทำนองนี้มา 8 นายกรัฐมนตรี 12 รัฐบาล แล้วถ้าหากว่า กระล่อน เลวทราม ต่ำช้า กลับกลอก ก็คงไม่ตั้งให้ผมเป็นต่อเนื่องมาตลอดอย่างนั้นหรอก” วิษณุชี้แจงตอนหนึ่ง
แน่นอน เมื่อมองย้อนกลับไป 30 ปีที่ผ่านมา ไม่มีใครกังขาเรื่อง ‘ความสามารถ’ ทางด้านกฎหมายมหาชนของวิษณุ และการทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะอยู่ขั้วไหนก็ตาม อย่างไรก็ตาม ประวัติของ ‘เนติบริกร’ ผู้นี้ น่าสนใจ น่านำมาเล่าใหม่
ก่อนจะเข้าไลน์ของการเป็นเนติบริกร ทำงานให้รัฐบาลแรกอย่างรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ วิษณุเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ถือว่าเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงที่สุด เขาจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ตั้งแต่อายุ 25 ปี เป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่อายุ 32 ปี และขึ้นเป็นซี 10 (เทียบเท่าอธิบดี) ที่จุฬาฯ ตอนอายุ 34 ปี
ณ เวลานั้น นักกฎหมายมหาชนไม่มีใครให้ความเห็นเฉียบคมได้เท่ากับวิษณุ
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงปลายรัฐบาลน้าชาติ พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ชวนวิษณุออกจาก ‘คอมฟอร์ตโซน’ ให้ข้ามห้วยมาดำรงตำแหน่ง ‘รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี’ ตั้งแต่เขาอายุ 39 ปี ก่อนที่เขาจะเติบโตในไลน์ใหม่ คือไลน์ของเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งทำหน้าที่ ‘พ่อบ้าน’ ให้กับรัฐบาล คัดกรองเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ประสานงานคณะรัฐมนตรี รวมถึงทำหน้าที่ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ทำรัฐประหารรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย มีชัย ฤชุพันธุ์ได้รับเลือกเป็น ‘ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ’ ฉบับ พ.ศ. 2534 วิษณุ ก็เข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างฯ ด้วย ไม่นานหลังจากนั้น วิษณุก็จับพลัดจับผลูไปควบตำแหน่ง ‘โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี’ ในรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ช่วงปี พ.ศ. 2535 คาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ พอดี
ในที่สุด วิษณุก็ขึ้นจุดสูงสุดในชีวิตข้าราชการ ขึ้นเป็นซี 11 ในตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในยุคชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ ก่อนจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวนาน 9 ปี ผ่านรัฐบาลทุกขั้ว ผ่านนายกฯ 8 คน อย่างที่พูดในสภา ทำให้เขาเป็นบุคคลที่ ‘กุมความลับ’ มากที่สุด ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่
2
ในหนังสือ โลกนี้คือละคร ที่วิษณุเขียนเอง เล่าให้ฟังว่า ‘จุดเปลี่ยน’ สำคัญเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 เมื่อทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชวนให้วิษณุออกจากการเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อมาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี พร้อมๆ กับช่วงเวลาที่มีการ ‘ปฏิรูป’ ระบบราชการ มีการตั้งกระทรวงใหม่ขึ้นมาใหม่อีก 6 กระทรวงพอดี
ในหนังสือ วิษณุเล่าว่า ทักษิณมอบหมายงานให้ดูอยู่สองเรื่อง คือ กฎหมายเกี่ยวกับการแบ่งส่วน แบ่งอำนาจหน่วยงานราชการใหม่ และเรื่องศาสนา—ในโควตา ‘คนนอก’ ไม่ต้องสังกัดพรรคไทยรักไทย ที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือ ผู้ที่มีบทบาทพอๆ กับทักษิณในการชวนวิษณุไปดำรงตำแหน่งก็ไม่ใช่ใครอื่น คุณหญิงพจมาน ชินวัตร อดีตภรรยาทักษิณนั่นเอง
เดือนกันยายน พ.ศ. 2545 ในขณะที่ทักษิณ ได้ฉายาว่าเป็น ‘เทวดา’ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นนายกฯ อย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลก็ตั้งฉายาให้วิษณุว่าเป็น ‘เนติบริกร’ ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นมือกฎหมาย ผู้มีความสามารถเป็นเลิศในการ ‘พลิกแพลง’ ใช้กฎหมายให้รัฐบาลมีความชอบธรรม และได้เปรียบฝ่ายตรงข้าม
กลายเป็นสมญานามที่ติดตัววิษณุไปตลอดชีวิต โดยที่เจ้าตัวเองก็ภูมิใจไม่น้อย เพราะในหนังสือทั้งสามเล่มที่ว่าด้วยชีวประวัติตัวเขาเอง วิษณุเรียกตัวเองว่าเป็น ‘เนติบริกร’ อยู่บ่อยๆ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า หน้าที่ของเขา ทั้งในหมวกของการเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หรือในหมวกของการเป็นรองนายกฯ ล้วนต้องให้บริการเรื่อง ‘กฎหมาย’ จริงๆ
3
เมื่อถึงปี พ.ศ. 2548 เสียง “ทักษิณออกไปๆ” ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เริ่มดังกึกก้องทั่วถนนราชดำเนิน ในเวลานั้นวิษณุเป็นหนึ่งใน ‘แบล็กลิสต์’ ของกลุ่มพันธมิตรฯ แล้ว ด้วยเหตุว่างานด้าน ‘ศาสนา’ ที่วิษณุรับผิดชอบ ไปเกี่ยวพันกับการตั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ หรือสมเด็จเกี่ยว วัดสระเกศ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชในขณะนั้น ที่บังเอิญว่าแกนนำพันธมิตรไม่ชอบเอามากๆ
เรื่องเดิมยังไม่จบ รองนายกฯ วิษณุ ยังกลายเป็นจำเลยของกลุ่มพันธมิตรฯ ในการจัดงาน “ทำบุญประเทศ” ที่วัดพระแก้วในเดือนเมษายนปีเดียวกัน ว่าเป็นการ ‘ดึงฟ้าต่ำ’ เมื่อคนเสื้อเหลืองปล่อยเอ็มวีเพลง “ไอ้หน้าเหลี่ยม” ในปีถัดมา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากเนติบริกรของรัฐบาลทักษิณอย่างเขา จะได้รับเกียรติให้มีชื่อติดอยู่ในเพลงนั้นด้วย
ที่น่าสนใจก็คือ ในบันทึกความทรงจำของวิษณุ เหตุสำคัญแห่งการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 ก็คือ ความ ‘ใหญ่’ เกินไปของทักษิณ, ความแตกแยกของคนกลุ่มต่างๆ, องค์กรอิสระไม่ได้รับความเชื่อถือ, การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีนั้นเป็นโมฆะ และเรื่องร้ายแรงอย่างการ ‘เมินเฉย’ ของรัฐบาลต่อขบวนการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ทว่า ข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์ช่วงนั้นก็คือ มีการ ‘ร้องขอ’ จากป๋าเปรม—พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งกำลังเป็น ‘หอกข้างแคร่’ กับทักษิณ เปรมให้วิษณุ รวมถึงเลขาธิการครม. ในขณะนั้นคือ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ญาติของวิษณุ ลาออกจากตำแหน่ง แต่วิษณุปฏิเสธว่าไม่ได้คุยกับ ‘ผู้มีบารมี’ คนไหนทั้งสิ้น แต่ที่น่าสนใจก็คือ เขายืนยันว่าได้เสนอผ่านไปยังคุณหญิงพจมาน ขอให้ทักษิณ ‘เว้นวรรค’ เพื่อออกจากวิกฤตให้ได้
อย่างไรก็ตาม ข้อความระหว่างบรรทัด ที่น่าวิเคราะห์ ก็คือการ ‘ถอดความ’ สิ่งที่เขาพูดกับทักษิณ ในวันที่ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯ
“การเมืองไทยเหมือนกงล้อประวัติศาสตร์ หมุนไปหมุนมาก็ทับรอบตัวเอง คือเกิดแล้วก็เกิดซ้ำได้อีกตัวละครก็ซ้ำๆ กัน ตัวละครการเมืองไทยสิบปียี่สิบปีก่อนก็ไม่ต่างกับเดี๋ยวนี้ มีแต่ท่านที่อาจเป็นตัวละครใหม่ แต่ฉากเก่า เวทีเก่า ดนตรีเก่า หางเครื่องเก่า ท่านจึงต้องระวัง เรียนรู้บทเรียนเก่าๆ ไว้บ้าง” วิษณุบอกทักษิณ
“คุณทักษิณย้อนถามผมว่า เขาที่คุณว่าอาจจัดการกับผมคือใคร ผมตอบว่าไม่ทราบ เขาคือใครก็ได้ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับท่าน ไม่ว่าทหาร ตำรวจ ข้าราชการ นักการเมือง คนที่ท่านไว้ใจ หรือประชาชน” วิษณุเล่าในหนังสือ แต่ ณ ขณะนั้น ทักษิณยืนยันว่าการ ‘ยึดอำนาจ’ เป็นไปได้ยาก เพราะการข่าวของทักษิณดีมาก ไม่ว่าฝ่ายไหนจะขยับอะไร เขาก็ย่อมรู้
แน่นอน การข่าวของวิษณุดีกว่าทักษิณอย่างเห็นได้ชัด ไม่ถึงสองเดือนหลังจากนั้น ก็มีความพยายามลอบสังหารทักษิณ ด้วย ‘คาร์บอมบ์’ ที่ใต้สะพานข้ามแยกบางพลัด และในอีกหนึ่งเดือนถัดมา ทักษิณก็ถูกรัฐประหารโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ระหว่างไปประชุมที่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก
ระหว่างที่ร่าง ประกาศ-คำสั่งคณะปฏิวัติ มือกฎหมายหลายคนถูกเชิญเข้าไปในกองบัญชาการทหารบก โดยมีมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นหัวหน้า ตามด้วยวิษณุ และอีกหนึ่งเดือนถัดมา เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ รายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 242 คน ก็มีชื่อวิษณุอยู่ในนั้นด้วย
4
26 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 สี่วันหลังการรัฐประหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วิษณุมีรายชื่อติดเป็น ‘ที่ปรึกษา’ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ พร้อมกับคุมกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวตั้งแต่ต้น โดยมีผลงานที่เป็นมาสเตอร์พีซอย่างการบรรจุ ‘มาตรา 44’ ให้อำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ล้นฟ้า และไม่ต้องมีความรับผิดใดๆ ย้อนกลับไปเหมือนยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อีกครั้ง
ขณะเดียวกัน คสช. ยังหนีบวิษณุให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายคู่ใจ ทำหน้าที่คอยร่างประกาศ-คำสั่ง คสช. รวมถึงคอยแจงตั้งแต่เรื่องเล็ก อย่าง กรณี ‘นาฬิกา’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่าการไม่ยื่นทรัพย์สิน ไม่ถือว่าเป็นการทุจริต และการ ‘ยืม’ ไม่จำเป็นต้องแจ้ง ปปช. ก็ได้
ไปจนถึงเรื่องใหญ่ขึ้นอย่าง ‘โรดแมป’ คสช. ที่เลื่อนไปเลื่อนมาไม่ต่ำกว่าห้ารอบ จาก ‘ขอเวลาอีกไม่นาน’ เป็นรัฐบาลห้าปี ก็เป็นฝีมือของวิษณุ ในการอรรถาธิบายเหตุแห่งการ ‘เลื่อน’ ให้กว้างไปกว่าการที่บอกสั้นๆ ว่า คสช. อยากอยู่ยาว
ไปจนถึงเรื่องการชักแม่น้ำทั้งห้าถึงที่มาของคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่หลายคนเลือกตัวเองเข้าไปเป็นเอง หรือการอธิบายศัพท์ยากๆ อย่าง ‘เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’ และ ‘เจ้าพนักงานของรัฐ’ ให้คลุมเครือเข้าไว้ ราวกับว่าประเทศนี้มีนักกฎหมายมหาชนเพียงคนเดียว ที่รู้เรื่องดีที่สุด ไม่มีใครรู้หลักการเหล่านี้มากเท่าเขา
เมื่อ คสช. แปลงร่างไปเป็นรัฐบาลในสิ่งที่เรียกว่า ‘เผด็จการประชาธิปไตย’ การใช้บริการวิษณุต่อไปจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะในระบอบไฮบริดที่พิกลพิการขนาดนี้ ไม่มีใครจะอธิบายความซับซ้อนของกฎหมาย และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับระบอบนี้ได้ดีเท่าวิษณุอีกแล้ว
ส่วนวิษณุ ในปัจจุบันจะยังคงเหลือความน่าเชื่อถือหรือไม่ และสุดท้ายแล้วประวัติศาสตร์จะจารึกเขาในฐานะนักกฎหมายมหาชนมือฉมัง หรือในฐานะ ‘เนติบริกร’ ผู้สร้างความชอบธรรมให้กับระบอบลูกครึ่งนี้ โดยก้าวผ่านทั้งเรื่องตรรกะ หลักกฎหมาย จนกลายเป็นระบอบที่อยู่คู่กับสังคมไทยได้สำเร็จหรือไม่
อีกไม่นาน เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์…