ถือว่าเป็นประเด็นที่ร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ เมื่อคณะกรรมการนักเรียน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ออกแถลงการณ์เรื่องข้อสรุปว่าด้วยกฎระเบียบโรงเรียน อย่างไรก็ตาม ข้อผ่อนผันหนึ่งต่างสะดุดตาผู้คนจนนำไปสู่ข้อถกเถียงที่ว่า กฎที่ห้ามให้นักเรียนชายและหญิงนั่งเรียนร่วมกันมีอยู่จริงหรือ?
เมื่อวานนี้ (30 พฤษภาคม) เพจ ‘TUSC’ โพสต์แถลงการณ์คณะกรรมการนักเรียน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเกี่ยวกับกฎระเบียบโรงเรียน หลังจากเล็งเห็นว่ากฎบางข้อละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของนักเรียน จึงได้เข้าพบรองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารกิจการนักเรียนและบุคลากร เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งได้ข้อสรุปดังนี้
– อนุโลมให้นักเรียนทุกเพศสามารถนั่งเรียนร่วมกันได้
– ระเบียบทรงผม อนุโลมให้เป็นเฉดสีธรรมชาติ
– ระเบียบการแต่งกายของนักเรียน อนุโลมให้นักเรียนชายสวมรองเท้าผ้าใบสีดำหรือรองเท้าหนังหุ้มส้น และนักเรียนหญิงสวมรองเท้าลักษณะคล้ายรองเท้านักเรียนหญิงเดิม
อย่างไรก็ดี การเผยแพร่แถลงการณ์ดังกล่าว หลายคนแสดงความคิดเห็นว่า ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในวงการการศึกษา ที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิและเสรีภาพในร่างกาย อย่างไรก็ตาม ประเด็น ‘อนุโลมให้นักเรียนทุกเพศสามารถนั่งเรียนร่วมกันได้’ กลายเป็นที่ถกเถียงกันในโลกอินเทอร์เน็ตว่า มีกฎในลักษณะนี้จริงหรือ ซึ่งทั้งศิษย์เก่าและปัจจุบันก็ออกมาแชร์ประสบการณ์มากมาย เช่น
“ผมเป็นเด็กเตรียมอุดมรุ่นที่ 66 ขอให้ข้อมูลว่า ตอนที่ผมเรียนเคยเจออาจารย์คนหนึ่ง ใช้กฎนี้เพื่อให้ผมนั่งแยกกับเพื่อนผู้หญิง ซึ่งตอนแรกผมไม่เชื่อด้วยซ้ำ แต่ปรากฏว่า กฎดังกล่าวมีอยู่จริงๆ แต่ปกติแล้วนักเรียนทั้งชายและหญิงก็นั่งด้วยกันได้ แต่ถ้าอาจารย์คนไหนที่เคร่งครัดก็จะบังคับใช้กฎนี้ครับ”
บ้างก็ว่า “เหมือนจะตลก แต่เป็นความจริง เรานั่งกับเพื่อนที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศ ยังต้องแก้ต่างแทบตายว่าเพื่อนไม่ใช่ผู้ชาย”
ทั้งนี้ หลายคนแสดงความคิดเห็นค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่เคยเจอเหตุการณ์ดังกล่าวขณะที่เรียน พร้อมกับตั้งคำถามว่า ขึ้นอยู่กับอาจารย์บางท่านหรือเปล่าที่จะใช้กฎนี้ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เรียนเตรียมอุดมฯ เคยเจอการตักเตือนและการบังคับด้วยกฎเกณฑ์ที่ว่ามาก่อน
อ้างอิงจาก