ชาวกรุงเทพฯ คงรู้จักปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองของตัวเองกันดี ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการจราจร หรือ ปัญหาการค้าขายบนทางเท้า ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวันซึ่ง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้จัดงานที่มาชวนคุยถึงปัญหาเหล่านี้
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมาได้มีการจัดงาน ‘ชัชชาติชวนคุย คนกรุงเทพฯ ช่วยคิด’ ณ ลานกิจกรรม ชุมชนโรงหมู คลองเตย กรุงเทพฯ ซึ่งมีคนจากแวดวงต่างๆ ได้มาร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องของปัญหากรุงเทพฯ ที่แต่ละคนมีความสนใจ
The MATTER ได้เดินทางไปยังงาน ‘ชัชชาติชวนคุย คนกรุงเทพฯ ช่วยคิด’ เพื่อร่วมฟังความคิดเห็นเหล่านั้น และได้สรุปประเด็นที่น่าสนใจในบทความนี้แล้ว จะประเด็นใดบ้างไปดูกัน
การแก้ปัญหากรุงเทพฯ อย่าเริ่มจากการคิดว่ากรุงเทพฯ มีปัญหา
สำหรับประเด็นเรื่องการเริ่มต้นแก้ไขปัญหาในกรุงเทพฯ ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบชาวไทย กล่าวว่า อย่าเริ่มจากการคิดว่ากรุงเทพฯ มีปัญหา เพราะว่ามันเป็นที่ๆ มนุษย์อาศัยอยู่และมันยอดเยี่ยม วิธีการที่จะทำให้คนเห็นว่ากรุงเทพฯ มีความยอดเยี่ยม คือ ต้องทำให้สิ่งที่ดีถูกปลดปล่อยออกมาให้เห็น ถ้าทำให้คนเห็นเมืองในแบบที่มันเป็น และเห็นว่ามันมีความสวยงาม อนาคตจะเยี่ยม และปัญหาทุกอย่างจะค่อย ๆ หายไป
เขายังกล่าวด้วยว่าปัญหาที่เจอกันอยู่ทุกวัน ไม่ใช่ปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ ปัญหาทุกอย่างสามารถบริหารจัดการได้ แต่ต้องการผู้นำที่ไม่คอร์รัปชั่น ถ้าไม่สามารถเอาเรื่องนี้ออกไปจากความคิดของคนกรุงเทพฯ ได้ก็ไม่สามารถทำเมืองให้ยอดเยี่ยมได้เลย
ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องคิดหาวิธีลดจำนวนรถ
พริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทุกครั้งที่ทำผลสำรวจ ปัญหาที่พบอันดับ 1 คือ เรื่องของการเดินทางและการคมนาคม โดยปัญหาที่คนพูดถึง คือ ปัญหารถติด ซึ่งถ้าดูจากตัวเลขแล้วเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก โดยถ้าเอาพื้นที่ของถนนทั้งหมดในกรุงเทพฯ มาหารด้วยพื้นที่ทั้งหมดในกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ 8% ซึ่งในความเป็นจริงควรอยู่ที่ 20% หรือ 25% จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องหาวิธีการลดจำนวนรถ และต้องหาว่าจะลดอย่างไรไม่ให้กระทบกับชีวิตประจำวันของคน
เขาได้เสนอแนวคิดการคิดค่าปรับรถที่จอดอยู่ข้างถนน (roadside parking) เขามองว่าการจอดรถข้างถนนเป็นพฤติกรรมที่ทำให้รถติดมากขึ้น โดยจะต้องคิดค่าปรับในราคาที่ไม่สูงเกินไป นอกจากนี้ยังต้องทำให้แน่ใจว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้รับมาจะไม่เข้าไปที่ศูนย์กลาง แต่จะถูกนำมาใช้เพื่อการพัฒนาขนส่งสาธารณะ
เรื่องทางเท้าเป็น zero-sum game คนหนึ่งได้ คนหนึ่งต้องเสีย
สำหรับประเด็นเรื่องปัญหากรุงเทพฯ ที่สนใจเป็นพิเศษและควรเร่งรีบจัดการ พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ นักการเมืองผู้สนใจด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า คือ เรื่องทางเดินเท้า โดยเฉพาะในกทม. เรื่องทางเท้าเป็นปัญหาเรื่องความยุติธรรมระหว่างคนเดินและพ่อค้าแม่ค้า เป็น zero-sum game ถ้าคนกลุ่มหนึ่งได้ อีกกลุ่มหนึ่งต้องเสีย
เขากล่าวอีกว่า กรุงเทพฯ ควรมีอะไรที่เป็นสโลแกน เช่น เดินได้ ขายดี ในด้านเดินได้ เขาเห็นว่าควรมีการผลักดันให้สกายวอร์กเชื่อมเข้าประชาชนมากขึ้น เพราะตอนนี้เหมือนสกายวอร์กเชื่อมเข้าหาทุนใหญ่มากเกินไป พอมีสกายวอร์กแล้วก็ควรมีนโยบายที่เปิดให้ด้านล่างของสกายวอร์ก พ่อค้าแม่ค้าสามารถขายของได้ คนเดินมีทางเลือกสามารถเดินบนสกายวอร์กได้ ถ้าไม่อยากเจอการกีดกัน ส่วนข้างล่างพ่อค้าแม่ค้าก็สามารถขายของได้
ไม่มีโซนบ้านสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ
เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กล่าวถึงปัญหาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ว่า ปัจจุบันมีบ้านที่ราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท ในกรุงเทพฯ อยู่ 4% ในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ มีจำนวนมากกว่า 20% ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจ คือ คนที่มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ แทบจะอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ได้
เธอกล่าวถึงปัญหาที่ทำให้เอกชนไม่สามารถทำโซนบ้านสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ ได้ว่า เกิดจากกฎเกณฑ์บางอย่างที่ทำให้กลไกตลาดไม่ทำงาน เช่น การโซนนิ่ง และ ผังสีที่ไม่มีความทันสมัย ทำให้ที่ดินมีราคาแพงเกินไป ถ้าสามารถเปลี่ยนโครงสร้างเหล่านี้ได้ และที่เหลือให้เอกชนทำงานต่อ ในที่สุดก็จะทำให้มีบ้านผู้มีรายได้น้อยอยู่ในกรุงเทพฯ ได้
พัฒนาเมืองในฝั่งธนบุรีให้มีศักดิ์ศรีเท่ากับกรุงเทพฯ
สำหรับประเด็นเรื่องปัญหาในเชิงการปกครองของกรุงเทพฯ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า กรุงเทพฯ ดูเหมือนมีการปกครองแบบท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ แต่เป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษแบบล้าหลัง เพราะผู้อำนวยการเขต 50 เขตไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และมีผู้ที่ไปเลือกสภาเขต 50 เขตจำนวนน้อยมาก นอกจากนี้สภาเขตที่ถูกยุบไปแล้ว ยังไม่เคยมีอำนาจในการอนุมัติงบประมาณในระดับเขต
เขายังกล่าวถึงการพัฒนาเมืองในฝั่งธนบุรีว่า ควรพัฒนาโดยมีฝั่งธนบุรีเป็นศูนย์กลาง ฝั่งธนบุรีควรมีศักดิ์ศรีเท่ากับกรุงเทพฯ ไม่ใช่ว่าเอาอะไรไปลงที่ฝั่งธน คนฝั่งธนก็ไม่รู้ คนกรุงเทพฯ ต้องคิดถึงคนฝั่งธนบุรี และให้คนฝั่งธนบุรีเติบโตและมีอำนาจเหมือนที่คนกรุงเทพฯ มีอำนาจ