“ไม่รู้ว่าบุคลากรจะตายก่อนหรือคนไข้จะตายก่อน” นี่คือประโยคที่ พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร จากสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานกล่าวกับ The MATTER
ในช่วงนี้ หลายคนมักเห็นข่าวที่แพทย์อินเทิร์นลาออกจากระบบทั้งยังมีหลายคนที่ออกมาแชร์ประสบการณ์ชีวิตอินเทิร์น
รวมไปถึง เอิร์ธ—อติรุจ อาษาศึก หรือ ‘Aertha’ ที่ทวีตข้อความว่า “…ลาที่ดีคือลาออกของจริง เด็กมันออกจริงคุณพี่ มันไม่ล้อเล่น ระบบสาธากำลังจะขาดอากาศหายใจ การที่เด็กจบใหม่ตัดสินใจลาออกเลย มัน impact มากนะ ไม่มีตำแหน่งรองรับ งานหนัก เงินห่วย สวัสดิการบ้ง…”
The MATTER มีโอกาสได้คุยกับ พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร และ นพ.ธราดล นิลศิริสุข จากสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานถึงประเด็นการทำงานหนักของแพทย์อินเทิร์น ซึ่งเราก็สรุปมาให้ทุกคนได้อ่านกันแล้ว
พญ.ชุตินาถ เล่าให้ฟังว่าประเด็นอินเทิร์นลาออก เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยหนึ่งในสาเหตุก็หนีไม่พ้นเรื่องของภาระงานที่มากเกินไป
เมื่อถามว่าในวันหนึ่งวัน แพทย์ได้นอนกี่ชั่วโมง? แพทย์ทั้งคู่ตอบเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า “บางวันก็ 0”
พญ.ชุตินาถ เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวในตอนที่ทำงานเป็นอินเทิร์นในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ภาคอีสานว่า แผนกที่หนักสุดที่เคยอยู่ก็คืออายุรกรรม โดยเธอต้องไปทำงานตอน 7.00 น. เข้าไปถึงก็ต้องดูแลผู้ป่วยใน [คนที่แอดมิทอยู่ในโรงพยาบาล] ก่อน เช่นในโรงพยาบาลมีผู้ป่วย 200 เตียง มีแพทย์ 3 คนตอนเช้า แพทย์ทั้งหมดก็ต้องแบ่งกันตรวจคนไข้ให้เสร็จภายใน 2 ชั่วโมง แล้วจึงไปตรวจผู้ป่วยนอก ซึ่งแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐก็ต้องตรวจผู้ป่วยนอกเกิน 60 คนขึ้นไป
“แน่นอนว่า แพทย์ไม่ได้กินข้าวกลางวัน เพราะถ้าเรากินข้าวกลางวัน คนไข้ก็จะรอนานขึ้น” พญ.ชุตินาถกล่าว
ในขณะที่ตรวจผู้ป่วยนอกอยู่ ถ้ามีผู้ป่วยในที่อาการหนักต้องได้รับการตรวจตอนนั้น เธอเล่าว่าก็ต้องหยุดการตรวจผู้ป่วยนอกเพื่อไปตรวจผู้ป่วยในก่อน แล้วค่อยกลับมาดูผู้ป่วยนอกอีกที
การทำงานของแพทย์ก็ยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะหลังจากตรวจผู้ป่วยนอกเสร็จ พญ.ชุตินาถ ก็บอกว่าต้องไปดูผู้ป่วยในตอนรอบเย็นอีกครั้ง ว่าแต่ละคนอาการเปลี่ยนแปลงอย่างไร จากนั้นก็ต้องไปอยู่เวรที่ห้องฉุกเฉินต่อ ดูวนอย่างนี้ไปจนถึง 7 โมงเช้าวันต่อมา จึงไปตรวจผู้ป่วยใน แล้วค่อยไปตรวจผู้ป่วยนอกอีกครั้ง หรือก็คือแพทย์ต้องทำงานติดต่อกัน 32 ชั่วโมง ซึ่งบางคนก็ยังไม่จบแต่เพียงเท่านั้น เพราะถ้าใครต้องอยู่เวรดูผู้ป่วยหนักต่ออีกก็ต้องทำงานถึง 40 ชั่วโมงก็มีเช่นกัน
พญ.ชุตินาถ ยังกล่าวต่อว่า วันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดราชการ แพทย์ก็ยังไม่ได้พัก เพราะแพทย์อินเทิร์นในโรงพยาบาลรัฐส่วนใหญ่ก็ต้องมีภารกิจไปตรวจผู้ป่วยในอยู่ดี “ก็คือจะไม่มีวันที่ได้หยุดเลย ซึ่งตรงนี้ก็ไม่มีค่าตอบแทน [เพิ่มเติม หรือค่า OT] เพราะไม่ถือว่าเป็นเวลางานตามที่ราชการกำหนด แต่เป็นสิ่งที่ต้องมาทำเพราะไม่มีใครดูแลผู้ป่วยในให้เรา”
ทั้งคู่ยังเล่าตรงกันอีกว่า การทำงานติดต่อกันเกิน 24 ชั่วโมง นับเป็นเรื่องปกติในวงการแพทย์ไปแล้ว แต่สิ่งที่แพทย์บางคนได้ก็คือ 500 บาทต่อ 8 ชั่วโมง และยังได้แค่ในเฉพาะเวลานอกราชการเท่านั้น
นพ.ธราดลเล่าถึงประสบการณ์ตอนที่เขาเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 6 ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ซึ่งก็ทำงานคล้ายๆ กับแพทย์อินเทิร์นปีแรก (เว้นแต่บางงานก็อาจไม่ต้องทำเพราะยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพ) ว่า ตนอยู่เวรในโรงพยาบาลที่สบายมากๆ ภาระงานไม่ได้หนัก แม้ว่าแทบไม่ได้นอน แต่ว่าแต่ละคืนก็ผ่านไปได้ด้วยดี แพทย์ที่ดูแลก็ค่อนข้างเอาใจใส่ พอลงเวร ก็ทำงานต่อ พอทำงานเสร็จ กลับไปนอน ก็กลับมาทำงานใหม่
แต่มีวันหนึ่งที่ต้องกลับไปเยี่ยมแม่ ซึ่งพักอยู่ห่างจากโรงพยาบาลที่เขาอยู่ประมาณ 50 กม. ขับรถประมาณ 1 ชั่วโมงก็ถึง
“ผมก็คิดว่าไม่น่ามีอะไรหรอก วันนั้นก็ตื่นเช้า เพราะต้องรีบไปราวด์วอร์ด (ตรวจผู้ป่วยใน) ให้ทัน 7 โมง ซึ่งผมก็ตื่นประมาณ 5.40 น. รู้สึกวูบมาเรื่อยๆ แล้วก็วูบจริงๆ ผมหลับในจริง แล้วก็ชนจริง รถพังไป 3 เดือน แต่ยังดีที่โรงพยาบาลให้หยุดพักก่อน 2 วัน แล้วทำงานต่อ”
เรื่องราวเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากกับแพทย์อินเทิร์น โดย พญ.ชุตินาถ ชี้ให้เห็นว่า ตอนนี้สถานการณ์แพทย์อินเทิร์นต้องอยู่เวร 23 เวรต่อเดือน (ราวๆ 184 ชั่วโมง) ถ้าจะบอกว่าง่วงก็อย่าขับสิ นั่นก็แสดงว่าทั้งเดือน แพทย์จะไม่ได้ออกจากโรงพยาบาล แล้วก็จะเป็นอย่างนี้ไปทั้งปี
“ขนาดคงตัวเองให้ขับรถยังไม่ได้เลย แต่เราต้องเอาสภาพนั้นมาตรวจคนไข้ โดยเฉพาะคนไข้วิกฤต คนไข้ฉุกเฉิน เราไว้ใจแพทย์ที่ยังไม่สามารถตื่นลืมตาได้อย่างไรในการตรวจคนไข้” พญ.ชุตินาถ กล่าว
พญ.ชุตินาถ ยังกล่าวต่ออีกว่า ในต่างประเทศ เคยมีการศึกษาว่าเมื่อลดชั่วโมงการทำงานแพทย์จากเกิน 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เหลือ 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็สามารถลดอัตราการตายได้ถึง 2 เท่า แล้วก็สามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดกับคนไข้ได้ถึง 10 เท่า
นั่นจึงทำให้เกิดเป็นข้อเรียกร้องของสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานว่าให้มีการลดชั่วโมงการทำงาน
แต่ถ้าจะลดชั่วโมงการทำงานให้แพทย์ จะทำให้แพทย์แต่ละคนต้องทำงานหนักขึ้นไหม?
กรณีนี้ ทางสหภาพฯ มองว่าก็ต้องเพิ่มจำนวนแพทย์ให้สอดคล้องกับจำนวนคนไข้ พร้อมๆ กับการสร้างระบบเก็บข้อมูลการทำงานของแพทย์ด้วยว่าแต่ละคนต้องทำงานกี่ชั่วโมง เพราะตอนนี้ก็ยังไม่ทราบเลยว่าแพทย์แต่ละคนเข้า-ออกงานตอนไหน อีกทั้งก็ต้องเพิ่มค่าตอบแทน และสร้าง primary prevention หรือก็คือการลดโหลดฝั่งคนไข้ ให้ห้องฉุกเฉินเป็นห้องฉุกเฉินจริงๆ ด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก