“การประกาศฉุกเฉินอย่างนี้ ไม่ควรจะทำในความเป็นจริง”
เมื่อจู่ๆ มีการประกาศให้วันที่ 31 กรกฎาคมที่จะถึงนี้เป็นวันหยุดราชการพิเศษ จนหลายคนออกมาส่งเสียงถึงผลกระทบที่ได้รับ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ บุคลากรทางการแพทย์ด้วยเช่นกัน
ในวันนี้ (26 กรกฎาคม) The MATTER จึงต่อสายหา นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เพื่อพูดคุยถึงผลกระทบในแง่การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และผลกระทบของคนไข้ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการประกาศแบบปุบปับ
เริ่มกันที่กระทบที่เกิดขึ้นกับบุคลากรทางการแพทย์ นพ.สุภัทรมองว่า ผลกระทบอย่างแรกคือ โดยปกติโรงพยาบาลต่างๆ ก็จะมีการนัดผู้ป่วยไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว พอเปลี่ยนจากวันทำงานเป็นวันหยุด ก็กลายเป็นว่าโรงพยาบาลมี 2 ทางเลือก คือเลื่อนนัดผู้ป่วย หรือเปิดให้บริการเหมือนเดิม ทำให้โรงพยาบาลต้องเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเป็นวันหยุดราชการ แล้วเปิดให้บริการเฉพาะห้องฉุกเฉิน หรือจะเปิดบริการเต็มรูปแบบ แต่ถ้าเปิดบริการเต็มรูปแบบ โรงพยาบาลก็ต้องเรียกเจ้าหน้าที่มาทำงานแล้วก็จ่าย OT ซึ่งก็เป็นงบประมาณที่สูงพอสมควรอีกเช่นกัน
ถ้าเปิดบริการเหมือนวันราชการปกติ นพ.สุภัทรก็มองว่าจะทำให้การจัดบริการง่ายกว่า เพราะทุกจุดบริการก็จะมีเจ้าหน้าที่ครบ สามารถดูแลผู้ป่วยได้ครอบคลุม แต่พอเป็นวันหยุดราชการ เจ้าหน้าที่ในจุดบริการต่างๆ ก็น้อยลง แล้วเหลือแค่คนอยู่เวร
แต่ถ้าเลือกที่จะเลื่อนตรวจคนไข้ นพ.สุภัทร ก็กล่าวว่าจะต้องนัดคนไข้ใหม่ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากในการจัดการ วันนัดของคนไข้ก็จะถูกเลื่อนออกไปอีกยาว ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะถูกเลื่อนเป็นเดือน ส่งผลกระทบต่อการดูแลแน่นอน
นั่นหมายความว่าจะทำให้คนไข้ได้รับการรักษาที่ไม่ต่อเนื่อง อาจจะมีปัญหาในคนไข้ที่ต้องทานยาต่อเนื่อง จนทำให้คนไข้สะสมแล้วเกิดการแออัดขึ้นในวันถัดไปที่เปิดบริการเต็มรูปแบบ ซึ่งผลกระทบที่ตามมาอีก นพ.สุภัทรก็ระบุว่าจะทำให้การจัดการบริการได้ไม่ดี เพราะแพทย์ก็ต้องให้เวลากับผู้ป่วยน้อยลง เพื่อตรวจให้ทันกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น
ถ้ามีประกาศล่วงหน้าตั้งแต่แรก โรงพยาบาลก็จะสามารถจัดคิวให้ไม่แออัดแต่แรกได้ โดย นพ.สุภัทรมองว่าในอดีต จะมีการประกาศมติ ครม.ล่วงหน้า ซึ่งโรงพยาบาลก็จะรู้ล่วงหน้าตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ทำให้สามารถบริหารจัดการได้ สามารถนัดผู้ป่วยโดยเฉลี่ยให้ไปวันอื่นได้
“การประกาศฉุกเฉินอย่างนี้ ไม่ควรจะทำในความเป็นจริง มันไม่มีประโยชน์ มีประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่การจัดบริการทางการแพทย์ ปวดหัวแน่นอน หลายโรงพยาบาลต้องประกาศไม่งดบริการ ยินดีจัดบริการต่อไป แต่ผลกระทบก็คือ โรงพยาบาลก็จะยุ่งยากในการจัดบริการ เพราะเจ้าหน้าที่หลายส่วนก็รู้สึกอยากจะหยุด แล้วถ้าเราเรียกเขามาก็ต้องจ่าย OT แล้วการจ่าย OT ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะอยากได้ OT เพราะบางคนเขาก็อยากหยุด”
นพ.สุภัทรยังยกตัวอย่างสถานการณ์ในต่างจังหวัดอีกว่า คนไข้จะสับสนมาก มีการโทรศัพท์ถามที่โรงพยาบาลเลยว่าเปิดไหม เขาสามารถไปหาหมอได้หรือไม่ ซึ่งทางโรงพยาบาลก็สื่อสารไปยัง รพ.สต. แล้วว่ายังจัดบริการปกติ ซึ่งเขาก็ยังระบุอีกว่า โรงพยาบาลหลายแห่งก็ต้องแจ้งผู้ป่วยกันเองเช่นกัน
แต่ถ้าถามว่าการเปิดให้บริการปกตินั้นปกติจริงหรือไม่ นพ.สุภัทรก็กล่าวว่า “จริงๆ การจัดให้บริการปกติมันก็ไม่ปกติหรอก เพราะเจ้าหน้าที่ก็มาได้ไม่เหมือนวันปกติ เพราะหลายคนก็ไม่สะดวกที่จะมา หลายคนก็อยากหยุด…ถ้าหยุดกันไม่คาดฝันแบบนี้บ่อยๆ วงจรมันสับสน การดูแลผู้ป่วยก็วุ่นวาย”
จากเหตุการณ์ในตอนนี้ นพ.สุภัทรกล่าวว่าควรมองให้เป็นบทเรียนที่สำคัญกับรัฐบาลในอนาคตว่าการอนุมัติวันหยุดแบบไม่คาดฝัน ทำให้การจัดการต่างๆ โดยเฉพาะในทางการแพทย์ ‘วุ่นวาย ปั่นป่วน’ ซึ่งสิ่งที่ควรจะเป็นคือการพิจารณาให้รอบคอบให้เป็นวันหยุดมาตรฐานตั้งแต่ต้นปี เพื่อที่จะได้รู้ปฏิทินทำงานของหลายๆ ฝ่าย “การประกาศวันหยุดโดยใช้ดุลยพินิจของคนไม่กี่คนใน ครม. แล้วก็ดุลยพินิจที่ไม่รอบคอบ แล้วก็ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบกับประชาชนที่มีความหลากหลายมาก”
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก็กล่าวว่า สธ.ได้กำชับไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมแล้วว่า หากเป็นไปได้ขอให้ โรงพยาบาลในสังกัด สธ. เปิดบริการตามปกติ โดยเฉพาะการนัดผ่าตัดผู้ป่วย ซึ่งกรณีนี้ นพ.สุภัทรก็ให้ความเห็นว่าการให้แต่ละโรงพยาบาลตัดสินใจเองเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และส่วนตัวเขาเองก็เชื่อว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะเปิดให้บริการสำหรับผู้ป่วยที่นัดแล้ว หรือผู้ป่วยผ่าตัด แต่ก็จะเปิดให้บริการได้ไม่เต็มรูปแบบ
รวมไปถึงเรื่องค่า OT ที่ต้องจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่เนื่องจากให้ทำงานวันหยุด นพ.สุภัทรก็ระบุว่าเงินดังกล่าว ก็เป็นเงินในส่วนของงบประมาณที่แต่ละโรงพยาบาลได้มา เพราะรัฐก็ไม่ได้ให้งบประมาณส่วนนี้เพิ่ม