หากวัยเรียนกลัวการสุ่มชื่อตอบคำถามฉันใด วัยทำงานก็กลัวการโดนยิงคำถามแบบไม่ทันตั้งตัวฉันนั้น
เมื่อมันคาดเดาไม่ได้เลยว่าคำถามที่ว่ามันจะอยู่ในขอบเขตความรู้ของเราหรือเปล่า เรายิ่งประหม่า หวังใจไว้เพียงว่ามันจะพอคุ้นๆ มีคีย์เวิร์ดให้เชื่อมโยงไปได้ หากโดนขึ้นมาเราก็มีสารพัดวิธีจะอ้อมแอ้มเอาตัวรอดไปได้แหละ เพราะเราทุกคนต่างไม่อยากเอยว่า “ไม่รู้” กันทั้งนั้น
ก้าวเท้าเข้าสู่โลกการทำงาน ตั้งแต่เริ่มสัมภาษณ์ ฝึกงาน ลงสนามจริง หรือเป็นสิงห์สนามไปแล้ว เราทุกคนต่างหวาดกลัวความไม่รู้ของตัวเองกันทั้งนั้น อาจด้วยเสียงลือเสียงเล่าอ้างจากรุ่นพี่วัยเก๋า จากโค้ชในโซเชียลมีเดีย ที่กล่อมเกลากระซิบข้างหูเรามาตลอดว่า ห้ามเอ่ยคำว่าไม่รู้เด็ดขาด มันดูไม่เป็นมืออาชีพบ้าง มันดูปัดความรับผิดชอบบ้าง เอ่ยไปนะ ผลเสียมันจะตามมาอย่างนั้นอย่างนี้ ทีนี้ มันก็ฝังในหัวเรา จนเรากลายร่างเป็นศรีธนญชัย หาคำพูดมากมายเพื่อมาปกปิดความไม่รู้ของเรา
ที่ทำงาน แดนต้องห้ามของความไม่รู้
สถานการณ์นี้มันเหมือนจะเป็นเรื่องจิ๋วจ้อยที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป แต่ผู้เชี่ยวชาญอย่าง เรเชล มาร์มอร์ (Rachel Marmor) ที่ปรึกษาสุขภาพจิตที่ได้รับใบอนุญาตและหัวหน้าฝ่ายสุขภาพที่ PAIRS Foundation พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ในที่ทำงาน คนเรามักจะรู้สึกถูกกดดันหนักมาก จากความคาดหวังว่าจะต้องตอบคำถามได้รวดเร็ว ถูกต้อง แม้แต่หัวหน้าเองก็ยังพูดไม่รู้ไม่ได้เลย พูดไปก็อาจโดนอี๋ได้ ว่าเปนหัวหน้าแล้วไม่รู้ได้ไง
“คุณอยู่ทีมนี้นี่ รู้เรื่องนี้หรือเปล่า?”
“ทำงานกับลูกค้านี่ ไหนตอบหน่อยลูกค้าอยากแก้ตรงไหน?”
“หัวหน้าครับ ส่วนนี้ที่ต้องแก้ มันควรจะแก้แบบไหนดี?”
สารพัดคำถามที่ยิงมาแบบไม่รู้ทิศทางและไม่ทันจะตั้งตัว มันสร้างความประหม่าให้เราอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในตอนที่สายตาหลายคู่จ้องมองมา อย่างตอนระดมไอเดีย ตอนอยู่ในห้องประชุม หรือถูกถามขึ้นมาโต้งๆ กลางแผนก คนโดนถามเหงื่อแตกรอแล้ว แต่อย่าเพิ่งเข้าใจเจตนาของเขาเป็นอื่นจนรู้สึกว่า หากตอบไปไม่รู้นี่เสียหน้าแย่เลย ในมุมหนึ่ง เวลามีใครสักคนมาถามอะไรเรา เขาคนนั้นอาจเห็นว่าเรามีความเกี่ยวข้องทางใดทางหนึ่ง เลยน่าจะรู้คำตอบในเรื่องนี้นะ เลยชี้เป้ามาถามเราโดยตรงเท่านั้นเอง
เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกกดดันกับสถานการณ์แบบนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องเนื้องานแล้วล่ะ มันออกจะเป็นเรื่องทางใจด้วยส่วนหนึ่ง คนเรามักจะกลัวการแสดงถึงความอ่อนแอ ความเปราะบาง แม้แต่กับคนที่เรารัก คนที่รักเรา คนที่เรารู้ว่าเขาไม่ถือสาหรอกหากเราพูดว่าไม่รู้ออกไป แต่เราก็ไม่อยากทำให้เขาผิดหวัง กับคนอื่นๆ อาจเป็นเรื่องอีโก้ ภาพลักษณ์ ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
แน่นอนว่า เราเองก็ไม่ได้เกิดมารู้ทุกอย่าง กว่าจะเรียนรู้มาถึงวันนี้ได้ ผ่านชั่วโมงบินมาเท่าไหร่ แต่ก็ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้ บางอย่างไม่มีแม้แต่ทางลัด ต้องคอยอาศัยประสบการณ์บ่มเพาะให้งอกเงยสักวัน เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งกลัวการยอมรับว่าตัวเองไม่รู้เลยนะ มันอาจจะฟังดูไม่รื่นหู แต่เชื่อเถอะว่า เราสามารถเปลี่ยนมันให้กลายเป็นโอกาสดีๆ ได้ด้วยล่ะ
งั้นเราลองมาดูกันหน่อยว่า การที่เราเลิกกลัวคำว่าไม่รู้ แล้วหันมายอมรับว่าเราไม่รู้เนี่ย มันมีข้อดียังไงบ้างนะ
- ไม่ต้องฝืนตัวเองจนเกินไป
บอกไม่รู้ได้ไงพี่ ศักดิ์ศรีมันค้ำคอ แต่คำตอบที่ตอบไปก็แทบไม่ต่างอะไรจากการพูดว่าไม่รู้เลยนะ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า เราอาจจะจำว่าคำนี้พูดไปมันดูไม่มืออาชีพ แต่ใครมันจะมืออาชีพกันได้ตั้งแต่ทำงานวันแรกกันล่ะ มันมีจุดที่ต้องเรียนรู้ สั่งสมประบกาณณ์กันทั้งนั้น เลิกกลัวคำว่าไม่รู้ ยอมรับว่าสิ่งนี้มันเกิดขึ้นได้ แต่จุดที่สำคัญคือความพยายามจะเรียนรู้หลังจากนั้นต่างหาก เพื่อเราเองไม่ต้องฝืนตัวเองว่าฉันนี่สิรู้ทุกอย่างอยู่ตลอดเวลา
- มีโอกาสและพื้นที่ให้เรียนรู้
เราอาจมองว่าการยอมรับว่าไม่รู้ เป็นจุดอ่อนในการทำงาน ตายแล้ว ไม่รู้เหรอเนี่ย ถ้าเราปล่อยมันจบแค่นั้น เราอาจเสียโอกาสในการเรียนรู้ไป เมื่อเราไม่รู้แล้ว เราสามารถถามหาต่อไปได้ว่า แล้วเรื่องนี้ใครรู้บ้าง เราขอเรียนรู้จากเขาได้ไหม เปิดโอกาสให้คนอื่นสอนสิ่งนั้น เมื่อเขาคนนั้นรู้ว่าเรามีความสงสัยใคร่อยากจะเรียนรู้ เชื่อเถอะว่าเขามักเต็มใจแบ่งปันความรู้ที่มี เพราะผลสุดท้ายแล้ว เราทุกคนต่างอยากให้งานปลายทางออกมาดีกันทั้งนั้น
- สร้างความสัมพันธ์และความเชื่อใจ
พอเรามีความต้องการจะเรียนรู้ต่อ พี่ครับตรงนี้ยังไงนะ พี่คะอันนี้ดีหรือยัง การเผยจุดอ่อนของตัวเองบ้าง อาจช่วยให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเราไม่มีกำแพงกับเขา มันเลยช่วยสร้างความใกล้ชิดที่มากขึ้น มีหน่อเนื้อของความเชื่อใจ ไว้ใจ เกิดขึ้น ว่าเรายินดีจะรับคำเสนอแนะ คำติชมอยู่เสมอ เหมือนที่เรากำลังเรียนรู้อยู่ตอนนี้ไงล่ะ
- สร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน
เอ๋า ทุกคนมา ไม่รู้ ไม่รู้ กันหมด มันจะเป็นข้อดีได้ยังไง? งั้นลองนึกภาพตามดูว่า พอเราได้ทำงานแบบไม่ต้องฝืนตัวเองให้รู้ทุกอย่างต่อหน้าคนอื่น แล้วไปงมเอาทีหลัง เป็นแค่ โอเค เรื่องนี้ไม่รู้จริงๆ มันต้องยังไงต่อนะ ใครรู้ก็มาช่วยเสริมจุดนี้นิด อีกคนมาเสริมจุดนี้หน่อย มันช่วยให้คนอื่นๆ ในทีมเห็นว่า ไม่รู้มันก็ไม่แย่นี่นา มีพื้นที่ให้พลาดบ้าง แค่เปลี่ยนมันเป็นพื้นที่เรียนรู้ต่อไปแค่นั้นเอง
พอเห็นข้อดีของการโอบรับความไม่รู้แล้ว แต่ทีนี้ การสื่อสารออกไป เราควรจะพูดออกไปแบบไหนดีนะ “ไม่รู้เลย” “เอาไงดี” ห้วนๆ แบบนี้อีกฝ่ายก็อาจไปต่อไม่ถูกเหมือนกัน อย่างที่บอกไปว่า สิ่งสำคัญมันคือความพยายามจะเรียนรู้ จะหาคำตอบหลังจากนั้น คำว่าไม่รู้มันพูดได้ แต่ลองเติมอะไรต่อท้ายลงไปหน่อย อย่าง “ไม่รู้เลย เรื่องนี้ยังไม่มั่นใจเท่าไหร่ ขอเวลาไปหาคำตอบเพิ่มได้ไหม” “ไม่รู้ว่ามันครอบคลุมคำตอบทั้งหมดไหม ขอกลับไปเก็บรายละเอียดก่อนแล้วจะรีบตอบกลับนะ” อะไรเหล่านี้อาจช่วยให้อีกฝ่ายเห็นในความพยายามและวางใจว่าอย่างน้อยก็จะได้คำตอบ แม้ไม่ใช่ในตอนนี้ก็ตาม
รู้แบบนี้แล้วเราก็ไม่ต้อง อ้อมๆแอ้มๆ หาสารพัดคำเลี่ยงคำว่าไม่รู้กันแล้ว เปลี่ยนมา โอบรับแล้วใช้มันเป็นโอกาสในการเรียนรู้อย่างมั่นใจกันดีกว่า
อ้างอิงจาก