“บรรยากาศข้างในมันเหมือนโดนขังไว้ที่ที่หนึ่ง มีหมอมาดูอาการ แล้วก็กินยา”
นี่คือคำบอกเล่าของผู้ป่วยจิตเวชที่เคยเข้ารับการแอดมิทในโรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่ง
หากพูดถึงโรงพยาบาลจิตเวช หรือวอร์ดผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลรัฐ ภาพจำของใครหลายๆ คนก็อาจจะนึกถึงห้องน่ากลัวๆ สภาพเก่าๆ มีลูกกรง มีสายตาจากคนอื่นๆ คอยจับจ้อง มีบุคลากรทางการแพทย์มาเข้ามาพูดคุยแป๊บๆ แล้วก็เดินออกไปท่ามกลางเสียงกรีดร้องจากผู้ป่วยห้องข้างๆ
แต่ถ้าจะถามว่าภาพจำดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องจริงไหม แล้วเสียงของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชมันสะท้อนอะไรออกมาบ้าง The MATTER จึงอยากขอพาทุกคนไปสำรวจโลกของโรงพยาบาลจิตเวชและวอร์ดผู้ป่วยจิตเวชของโรงพยาบาลรัฐกันเลย
ชีวิตในห้องลูกกรงของผู้ป่วยจิตเวช
“มันเหมือนเทรนนิ่งการเข้าคุก” นี่คือนิยามที่กาแฟ (นามสมมติ) ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เคยเข้ารับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่งในไทยบอกกับ The MATTER
ก้าวแรกในฐานะผู้ป่วยในที่โรงพยาบาลจิตเวชของกาแฟก็คือการถูกจับเข้าไป แล้วก็โดนมัดไว้ราว 4 ชั่วโมง ซึ่งเขาเล่าว่าตอนนั้นกลัวมาก เพราะได้ยินเสียงคนกรีดร้องอยู่ตลอด ขณะที่ตัวเองก็เคลื่อนไหวไปไหนไม่ได้ กระทั่งพยาบาลเห็นว่าเขาไม่ได้มีพฤติกรรมก้าวร้าว จึงจะมาแก้มัดให้ นอกจากนี้ ตอนที่กาแฟเข้าไปรับการรักษาช่วงแรกๆ เขาไม่ได้เจอแพทย์เลยเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตว่า อาจเพราะติดกับวันหยุดพอดี
ส่วนกิจวัตรประจำวันของกาแฟและผู้ป่วยคนอื่นๆ ก็คือ ตื่นตอน 06.00 น. อาบน้ำ กินข้าว หลังจากนั้นถึงจะได้พบแพทย์ ซึ่งระยะเวลาที่ได้คุยกับแพทย์ก็จะอยู่ที่ 5-10 นาทีเท่านั้น บทสนทนาระหว่างเขากับแพทย์ก็จะมีเพียงถามไถ่อาการ ‘นอนหลับได้ไหม’ ‘อาการเป็นอย่างไรบ้าง’ จัดยาให้ แล้วก็ออกมานั่งคุยกับผู้ป่วยในห้องเดียวกัน
แต่กาแฟมองว่าในการรักษาตัวในโรงพยาบาล เขาก็เจอทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่ดีและไม่ดี ซึ่งส่วนใหญ่เขารู้สึกว่าบุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่ได้สนใจเขาเท่าไรนัก เพราะมองว่าเขาเป็นแค่คนป่วยคนหนึ่ง
“อย่างเราสักเชือกผูกคอไว้ที่ข้อมือ เขาให้ยามากิน บอกว่า ‘ป่วยเลยไปสักไอ้สิ่งนี้มา เป็นสิ่งที่ไม่ดี’ เราก็บอกว่า ‘ไม่ใช่ ผมสักเป็นเครื่องเตือนใจว่าถ้าวันหนึ่งผมหาย ผมเห็นสิ่งนี้ก็จะได้รู้ว่าผ่านอะไรมา’ แต่เขาก็ไม่ฟังเรา เขาก็บอกแค่ว่าไปสักมาแสดงว่าป่วย ต้องกินยานะ”
ในส่วนของกิจกรรมข้างในโรงพยาบาล กาแฟก็เล่าว่านานทีจึงจะมีกิจกรรมให้ทำ ซึ่งเขาไม่แน่ใจว่าเพราะเข้าไปรักษาในเดือนที่มีวันหยุดยาวติดกันด้วยหรือเปล่า จึงแทบไม่มีกิจกรรมอะไรเลย รวมถึงกระบวนการในการรักษา เขาก็มองว่าไม่ต่างอะไรจากการจับเขาไปไว้ที่ที่หนึ่ง ให้กินยาเพื่อดูว่าเขาสามารถตอบสนองกับยาแค่ไหน ส่วนการรักษาอย่างอื่น เช่น จิตบำบัด ก็น้อยมากๆ จนอาจเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีเลย
“มันเหมือนเทรนนิ่งการเข้าคุก…เข้ามาก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะรักษาเรา คือหมอพยายามจะรักษาเราแล้วใช่ไหม จริงๆ เอาแค่เภสัชกรมาแล้วมาให้ยาก็ได้หรือเปล่า”
นอกจากนี้ กาแฟก็ยังมองว่าสถานที่ที่เขาไปอยู่ เป็นสิ่งกระตุ้นให้เขาอาการหนักกว่าเดิม เพราะสภาพไม่น่าอยู่ คุณภาพชีวิตและสถานที่ก็ไม่ได้จรรโลงใจ หรือทำให้รู้สึกดีขึ้นเลย
เสียงจากผู้ป่วย เครื่องสะท้อนถึงปัญหาขาดแคลนบุคลากรโรงพยาบาลจิตเวช
เมื่ออ่านเรื่องราวของกาแฟจบ บางคนก็อาจจะเกิดอคติเล็กๆ ในใจต่อบุคลากรทางการแพทย์ แต่หลังจากที่ The MATTER ได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวดังกล่าวกับ นพ.เอกอาชาน โควสุภัทร์ จิตแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ก็พบว่าเหตุการณ์ที่กาแฟเคยเผชิญนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเสียงสะท้อนถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างของทั้งวอร์ดผู้ป่วยจิตเวชและโรงพยาบาลจิตเวช
นพ.เอกอาชาน เล่าให้ฟังว่าการเข้ารับรักษาตัวแบบผู้ป่วยในของแผนกจิตเวชจะแบ่งเป็น 2 แห่ง ก็คือวอร์ดจิตเวชตามโรงพยาบาลที่มีเตียงแอดมิท กับโรงพยาบาลจิตเวชที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยตรง เช่นโรงพยาบาลศรีธัญญา ซึ่งทั้ง 2 จะสังกัดคนละหน่วยงานกัน แต่หลักการพื้นฐานในการรักษาผู้ป่วยก็จะเหมือนกัน
เมื่อเล่าถึงเหตุการณ์ที่กาแฟเจอให้กับ นพ.เอกอาชานฟัง เขาก็ระบุว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กาแฟรู้สึกเช่นนั้น ก็คือ ‘ข้อจำกัดเรื่องบุคลากร’ เพราะในวอร์ดผู้ป่วยจิตเวช หรือในโรงพยาบาลจิตเวช ก็จะมีทั้งผู้ป่วยที่อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว เช่นคนไข้ที่มาด้วยอาการติดสารเสพติด ไปจนถึงผู้ป่วยที่ไม่ก้าวร้าว ซึ่งเมื่อผู้ป่วยมีพฤติกรรมก้าวร้าว พยาบาลก็จะดูแลยากและต้องใช้เวลานาน จึงอาจจะทำให้พยาบาลดูแลได้ไม่ทั่วถึง เป็นเหตุให้ผู้ป่วยคนอื่นๆ รู้สึกว่าพยาบาลดูแลไม่เต็มที่ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดีในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช นพ.เอกอาชานกล่าวว่า มีการกำหนดอัตรากำลังชัดเจนว่าต้องมีพยาบาล-แพทย์กี่คน ต่อคนไข้กี่คน แต่ความจริงก็อาจทำไม่ได้ตามนั้นเพราะบุคลากรขาดแคลน ซึ่งบุคลากรในแผนกอื่นๆ ก็เจอกับปัญหาเดียวกัน แต่วอร์ดจิตเวชจะแย่กว่าตรงที่จิตเวชจะเป็นแผนกที่ได้รับความสำคัญเป็นลำดับท้ายๆ ที่จะได้รับการจัดสรรบุคลากรมาให้
“โดยปกติเขาจะให้ความสำคัญกับโรคทางกาย เช่นอายุรกรรมที่จำนวนเตียงมันเยอะ แต่ของที่หมอดูแล แม้จะมีคนไข้จำนวนไม่มาก แต่พอคนไข้ก้าวร้าวทีก็น่ากลัวมาก บางทีถึงขั้นต้องใช้ รปภ. [มาควบคุมสถานการณ์] พยาบาลเองก็ได้รับบาดเจ็บ แล้วมันจะมีเหตุแบบนี้เกิดขึ้นถี่มาก”
“นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องมีบุคลากรเพียงพอ เพราะว่าถ้าไม่พอ การจัดการเรื่องพฤติกรรมก้าวร้าวของคนไข้ก็จะทำได้ยาก แล้วก็เป็นอันตราย สุ่มเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บต่อบุคลากรเองด้วย” นพ.เอกอาชานกล่าว
เช่นเดียวกับทางฝั่งของนักวิทยาคลินิก ที่มีหน้าที่หลักๆ คือการประเมินผู้ป่วยก็ประสบกับปัญหาดังกล่าวเช่นกัน
พี (นามสมมติ) นักจิตวิทยาคลินิกในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งเล่าให้ The MATTER ฟังว่า ปัญหาที่เจอคือจํานวนนักจิตวิทยาน้อยเกินว่าภาระงานที่ได้รับ เพราะจะมีการคํานวณสัดส่วนของบุคลากรต่อผู้ป่วย เพื่อดูว่าควรจะใช้คนเท่าไร แต่ว่ากำลังคนที่ทำงานจริงๆ ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่คำนวณออกมา เช่น ระบุว่านักจิตวิทยาคลินิกต้องมี 20 คน แต่พอทำงานจริงๆ ก็จะอยู่แค่ 10 คน ซึ่งน้อยกว่าที่ควรจะเป็น จึงทำให้งานหนัก แต่คนให้บริการน้อย จนทําให้คุณภาพของการให้บริการเป็นไปอย่างจํากัด
เรื่องของจำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอนั้น พีระบุว่าส่งผลอย่างมากต่อเคสที่ขอรับบริการจิตบําบัด เพราะแต่ละคนก็จะมีเรื่องราวที่อยากจะเล่าไม่เหมือนกัน บางคนพอได้เล่าไม่นานแล้วพอมีคนรับฟัง เขาก็ดีขึ้น ในขณะที่บางคนมีเรื่องต้องเล่าเยอะมาก แต่ว่าด้วยเวลาที่จํากัดก็ต้องจัดสรรเวลาให้รีบจบ เพื่อรับเคสใหม่อะไร
“มันเลยอาจจะทําให้เขายังยังไม่ทันได้ตกตะกอนตัวเอง แล้วตัวนักจิตวิทยาอาจจะฟังเขาได้ไม่ดีพอ เหมือนเวลาในการอยู่กับเขาตรงนั้นมันน้อยลง”
แต่ถ้าจะถามว่ากระบวนการรักษาเหมาะสมไหม ตอนนี้พีก็ตอบได้เลยว่ากระบวนการที่ผู้ป่วยได้เจอบุคลากรทางการแพทย์มันเหมาะสม การให้บริการก็ตรงตามมาตรฐาน แต่ว่าด้วยจํานวนเคสที่มีจำนวนมาก ในฐานะนักจิตวิทยาคลินิกเอง ก็ไม่สามารถที่จะคุยกับผู้ป่วยได้นานมาก คุณภาพการให้บริการในเรื่องของการทําจิตบําบัดก็อาจจะลดลง คนไข้บางคนก็อาจจะมีเรื่องที่รู้สึกว่ามันยังมีอะไรที่ติดค้างอยู่ในใจ
ภาระงานที่ว่าด้วยเรื่องของเวลาไม่เพียงพอ
เมื่อบุคลากรขาดแคลน ปัญหาที่ตามมาก็คือเรื่องของภาระงานจำนวนมาก ซึ่งสิ่งที่เป็นปัญหาหลักในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ด้านจิตเวชก็คือเรื่องของ ‘เวลา’ ที่ต้องใช้กับผู้ป่วย
นพ.เอกอาชานเล่าถึงจำนวนคนไข้ในอุดมคติที่เข้ามาตรวจเป็นผู้ป่วยนอก โดยอ้างถึงโรงพยาบาลจิตเวชบางแห่งที่จะกำหนดสัดส่วนผู้ป่วยนอกเอาไว้ที่ 50-60 คนต่อแพทย์ 1 คน แต่ส่วนตัวเขาเองก็ไม่สามารถกำหนดคนไข้ให้มีจำนวนเช่นว่าได้ เพราะในการทำงานเป็นจิตแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ คนไข้ที่เข้ามารับการตรวจโดยเฉลี่ยต่อวันที่เบาสุดก็คือประมาณ 70 คน ส่วนวันที่หนักที่สุดก็คือที่เคยเจอคือ 140 คน
จากปัญหาที่เกิดขึ้นตรงนี้ นพ.เอกอาชานเห็นว่า เป็นผลสะท้อนของการขาดทั้งจิตแพทย์ พยาบาลและนักจิตวิทยาเช่นกัน และแม้ว่าโรงพยาบาลจิตเวชจะมีจำนวนแพทย์มากกว่า แต่ตอนนี้ก็ยังไม่พออยู่ดี
“เพราะงั้นจริงๆ แล้ว กลุ่มงานนี้เป็นอะไรที่ถมยังไงมันก็ไม่เต็ม…ถามว่าตรวจได้ไหม 140 คน ก็ตรวจได้ แต่คุณภาพในการตรวจมันก็น้อยลงกว่าการที่เรามีเวลาคุยกับคนไข้เยอะหน่อย” นพ.เอกอาชานกล่าว
จำนวนเวลาที่ไม่เพียงพอในการตรวจคนไข้และภาระงานที่ล้นมือนี้ นพ.เอกอาชานก็ชี้ให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อตัวผู้ป่วยเช่นกัน เพราะจะมีตัวชี้วัดที่ใช้ทั่วไปคือ ‘อัตราการนอนโรงพยาบาลซ้ำ’ ซึ่งสำหรับคนไข้จิตเวช ถ้าแพทย์ไม่ได้มีเวลาวางแผน วางแผนได้ไม่ครบถ้วน หรือไม่ได้เตรียมชุมชนก่อนส่งตัวผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะกลับเข้าไปนอนโรงพยาบาลซ้ำอีกรอบ
พียังเล่าเพิ่มเติมอีกว่า สภาพแวดล้อมของห้องผู้ป่วยที่มีลูกกรง (ซึ่งก็เป็นการออกแบบมาเพื่อความปลอดภัย) ทำให้รู้สึกเหมือนคุก และนอกจากการตกแต่งที่ส่งผลให้มีผู้ป่วยออกมาพูดถึงเช่นนั้นแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงเลยก็คือข้อจำกัดเรื่องจำนวนและภาระงานของบุคลากร
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่าต้องมีการจํากัดบริเวณ ประกอบกับคนดูแลมีจำกัด ซึ่งตอนนี้เตียงผู้ป่วยในก็เต็มแทบจะทุกที่ การดูแลผู้ป่วยจึงต้องเป็นแบบการควบคุมแทน พีจึงมองว่าจุดนี้ เป็นสิ่งที่ส่งผลให้บรรยากาศไม่ค่อยดี รวมไปถึง บางที่ก็ไม่ได้มีกิจกรรมให้ผู้ป่วยทําเท่าไรนัก ก็ยิ่งทำให้เขารู้สึกว่ามาแล้วก็เหมือนโดนขัง ไม่ได้มีการฟื้นฟูอะไร
พียังระบุอีกว่า เมื่อบุคลากรไม่พอ แล้วแต่ละคนก็มีภาระงานที่หนักจนทำให้ผู้ป่วยไม่ได้ทำกิจกรรม ก็ส่งผลกระทบกับผู้ป่วย เช่นเดียวกับข้อมูลจาก นพ.เอกอาชานที่ระบุว่าสำหรับผู้ป่วยที่อาการสงบแล้ว “กิจกรรมคือสิ่งจำเป็น เพราะถ้าตื่นมาไม่มีอะไรทำก็เหมือนกักตัว COVID-19 มันเฉานะ คอมฯ ก็ไม่มี โทรศัพท์เล่นไม่ได้ หนังสือก็ไม่มี ทำได้แค่ตื่น กิน นอน”
อีกทั้งพียังระบุเพิ่มเติมถึงเรื่องดูแลผู้ป่วยว่ามันมีหลัก ‘สามเหลี่ยมของการดูแลสุขภาพจิต’ ที่ประกอบไปด้วย
– สภาพร่างกาย: ต้องรู้ว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยทางด้านร่างกายอะไรไหม มีข้อจํากัดทางด้านร่างกายหรือไม่
– สภาพจิตใจ: มีปัญหาเรื่องของบุคลิกภาพ ปัญหาเรื่องของอารมณ์ ปัญหาเรื่องของกระบวนการคิดหรือเปล่า
– สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู ความเป็นอยู่ ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสังคม: พอมาอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชซึ่งเป็นสถานที่ที่ควรจะช่วยฟื้นฟูเขาได้ แต่ผู้ป่วยกลับต้องมาอยู่เฉยๆ ไม่มีอะไรทํา รอรับแค่ยาอย่างเดียว การดูแลด้านสภาพแวดล้อมจึงทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ การดูแล รักษา ฟื้นฟูก็จะไม่ครบกระบวนการ
สาเหตุของปัญหา ว่าด้วยการเทรนนิ่ง งานวิชาการ และค่าตอบแทน
กว่าจะเป็นจิตแพทย์ได้ ต้องเรียนต่อเฉพาะทางหลังจากจบอินเทิร์น โดยตอนที่เป็นอินเทิร์นจะมีช่วงที่วนวอร์ดในโรงพยาบาล 1 ปี (ไม่มีการวนวอร์ดจิตเวช) อีกทั้งตอนที่เป็นนักศึกษาแพทย์ก็ได้เรียนเกี่ยวกับจิตเวชเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น แล้วหลังจากนั้น 2 ปี บางคนก็จะต้องไปอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ซึ่งเมื่อแพทย์ไปอยู่ที่ รพช. ทั้งที่มีโอกาสได้ดูแลผู้ป่วยจิตเวชน้อยมากๆ นพ.เอกอาชานมองว่าจุดนี้ ทำให้แพทย์อินเทิร์นไม่มั่นใจในการรักษาผู้ป่วยจิตเวช หากมีเคสที่ไม่ได้หนักมาก ก็ยังต้องโทรปรึกษาจิตแพทย์ก่อนโดยไม่สามารถให้คำแนะนำเบื้องต้นได้ ทำให้ภาระงานของจิตแพทย์ในโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลจิตเวชเพิ่มขึ้นเช่นกัน
นอกจากนี้ นพ.เอกอาชานยังชี้ให้เห็นอีกว่า ระบบเทรนนิ่งของจิตแพทย์ที่ต้องเข้าเรียน 3 ปี หลังจากจบอินเทิร์นก็ค่อนข้างเป็นระบบที่มีปัญหา เพราะว่าบุคลากรไม่พอ
นพ.เอกอาชานยังเสริมอีกว่า จริงๆ แล้ว คนอยากเรียนด้านจิตเวชมีค่อนข้างมาก แต่อัตราการเปิดรับมันน้อย เพราะอาจารย์แพทย์ (สตาฟ) ที่จะมาสอนไม่พอ ในขณะที่สตาฟก็เกษียณออกไปจากระบบมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แนวโน้มของจิตแพทย์ทั้งในระบบและที่กำลังจะเข้าสู่ระบบลดลง สถานที่ในการเทรนก็ลดลง
เพราะฉะนั้นปัญหาไม่ได้อยู่แค่ว่ามันไม่มีคน คนอาจจะมีแต่ไม่สามารถเข้ามาสู่ระบบได้เต็มรูปแบบ เพราะติดปัญหาเหล่านี้
อีกทั้ง ยังมีข้อกำหนดด้วยว่าสัดส่วนสตาฟต่อแพทย์ที่เทรนได้คือเท่าไร ถ้าจำนวนสตาฟน้อย แพทย์ที่จะได้เข้าไปเทรนก็น้อยตามไปด้วย เพราะฉะนั้น นพ.เอกอาชานจึงมองว่า ตราบใดที่จำนวนอาจารย์ยังน้อย ตำแหน่งที่จะเปิดก็น้อยตาม ก็จะมีปัญหาในการผลิตบุคลากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็จะกลับไปที่ปัญหาว่า จิตแพทย์ที่อยู่ในระบบต้องแบกรับภาระงานของจำนวนคนไข้ที่มากขึ้น ทำให้คุณภาพในการตรวจแย่ลง ส่งผลให้ไม่สามารถดูแลคนไข้ให้ได้ตามมาตรฐานอย่างเต็มที่ จนทำให้จำนวนคนไข้ที่อาการไม่ค่อยดีมีมากขึ้น กลับมาเป็นวงจรอุบาทว์ ก็คือคนไข้เยอะ แพทย์ก็ต้องกลับมาตรวจเยอะ
นอกจากนี้ แพทย์บางคนก็ไม่ได้ชอบงานวิจัย แต่สตาฟที่จะมาเทรนได้ก็ต้องเป็นอาจารย์แพทย์ของมหาวิทยาลัย ต้องทำงานสอน ต้องทำวิจัย ซึ่ง นพ.เอกอาชานก็มองว่ามันไม่ใช่แรงจูงใจที่ดีที่จะอยากให้คนมาเป็นอาจารย์แพทย์
ในส่วนของชีวิตในช่วงการเทรนนิ่ง นพ.เอกอาชานก็มองว่ามีปัญหาเหมือนกัน เพราะตอนที่เทรนนิ่ง 3 ปี เขาได้เงินเดือนเท่ากับแพทย์ใช้ทุน คือประมาณ 26,000 บาท แล้วก็ค่าอยู่เวรเหมาจ่าย 5,000 บาท ซึ่งถ้าเทียบกับที่อื่น เขาก็มองว่าน้อยมาก “มาอยู่ตรงนี้ รายได้มันไม่สมเหตุสมผลกับภาระงานที่เกิดขึ้น”
“จิตเวชมันก็เหนื่อยกับความเครียดคนนะ อาจจะไม่ได้เหนื่อยกับจำนวนคนไข้ถ้าเทียบกับอายุรกรรม…แต่เราต้องอยู่กับความเครียดคน ถ้าเราเคลียร์ตัวเองไม่ได้มันก็ส่งผลต่อสุขภาพจิตเหมือนกัน”
นพ.เอกอาชานมองว่า ทุกสายอาชีพมันมีความหนักในตัวของมันเอง เพราะฉะนั้น ก็อยากให้รู้สึกว่าได้ค่าตอบแทนคุ้มค่ากับความเหนื่อย
เช่นเดียวกับทางด้านนักจิตวิทยาคลินิก ที่พีเล่าให้ฟังว่านอกจากงานทำแบบประเมินผู้ป่วยและทำจิตบำบัดแล้ว หากบรรจุเป็นข้าราชการ ก็ยังมีงานวิชาการที่ต้องทำ อย่างการอบรม หรือทําวิจัย ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไม่พอเช่นกัน
อีกทั้ง พียังเล่าว่านักจิตวิทยาก็มีปัญหาเรื่องค่าตอบแทนน้อย โดยถ้าเป็นข้าราชการก็จะเริ่มต้นที่ 15,000 บาท ซึ่งจะมีค่าตอบแทนพิเศษอื่นๆ อย่างเช่นค่าตอบแทนใบประกอบวิชาชีพบวกไป 1,000 บาท แล้วก็เงินที่จะจ่ายตามงานที่ทำจริง แต่ก็ค่อนข้างน้อยเพราะต้องยึดตามกรอบระเบียบราชการที่เขากําหนดไว้
“อย่างสมมติถ้าเราทําเอกชนบางคนอาจจะได้เพิ่มมาประมาณ 3,000-5,000 บาท แล้วแต่ที่ แต่ว่าในระบบราชการ ต่อให้ทําเยอะแค่ไหน มันก็จะจํากัดอยู่ที่ 1,000-2,000 บาท บางทีมันก็ค้างจ่าย ก็คือทบๆ ไป เขาจะเรียกว่าตกเบิก แล้วก็มีบ้างที่ค่าตอบแทนที่เป็นเงินเดือนจริงๆ ตกเบิกไปบ้าง ก็ทําให้แรงจูงใจที่คนจะเข้ามาทํางานก็น้อยลง” พีกล่าว
ทางแก้ไขเพื่อให้บุคลากรสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้
สำหรับในมุมของนักจิตวิทยาคลินิก พีเล่าว่า การแก้ไขที่ตรงจุดที่สุดคือต้องเปิดตำแหน่งให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มบุคลากรในระบบ เพราะว่าในสายงานจิตวิทยาคลินิก แต่ละปีก็มีคนจบมาจำนวนมาก ซึ่งทุกวันนี้ก็มีคนที่พยายามที่จะไปสอบใบประกอบให้ได้ เพื่อที่จะทํางานเป็นนักจิตวิทยาคลินิกโดยตรง แต่ว่าพอเปิดรับน้อย ก็แทบจะไม่มีตําแหน่งอะไรเลย ฉะนั้น ถ้าเป็นไปได้เธอจึงอยากให้เพิ่มบุคลากร เพื่อช่วยให้งานโหลดน้อยลง แล้วก็ช่วยทำให้ผู้เข้ารับบริการเข้าถึงได้มากขึ้น
การเปิดตําแหน่งที่ว่านั้น พีระบุว่าไม่ใช่แค่เปิดในโรงพยาบาลเฉพาะทาง แต่ควรจะเปิดทั่วประเทศ เพราะมองว่าการการบริการสุขภาพจิตที่ดี ก็ควรจะเป็นบริการที่เข้าถึงง่าย ไม่ต้องเดินทางไกล ไม่ซับซ้อน อย่างวันไหนที่คนรู้สึกไม่โอเค รู้สึกไม่ไหว ก็สามารถที่จะเข้าไปที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อขอคุยกับนักจิตวิทยาได้เลย
สำหรับข้อเสนอแนะของ นพ.เอกอาชาน ในฐานะจิตแพทย์ ก็มองว่าตอนนี้ทางกรมสุขภาพจิตและหน่วยงานต่างๆ ก็เริ่มมีการผลักดันเรื่องของสุขภาพจิตกันมาขึ้น พยายามให้ข้อมูลเรื่องสุขภาพจิตกับประชาชน
สอดคล้องกับข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตที่ระบุว่า ทุกวันนี้สามารถผลิตจิตแพทย์ได้ประมาณปีละ 40-50 คน แต่ก็ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องสามารถผลิตให้ได้ 800 ในปี 2028 โดยมีแผนผลิตทั้งจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักกิจกรรมบำบัดภายใต้งบประมาณ 686 ล้านบาท
อีกทั้ง กระทรวงสาธารณสุขก็ยังมีนโยบายที่จะเปิดศูนย์คัดกรองผู้ติดยาเสพติด เพื่อนำผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดอีกเช่นกัน
แต่นอกเหนือจากการผลักดันดังกล่าวแล้ว นพ.เอกอาชาน ก็ยังมองว่าสิ่งสำคัญคือต้องเพิ่มบุคลากร ควบคู่ไปกับให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิต เพราะจิตเวชไม่สามารถรักษาได้แค่ปลายน้ำได้ ต้องทำต้นน้ำให้ดีผ่านการสร้างเครือข่ายในการให้ข้อมูลสุขภาพและการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพจิตลงไปในชุมชนเช่นกัน