“ตอนที่เข้าไปโรงเรียนแพทย์ เรามีความฝัน เรามีภาพวาดที่เห็นจากซีรีส์ต่างๆ ว่าชีวิตคนเป็นหมอได้ช่วยเหลือชีวิตคนไข้ ได้เปลี่ยนชีวิตคนไข้ มันเป็นงานที่มีความหมาย แต่พอจบมา ชีวิตจริงมันอีกเรื่องเลย…มันไม่ใช่ภาพที่เราคาดหวัง แถมสวัสดิการที่เราคิดว่ามันจะมี คิดว่าแพทย์จะรวย มันก็ตรงข้ามกับสิ่งที่เราคิดโดยสิ้นเชิง”
นี่คือความรู้สึกของตัวแทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานที่กล่าวกับเรา
เชื่อว่าหลายคนอาจเคยได้ยินกันมาตลอดว่าแพทย์-พยาบาลเป็นอาชีพที่ต้องทำงานหนัก และที่ผ่านมา ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ก็เป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงอยู่เสมอ แต่ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ เรื่องราวการลาออกของอินเทิร์นก็ได้กลายมาเป็นหัวข้อที่เป็นที่ถกเถียงกันในสังคมอีกครั้ง เนื่องจากเดือนมิถุนายนของทุกปี ก็ไม่ต่างอะไรจากวันเปิดเทอมที่แพทย์หน้าใหม่จะเข้าสู่ระบบ แล้วอดีตแพทย์อินเทิร์นปี 1-2 ก็จะได้เลื่อนเป็นอินเทิร์นปี 2-3 แทน
อีกส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้ประเด็นดังกล่าวได้รับการพูดถึงกันในวงกว้าง ก็ยังเป็นเพราะ พญ.นภสร วีระยุทธวิไล หรือหมอปุยเมฆ นักแสดงและอดีตนักเรียนแพทย์ที่ออกมาเล่าถึงประสบการณ์ทำงานหนักตอนเป็นอินเทิร์น จนหลายๆ คนก็ทยอยออกมาแชร์ประสบการณ์ดังกล่าวกันมากขึ้นอีกเช่นกัน
แต่ก่อนอื่น ขอเกริ่นถึงแพทย์อินเทิร์นกันก่อนว่าเขาคือใครแล้วมีภาระหน้าที่ต้องทำอะไร
ถ้าจะบรรยายชีวิตแพทย์อินเทิร์น 1 (Intern) ให้เห็นภาพ พวกเขาก็คือนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์จบใหม่ของรัฐ ที่เพิ่งได้ก้าวเท้าออกจากรั้วโรงเรียนแพทย์แล้วไป ‘ใช้ทุน’ 3 ปี ซึ่งถ้าไม่ทำงานเป็นอินเทิร์น 1 (แพทย์เพิ่มพูนทักษะ) ก็จะไม่ได้ใบเพิ่มพูนทักษะ ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่สำคัญในการเรียนต่อเฉพาะทางหรือเวลาไปสมัครงาน แล้วถ้าจะลาออกก่อนครบกำหนด 3 ปี ก็จะต้องเสียค่าปรับตามที่รัฐกำหนด โดยปัจจุบันถ้าไม่เป็นอินเทิร์นเลยก็จะเสียค่าปรับอยู่ที่ราวๆ 400,000 บาท (แต่ระยะเวลาการใช้ทุนก็อาจจะแตกต่างกันออกไปตามโครงการที่แต่ละคนสมัครตอนเข้ามหาวิทยาลัย)
The MATTER จึงอยากจะพาทุกคนไปสำรวจปัญหาที่แพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐยังต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นภาระงานที่หนักอึ้ง ชั่วโมงงานที่บางวันก็ไม่ได้นอน ปัญหาค่าตอบแทนที่ได้รับ รวมไปถึงระบบที่ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์หลายคนต้องเจอกับปัญหาสุขภาพจิต บีบบังคับให้บุคคลากรไฟแรงทั้งหลาย ต้องลาออกจากงานไป
ภาระงานที่หนักหน่วง คนไม่พอ และชั่วโมงการทำงานที่ทำให้คนไม่ได้นอน
“ตัวงานมันทำเยอะมากเกินมนุษย์มนา” คือคำที่ นพ.ธราดล นิลศิริสุข อธิบายถึงภาระงานของบุคลากรทางแพทย์
ภาระงานที่หนักและชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไปนี้ เป็นปัญหาที่ทั้งแพทย์และพยาบาลต้องเผชิญ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีข้อมูลว่าแพทย์อินเทิร์นส่วนใหญ่ต้องทำงานเกิน 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (1 สัปดาห์ มี 168 ชั่วโมง) บางคนก็ต้องทำงานถึง 120 ชั่วโมง ส่วนพยาบาลหลายคนก็ต้องทำงาน 70-80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และยังต้องถูกบีบให้ควงเวร 24 ชั่วโมง เพราะบุคลากรไม่พออีกเช่นกัน โดยเมื่อเทียบกับอาชีพที่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน ก็มีการกำหนดว่าต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น
ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าบุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนักขนาดไหน คิว (นามสมมติ) อดีตแพทย์อินเทิร์นที่ลาออกหลังทำงานได้ 2 ปีเล่าให้ฟังว่า ในทุกวอร์ดจะมีพยาบาลอยู่ ถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น พยาบาลก็จะต้องโทรไปแจ้ง (notify) หมอ แล้วหมอก็ต้องให้วิธีการจัดการไป
“[ตอนที่เป็นอินเทิร์น 1] เราเคยได้โนติฟายราวๆ 350 สายต่อคืน มันเป็นสายซ้อนสายทั้งคืน แล้วเคยรับโทรศัพท์ที่โทรมาโนติฟายไม่ได้เพราะต้องปั๊มหัวใจคนไข้ทั้งคืน”
ส่วนกิจวัตรของแพทย์อินเทิร์น พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร จากสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานก็เล่าถึงประสบการณ์ตอนเป็นอินเทิร์นให้ฟังว่าไปทำงานตอน 7.00 น. เข้าไปถึงก็ต้องดูแลผู้ป่วยใน [คนที่แอดมิทอยู่ในโรงพยาบาล] ก่อน เร่งตรวจคนไข้ให้เสร็จภายใน 2 ชั่วโมง แล้วจึงไปตรวจผู้ป่วยนอก
หลังจากนั้น พญ.ชุตินาถ ก็เล่าต่อว่าต้องกลับไปดูผู้ป่วยในอีกครั้ง กระทั่งราวๆ 16.00 น. ก็เป็นเวลาอยู่เวรต่อจนถึงประมาณ 8.00 น. ของอีกวัน แล้วก็ต้องเข้าไปตรวจผู้ป่วยนอก ทำงานจนถึง 16.00 น. จึงจะได้กลับไปพัก นั่นก็หมายความว่ากิจวัตรของแพทย์อินเทิร์นต้องทำงานติดกัน 32 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย
ที่บอกว่าเป็นอย่างน้อยก็เพราะในบางครั้ง หลังจากทำงานมาแล้ว 32 ชั่วโมง ก็ยังอาจมีกรณีที่ต้องอยู่เวรต่อ
ดังเช่นกรณีของ พญ.ปริญรศา มงคลกุล แพทย์อินเทิร์นปี 3 ที่เล่าถึงประสบการณ์ตอนที่เป็นอินเทิร์น 1 ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ติดกับชายแดนเมียนมาว่า เคยต้องดูคนไข้ประมาณ 150 คนใน 1 คืน และทำงานติดกันมากสุด 5 วันโดยไม่ได้พัก แล้วเมื่อสมองไม่ได้พัก ก็ไม่สามารถสั่งงานได้ปกติ ซึ่งส่งผลกระทบกับการทำงานของของบุคลากรอย่างแน่นอน
พญ.ปริญรศา ยกตัวอย่างตอนที่ต้องทำงานโดยไม่ได้พักว่า เวลาที่มีโนติฟายเคสที่ไม่ได้หนักมาก อย่างคนไข้น้ำตาลเกินตอนตี 3 การบอกวิธีการจัดการลงไปก็อาจมีผิดพลาด ซึ่งแม้ว่าส่วนตัวเธอเองยังไม่เคยผิดพลาดหนักขนาดนั้น แต่เธอเชื่อว่าสิ่งที่หมอทุกคนต้องเคยเจอก็คือ autopilot หรือการที่ทำอะไรไปตามความเคยชิน บอกพยาบาลว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่พอตื่นมาก็จำไม่ได้แล้วว่าพูดอะไรไป ไม่รู้ว่าที่บอกไปเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้แพทย์ต้องมีภาระงานที่มากขึ้น พญ.ปริญรศา มองว่าเป็นเพราะมีบุคลากรไม่เพียงพอ “เคยเจอคนไข้หัวใจหยุดเต้นพร้อมกัน 2 คน แล้วอยู่คนละตึก แต่เราก็ไม่สามารถแยกร่างออกไปได้ ก็ต้องเลือกว่าจะวิ่งเข้าไปดูคนไหน แล้วสั่งพยาบาลว่าปั๊มหัวใจ ให้อะดรีนาลีน (Adrenaline) กี่นาที ส่วนคนไข้อีกคนก็ต้องโทรศัพท์แล้วเปิดสปีกเกอร์โฟนคอยรักษาเขาด้วย ทั้งๆ ที่เราก็ปั๊มหัวใจอีกคนอยู่”
เช่นเดียวกับพยาบาล ที่สุวิมล นัมคณิสรณ์ ตัวแทนสหภาพบุคลากรทางการแพทย์สาขาพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล จาก Nurses Connect เคยให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ว่า เคยได้รับการร้องเรียนจากพยาบาลที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลสังกัด กทม. ว่ามีการบีบให้พยาบาลทำงานควบเวร เช้า บ่าย ดึก ติดต่อกัน 24 ชั่วโมง เนื่องจากสูญเสียพยาบาลออกจากระบบ (ทั้งลาออก เกษียณ เสียชีวิต ฯลฯ) ในจำนวนมาก อีกทั้งในช่วงนี้ COVID-19 ก็เริ่มกลับมาระบาด มีเจ้าหน้าที่หลายคนที่ป่วย จึงกลายเป็นว่าโรงพยาบาลต้องมาบีบให้เจ้าหน้าที่ขึ้นเวร 24 ชั่วโมงแทน และก็ไม่ได้มีแค่ในสังกัด กทม.เท่านั้นที่เผชิญกับปัญหาดังกล่าว
สุวิมลยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการขึ้นเวร 24 ชั่วโมงซึ่งเป็นระยะเวลาการทำงานที่ ‘มันเกินลิมิต’ ของมนุษย์อีกว่า จริงๆ แล้วกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็มีนโยบาย ‘2P Safety’ ได้แก่ Patient and Personnel Safety หรือ ความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งแน่นอนว่าการทำงาน 24 ชั่วโมงมันผิดทั้ง 2P เพราะการทำงานโดยไม่พักก็อาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการดูแลผู้ป่วย เช่น ฉีดยาผิด ทำหัตถการผิด เนื่องจากศักยภาพมนุษย์ไม่สามารถทำงานได้ติดต่อกัน 24 ชั่วโมง แล้วในส่วนของคนทำงานที่ต้องอดนอน สุขภาพก็เสีย สติก็ไม่ต่างจากคนเมาเหล้าเลย เพราะฉะนั้นถ้าบุคลากรยังไม่ปลอดภัย คนไข้ก็จะไม่ปลอดภัยเหมือนกัน
นอกจากนี้ อุบัติเหตุบนท้องถนน ก็ยังกลายเป็น ‘เรื่องปกติ’ ที่บุคลากรทางการแพทย์หลายๆ คนอาจเคยเจอหรือไม่ก็ต้องมีคนรู้จักประสบกับอุบัติเหตุดังกล่าว เช่น คิว ก็เล่าให้ฟังว่า มีเพื่อนที่ลงเวรดึกแล้วขับรถแหกโค้ง กระดูหลังหัก ต้องทำกายภาพ แต่ก็นับว่าโชคดีที่ยังพอสามารถกลับมาเดินได้ หรือคนที่ขับรถลงเหวจริงๆ ก็มี เพราะต้องไปใช้ทุนต่างจังหวัดที่ไม่มีขนส่งสาธารณะ ซึ่งแม้แต่ตัวคิวเองก็ยังเคยขับรถกลับบ้านแล้วหลับอยู่กลางแยกไฟแดงเช่นกัน
ค่าตอบแทนที่ถูกฟรีซมา 10 กว่าปี
“ลองนึกภาพ ถ้าไม่ใช่อาชีพหมอ…บอกว่าให้คุณทำงานให้บริษัทก่อนอย่างน้อย 3 เดือนแต่ว่าเดี๋ยวอนาคตได้ [เงิน] นะ แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า 3 เดือนหรือเปล่า อาจจะเป็น 6 เดือนนะ แต่ก็ เดือนนี้ฝากก่อนละกันว่าอาทิตย์หนึ่งขอทำงานเกิน 100 ชั่วโมงนะ ติดกัน 3 เดือน ห้ามนอนตอนกลางคืน…ถามหน่อยใครจะอยู่ อยู่ได้เกินปีหนึ่งก็คือเก่งมากแล้วนะ” พญ.ชุตินาถกล่าว
แน่นอนว่าการทำงานก็ควรได้ค่าตอบแทน แต่สถานการณ์สำหรับแพทย์อินเทิร์นที่ไปทำงานส่วนใหญ่ อาจจะยังไม่ได้เงินเดือนตอนนั้นเลยด้วยซ้ำ เพราะ พญ.ชุตินาถก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าอินเทิร์นส่วนใหญ่มักจะตกเบิกในช่วง 3 เดือนแรกของการทำงาน ซึ่งบางคนก็ตกเบิกไปถึง 6 เดือนก็มี นั่นหมายความว่าในตอนทำงาน 3-6 เดือนแรกแพทย์อินเทิร์นจะยังไม่ได้เงินเดือน แต่ก็มีบางโรงพยาบาลที่ ‘ใจดี’ หน่อยก็จะให้ยืมก่อน 10,000 บาทก็มีเช่นกัน
“มันก็กลายเป็น ชีวิตที่งานหนัก ไม่มีเงิน ไม่ได้เจอครอบครัว อยู่พื้นที่ห่างไกล แถมต้องรับผิดชอบงานหนัก ก็คือชีวิตคนไข้อีก”
ประเด็นเงินเดือนก็ไม่ใช่ปัญหาที่แพทย์อินเทิร์นต้องเผชิญเท่านั้น เพราะ พญ.ชุตินาถ ยังเล่าให้ฟังอีกว่าแพทย์เอ็กซ์เทิร์น (Extern หรือนักศึกษาแพทย์ปี 6) ก็ต้องทำงานเหมือนอินเทิร์น อยู่เวรด้วยกัน แต่ต่างกันตรงที่เขาไม่ได้รับค่าตอบแทน “ถ้าเขาทำงานหนักขนาดนี้ เขาก็ควรได้ค่าตอบแทนเหมือนกัน ค่าแรงขั้นต่ำก็ได้ อย่างน้อยถือว่าเป็นน้ำใจในการทำ เพราะเขาก็ดูคนไข้เหมือนแพทย์ปกติคนหนึ่ง”
หรือจะมองว่าเพราะเอ็กซ์เทิร์นเป็นนักศึกษาหรือเปล่าเลยยังไม่ได้เงิน? ประเด็นนี้ พญ.ชุตินาถกล่าวว่า ถ้าจะมองว่าเขาเป็นนักศึกษาก็ควรเน้นเรื่องการศึกษา เพราะแม้ว่าการอยู่เวร การได้ปฏิบัติงานจริงๆ ก็คือการได้ศึกษาชีวิตแพทย์ แต่ในบางครั้งพวกเขาต้องทำงานหนักจนไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย เพราะชีวิตเอ็กซ์เทิร์นคือ ตอนเช้าต้องเสนอเคสให้อาจารย์ มีเวลาว่างก็ต้องอ่านหนังสือ ฉะนั้น ถ้าอยากให้นักศึกษาได้เรียนรู้จริงๆ ก็ควรจะมีกำหนดเวลาการทำงานด้วย
อีกทั้ง พญ.ชุตินาถเสริมอีกว่า นักศึกษาแพทย์เอ็กซ์เทิร์นก็ไม่ได้รับสวัสดิการอะไรมากมาย บางโรงพยาบาลที่ใจดี อาจจะให้ค่าอาหารเวรละ 50 บาท แล้วแต่การจัดการของโรงพยาบาลนั้นๆ
ในส่วนของค่าตอบแทนของแพทย์อินเทิร์น ทางสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานให้ข้อมูลว่า โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 50,000-60,000 บาท มาจาก
- เงินเดือน 18,000 บาท
- เงินเพิ่มเติมพิเศษ 5,000 บาท
- เงินจูงใจไม่ทำคลินิก/เอกชน 10,000 บาท
- เงินค่าทำหัตถการ (มาจากเงินบำรุงของโรงพยาบาล หากไม่พอก็ไม่ต้องจ่าย) 5,000-8,000 บาท
- ค่าอยู่เวร ประมาณ 25,000 บาท (เวรละ 1,100-2,000 บาท แล้วแต่ว่าอยู่เวรอะไร)
ส่วนวันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดราชการ แพทย์ก็ยังไม่ได้พัก เพราะแพทย์อินเทิร์นในโรงพยาบาลรัฐส่วนใหญ่มีภารกิจไปตรวจผู้ป่วยในอยู่ดี
“ไม่มีวันที่ได้หยุดเลย ซึ่งตรงนี้ก็ไม่มีค่าตอบแทน [เพิ่มเติม หรือค่า OT] เพราะไม่ถือว่าเป็นเวลางานตามที่ราชการกำหนด แต่เป็นสิ่งที่ต้องมาทำเพราะไม่มีใครดูแลผู้ป่วยในให้เรา” พญ.ชุตินาถกล่าว
เช่นเดียวกับพยายาล ที่สุวิมลชี้ให้เห็นว่า ในวันธรรมดา ที่ไม่ใช่วันเสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุด เวรช่วงเช้าก็จะถือว่าเป็นวันทำงานปกติจะไม่ได้ค่าตอบแทนเพิ่มเติมเพราะถือว่าอยู่ในเงินเดือนของพยาบาลแล้ว แต่ในเวรบ่าย (16.00-0.00 น.) และเวรดึก (0.00-8.00 น.) ก็จะได้ค่าตอบแทนโดยอิงจากข้อบังคับของ สธ.คือ 240 บาทต่อ 1 เวร ต่อมาก็มีการปรับขึ้นมาเป็น 360 บาทซึ่งบังคับใช้ไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ส่วนในวันหยุด โรงพยาบาลในเครือ สธ.ก็จะได้อยู่ที่ประมาณ 600 บาทต่อเวร และเพิ่งมีการปรับขึ้นเป็น 650 บาทส่วนของ กทม. สุวิมลให้ข้อมูลว่าจะได้อยู่ที่ประมาณ 1,200 บาทต่อเวรมานานแล้ว ดังนั้นเมื่อมีการปรับขึ้น เงินที่ได้ก็ไม่เท่ากัน เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำขึ้นมา เช่น คนแรกได้เงิน 1,000 บาท อีกคนได้เงิน 2,000 บาท พอมีการปรับขึ้น 8% คนแรกกับอีกคนก็ยังได้เงินห่างกันอยู่ดี
ปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์หมดใจ
“ลองมองไปที่หน้าต่างสิ โดดลงไปเลยก็ได้นะ”
“นี่เรียนจบมาได้ยังไง”
“จะให้พี่ไปช่วยทำอะไรล่ะ”
นี่คือถ้อยคำที่สตาฟ (อาจารย์แพทย์ที่เรียนเฉพาะทางจบแล้ว) เคยกล่าวกับอินเทิร์น
ในการทำงานเป็นแพทย์อินเทิร์น ก็จะต้องมีสตาฟคอยอยู่เวรด้วยทุกครั้ง แล้วอาจารย์ก็จะเป็นคนที่ให้การรักษาสุดท้าย ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่อินเทิร์นไม่สามารถรักษาได้ ซึ่งอาจารย์ดีๆ ก็มีอยู่มาก แต่สตาฟที่พฤติกรรมท็อกซิกก็มีเช่นกัน
กรณีนี้ พญ.ปริญรศา เล่าให้ฟังว่า เธอเคยเจอสตาฟหลายคนที่ดี ให้คำปรึกษาอินเทิร์น แต่ก็เคยเจอเคสคนไข้หัวใจหยุดเต้นตอนขึ้นอินเทิร์น 1 แรกๆ ตอนนั้นตกใจ เพราะไม่เคยดูคนไข้ที่หัวใจหยุดเต้นด้วยตัวเองมาก่อน เธอจึงโทรไปหาอาจารย์เล่าเคสให้ฟัง แต่อาจารย์ก็ตอบกลับมาว่า “จะให้พี่ไปช่วยทำอะไรล่ะ”
พญ.ปริญรศา เล่าอีกว่า ยังมีอาจารย์ที่โดดงานอีกด้วย หมายความว่า สตาฟคนนั้นต้องอยู่เวรพร้อมกับอินเทิร์น แต่เขาไม่ได้อยู่ เพราะไปเปิดคลินิกเองข้างนอกในเวลาเวร ซึ่งแม้ว่าเวลาที่เธอโทรไป เขาจะรับสายให้คำแนะนำ แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เขาก็ไม่สามารถเข้ามาช่วยได้ทัน ส่วนตัวจึงรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบอยู่เหมือนกัน
ทั้งยังมีสตาฟที่พูดจาไม่ดีกับอินเทิร์นเช่นกัน เพราะอาจารย์แต่ละคนก็มีธงในใจไม่เท่ากันว่าเด็กจบใหม่ควรรู้อะไรบ้าง โดย พญ.ปริญรศาเล่าเหตุการณ์ของเพื่อนให้ฟังว่า เพื่อนเธอเคยเจออาจารย์ที่ถ้าทำอะไรผิดพลาดไป หรือไม่ได้ถูกใจ เขาก็บอกเลยว่า “ลองมองไปที่หน้าต่างสิ โดดลงไปเลยก็ได้นะ” “นี่เรียนจบมาได้ยังไง” รวมถึงสารพัดคำบั่นทอนจิตใจ จนเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเจ็บป่วยทางอารมณ์และจิตใจ (mental breakdown)
แต่ พญ.ปริญรศา เข้าใจว่าสตาฟก็อาจต้องเผชิญกับวงจรเช่นนี้เหมือนกัน “ตัวเขาก็งานหนักเหมือนกัน เพราะทั้งอินเทิร์นทั้งสตาฟ ก็ถูกกดขี่ด้วยระบบนี้เหมือนกัน มันไม่มีหมอจุดไหนเลยที่พอ”
อีกหนึ่งสาเหตุของการ breakdown ก็คือภาระงานที่บุคลากรต้องเจอ โดยคิว เล่าให้ฟังว่า แค่สัปดาห์แรกที่เริ่มงานอินเทิร์น 1 ก็มีเพื่อนที่ร้องไห้อยากลาออกแล้ว เนื่องจากโทรติดต่ออาจารย์ตอนกลางคืนไม่ได้ ไม่รู้จะรักษาคนไข้อย่างไรต่อ ทำสุดตัวแล้วแต่คนไข้ก็ไม่รอด รวมถึง เธอก็เคยเจอเพื่อนก็ไลน์มาว่า “แก ชั้นอยู่บนดาดฟ้า” ซึ่งสถานการณ์ตอนนั้นคือเพื่อนไม่สามารถจัดการกับความเครียดตัวเองได้แล้ว เธอก็ต้องวิ่งขึ้นไปตามหาเพื่อน ส่วนคนที่เครียดจนฆ่าตัวตายสำเร็จจริงๆ ก็มีเช่นกัน
นอกจากปัญหา mental breakdown แล้ว ปัญหาเรื่อง ‘ระบบ’ ในโรงพยาบาลก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องแก้ไข โดยสุวิมล เล่าให้ฟังว่า เมื่อพยาบาลในโรงพยาบาลสังกัด กทม.ร้องเรียนปัญหาบุคลากรในโรงพยาบาลไม่พอผ่านช่องทาง Traffy Fondue ก็ถูกฝ่ายบริหาร ‘ล่าแม่มด’ ตามหาคนที่ร้องเรียน
สุวิมลจึงเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า เมื่อมีการร้องเรียนเกิดขึ้น เรื่องดังกล่าวก็จะถูกส่งไปที่สำนักการแพทย์ แล้วก็จะตีกลับมาที่โรงพยาบาล แล้วโรงพยาบาลก็จะตอบกลับไปว่ากำลังเปิดรับสมัครคนอยู่ แล้วเรื่องก็จะจบในส่วนของกระบวนการการร้องเรียน แต่หลังจากนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะเป็นเรื่องภายในโรงพยาบาล ที่ฝ่ายบริหารจะมาตามหาว่าใครเป็นคนส่งเรื่องร้องเรียนไป พอเจอก็จะเรียกไป ‘ปรับทัศนคติ’ (การเรียกไปอบรมหรือไปต่อว่า)
“จริงๆ มันไม่ต้องมานั่งหาด้วยซ้ำว่าใครเป็นคนร้องเรียน อันนี้มันเป็นการใช้อำนาจในทางที่ผิด” สุวิมลกล่าว
ส่วนโรงพยาบาลในเครือ สธ.ไม่ได้มีแพลตฟอร์ม Traffy Fondue เหมือน กทม. ดังนั้น ปัญหาเหล่านี้จึงถูกส่งมาร้องเรียนผ่านเพจ Nurses Connect แล้วก็ทำได้แค่โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊กเท่านั้น
แนวทางการแก้ไขปัญหา จากบุคลากรทางการแพทย์ถึงผู้เกี่ยวข้อง
“ภาระงานอยู่ที่ 45 ล้านคน ซึ่งเป็นคนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เท่ากับ 70-80% ของประชากร แต่มีหมอในระบบแค่ 48% เป็นตัวเลขที่สะท้อนภาระงานเฉลี่ย 1 : 2000 คน แต่มาตรฐานโลกอยู่ที่ 3 : 1000 คน” นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา
นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่าการดูแลบุคลากรในสังกัดทุกวิชาชีพเน้น 4 เรื่อง ซึ่งดำเนินการมาตลอด คือ
1. การเพิ่มค่าตอบแทน มีการหารือกับกรมบัญชีกลางเพื่อขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนต่างๆให้สอดคล้องกับภาระงานและเศรษฐกิจ
2. สวัสดิการ ทั้งเรื่องที่พัก สภาพแวดล้อม ความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
3. ความก้าวหน้าในการทำงาน ได้หารือกับ ก.พ.เรื่องกรอบอัตรากำลัง การกำหนดตำแหน่งสูงขึ้น
4. เรื่องภาระงาน ยังต้องผลิตแพทย์และขอรับการจัดสรรเพิ่มเพื่อมาเติมในระบบ โดยกรอบอัตรากำลังใหม่ที่ประกาศใช้ปี 2565-2569 ในปี 2569 กำหนดอัตราแพทย์ 35,000 คน รวมทั้งมีการหารือกับ ก.พ. ในการบริหารกำลังคนรูปแบบใหม่ๆ และการจ้างงานที่หลากหลาย
แม้ สธ.จะออกมายอมรับปัญหาดังกล่าว แต่ นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์การแพทย์แม่นยำศิริราชพยาบาล และทางสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ก็ยังมองว่าคำชี้แจงของ สธ.เป็นแค่การอธิบายสถานการณ์ด้วยตัวเลข โดยไม่มีการกำหนดแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร
อย่างไรก็ดี ในส่วนของประเด็นแนวทางการแก้ไข พญ.ชุตินาถ ก็ได้เสนอแนวทางเอาไว้ดังนี้
1. สร้างระบบเก็บชั่วโมงการทำงานของแพทย์: ในโรงพยาบาลส่วนใหญ่ยังไม่เคยมีการเก็บชั่วโมงการทำงานของแพทย์อย่างเป็นระบบ ทำให้ตอนนี้ยังไม่สามารถรู้ชั่วโมงการทำงานที่แน่นอนของแพทย์ได้เลย ซึ่งเป็นข้อเสียของคนทำงาน
“เราก็มีเป้าหมายว่าอยากจะลดการทำงานเหลือ 80 ชั่วโมง แต่ก็คงทำไม่ได้ใน 1 หรือ 2 ปี แต่ถ้าเราตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปี เราลดเหลือ 80 อีก 5 ปีลดเหลือ 60 มันก็ทำให้คนในระบบเขามีความหวังมากขึ้นว่า อย่างน้อยก็มีแผนงานที่เป็นไทม์ไลน์ชัดเจน เพราะตอนนี้เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำงานกี่ชั่วโมง เราเลยยังไม่ได้อยู่ในจุดที่เริ่มต้นในการลดชั่วโมงการทำงานด้วยซ้ำ” พญ.ชุตินาถกล่าว
สอดคล้องกับทางฝั่งพยาบาลที่มองว่า ต้องมีการออกกฎหมายให้ชัดเจนไปเลยว่าใน 1 สัปดาห์ ต้องให้ทำงานได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง หรือถ้าจะมี OT ก็ต้องเกิดจากความสมัครใจจริงๆ แล้วกำหนดให้ไม่เกิน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และกำหนดเรื่องภาระงานของพยาบาลด้วยว่าพยาบาล 1 คน ต้องดูแลคนไข้ได้ไม่เกินกี่คน
2. เปิดรับแพทย์ให้ได้สัดส่วนกับคนไข้: ตอนนี้มีปัญหาว่าขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ แต่ไม่สามารถรับคนเพิ่มได้ เนื่องจาก สธ.ต้องขอคนผ่าน ก.พ.อยู่ ซึ่ง ก.พ.ก็จะกำหนดงบคร่าวๆ ว่าจะจัดสรรให้แต่ละกระทรวงเท่าไร ซึ่งเขาบอกว่าพยายามจะให้แพทย์มากสุด
ขณะเดียวกัน การเพิ่มตัวเลขบรรจุให้แพทย์ ก็มาจากการตัดโควตาวิชาชีพอื่นๆ เช่น ทำให้พยาบาลบรรจุไม่ได้ แต่ต่อให้ตัดมาให้แพทย์ก็ยังไม่พอ เพราะการบรรจุ ก็จะสามารถบรรจุได้แค่เฉพาะคนที่จบจากโรงเรียนแพทย์ของรัฐเท่านั้น พญ.ชุตินาถจึงตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ หากเปิดตำแหน่งให้แพทย์ที่จบจากเอกชนด้วย รวมไปถึงยังต้องทำให้ มาตรฐานการจ้างงานในแต่ละรูปแบบทั้งข้าราชการ ลูกจ้างรัฐ ลูกจ้างเอกชนมีค่าตอบแทน สิทธิ สวัสดิการที่ใกล้เคียงกันเพื่อให้คนอยากอยู่ในระบบ
“ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการก็ได้ แต่เป็นอะไรที่มันเท่าเทียมกัน” พญ.ชุตินาถกล่าว
อีกทั้ง ยังมีข้อกำหนดในการเปิดรับแพทย์ด้วยว่า โรงพยาบาลขนาดนี้จะเปิดรับแพทย์ได้เท่าไร ซึ่งตัวเลขนี้ก็ไม่ได้มาจากสัดส่วนของแพทย์ที่ทำงานจริงกับคนไข้ที่เข้ารับการรักษา ถ้ามีการคำนวนโดยการกำหนดว่าแพทย์ 1 คนต้องดูแลกี่คน ทำงานได้ไม่เกินกี่ชั่วโมง ก็จะได้ตัวเลขได้ตัวเลขของแพทย์ที่ต้องการ
นอกจากนี้ การผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นก็เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งในปัจจุบัน หลายๆ ที่ก็เร่งผลิตแพทย์เพิ่มเติมอยู่เหมือนกัน
3. เพิ่มค่าตอบแทน: ค่าตอบแทนที่ฟรีซมา 14 ปี ถึงประกาศศขึ้น แต่ก็น้อยมาก [ขึ้นมาประมาณ 8%] แล้วยังมีเงื่นไขอีกว่า แล้วแต่ความสามารถในการจ่ายของโรงพยาบาล
“เราแข่งกับเอกชนอยู่ ถ้าเราให้ค่าตอบแทนขึ้นมาสัก 50% ของเอกชน ก็เชื่อว่ามีคนอยู่เพิ่มขึ้นแล้ว อันนี้ต้องขึ้นแน่ๆ แต่ก็ต้องมาคุยกันอีกทีว่าที่จ่ายไหวคือเท่าไร มาคุยกันว่าทำอย่างไรให้ทุกวิชาชีพที่ทำงานกับ สธ.เป็นธรรม ไม่ใช่แค่หมอ” พญ.ชุตินาถระบุ
4. ลดโหลดฝั่งคนไข้ (primary prevention): ลดโหลดฝั่งคนไข้ ถ้าคนไข้แข็งแรงขึ้น ภาระการทำงานแพทย์ก็จะลดลง ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นในเชิงมหภาค หลายภาคส่วนต้องเข้าไปแก้ไขร่วมกัน
5. ห้องฉุกเฉินเป็นห้องฉุกเฉิน: เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานมองว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้เลย โดยมีการกำหนดว่าถ้าไม่ใช้ผู้ป่วยหนักก็ต้องเข้ารับการรักษาในเวลา ไม่จำเป็นต้องตรวจนอกเวลาราชการ ถ้าแก้ตรงนี้ได้ ก็จะลดภาระงานของแพทย์ได้ค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม พญ.ปริญรศา ก็ยังฝากถึงผู้บริหาร ผู้ใหญ่ในกระทรวงต่างๆ เช่น สธ. แพทยสภา ส.ส. ฯลฯ ว่า “เราก็เป็นแค่หมอตัวเล็กๆ คนหนึ่ง และยังมีหมอมากมายที่โดนกดขี่ด้วยระบบนี้ อยากให้ผู้บริหารทำงาน มาระดมไอเดียกัน…อยากให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงมานั่งแก้ปัญหากันสักที เพราะอันนี้ก็เป็นหน้าที่ของคุณ ไม่งั้นระบบ สธ. เมืองไทยก็อาจจะล่มสลาย เพราะตอนนี้ก็เริ่มเห็นเป็นสัญญาณแล้วว่า มันไม่ดี”