จากยศร้อยตำรวจตรีหญิงในปี 2564 สู่ยศร้อยตำรวจเอกหญิงในปี 2566 ดวงดาวที่ประดับบนบ่าของ ‘ว่าที่ ร.ต.อ.หญิง อาทิติยา เบ็ญจะปัก‘ ทำเอาประชาชนตั้งข้อสังเกตถึงความรวดเร็วที่ได้เลื่อนขั้น การใช้เส้นสาย และความประหลาดของหลักสูตรการฝึกอบรบข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอส.)
– เกิดอะไรขึ้น
ที่สังคมจับตา เริ่มจากการที่ ร.ต.อ.อาทิติยา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนว่า ได้เลื่อนขั้นเป็นผู้กอง ได้ยศ ‘ว่าที่ ร.ต.อ.’ แล้ว ซึ่งโพสต์ดังกล่าวถูกแชร์และถูกวิจารณ์ในวงกว้างถึงความรวดเร็วในการได้เพิ่มยศ บางคนถึงกับแซวว่ามีการเติมโปรปั๊มยศตำรวจหรือเปล่า เพราะเมื่อกันยายน ปี 2564 ร.ต.อ.อาทิติยาเพิ่งโพสต์บนเฟซบุ๊กว่า ตนเองได้เป็นว่าที่ร้อยตำรวจตรีหญิง และเพิ่งได้ประดับดาว 1 ดวงบนบ่าไปหมาดๆ
อีกส่วนหนึ่งที่ประเด็นนี้ได้รับความสนใจ เพราะเฟซบุ๊กเพจ ‘เพื่อนตำรวจ’ ออกมาโพสต์เล่าถึงความผิดปกติในการเลื่อนขั้นพุ่งพรวดของวงการตำรวจด้วย โดยยกตัวอย่างถึง ร.ต.ท.หญิงที่เคยประกวดเวทีนางงาม แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าหมายถึงใคร
ข้อความจากเฟซบุ๊กเพจเพื่อนตำรวจระบุว่า “จาก ส.ต.ต.หญิง สู่ ร.ต.อ.หญิง ใช้เวลาไม่ถึง 3-4 ปี ผมที่เป็นตำรวจมา 9 ปีจะติดจ่าปีหน้า เปิดสอบมีแต่สายอำนวยการ กว่าจะเปิด เปิดเเต่ละทีก็รับน้อย สายปราบปรามก็มีแต่ให้ลง 3 จังหวัดชายแดนใต้ สาย กอส. กอป. ก็รู้ๆ กันในตำรวจเรา นามสกุลดังๆ ทั้งนั้นมาบรรจุ ส.ต.ต. ปีเดียวก็ขึ้นสัญญาบัตรกันหมดแล้ว”
และมีโพสต์นึงจากเฟซบุ๊กเพจเพื่อนตำรวจระบุด้วยว่า “ร้อยตำรวจตรีตอนเดือนกันยายน 2564 ติดร้อยตำรวจโทเดือนมิถุนายน 2565 ต่อมา มิถุนายน 2566 ติดร้อยตำรวจเอก คือพุ่งมาก ตั๋วช้างยังเรียกพี่ หลักสูตร กอส. ขอสงวนไว้เพื่อทายาทที่พ่อเเม่เสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่เท่านั้นครับ”
ล่าสุด พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงว่า ร.ต.อ.อาทิติยา ได้บรรจุเป็นข้าราชการตำรวจผ่านการรับสมัครคัดเลือกบุคคลภายนอกผู้มีวุฒิ และได้บรรจุเป็นข้าราชการตำรวจยศ ‘สิบตำรวจตรีหญิง‘ จากนั้นผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร กอส. และได้รับการแต่งตั้งเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร ยศ ‘ร้อยตำรวจตรีหญิง‘ เมื่อปี 2564 โดยคุณวุฒิที่ใช้บรรจุแต่งตั้งคือ นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต (ปริญญาโท)
“จากนั้นใช้ระยะเวลาครองยศ 8 เดือน ก็ได้รับการเลื่อนยศเป็น ร.ต.ท.หญิง และครองยศ ร.ต.ท.หญิง อีก 1 ปี จะได้รับการเลื่อนยศเป็น ร.ต.อ.หญิง รวมระยะเวลา 1 ปี 8 เดือน โดยการเลื่อนยศของ ร.ต.อ.หญิง ดังกล่าว เป็นไปตามตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งยศ พ.ศ.2554 ข้อ 8.2.8 ที่กำหนดให้ข้าราชการตำรวจที่ได้รับยศสูงขึ้น ต้องครองยศตามจำนวนปีที่รับราชการ ยกเว้นผู้ที่บรรจุในคุณวุฒิปริญญาโท ให้รับราชการในชั้นยศร้อยตำรวจตรีหนึ่งปี ร้อยตำรวจโทหนึ่งปี” โฆษก สตช. ระบุ
อย่างไรก็ดี ประเด็นการเลื่อนขั้นรวดเร็วก็ยังนำมาสู่การตั้งคำถามถึงปัญหาเส้นสายวงการตำรวจและหลักสูตร กอส. ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นปัญหาเรื้อรัง
– จากร้อยตรีสู่ร้อยเอก ปกติมั้ย?
เมื่อลองถามเฟซบุ๊กเพจเพื่อนตำรวจที่มักแฉเรื่องฉาววงการตำรวจว่ากรณีนี้แปลกไหม เขาตอบทันทีว่า “ไม่ปกติ”
ด้านรังสิมันต์ โรม ให้ข้อมูลกับเราว่า มันอาจไม่มีอะไรแน่นอนตายตัวในการเลื่อนขั้น หากมองระยะเวลาด้วยกรอบกฎหมายเชื่อว่าอาจไม่ผิด แต่การที่กฎหมายเปิดให้ทำได้ ไม่ได้หมายความว่าต้องทำ และไม่ได้หมายความว่าไม่มีการใช้เส้นสาย
เมื่อถามว่า ความผิดปกติของเหตุการณ์นี้คืออะไร รังสิมันต์ตอบว่า มันไม่ใช่แค่การเลื่อนขั้นจากร้อยตรีสู่ร้อยเอกใน 3 ปี แต่มันคือการที่ตำรวจชั้นประทวนจำนวนมากรอคอยว่าจะมีโอกาสเลื่อนขั้นไหม ทั้งๆ ที่พวกเขาก็มีคุณวุฒิต่างๆ มากมายไม่แพ้คนอื่น
– ปัญหาของ กอส. จากสายตา รังสิมันต์ โรม
หากอธิบายโดยคร่าว กอส. คือหลักสูตรฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร เป็นนโยบายให้ตำรวจชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนที่มีวุฒิปริญญาหรือประกาศนียบัตร มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร คุณสมบัติเด่นๆ ที่มีสิทธิสมัครเข้าหลักสูตรได้มี 3 ข้อ คือ
1) พ่อแม่เป็นตำรวจเสียชีวิตในหน้าที่
2) ขาดแคลนบุคลากรด้านนั้นๆ เช่น งานด้านวิทยาศาสตร์
3) ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ เช่น นักกีฬาทีมชาติ
หลักสูตรเปิดโอกาสให้บรรจุบุคคลจากภายนอกได้ด้วย มีสอนทั้งภาควิชาการ ภาคปฏิบัติ และภาคสนาม อย่างไรก็ดี หลักสูตร กอส. ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาเนิ่นนาน จริงอยู่ที่เปิดโอกาสให้ทายาทและบุคลากรที่ขาดแคลน แต่ที่ผ่านมามีคนเด่นคนดังมาสมัครเรียนและติดยศเป็นข้าราชการตำรวจเสมอ เช่น สงกรานต์ เตชะณรงค์ ทายาทโบนันซ่า จบหลักสูตร กอส. รุ่นที่ 45 เป็นต้น
รังสิมันต์ โรม บอกกับ The MATTER ว่า ปัญหาหลักๆ ของ กอส. คือการใช้เส้นสาย “ผมยืนยันได้ว่า ในหลายๆ กรณีที่คนที่เข้ามาเป็น กอส. ไม่ได้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์จริงๆ”
ส.ส.ก้าวไกลอธิบายว่า ปกติแล้ว กอส. เป็นหลักสูตรที่มีไว้สำหรับบุคคลที่พ่อแม่เป็นตำรวจแต่เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ได้มีสิทธิมาสอบ และมีไว้สำหรับบุคลากรที่ขาดแคลนคุณวุฒิ เช่น ด้านวิทยาศาสตร์สำหรับการตรวจสอบพยานหลักฐาน แต่ในความเป็นจริงอาจเปรียบได้กับการขาดแคลน ‘นามสกุลดัง’
“หลักสูตร กอส. เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน เป็นปัญหาตั้งแต่การเปิดรับ มันมักจะมีบรรดาคนดัง ลูกท่านหลานเธอ ที่คุณสมบัติโดดเด่นไหมมันก็ไม่ชัด และกลายเป็นการเลือกปฏิบัติ ทำให้ตำรวจชั้นผู้น้อยไม่เคยได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม และเมื่อเขามาเห็นการเลื่อนขั้นที่มันรวดเร็ว ก็คงทำให้ตำรวจจำนวนมากรู้สึกว่าไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมจากองค์กรของเขา โดยไม่ใช่เพราะอีกคนมีความสามารถที่ดีกว่า”
“ถามกลับกันว่า การได้เลื่อนขั้นจากร้อยตรีไปร้อยเอกภายใน 3 ปี ผลงานที่เป็นประจักษ์คืออะไร เคยจับคดียาเสพติดมั้ย เคยจับโจรผู้ร้ายได้มั้ย เราก็รอคอยคำตอบ อาจจะมีก็ได้ เราอาจจะไม่รู้ แต่ ณ เวลานี้ยังไม่มีหลักฐานมา และนี่ไม่ใช่แค่กรณีนี้กรณีเดียว มีอีกหลายกรณีที่การเติบโตของตำรวจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว” รังสิมันต์ ระบุ
– ก้าวไกลในฐานะพรรคว่าที่รัฐบาล จะจัดการอย่างไร
รังสิมันต์ยืนยันว่า หากเป็นรัฐบาล และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้เป็นนายกฯ ก็จะมีอำนาจโดยตรงกับตำรวจ ซึ่งก้าวไกลจะสร้างความเป็นธรรมให้เกิดในองค์กรตำรวจแน่นอน จะทำให้เกิดการแต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นธรรม และเกิดขึ้นโดยใช้ความสามารถและผลงานเป็นตัวตั้ง ส่วนระยะยาว เขาระบุว่า อาจแก้กฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ตำรวจ เป็นต้น
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก
https://www.matichon.co.th/local/news_4018600
https://www.facebook.com/photo/?fbid=840458160805339&set=pcb.840458254138663
https://www.facebook.com/photo/?fbid=579757320938668&set=a.415626510685084