“เป้รักผู้การเท่าไหร่ เป้เขียนมา”
ประโยคสนทนาระหว่าง พล.ต.ต.กัมพล ลีลาประภาภรณ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรีและพวก ที่เรียกรับเงินจากกลุ่มผู้ต้องหา 6 คน (ซึ่งเชื่อว่าเป็นกลุ่มเปิดพนันออนไลน์) เขย่าวงการสีกากีจนสั่นสะเทือนอีกครั้งว่า เหตุใดนายตำรวจระดับสูงถึง ‘รีดไถ’ เงินจากผู้ต้องหาในจำนวนที่มากขนาดนี้
หนึ่งในคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นคือ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกลที่มองเรื่องนี้มีต้นสายปลายเหตุจาก “ระบบตั๋ว” และ “ระบบวิ่งเต้น” ที่ทำให้ข้าราชการตำรวจต้องถอนทุนคืนเมื่อซื้อขายตำแหน่งตามที่ต้องการ
ถึงแม้คดีนี้จะยังไม่สิ้นสุด แต่ข้อสันนิษฐานของ ส.ส.ก้าวไกลก็ก็น่าสนใจว่าทำไมนายตำรวจระดับสูงถึงรีดไถเงินจากผู้ต้องหามากขนาดนั้น หรือเป็นเพราะราคาตั๋วมาที่ชลบุรีนั้นแพงเหลือเกิน? The MATTER ได้ลงสำรวจพื้นที่ชลบุรี พื้นที่ที่เรียกว่าเป็นหนึ่ง ‘โรงพักเกรด A’ ที่นายตำรวจอยากมามากที่สุดในประเทศ เพื่อไขคำถามว่าทำไมชลบุรีถึงดึงดูดข้าราชการโล่ห์เงินมากมายขนาดนั้น
โรงพักเกรด A คืออะไร
“คำว่าโรงพักเกรด A คือ มีรายได้สูง ถ้าพูดแบบตรงๆ เลยคือ มียอดเงินสูง เก็บได้เป็น 10 ล้าน/เดือน” พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาฯ สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และอดีตข้าราชการตำรวจกล่าวกับ The MATTER
การจัดเกรดโรงพักไม่ใช่ภาษาราชการ แต่เป็นภาษาวงในของตำรวจ ว่าง่ายๆ เกรดของโรงพักจัดแบ่งตามผลประโยชน์ที่จะหาได้จากพื้นที่นั้น อาทิ สถานบันเทิง, แรงงานต่างด้าว, รถบรรทุก, สินค้าหนีภาษีหรือผิดลิขสิทธิ์, การค้าประเวณี รวมถึงน้ำมันเถื่อน
อย่างไรก็ตาม ‘ขนาด’ ของโรงพักใช่ว่าจะสัมพันธ์กับ ‘เกรด’ ของโรงพักเสมอไป พ.ต.อ.วิรุตม์ยกตัวอย่างโรงพักนางเลิ้งที่อยู่กรุงเทพชั้นในว่าเป็นพื้นที่เกรด C
เมื่อปี 2558 ไทยรัฐเคยทำสกู๊ป ‘จัดอันดับโรงพักเมืองกรุง จำหน่ายเก้าอี้สีกากีกุมบังเหียนทำเลทอง!?’ โดยได้ข้อมูลจาก ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ว่าโรงพักถูกแบ่งเกรดตาม ‘รายได้ไม่เป็นทางการ’ จากโรงพัก โดยแบ่งเป็น 4 ประเภทคือ สถานบริการ, บ่อนการพนัน, เส้นทางลำเลียงของผิดกฎหมาย และพื้นที่ที่มีธุรกิจสีเทาอื่นๆ โดยโรงพักเกรดสูงสุด หรือ A+ ในเมืองกรุง เช่น บางรัก, สุทธิสาร, ห้วยขวาง, มักกะสัน และทองหล่อ
ในสกู๊ปชิ้นดังกล่าวยังได้พูดคุยกับ พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร อดีตรอง ผบช.ภ.9 ที่ให้ข้อมูลไว้ว่า การจ่ายเงินเพื่อซื้อตำแหน่ง บางครั้งอาจมาในรูปแบบของการขายที่ดินในราคาที่สูงกว่าปกติ, การบริจาคเงินผ่านมูลนิธิ, การทอดกฐิน ตลอดจนขายคอร์สลดน้ำหนัก และมีบางครั้งที่กลุ่มธุรกิจสีเทาลงขันรวมเงินซื้อตำแหน่งให้นายตำรวจบางนาย
ทำไมชลบุรีถึงเป็นโรงพักเกรด A
สำนักข่าว ThaiPBS เคยทำสกู๊ป ‘50 โรงพักในฝันของตำรวจไทย’ โดยได้คุยกับตำรวจชั้นสัญญาบัตรทั้งในกองบัญชาการตำรวจนครบาลและกองบัญชาการตำรวจภูธรทั้ง 9 แห่ง และพบว่าในพื้นที่ภาค 2 (ตะวันออก) มีถึง 4 จาก 5 แห่งในจังหวัดชลบุรีที่ติดอันดับ ได้แก่ สภ.พัทยา, สภ.แหลมฉบัง, สภ.บ่อวิน และ สภ.หนองขาม
“เมื่อก่อนเขาเรียกว่า ‘ทำเลทอง’ ใช่ไหม แต่เดี๋ยวนี้มีบางแห่งเป็น ‘ทำเลเพชร’” ข้อมูลจากสกู๊ป ThaiPBS ตรงกับที่ พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าวกับ The MATTER
คำถามที่น่าสนใจต่อคือ ทำไมชลบุรีถึงกลายเป็น ‘ทำเลเพชร’ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ? The MATTER หาคำตอบผ่านการพูดคุยกับ ชาย (นามสมมติ) นักข่าวอาวุโสของสื่อท้องถิ่น, กรณ์ (นามสมมติ) ข้าราชการในพื้นที่ และหนุ่ม (นามสมมติ) นายตำรวจชั้นประทวนใน จ.ชลบุรี
“ใกล้กรุงเทพฯ, โครงสร้างของเมืองดี (เช่น การคมนาคม), อาหารการกิน, ติดทะเล และเป็นเมืองเศรษฐกิจ” ข้างต้นคือคำอธิบายว่าทำไมตำรวจถึง ‘แย่งกันมา’ ชลบุรีของ ชาย นักข่าวท้องถิ่นในชลบุรี
ในมุมของชาย ก่อนการระบาดของ COVID-19 โรงพักอันดับหนึ่งในชลบุรีคือ สภ.พัทยา แต่โรคระบาดทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป ‘ศรีราชา’ ขึ้นมาเป็นพื้นที่อันดับ 1 ที่ตำรวจอยากย้ายมามากที่สุด เพราะเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีรายได้ ‘แน่นอน’ จากยานพาหนะ
แต่ผ่านประสบการณ์ของหนุ่ม นายตำรวจชั้นประทวนในชลบุรี เขามองว่า ‘พัทยา’ ยังเป็นพื้นที่อันดับ 1 ที่ตำรวจอยากมาที่สุด เพราะมีสถานบันเทิง เช่น ร้านเหล้าหรือร้านคาราโอเกะ (ขายบริการควบคู่) โดยร้านเหล่านี้จะต้องจ่ายทั้งตอนเปิดร้านและรายเดือน ถ้าหากไม่จ่ายอาจพบการตรวจตราที่เข้มข้น
ข้อมูลที่ได้รับจากการพูดคุยตรงกันว่าแต่ละพื้นที่ในชลบุรีมีเงินพิเศษที่ซ่อนไว้ โดยแบ่งออกเป็น
- โรงงานอุตสาหกรรม เช่น อำเภอบ่อทอง มักจะมีแรงงานต่างด้าวทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งต้องจ่ายเงินให้ตำรวจเพื่อเป็น ‘รปภ. อีกทีนึง’ นอกจากนี้ ในพื้นที่เช่นนี้มักจะมีเรื่องของยาเสพติดและการพนันตามมา
- สถานบันเทิง เช่น เมืองพัทยา ตำรวจมักจะมีรายได้พิเศษจากสถานบริการ ที่ต้องจ่ายทั้งตอนเปิดร้านและระหว่างเดือน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ เช่น ทัวร์จีนที่จ่ายเงินพิเศษให้แก่ตำรวจ
- ยานพาหนะ เช่น อำเภอศรีราชา ซึ่งเจ้าหน้าที่มักได้เงินจากรถที่สัญจรไปมา
- สินค้าผิดกฎหมาย กรณ์ ข้าราชการในพื้นที่ยกตัวอย่างกรณี ‘บารากุ’ ที่ต้องมีการจ่ายกันถึง 13-16 หน่วยงาน ตั้งแต่สรรพสามิตร สรรพากร ตลอดจนสืบภาค และสืบจังหวัด โดยรวมแล้วอาจถึง 100,000 บาท/เดือน
ในความเห็นของชายและกรณ์ การเก็บผลประโยชน์ยังเป็น ‘ระบบเต็มใจจ่าย’ ด้วย 2 เหตุผล ประการแรกคือ ผู้ประกอบการหวังกำไรมากขึ้น เช่นร้านเหล้าที่ต้องการเปิดเกินเวลา หรือรถบรรทุกขนน้ำหนักเกิน และประการที่สอง ธุรกิจสีเทาถ้าไม่จ่ายมีความเสี่ยงถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย ซึ่งมีโทษหนักกว่า
“ชลบุรีเป็นเมืองเศรษฐกิจ มีประชากรเข้ามาเยอะแยะมากมายทั้งแรงงานหรือประชากรแฝง พอมันเกิดเศรษฐกิจการดำเนินการในพื้นที่มันจะต้องผูกด้วยกฎหมายในหลายๆ เรื่อง มันจึงไม่แปลกเลยที่ผู้ประกอบการต้องอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจมันไปได้” กรณ์แสดงความเห็น
ต้องรักเท่าไหร่ถึงได้มา ‘ชลบุรี’
หนุ่ม นายตำรวจชั้นประทวนในชลบุรีให้ข้อมูลกับ The MATTER ถึงเรื่องการซื้อขายตำแหน่งในชลบุรีว่า ถ้าตำรวจคนใดอยากจะมาประจำในชลบุรีมี ‘ตัวเลข’ โดยตำแหน่งสารวัตรมีราคาหลักล้าน และตำแหน่งผู้กำกับอาจราคาถึงหลักสิบล้าน
คำบอกเล่าของหนุ่มตรงกับชาย โดยชายเสริมว่าการมาสังกัดที่ชลบุรีต้องเป็นคนที่ ผบ.ตร.ไฟเขียวให้มาอยู่ เพราะในปัจจุบัน การแต่งตั้งตำรวจตั้งแต่ระดับสารวัตรถึงรองผู้การเป็นอำนาจของ ผบ.ตร.และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 มีอำนาจในการเสนอชื่อเท่านั้น
“ลักษณะเป็นการแบ่งปันผลประโยชน์และตำแหน่งกัน สตช.เอากี่คน ผู้บัญชาการที่นี่เอากี่คน แบ่งกันไปตามสัดส่วน” ชายกล่าว
นอกจากนี้ การเมืองยังเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งนายตำรวจ โดยเฉพาะเหล่าบ้านใหญ่ในชลบุรี อาทิ ตระกูลคุณปลื้ม สิงโตห์ทอง รวมถึงชมกลิ่น
ชายกล่าวอีกว่า “คนเป็นนักการเมืองก็อยากให้ ผกก.มาอยู่ในทีมเขา เพราะเวลาลงพื้นที่เขาจะได้รับความสะดวก และข้อมูลว่าชุมชนไหนเป็นอย่างไร และสังคมชลบุรียังเป็นระบบพึ่งพากัน เวลาตำรวจไปพูดอะไรกับชาวบ้านเขาก็เชื่อ เขาก็แนะนำนักการเมืองในเครือข่าย เป็นไปในลักษณะนั้น”
“ใครที่ไปอยู่ฝ่ายรัฐบาล เขาก็มีการร้องขอให้ตำรวจคนไหนมาอยู่ในพื้นที่ เพื่อจะได้รับความสะดวก แล้วเวลามีอะไร เขาจะได้สั่งให้ตำรวจไปช่วยได้แบบทันท่วงที” ชายเสริม
อินไซส์ตำรวจเมืองชล
หนุ่มให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ระบบการวิ่งเส้นยังไม่หยุดแค่การซื้อขายตำแหน่ง แต่ตำรวจภายในโรงพักเองยังต้อง ‘วิ่งหานาย’ เพื่อโอกาสในการลงปฏิบัติงาน เช่น ตำรวจสายอำนวยการที่ต้องวิ่งหานายเพื่อลงเป็นชุดตรวจ สำหรับสาเหตุที่มีการวิ่งหารนายเช่นนี้ หนุ่มให้เหตุผลว่าสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตตำรวจชั้นผู้น้อย ซึ่งมักจะกู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจจนเหลือเพียงเงินเดือนขั้นต่ำที่ ‘3,000 บาท’
ดังนั้น ถ้าการณ์กลับจาก ‘วิ่งหานาย’ เป็น ‘นายเล่นเรา’ หรือตำรวจชั้นผู้น้อยถูกกลั่นแกล้ง ย้ายสายงานจากปฏิบัติงานสู่อำนวยการ ย่อมทำให้ตัวเขาและครอบครัวมีปัญหาในเดือนนั้นๆ
หนุ่มยังเล่ากรณี ‘นายเล่นเรา’ ที่เกิดขึ้นกับตำรวจชั้นผู้น้อยเมื่อประมาณ 2 ปีก่อนให้ฟังว่า มีครั้งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่หน่วยอื่นมาตรวจพบว่ามีการเปิดบ่อนในพื้นที่ที่เขาสังกัด ทำให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทั้งผู้บังคับบัญชาและผู้ปฏิบัติงาน แต่ผลปรากฎว่าผู้บังคับบัญชาพ้นผิด แต่ผู้ปฏิบัติงานกลับถูกลงโทษ ‘แป๊ะเงินเดือน’ หรือไม่ปรับอัตราเงินเดือน และยังถูก ‘ขัง’ อยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 2-3 วัน ทั้งที่คนที่สั่งให้ไม่ตรวจบ่อนดังกล่าวคือระดับผู้บังคับบัญชานั่นเอง
“เงินเดือนตำรวจมันน้อย พอกู้ไปมันก็ไม่เหลือ การจะอยู่รอดได้มันก็ต้องมาทำอะไรพวกนี้ ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันไปหมด” หนุ่มสรุป