“ทุกวันนี้ตำรวจรักในอาชีพเขานะ แต่ที่ทำให้เขาเสียศรัทธาคือระบบ” หนึ่งในนายตำรวจชั้นประทวนคอมเมนท์อย่างตัดพ้อ ก่อนจะมีอีกรายมาเขียนตอบว่า “ผมจะไม่ให้ลูกผมเป็นตำรวจแล้ว ตัวผมขอเป็นรุ่นสุดท้าย ไม่ไหวจริงๆ”
จากกรณี ‘ผู้กองแคท’ ข้าราชการตำรวจวัย 27 ปีที่ไต่ตำแหน่งขึ้นจากสิบตำรวจโท (ส.ต.ต.) สู่ร้อยตำรวจเอก (ร.ต.อ.) ในเวลาเพียง 4 ปี จุดความสงสัยให้สังคมตั้งคำถามว่า เป็นการเลื่อนยศที่รวดเร็วเกินไปหรือไม่?
และเมื่อมีการสืบค้นเพิ่ม จึงได้ทราบว่าผู้กองคนดังกล่าวผ่านการสอบที่เรียกว่า กอส. ซึ่งเป็นระบบที่มีขึ้นเพื่อสรรหาบุคลากรตำรวจชั้นสัญญาบัตรในด้านที่ขาดแคลน เช่น วิศวกรรมศาสตร์ หรือการแพทย์ แต่คำอธิบายดังกล่าวเป็นจริงแค่ไหน เพราะมีการเปิดเผยอีกว่ามีอดีตนักเรียนหลักสูตร กอส.หลายคนที่เป็นลูกหลานของนักธุรกิจ นักแสดง ตลอดจนผู้มีอิทธิพลหลายเครือข่ายในสังคม
คำถามถึงหลักสูตร กอส.ว่ามีขึ้นเพื่อให้ ‘เด็กเส้น’ มีดาวประดับบ่าหรือไม่ยิ่งดังขึ้น เมื่อ ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ออกมาเปิดเผยถึงพฤติกรรมของ ‘ตำรวจหญิงสายแฟชั่น’ ซึ่งผ่านระบบการสอบ กอส.รุ่นเดียวกับผู้กองแคท โดยชูวิทย์เขียนว่า “รุ่นเดียวกับร้อยตำรวจเอกนักร้องนางงาม รุ่นนี้ ยศขึ้นเร็ว เพิ่งปิดไอจีหนี วันๆ ขับแลมโบโฉบไปมา งานการไม่มีทำ ร่อนตามผับ ไปต่างประเทศทุกเดือน หิ้วกระเป๋าแบรนด์เนมหรู แต่งตัวเหมือนหลุดออกมาจากแคทวอล์ค ไม่ทราบว่าอยู่กองไหน? หรืออยู่กองแฟชั่น สตช.?”
สรุปแล้วอะไรคือสาเหตุของการมีระบบสอบ กอส.กันแน่? ผู้ที่จบจาก กอส. ได้รับสิทธิพิเศษในการเลื่อนยศเร็วกว่าคนอื่นจริงหรือไม่? และเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ตำรวจตัวเล็กตัวน้อยที่ตั้งใจทำงานรู้สึกและมีความเห็นอย่างไร?
อะไรคือ กอส.
หลักสูตร กอส. เกิดขึ้นมากว่า 40 ปีแล้ว แต่เมื่อปี 2558 สมัย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยได้มีการแก้ไขระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 11 การศึกษา การฝึกและอบรม (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2558 ซึ่งทำให้เกิดหลักสูตรสำหรับตำรวจชั้นสัญญาบัตรขึ้นมาทั้งหมด 4 หลักสูตร ได้แก่
- หลักสูตร กอน. หรือการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจชั้นประทวนผู้มีวุฒิปริญญาตรีขึ้นไป เพื่อแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร
- หลักสูตร กอร. หรือการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจชั้นประทวนยศดาบตำรวจ หรือ จ่าสิบตำรวจ เพื่อแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร
- หลักสูตร กอต. หรือการฝึกอบรมผู้มีวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร
- หลักสูตร กอส. หรือการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร
สำหรับหลักสูตร กอส. มีข้อกำหนดว่าที่ผู้จะเข้ารับการฝึกต้องมีคุณสมบัติเป็นลูกหลานของตำรวจที่เสียชีวิตในหน้าที่, ขาดแคลนบุคลากร หรือบุคคลที่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ กล่าวโดยสรุป ระบบนี้ถูกออกแบบมาเพื่อ 1.เติมบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทางให้ตำรวจ 2.ให้แต้มต่อแก่อดีตลูกหลานตำรวจที่เสียชีวิต
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลอดีตนักเรียน กอส.ที่สื่อมวลชนเปิดเผย ทำให้ระบบการสอบนี้ถูกตั้งคำถามว่ามีขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพการทำงานของตำรวจ หรือเป็นคอร์สส่งลูกหลานผู้มีอิทธิพลให้มีดาวติดบ่ากันแน่
เด็กเส้น – เติบโตติดจรวด
หลังจากก่อนหน้านี้ พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดแถลงข่าว ยืนยันว่าการเลื่อนยศจาก ‘ส.ต.ต.หญิง’ สู่ ‘ร.ต.อ.หญิง’ โดยใช้เวลา 4 ปีเป็นไปตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตั้งยศ พ.ศ. 2554 นอกจากนี้ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ยังเสริมว่า กำลังมีนโยบายเพิ่มขวัญกำลังใจให้กำลังพลชั้นประทวน โดยล่าสุดกองการสอบเพิ่งเปิดสอบเลื่อนระดับนายตำรวจชั้นประทวนสู่สัญญาบัตรตำแหน่งทั่วไป 430 อัตรา และสายงานสอบสวน 450 อัตรา
The MATTER ได้ติดต่อขอความเห็นในประเด็นนี้จาก พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาฯ สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ยืนยันเรื่องความเร็วในการเลื่อนยศตามที่โฆษก สตช.กล่าว
อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.วิรุตม์มองว่าปัญหาอยู่ที่หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกคนเข้าหลักสูตร กอส.มากกว่า โดยแต่เดิม กอส.มีขึ้นเพื่อเติมบุคลากรที่ขาดแคลนให้กับตำรวจ แต่ปัจจุบัน มันกลับกลายเป็นระบบที่เปิดช่องให้ผู้มีอำนาจใช้เส้นสาย ‘ฝาก’ ลูกหลานของตัวเองเข้าสู่รั้ว สตช.
พ.ต.อ.วิรุตม์อธิบายว่านับตั้งแต่ คสช.ยึดอำนาจ มีตำรวจที่ผ่านหลักสูตร กอส.ไปแล้ว 820 นาย โดยเขาเชื่อว่าบางส่วนของคนกลุ่มนี้ถูก “ฝาก” ให้เข้ามาเป็นตำรวจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีอำนาจในสังคมไทยที่มีเครือข่ายใกล้ชิดกับ ผบ.ตร.ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดจำนวนสนามสอบในแต่ละปี และคัดเลือกผู้สมัคร กอส.ได้ตามความเหมาะสม
“การคัดเลือกเป็นอย่างไรล่ะก็ลูกหลานคนร่ำรวย ลูกหลานนายพล สาวสวยหุ่นดี แล้วพอมีคนฝากก็ต้องมีการตอบแทนกัน แล้วแบบนั้นเขาจะไม่ตอบกันทางตรงหรือทางอ้อมหรือ มันเป็นเรื่องการทุจริต” พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าว “กอส.เอาไว้สำหรับความรู้บางอย่างที่หายาก เช่น แพทย์, วิศวกรรม, อากาศยาน แต่ในข้อเท็จจริง มันกลายเป็นไปอุปถัมภ์นักกีฬา ลูกคนรวยเสียหมด”
ข้อมูลดังกล่าวตรงกับที่ นิล (นามสมมติ) ข้าราชการตำรวจยศ จ.ส.ต. (จ่าสิบตำรวจ) ที่รับราชการมาเป็นเวลา 10 ปีให้ข้อมูลกับเราว่า มีคนบางกลุ่มที่ใช้เงื่อนไขวุฒิที่ขาดแคลนเพื่อเข้ามาเป็นตำรวจ แต่กลับไม่ได้มาเพื่อทำงาน ซึ่งคนกลุ่มหลังนี้ส่วนใหญ่มักเป็นลูกหลานผู้มีอิทธิพลในสังคม
“ยกตัวอย่าง กอส.ที่ฝากแปะในระบบอุปภัมป์ เช่น นามสกุลใหญ่ๆ ดังๆ ที่เป็นลูกหลานตำรวจ, ทหาร หรือนักการเมือง” นิลให้ความเห็น “บุคคลที่เข้ามาด้วยระบบอุปภัมป์แบบนี้มักจะไม่เข้ามาทำงานจริงๆ แต่เข้ามาแปะชื่อตัวเองไว้อยู่หน้าห้องนาย หรือทำอย่างอื่น”
“ควรจะต้องทบทวนและยกเลิกข้อกำหนดเรื่องคุณวุฒิขาดแคลนหรือผู้ทำคุณประโยชน์ ทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นของประโยชน์สูงสุดของประชาชนว่า บรรจุคนนี้เข้ามาแล้วงานการตำรวจดีขึ้นอย่างไร” พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าว
“แต่ถ้าจะให้ดีก็เลิกไปให้หมด” พ.ต.อ.วิรุตม์สรุป
ผมเบิร์นเอาท์กับระบบ – เสียงจากตำรวจชั้นประทวน
“ส่วนตัวผมเบิร์นเอาท์กับระบบ ตั้งแต่ทำงานได้ประมาณ 7 ปีครับ เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันมีทั้งเบิร์นเอาท์ทั้งลาออกไปบ้างแล้ว หรือยอมแพ้ไม่หวังก้าวหน้า แต่ต้องการย้ายกลับบ้านเกิดตัวเองไปดูแลพ่อแม่ก็มีครับ” นิลกล่าว
นิลเริ่มรับราชการตำรวจมาตั้งแต่ปี 2555 หรือเป็นเวลา 11 ปีแล้ว โดยปัจจุบันเขามีตำแหน่ง จ.ส.ต. (จ่าสิบตำรวจ) โดยแรกเริ่มเข้าสมัครสอบเข้าโรงเรียนนายสิบสายงานป้องกันปราบปราม ด้วยวุฒิ ม.6 ก่อนที่ต่อมาจะเรียนเพิ่มในระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ เพื่อหวังว่าจะคุณวุฒิพิเศษที่เรียนเพิ่มมาจะทำให้มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพราชการ
อย่างไรก็ดี ถึงแม้มีวุฒิการศึกษา แต่การเลื่อนระดับจากชั้นประทวนขึ้นไปสู่สัญญาบัตรไม่ได้ง่ายนัก เพราะนอกจากจำนวนการเปิดสอบที่จำกัดแล้ว การประชาสัมพันธ์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกตั้งคำถาม โดย ศักดิ์ (นามสมมติ) ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนที่ประจำอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งกล่าวถึงปัญหานี้ว่า
“ทำไม่เขาไม่ประกาศรับสมัครให้กำลังพลทราบ เราไม่เคยรู้ คนร้องเพลงเป็นมีไหม มี ถ้าเขาต้องการความสามารถจริงทำไมไม่ประกาศ, ออกหนังสือ หรือลงเว็บไซต์ นี่แทบจะไม่รู้อะไรเลย”
“ในเว็บไซต์กองการสอบ กองบัญชาการศึกษา เพิ่งเปิดรับนายร้อยอำนวยการ มันเปิด 1-2 ปีครั้ง แต่รับจำนวนน้อยมาก แล้วไปบอกว่ากำลังพลขาดแคลน ต้องเอาคนนี้เข้ามา บ้ารึป่าว เปิดสอบภายในจากคนที่เป็นตำรวจให้มากขึ้นสิ” ศักดิ์ทิ้งท้าย
แก้ปัญหาตั๋ว เขย่าดาวสีกากี
น่าจะเป็นรอบที่ 1 ล้าน 8 แสนได้แล้วที่ประเด็น ‘ปฏิรูปตำรวจ’ ถูกหยิบยกขึ้นมาในสังคมไทย และเชื่อว่าอาจถึง 2 ล้านครั้งตราบใดที่การเปลี่ยนแปลงยังมาไม่ถึง
ทางด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาระบบเส้นสายและตั๋วของตำรวจไว้ทั้งหมด 5 ข้อ
ข้อแรก ให้เลื่อนตำแหน่งตามอาวุโส อดีต ผกก.กระดูกเหล็ก (วิรุตม์เคยโดนวางระเบิดหน้าบ้าน ครั้งเป็น ผกก.สภ.ลำลูกกา) กล่าวว่าทักษะที่สำคัญที่สุดของตำรวจมี 3 ข้อเท่านั้นคือ ความคุ้นเคยกับผู้คน พื้นที่ และความเข้าใจหลักกฎหมาย ดังนั้น ความอาวุโสและประสบการณ์ที่สั่งสมในพื้นที่เป็นสิ่งที่ควรพิจารณามากที่สุดในการเลื่อนตำแหน่ง
ข้อสอง ตำรวจต้องสังกัดท้องถิ่น ในปัจจุบัน สายงานตำรวจยังทับซ้อนอยู่กับการปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ ผวจ.ไม่มีอำนาจสั่งการตำรวจ และการเลื่อนยศมาจากส่วนกลาง เพื่อแก้ไขปัญหานี้จึงควรให้ตำรวจสังกัดท้องถิ่นโดยตรงและการโยกย้ายอยู่ในมือ ผวจ.
ข้อสาม เลิกระบบยศในหน่วยที่ไม่จำเป็น “ตำรวจไม่ใช่ทหาร ยศเป็นระบบของทหาร” เขากล่าวว่าตำรวจบางสายงานไม่จำเป็นต้องมียศ อาทิ แพทย์, พยายาล, พิสูจน์หลักฐาน, การศึกษา, งานอำนวยการ หรือแม้กระทั่งตำรวจเองก็ไม่จำเป็นต้องมียศ เพราะปัจจุบันเองตำรวจมากมายก็ไม่มียศอยู่แล้ว เช่น เจ้าพนักงานประมง, ศุลกากร, ขนส่ง หรือทางหลวงซึ่งล้วนทำงานรักษากฎหมายเช่นเดียวกับตำรวจที่ขึ้นกับ สตช. ดังนั้น การยกเลิกระบบยศจะหยุดระบบเส้นสายในส่วนนี้ได้
“ยศเป็นเรื่องของระบบทหาร มีไว้สำหรับการรบ แต่ตำรวจบางหน่วยงานมียศทำไม สิ้นเปลือง และทำให้สูญเสียมาตรฐานทางวิชาชีพเพราะต้องฟังคำสั่งตามชั้นยศด้วย” พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าว
ข้อที่สี่ โอน ตร.เฉพาะทางคืนหน่วนงานที่รับผิดชอบ ข้อนี้สัมพันธ์กับข้อที่แล้วเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองควรสังกัดกระทรวงมหาดไทย และตำรวจไซเบอร์ควรสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ข้อที่ห้า ยกเลิกหลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจ ที่เรียนเตรียมทหาร 2 ปี และไปเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจอีก 4 ปี เพราะเรียนเตรียมทหารเพื่อฝึกการฆ่าและทำลาย แต่ตำรวจคือเจ้าพนักงานยุติธรรมที่ต้องฝึกการรักษากฎหมาย ชีวิต และความยุติธรรม ปรัชญาและหลักคิดแตกต่างกันสิ้นเชิง เช่น ทหารสอนว่าคำสั่งผู้บังคับบัญชาคือพรจากสวรรค์ แต่ตำรวจต้องยึดกฎหมายเป็นหลักยิ่งกว่าคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หรือการรักรุ่น รักพวกรักพ้อง ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน ล้วนแต่ตัดต่อหลักการตำรวจในฐานะเจ้าพนักงานยุติธรรม การฝึกอบรมดังกล่าวจึงก่อให้เกิดปัญหาต่อประชาชนมากมายในปัจจุบัน
“คุณไปเรียนเตรียมทหารทำไม 2 ปี ทหารถูกฝึกให้ฆ่าคนและทำลายนะ แต่ตำรวจเป็นเจ้าพนักงานยุติธรรม ต้องฝึกเพื่อการรักษากฎหมาย ชีวิตคน และความยุติธรรม มันคนละคอนเซปท์เลยนะ ไปรับแนวคิดว่าคำสั่งผู้บังคับบัญชาคือพรจากสวรรค์ มันขัดต่อเนื้องานฐานะเจ้าหนักงานยุติธรรมหมดเลย” พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าว
เขาเสนอให้โรงเรียนนายตำรวจควรเปิดรับคนที่จบสาขานิติศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มบุคลากรสอบสวนที่เชี่ยวชายหลักกฎหมายเข้าสู่องค์กรตำรวจ
ปฏิรูปตำรวจฉบับพรรคก้าวไกล
ในฐานะที่เป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง พรรคก้าวไกลยืนยันเสมอถึงการปฏิรูประบบตำรวจ โดย รังสิมันต์ โรม ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลเคยกล่าวไว้ในงานสัมนา “ทิศทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และตำรวจของประเทศไทย” ถึงสิ่งแรกที่จะทำหลังการเลือกตั้ง ดังนี้
- กำจัดระบบตั๋วและเส้นสาย ทำให้ระบบการแต่งตั้งโยกย้ายเป็นไปตามความสามารถ
- ส่งเสริมให้ตำรวจชั้นประทวนมีสิทธิ์สอบตำแหน่งสัญญาบัตรก่อน
- เพิ่มงบประมาณและสนับสนุนทรัพยากรให้ตำรวจ เช่น เปลี่ยนงานกระดาษสู่ดิจิทัล และสนับสนุนด้านเครื่องแบบและอาวุธปืน
- มีตำรวจหญิงประจำทุกโรงพัก เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินคดีล่วงละเมิดทางเพศ
- ยกเลิกผมขาว 3 ด้าน คืนทรงผมให้ตำรวจ เพื่อคืนศักดิ์ศรีให้ตำรวจ
แต่นอกจากสิ่งที่โรมกล่าวในงานดังกล่าว พรรคก้าวไกลยังมีนโยบายปฏิรูปวงการตำรวจอีก ดังนี้
- รับประกันเงินเดือนโอนตรง โอนครบ ไม่มีหัก
- จัดตั้งผู้ตรวจการตำรวจที่เป็นอิสระจากตำรวจ
- จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายความปลอดภัยสาธารณะในทุกจังหวัด เพื่อให้การทำงานระหว่างตำรวจและท้องถิ่นราบรื่นขึ้น
- ลดภาระพนักงานสอบสวน ผ่านการเพิ่มอำนาจตำรวจสายป้องกันและปราบปรามให้ระงับคดีเล็กน้อยได้
- เพิ่มจำนวนนักจิตวิทยา
- ส่งเสริมประชาธิปไตยภายในตำรวจ เพิ่มการมีส่วนร่วมของตำรวจในการเลือก ผบ.ตร.
- กอบกู้ภาพลักษณ์ตำรวจในสายตาประชาชน
“ผมคิดเรื่องลาออกนะครับ แต่ออกไปตอนนี้ด้วยความที่ห่างวิชาเดิมไป 10 ปีรวมถึงอายุเยอะแล้ว การหางานใหม่ถือว่ายาก” นิลยอมรับกับเราตรงๆ ว่าเคยคิดเรื่องลาออก ก่อนเอ่ยต่อว่า “แต่ถ้ามีโอกาสดีๆ เข้ามาคงตัดสินใจลาออกได้ไม่ยากครับ”
คนในวงการตำรวจหลงเหลือศรัทธกับอาชีพตัวเองมากน้อยแค่ไหน และคิดอย่างไรถึงอนาคตตัวเอง บางทีประโยคด้านบนนี้จากนิลอาจพูดแทนตำรวจชั้นผู้น้อยที่ถูกระบบและผู้มีอำนาจกลั่นแกล้งมาตลอดได้เป็นอย่างดี
อ้างอิงจาก