“ผมอยากให้ประชาชนรู้สึกว่าชีวิตของพวกเขาดีขึ้นจริงๆ จากการทำงานของเรา ซึ่งตามจริงแล้วไม่อยากให้มีการประชาสัมพันธ์ด้วยซ้ำ เพราะอยากให้ประชาชนรู้สึกเองมากกว่า”
วันนี้ (13 มิถุนายน) เวลา 9.00 น. มีการจัดแถลงการณ์ ‘365 วัน ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ โดยผู้ว่าและคณะบริหารกรุงเทพฯ ว่า 1 ปีที่ผ่านมาในยุคของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดำเนินนโยบายและสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรไปแล้วบ้าง รวมถึงยังกล่าวถึงการทำงานในช่วงปีที่ 2 อีกด้วย
เริ่มต้นที่ ‘แนวคิดการทำงาน 1 ปีที่ผ่านมา’ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ ระบุว่า
1. ผลักดันโครงการใหญ่เชื่อมโยงการพัฒนาเส้นเลือดฝอย (นโยบายขนาดเล็ก)
2. เปลี่ยนวิธีการทำงานโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยการเปลี่ยนชุดความคิดของข้าราชการ ให้มองประชาชนเป็นจุดศูนย์กลาง และรีบแก้ปัญหาไม่ใช่เพียงรอคำสั่งจากผู้ว่าฯ
3. เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานโดยใช้เทคโนโลยีและข้อมูล อย่างเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เกิดกรณีรถพ่วงเกี่ยวเสาไฟฟ้าตกที่เขตบางบอน ทำให้ไฟฟ้าในบริเวณนั้นใช้งานไม่ได้ ซึ่งเรามีข้อมูลว่าบริเวณดังกล่าวมีผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องให้ออกซิเจนตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงรีบแก้ไขปัญหาโดยให้ผู้ป่วยใช้ไฟฟ้าสำรองแทน ซึ่งถ้าเราไม่มีข้อมูล ผู้ป่วยอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิต
4. สร้างความโปร่งใสการทำงาน ซึ่งเป็นส่วนที่ กทม. ให้ความใส่ใจมาก เพราะประชาชนรับไม่ได้กับความไม่โปร่งใส เช่น การเก็บส่วย
5. ร่วมมือกับเครือข่ายทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเมือง เช่น ภาคประชาชน
ต่อมา ชัชชาติกล่าวถึง ‘9 ด้าน 9 ดี’ คือ นโยบายที่กำลังทำและทำสำเร็จไปแล้ว ซึ่งประกอบไปด้วย
– บริหารจัดการดี เช่น จัดสรรงบปี 2566 กว่า 5,024 ล้านลงเส้นเลือดฝอย (นโยบายย่อย), จัดสรรงบ 2 แสนบาทต่อชุมชน, ที่ดินใน กทม. 99.42% ถูกประเมินเพื่อเก็บภาษี และจัดตั้งสภาเมืองคนรุ่นใหม่เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการกำหนดทิศทางเมือง
– โปร่งใสดี เช่น รายงานการแก้ปัญหาต่างๆ โดยประชาชนผ่านแพลตฟอร์ม ทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) ซึ่งแก้ไขปัญหาไปแล้วมากกว่า 2 แสนเรื่อง, เปิดเว็บไซต์เพื่อติดตามการทำงานและเปิดศูนย์ต่อต้านทุจริต กทม.
– เศรษฐกิจดี เช่น พัฒนาหลักสูตรฝึกอาชีพให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานอย่าง แม่บ้านโรงแรม, รับคนพิการเข้าเป็นข้าราชการ, ร่วมมือกับกรุงไทยให้ออกสินเชื่อช่วยเหลือผู้ค้าหาบเร่ และ 12 เดือน 12 เทศกาลอย่างงาน Bangkok Pride 2023 ที่เพิ่งจัดไปและได้รับเสียงตอบรับที่ดี
– เดินทางดี เช่น ปรับปรุงทางเท้า 221.47 กิโลเมตร, คืนพื้นผิวจราจร, ติดตั้ง CCTV และลอกท่อเพื่อให้น้ำลงเร็ว
– ปลอดภัยดี เช่น แก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับและเปลี่ยนหลอดไฟเป็น LED แทนเพื่อเพิ่มความสว่างและประหยัดไฟ, ปรับปรุงทางม้าลาย และปรับระบบการขอภาพจากกล้อง CCTV ให้เป็นภายใน 24 ชั่วโมง
– สิ่งแวดล้อมดี เช่น ปลูกต้นไม้ไปแล้ว 4 แสนต้น, สร้างสวนสวนสารธารณะสัตว์เลี้ยง (Pet Park) มากกว่า 5 แห่ง และขยะลดลง 300-700 ตันต่อวันเพราะเกิดจากการรณรงค์ให้แยกขยะ
– สุขภาพดี เช่น สร้าง 22 คลินิกเพศหลากหลาย, นำร่องให้บริการหมอถึงชุมชนผ่านแอปพลิเคชั่น Moblie Medical Unit และเปิดให้บริการหมอทางไกลผ่านมือถือ (Telemedicine) 11 แห่ง
– เรียนดี เช่น ปรับค่าอาหารกลางวันและอาหารเสริมของนักเรียนจาก 20 เป็น 32 บาท, เพิ่มวิชาชีพเลือกเสรี และจัดสลัดบาร์ 3 วันต่อสัปดาห์ใน 437 โรงเรียน
– สังคมดี เช่น ดนตรีในสวน, เปิดจุดบริการคนไร้บ้านให้อาหาร งาน ทำบัตรประชาชน และจัดตั้งอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) เพื่อให้ความรู้แก่ผู้คนในชุมชน
อย่างไรก็ดี ผู้ว่าฯ ระบุต่อว่า “ในตอนแรกเรามี 216 แต่ในขณะนี้เพิ่มเป็น 226 และเราลงมือทำไปแล้วมากถึง 211 นโยบาย นอกจากนี้ นโยบายที่เราลองทำแล้ว มันไม่ได้เป็นไปตามคาด เราก็ลดจำนวนลงหรือตัดทิ้งไป เช่น สร้างห้องให้นมเด็กที่คนใช้น้อยมาก เพราะในปัจจุบันประชาชนมีลูกน้อยลง หรือการสร้างห้องสมุด เราก็เปลี่ยนเป็น E-Library แทนเพื่อประหยัดงบประมาณ รวมถึงตอบโจทย์กับประชาชนมากกว่า”
“ช่วงปีแรกถือเป็นช่วงทำแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) คือ การปูพื้นฐานนโยบายต่างๆ ก่อน และปีนี้ (ปีที่ 2) เราจะขยายสเกลนโยบายต่างๆ ให้เพิ่มมากขึ้น”
ท้ายที่สุดแล้ว ชัชชาติกล่าวถึง ‘สถานการณ์งบประมาณ กทม.’ ซึ่งเริ่มที่สัดส่วนรายรับ กทม. แบ่งเป็นรายได้ที่รัฐเก็บให้ กทม. 65,000 ล้านบาท (76%) และรายได้ที่ กทม. จัดเก็บเอง 14,000 ล้านบาท (24%) และยังพูดถึงงบประมาณในปีที่ผ่านมาว่ามีจำนวน 88,277 ล้านบาท แต่ปีนี้มีงบประมาณเพียง 79,000 ล้านบาท
“รายได้ของประเทศลดลง ส่งผลให้งบประมาณ กทม. ก็ลดลงไปด้วย แต่ภารกิจที่ต้องทำก็ยังค่อนข้างเยอะ ทำให้ทั้งการดำเนินการโครงการเก่าและใหม่ต้องทำอย่างรอบคอบมากขึ้น”
นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ ยังกล่าวถึงเงินสะสมปลอดภาระ ซึ่งประกอบไปด้วย ‘เงินสะสม ปลอด ภาระผูกพัน’ จำนวน 49,837 ล้านบาท และ ‘หนี้สินโดยประมาณ’ รวมแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท
“ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า เงินสะสมมีน้อย แต่หนี้มาก ทำให้ต้องคุยกับรัฐบาลว่าหนี้ก้อนนี้รัฐบาลสามารถรับไปได้ไหม และเหตุผลที่เราไม่รีบจ่ายหนี้ ก็เพราะเงินเรามีไม่มาก เพราะยังต้องดำเนินนโยบายอีกหลายเรื่อง เราจึงจำเป็นต้องใช้งบประมาณอย่างระมัดระวัง และรอบคอบให้มากที่สุด”
ไม่เพียงเท่านี้ ชัชชาติกล่าวปิดท้ายว่า “สิ่งที่เราต้องปรับปรุงและให้ความสำคัญมากขึ้น คือ เศรษฐกิจเมืองกับตลาด เช่น ตลาดจตุจักร อย่างไรก็ตาม เราพร้อมรับคำติชมจากประชาชนเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข”
ทั้งนี้ ยังมีช่วงคำถามจากสื่อมวลชนต่อผู้ว่าฯ และคณะบริหาร อาทิ คำถามเรื่องที่ยากที่สุดในการดำเนินการ? ซึ่งชัชชาติระบุว่า “ปัญหาการคอร์รัปชั่น เป็นเรื่องที่แก้ยากเพราะฝังลึกมาเป็นเวลานาน เราจึงพยายามทำทุกอย่างให้โปร่งใส โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ซึ่งผลตอบรับก็ดีขึ้น”
“ถ้าประชาชนไม่ไว้ใจเรา พวกเขาคงไม่ส่งข้อมูลให้เราไปแก้ไขปัญหา ซึ่งการไว้ใจของประชาชนมีค่ามากกว่างบประมาณเสียอีก”
ชัชชาติกล่าวเสริมว่า “จุดแข็งของเรา คือ เราพยายามเป็นหน่วยงานที่แทรกซึมอยู่ในทุกชุมชน และพยายามใส่ใจ เอาจริงเอาจังต่อการแก้ปัญหาให้กับประชาชน”
อย่างไรก็ดี มีสื่อมวลชนถามผู้ว่าฯ ถึงประเด็นที่ช่วงนี้มีประชาชนจำนวนหนึ่งกล่าวประมาณว่า “ผู้ว่าฯ สร้างผลงานน้อย ซึ่งจะแก้ปัญหาส่วนนี้อย่างไร?”
โดยเขาตอบว่า “อาจจะประชาสัมพันธ์ต่อประชาชนและให้พวกเขามีส่วนร่วมมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ผมอยากให้ประชาชนทุกคนรู้สึกว่าชีวิตของพวกเขาดีขึ้นจริงๆ ซึ่งตามจริงแล้วแทบไม่อยากให้มีการประชาสัมพันธ์ด้วยซ้ำ เพราะอยากให้ประชาชนรู้สึกเองมากกว่า”
“เราพยายามทำเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ไปพร้อมๆ กัน แต่โครงการใหญ่ผู้คนมักไม่ค่อยเห็น เช่น ทำอุโมงค์ แต่โครงการเล็กๆ หรือที่เราเรียกว่า ‘เส้นเลือดฝอย’ เป็นส่วนที่ประชาชนจะเห็นมากกว่า ดังนั้นเราจึงพยายามทำควบคู่กันไป ซึ่งเราเน้นประเด็นนี้มาตั้งแต่หาเสียง”
ติดตามนโยบายได้ที่ openpolicy.bangkok.go.th
อ้างอิงจาก