ITV (Independent Television) คือ สถานีโทรทัศน์เสรีที่เปิดตัวในปี 2539 เกิดมาจากแนวคิดที่อยากให้คนไทยเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างอิสระ ไม่ถูกปิดกั้น เน้นการนำเสนอรายการและข่าวสารด้วยความเป็นกลาง รวมถึงเน้นสาระความรู้ในรูปแบบต่างๆ ก่อนจะปิดตัวลงเมื่อปี 2550 จากการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ยกเลิกสัมปทาน
ย้อนกลับไปในช่วงปี 2535 สื่อหลักที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้รวดเร็วที่สุดก็คือวิทยุและโทรทัศน์ แต่ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนในช่วงพฤษภาทมิฬ สื่อหลักอย่างโทรทัศน์กลับถูกปิดกั้นไม่ให้นำเสนอข่าวสารที่เป็นจริง จนเกิดเป็นข้อเรียกร้องจากประชาชน ที่ต้องการสื่อซึ่งสามารถนำเสนอข่าวได้อย่างอิสระ ทำให้รัฐบาลของอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศหลังเหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวคิดจะเปิดสถานีโทรทัศน์เสรี และในที่สุด สปน.ก็เปิดการให้สัมปทานช่องใหม่ โดยมีข้อกำหนดว่า
– ต้องมีสัดส่วนรายการ ข่าวและสาระ ไม่ต่ำกว่า 70% และรายการบันเทิง ไม่เกิน 30%
– ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี
– แบ่งรายได้ให้ สปน. 840 ล้านบาทต่อปี
ต่อมากลุ่มบริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้ชนะการประมูล และได้รับสิทธิ์ดำเนินการบริหารสถานีเป็นเวลา 30 ปี ภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อดังกล่าว
ในตอนนั้นยังมีข้อกำหนดอีกว่า ผู้รับสัมปทานต้องมีผู้ถือหุ้น 10 ราย แต่ละรายต้องมีสัดส่วนหุ้นเท่ากัน และยังต้องแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน (คือบริษัทที่เปิดให้ประชาชนเป็นผู้ถือหุ้นจำนวนหนึ่ง) เพื่อป้องกันการผูกขาด แต่หลังจากการออกอากาศได้ไม่นาน ประเทศไทยก็เข้าสู่ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง อีกทั้งยังมีข้อกำหนดที่ต้องแบ่งรายได้ให้กับ สปน. 840 ล้านบาทต่อปี ก็ยิ่งส่งผลให้ ITV ขาดทุนอย่างมาก ทำให้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 ในยุคของรัฐบาลของชวน หลีกภัย จำเป็นต้องมีมติให้แก้ไขสัมปทาน โดยอนุญาตให้มีผู้ถือหุ้นมากกว่า 10% ได้
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2543 ธนาคารไทยพาณิชย์ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ตัดสินใจขายหุ้นไอทีวีให้กับกลุ่มบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ชินคอร์ป’ ซึ่งเป็นหนึ่งในหุ้นของตระกูลชินวัตร ให้สามารถเข้ามาถือหุ้น ITV ด้วยวงเงิน 1,600 ล้านบาท เป็นสัดส่วน 39% รวมถึงแปลงหนี้เป็นทุน (โอนเงินจากบัญชีหนี้สินไปยังบัญชีทุนของบริษัท ทำให้บริษัทไม่ต้องชำระหนี้สินนั้นอีก) ในสัดส่วน 55% และมอบสิทธิ์ในการบริหารให้ชินคอร์ป
ต่อมาในปี 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากพรรคไทยรักไทย ก็ชนะการเลือกตั้งได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จในเดือนกุมภาพันธ์ โดยสาเหตุที่เขาสามารถมีหุ้น ITV ได้ ก็เป็นเพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ได้มีข้อห้ามเรื่องนักการเมืองถือหุ้นสื่อของแต่อย่างใด
หลังจากนั้น ก็เกิดการตั้งคำถามถึงเรื่องการแทรกแซงสื่อของกลุ่มชินคอร์ป เช่น กรณีที่ให้มีการยกเลิกการวิเคราะห์ข่าวที่พาดพิงถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฯลฯ จนทำให้นักข่าว ITV ออกมาเรียกร้องในประเด็นดังกล่าว นำมาสู่การออกแถลงการณ์จาก เทพชัย หย่อง ผู้อํานวยการฝ่ายข่าวของ ITV ที่มีเนื้อหาเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ, บุญคลี ปลั่งศิริ ผู้บริหารชินคอร์ป และสรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทไอทีวี ยุติการครองงำและแทรกแซงสื่อ
นอกจากนี้ กลุ่มนักข่าว ITV ยังได้ร่วมกันจัดตั้งสหภาพแรงงาน โดยมีการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544 และหลังจากการประชุมสหภาพฯ เพียง 1 วัน ทีมข่าว 7 คนที่เป็นแกนนำเคลื่อนไหวต่อต้านการแทรกแซงการเสนอข่าวของ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ไอทีวี ก็ถูกเรียกไปพบหัวหน้าฝ่ายบุคคลโดยด่วน เพื่อจะพูดคุยถึงปัญหาภายใน
แต่เมื่อกลุ่มนักข่าวดังกล่าวไปพบฝ่ายบุคคล กลับได้รับแจ้งว่าบริษัทเลิกจ้างทุกคนแล้ว พร้อมกับยื่นซองขาวให้ด้วยเหตุผลว่า ‘ให้ข่าวอันเป็นเท็จกรณีความขัดแย้งใน ITV เมื่อครั้งออกแถลงการณ์ด้านการแทรกแซงงานข่าวของชินคอร์ป ส่งผลให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง’
ขณะเดียวกัน ก็ยังมีประกาศปลดพนักงานอีก 16 คน ด้วยเหตุผลเพื่อลดกำลังคนบางส่วนและมีปัญหาทัศนคติในการทำงาน ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ ทำให้ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 มีคำสั่งเลิกจ้างพนักงานทั้งสิ้นรวม 23 คน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นพนักงานที่เคลื่อนไหวกับสหภาพฯ
ในตอนนั้น ทั้ง 23 คนไม่มีใครยอมเซ็นในหนังสือให้ออก ทั้งยังไม่ยอมรับเงินค่าชดเชยโดยเด็ดขาด เพราะมองว่าพวกเขาไม่มีความผิด และต่อมา นักข่าวที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 21 คน ก็ยื่นคำร้องไปยังคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ว่าบริษัทกระทำการอันไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 121 ของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พร้อมกับเรียกร้องขอคืนสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ซึ่งก็เรียกนักข่าวกลุ่มนี้ว่า ‘กบฏไอทีวี’
“ตอนนั้นพี่ณาทำอยู่ก็ไม่เห็นด้วย จริงๆ ก็ไม่ได้มีปัญหาส่วนตัวกับคุณทักษิณ เคารพในฐานะแหล่งข่าว นักข่าว แต่พอมาถึงจุดที่เรารู้สึกว่า นักการเมืองไม่ควรจะเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ ด้วยความรู้สึกส่วนตัวที่ตัวเองอยู่ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็เลยออกมาประท้วง แล้วถูกเชิญออก” กรุณา บัวคำศรีเล่าถึงเหตุการณ์ในตอนที่ถูกไล่ออกจาก ITV
รวมไปถึงในวันที่พนักงาน ITV ถูกปลด อรพิน ลิลิตวิศิษฏ์วงศ์ ประธานสหภาพฯ ก็จัดแถลงข่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า หลังจากที่จดทะเบียนสหภาพฯ กับกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2544 ก็ไปแจ้งกับนายจ้างในที่ประชุม ซึ่งเขาก็บอกว่าสามารถทำได้ แต่นายจ้างก็ยังกล่าวต่อว่า ‘ชินคอร์ปมีพนักงานตั้ง 5,000- 6,000 คน ไม่เห็นต้องมีสหภาพเขาก็ยังอยู่กันได้’
อีกทั้ง อรพินยังเล่าต่อว่า พนักงาน ITV มีแนวคิดที่จะทำสหภาพกันมานานแล้ว ก่อนที่จะมีเรื่องชินคอร์ปเข้ามา เพราะมองว่า ITV ก็ควรเป็นตัวอย่างให้กับคนอื่นๆ และยังมีระเบียบบริษัทหลายอย่างที่ไม่เป็นธรรมกับพนักงาน เช่นไม่มีเบี้ยเลี้ยงวันหยุด หรือ OT ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทอื่นๆ มีมาตลอด ทั้งยังมีการปล่อยข่าวว่าจะให้โบนัส มาเป็นเครื่องมือไม่ให้พนักงานเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพอีกเช่นกัน
อรพินระบุว่า “พอชินคอร์ปเข้ามาในไอทีวี ก็มาปลดพนักงานชุดใหญ่ประมาณ 80-100 คน ถูกลอยแพกันดื้อๆ พวกเราเลยมาคิดว่าสถานการณ์เริ่มไม่มั่นคงแล้ว ถึงเวลาที่ต้องมีสหภาพแล้ว ก็เลยไปจดทะเบียนตอนต้นปีนี้ [2544] อยากให้สื่ออื่นๆ ลุกขึ้นมาเห็นความสำคัญของการมีสหภาพ ควรช่วยกันจัดตั้งขึ้นทุกองค์กร เพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้พวกเรา”
“โดยเฉพาะผู้บริหารอยากขอให้เห็นความสำคัญ ไม่ควรขัดขวาง ทุกวันนี้ต่างประเทศให้ความสำคัญกันมาก มีเกือบทุกบริษัท แต่ของไทยยังไม่เห็นความสำคัญอะไรเลย หลายปีก่อน ช่อง 9 ก็เคยตั้งสหภาพ แต่คนที่ตั้งโดนปลดออกหมด ก่อนนี้เดอะเนชั่นก็พยายามตั้งสหภาพ แต่เจ้าของใช้วิธียุบบริษัทแล้วเลิกจ้างไปเลย ตอนนี้ก็มีแต่ที่บางกอกโพสต์ที่มีสหภาพ แต่ไม่ค่อยมีบทบาทมากนัก” อรพินกล่าวต่อ
อย่างไรก็ดี เมื่อเรื่องราวการปลดพนักงานออกอย่างไม่เป็นธรรมไปถึง ครส. ก็มีการวินิจฉัยว่า การกระทำของบริษัทไอทีวี ไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกเลิกจ้าง พร้อมสั่งให้รับทั้ง 21 คนกลับเข้าทำงานเช่นเดิม แต่ผู้บริหารไม่ยอม และยังยื่นอุทธรณ์ต่อศาลแรงงานกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่ง ครส. ต่อมาศาลพิจารณาเห็นว่าคำสั่งของ ครส. ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงพิพากษายกฟ้อง
คดียังดำเนินต่อไปจนกระทั่งถึงศาลฎีกา ซึ่งในวันที่ 8 มีนาคม 2548 ศาลฎีกาแผนกแรงงานพิพากษาก็ยังยืนคำตัดสินของศาลแรงงานกลางให้บริษัทไอทีวี รับพนักงาน 21 คน ที่ถูกเลิกจ้างงานกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม และจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม พร้อมชดเชยค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับจากวันที่เลิกจ้างจนถึงวันที่รับกลับเข้าทำงาน
ย้อนกลับมาที่เรื่องราวของบริษัทไอทีวี หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ารับตำแหน่งนายกฯ และชินคอร์ปได้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทไอทีวีแล้ว ในเดือนมีนาคม 2545 บริษัทไอทีวีก็เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และในปี 2547 ชินคอร์ปก็ยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการ ขอแก้ไขสัญญาและขอลดค่าสัมปทาน เพราะมองว่าสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นจ่ายค่าสัมปทานให้รัฐราคาต่ำกว่า เช่น ช่อง 3 จ่ายปีละ 107 ล้านบาท ส่วน ช่อง 7 จ่ายปีละ 187 ล้านบาท แต่ ITV ต้องจ่ายปีละ 840 ล้านบาท ซึ่งในตอนนั้นอนุญาโตตุลาการก็มีคำวินิจฉัยให้ลดค่าสัมปทานเหลือ 230 ล้านบาท รวมถึงอนุญาตให้แก้ไขสัดส่วนการออกอากาศ ให้รายการข่าวและรายการบันเทิงมีสัดส่วนเท่ากันที่ 50% แต่จากการแก้ไขสัมปทานดังกล่าว ส่งผลให้ สปน. เป็นฝ่ายเสียผลประโยชน์ด้วยเช่นกัน
สปน.จึงนำคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ ไปยื่นร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว จนในปี 2549 บริษัทไอทีวีก็ต้องกลับไปจ่ายสัมปทานปีละ 840 ล้านบาท และต้องปรับผังรายการกลับมาเป็นสัดส่วน 70:30 ดังเดิม อีกทั้งยังต้องจ่ายค่าปรับวันละ 100 ล้านบาท เนื่องจากผิดสัญญาเรื่องเปลี่ยนผังรายการ ซึ่งคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 100,000 ล้านบาท ทำให้หุ้นไอทีวีร่วงลงมา และถ้าบริษัทไอทีวีไม่สามารถจ่ายเงินทั้งหมดได้ภายใน 7 มีนาคม 2550 รัฐบาลก็จะยกเลิกสัมปทาน สุดท้ายไอทีวีไม่สามารถจ่ายเงินได้ ก็ต้องเลิกกิจการไปในที่สุด
อ้างอิงจาก