‘หุ้น ITV’ เป็น 1 ในประเด็นที่น่าจับตามอง หลังจากที่รายการ ‘ข่าว 3 มิติ’ เปิดเผยคลิปเสียงบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้น ITV ซึ่งแตกต่างจากบันทึกการประชุม เมื่อคืนนี้ (14 มิถุนายน) ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวก็ยังได้เปิดเผยข้อพิรุธของเอกสารการเงินบริษัทไอทีวีอีกเช่นกัน
ส่วนรายละเอียก ‘ข้อพิรุธ’ ที่พบจะเป็นอย่างไร The MATTER สรุปเอาไว้ให้แล้ว
1. งบการเงินของไตรมาส 1/2566 ไม่ตรงกับงบปี 2565
‘แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3)’ ที่บริษัทไอทีวี ส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า รอบบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งได้รับอนุมัติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา และได้นำเอกสารดังกล่าวส่งไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีความเห็นในรายงานการสอบบัญชีแนบท้ายว่า ‘ประเภทธุรกิจ: สื่อโทรทัศน์’ ‘สินค้า/บริการ: สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน’
ในส่วนของ ‘งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ’ ไตรมาส 1/2566 ระยะเวลาสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่ามีกำไรจากกิจกรรมดำเนินงาน 3,842,496 บาท ซึ่งเอกสารงบตรงนี้ยังไม่ได้รับการตรวจสอบ และยังมีลายน้ำระบุว่า ‘Draft for internal use’ หรือฉบับร่างสำหรับใช้ภายในเท่านั้น
โดยในข้อที่ 10 ของ ‘งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ’ ไตรมาส 1/2566 ยังมีข้อความระบุอีกว่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทได้นำเสนอการลงสื่อให้กับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกัน และเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2566 ก็มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจ โดยเป็นผู้ให้บริการสื่อโฆษณา โดยจะรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 2 ปีนี้
แต่เมื่อนำเมื่อนำ ‘งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ’ ไตรมาส 1/2566 มาเปรียบเทียบกับ ‘งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ’ ของปี 2565 พบว่าไม่มีหมายเหตุในข้อใดที่ระบุว่ามีรายได้จากการเป็นสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อชนิดใดก็ตาม โดยมีเพียงระบุรายได้จากการลงทุน ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ตรงกับงบการเงินของบริษัทไอทีวี ตั้งแต่ปี 2550-2565 ซึ่งเป็น 15 ปีที่ไม่มีรายได้จากสื่อ
ข้อมูลของงบการเงิน 2565 ตรงนี้ ก็สอดคล้องกับคลิปการประชุมสามัญประจำปีของผู้ถือหุ้น ITV เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งคิมห์ สิริทวีชัย ประธานคณะกรรมการบริษัทกล่าวไว้ว่า “มีคำถามจากคุณภาณุวัฒน์ ขวัญยืน มาด้วยตัวเองนะครับ ‘มีการดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือทีวีไหมครับ’ ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ”
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ในการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน คิมห์ระบุว่าไม่มีการดำเนินกิจการ แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าหลังจากนั้นเพียงแค่ 2 วัน กลับมีรายงานการจ้างลงสื่อโฆษณาโดยไม่มีการแจ้งผู้ถือหุ้นให้ทราบก่อนหน้านั้น
นอกจากนี้ สฤณี อาชวานันทกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินยังตั้งข้อสงสัยอีกว่า โดยปกติ การจัดทำร่างงบไตรมาสที่ใช้เพื่อการภายในเท่านั้น จะไม่มีการเผยแพร่บนเว็บไซต์ของบริษัทที่ให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และร่างเอกสารนี้ก็ไม่ควรเป็นเอกสารที่จะนำไปอ้างถึง แต่เอกสารภายในนี้กลับถูกนำไปประกอบการร้องเรียนต่อ กกต.
2. ข้อมูลทางธุรกิจเปลี่ยนจาก ‘ยังรอคำตัดสินจากศาล’ เป็น ‘ยังคงสถานะดำเนินอยู่’
ฐปนีย์ รายงานว่า ข้อมูลทางธุรกิจของบริษัทไอทีวีเปลี่ยนหลังจากวันที่ 2 พฤษภาคม จากเดิมที่เป็นบริษัทรับฝากในตลาดหลักทรัพย์ และยังรอคำตัดสินจากศาลปกครองสูงสุดอยู่ แต่พอหลังจากวันที่ 2 พฤษภาคมเป็นต้นมา ข้อมูลทางธุรกิจของบริษัทไอทีวีก็กลายมาเป็น ‘ยังคงสถานะดำเนินอยู่’ ประเภทสื่อโทรทัศน์
ข้อมูลนี้ ก็ทำให้เกิดความเชื่อมโยงกับเอกสารที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ จากพรรคพลังประชารัฐ ใช้อ้างประกอบคำร้องเรื่องการถือหุ้นของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและว่าที่นายกฯ โดยเอกสารนั้นเป็นข้อมูลในวันที่ 6 พฤษภาคม เวลา 13.24 น. ซึ่งสถานะของนิติบุคคลของบริษัทได้เปลี่ยนมาเป็น ‘ยังดำเนินการอยู่’ แล้ว ซึ่งเขาก็นำเอกสารดังกล่าวไปยื่นร้องต่อ กกต.ในวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา
นั่นหมายความว่า เรืองไกรได้เอกสารหลังจากที่ไอทีวีเปลี่ยนข้อมูลทางธุรกิจเพียง 4 วันเท่านั้น และเขาก็ยังไปยื่นร้องในวันเดียวกับที่บริษัทไอทีวีนำส่ง ส.บช.3 ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าอีกเช่นกัน
3. งบของบริษัทไอทีวี ไม่ตรงกับงบของบริษัทอินทัช
บริษัทอินทัช เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทไอทีวี ทั้งยังนับว่าเป็นบริษัทแม่ ที่ดำเนินการแทนไอทีวีอีกเช่นกัน
ในข้อมูลของร่างงบการเงินไตรมาส 1/2566 ของไอทีวีที่ระบุถึงการนำเสนอสื่อให้กับบริษัทในเครือ แต่เมื่อพิจารณาจากงบการเงินของบริษัทอินทัชแล้ว ก็ไม่มีข้อมูลที่ระบุว่าอินทัชจ้างให้ไอทีวีทำสื่อ
อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้เป็นเพียงแค่ข้อสงสัย เพราะคำว่าบริษัทในเครือที่นี้ อาจจะหมายถึงบริษัทในเครืออื่นๆ ซึ่งทางบริษัทก็ต้องออกมาชี้แจงรายละเอียด เนื่องจากในงบการเงินนี้ก็ไม่ได้มีเอกสารที่ระบุได้ว่ามีการโฆษณาแบบใด และว่าจ้างกันอย่างไร
“คนที่ทำบัญชีให้ไอทีวีตลอดมาหลายปีคืออินทัช ดังนั้นอินทัชคือผู้ที่ควรชี้แจงว่ารายการ “นำเสนอการลงสื่อใหักับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน” ในข้อ 10. คือรายการอะไร ไอทีวีมีพนักงานทำหรือ? แล้วทำไมข้อความในแบบนำส่งงบปี 2565 (ส.บช3) ถึงได้ระบุ “สื่อโฆษณา” ทั้งที่รายการที่เกี่ยวข้องนี้เพิ่งมาโผล่ใน ‘ร่าง’ งบไตรมาส 1 ปี 2566 ซึ่งผู้ถือหุ้นรายย่อยในวันประชุม 26 เม.ย. ยังไม่รู้เรื่องนี้เลย ?” สฤณีระบุผ่านเฟซบุ๊ก
4. เอกสารที่ชี้แจงต่อ 2 หน่วยงานไม่ตรงกัน
ประเด็นนี้ไม่ได้มาจากการรายงานของข่าว 3 มิติ แต่ พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ อดีตตำรวจพิสูจน์หลักฐานจากพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์เมื่อเช้านี้ (15 มิถุนายน) ถึงความไม่สอดคล้องของเอกสารที่ไอทีวีนำส่งให้กับ 2 หน่วยงาน
พ.ต.ต.ชวลิต ระบุว่า เมื่อพิจารณาจากเอกสารของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่คณะกรรมการบริษัทไอทีวีอนุมัติให้ออกงบเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ระบุข้อมูลทั่วไปของบริษัทว่า ตั้งแต่ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ยกเลิกสัมปทาน เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2550 ส่งผลให้ ‘บริษัทต้องหยุดดำเนินกิจการ’ อีกทั้งในหมายเหตุประกอบงบการเงินยังไม่พบข้อความที่ระบุว่าบริษัทไอทีวีกำลังดำเนินกิจการสื่ออยู่แต่อย่างใด
เอกสารฉบับดังกล่าวที่ส่งให้กับ ก.ต.ล. ขัดแย้งกับ ส.บช.3 ที่ส่งให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่มีรายงานการสอบบัญชีแนบท้ายว่าดำเนินธุรกิจสื่อโทรทัศน์อยู่
ทั้ง พ.ต.ต.ชวลิตยังตั้งข้อสงสัยอีกว่า ทำไมข้อมูลถึงขัดแย้งกัน ทั้งๆ ที่เป็นงบการเงินปี 65 เหมือนกัน และรหัสผู้ตรวจสอบบัญชีก็เป็นคนเดียวกัน
“นั่นเพราะ การส่งข้อมูลงบการเงินให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เกิดขึ้นในวันที่ 10 พ.ค. 2566 ซึ่งอยู่ในช่วงกระบวนการพยายามฟื้นคืนชีพไอทีวีให้เป็นสื่อ ไอทีวี ในการดำเนินการของ อินทัช จึงส่ง ‘แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3)’ ปี 2565 ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยมีข้อความเกี่ยวกับสถานะการดำเนินกิจการ และประเภทธุรกิจ ขัดแย้ง ตรงกันข้ามกับ งบการเงินปี 2565 ที่อนุมัติในวันที่ 24 ก.พ. 2566 และปรากฎในเว็บไซต์ของ ก.ล.ต.” พ.ต.ต.ชวลิตระบุ
ทั้งนี้ ฐปณีย์ยังรายงานเพิ่มเติมในรายการข่าว 3 มิติอีกว่า มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการทำบัญชีลาออกไปเมื่อไม่กี่วันก่อน ซึ่งพยายามติดต่อแล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ทั้งยังไม่ทราบเหตุผลที่ออกเช่นกัน
แบบนำส่งจาก ก.ล.ต.: market.sec.or.th
งบการเงินจากบริษัทอินทัช: intouchcompany.com
แบบนำส่งจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า: datawarehouse.dbd.go.th
อ้างอิงจาก