ประเด็นหุ้นไอทีวีร้อนระอุขึ้นอีก หลัง ฐปนีย์ เอียดศรีชัย เผยแพร่คลิปวิดีโอการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวีที่มีความผิดปกติ ไม่สอดคล้องกับรายงานการประชุมแบบลายลักษณ์อักษร อันเป็นประเด็นที่สัมพันธ์กับอนาคตทางการเมืองของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่กำลังโดนตรวจสอบกรณีถือหุ้นไอทีวี
ระหว่างที่สังคมจับตา บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTOUCH ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไอทีวี จึงออกหนังสือชี้แจงถึงกรณีที่เกิดขึ้น และสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็วที่สุด ซึ่งจดหมายลงนามด้วย ‘คิมห์ สิริทวีชัย’ กรรมการผู้อำนวยการอินทัช …คนเดียวกันกับที่เซ็นต์รับรองรายงานการประชุมที่เนื้อหาไม่ตรงคลิป
กรณีหุ้นไอทีวี ทำให้คนสงสัยถึงเครือข่ายธุรกิจไอทีวีว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับใครบ้าง โดยคร่าวคือ อินทัชสัมพันธ์กับไอทีวีในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของอินทัช คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี (GULF) ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ด้านพลังงานในประเทศไทย
- หุ้น ITV กับ INTOUCH
เล่าปูก่อนว่า ฐปนีย์รายงานคลิปเสียงที่ คิมห์ สิริทวีชัย ประธานคณะกรรมการไอทีวีตอบคำถามเรื่องการดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อ–ทีวี ว่า “ตอนนี้ บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน” ซึ่งสวนทางกับคำตอบในรายงานการประชุมที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ใช้ยื่นร้องเรียนต่อ กกต. ด้วยประเด็นพิธาถือหุ้นไอทีวี
เหตุที่อินทัชมีบทบาทต่อกรณีหุ้นสื่อ เพราะบริษัทนี้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของไอทีวี โดยข้อมูลโครงสร้างผู้ถือหุ้นไอทีวี เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ระบุว่า อินทัชถือหุ้นใหญ่สุด 52.92%
อินทัชก่อตั้งเมื่อปี 2526 เดิมเคยใช้ชื่อ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และเข้ามาลงทุนในไอทีวีตั้งแต่ปี 2543 ก่อนจะมีผลัดเปลี่ยนเจ้าของ และเกิดการขายหุ้น INTUCH ให้กับกัลฟ์ จนกัลฟ์กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 เมื่อ 5 สิงหาคม 2564
เมื่อดูโครงสร้างผู้ถือหุ้น INTUCH ที่บริษัทอินทัชแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็พบว่า กัลฟ์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 41.19% ด้วยจำนวนหุ้น 1,320,914,697 หุ้น ง่ายๆ ก็คือ กัลฟ์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของอินทัช
- รู้จัก GULF
กัลฟ์เป็นที่รู้จักในฐานะบริษัทด้านพลังงานไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทที่บริหารจัดการโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซและพลังงานหมุนเวียน และขายไฟฟ้าให้ภาครัฐ (กฟผ.) และกลุ่มอุตสาหกรรม
บนเว็บไซต์ของกัลฟ์ระบุว่า บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี เป็นบริษัทธุรกิจด้านพลังงาน, ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค, และธุรกิจดิจิทัล
เจ้าของเครือกัลฟ์ คือ สารัชถ์ รัตนาวะดี คนเดียวกับกับที่ได้ตำแหน่งบุคคลที่รวยที่สุดในไทยเมื่อปี 2565 แซงหน้าเจ้าสัวมหาเศรษฐีอย่างธนินท์ เจียรวนนท์ และเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งข้อมูลของ Forbes ระบุว่า มูลค่าทรัพย์สินในครอบครองของสารัชถ์อยู่ที่ 11,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 421,000 ล้านบาทไทย
เมื่อเปิดดูรายชื่อผู้ถือหุ้น 10 รายแรกของกัลฟ์ จะพบว่า สารัชถ์คือผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ถือหุ้น 35.67% นอกจากนี้ รายชื่อผู้ถือหุ้นลำดับที่ 9 คือ บริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งโดย ชวรัตน์ ชาญวีรกูล บิดาของอนุทิน ชาญวีรกูล
ทั้งนี้ กัลฟ์ถูกตั้งข้อสังเกตว่าสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกรณีหุ้นไอทีวี เพราะถูกมองว่าเป็นบริษัทที่ถือหุ้นใหญ่สุด (41.19%) ในอินทัช ที่ถือหุ้นใหญ่ในไอทีวีอีกที ซึ่งการตั้งข้อสังเกตของประชาชนได้สร้างผลกระทบให้ราคาหุ้น GULF ราคาดิ่งลงเมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน)
นอกจากการถือหุ้นใหญ่ในอินทัชแล้ว สำนักข่าวบีบีซีไทยรายงานข้อมูลว่า กรรมการบริษัทไอทีวี 4 คน (จากทั้งหมด 5 คน) ถูกเปลี่ยนหลังจากกัลฟ์เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในอินทัชเพียง 4 เดือนเท่านั้น ซึ่ง 4 คนนี้ เดิมมีตำแหน่งบริหารในอินทัช ที่ไม่ได้ถือครองหุ้นของไอทีวีแต่อย่างใด
การเปลี่ยนตัวกรรมการบริหารไอทีวีหลังได้ถือหุ้นใหญ่เพียงไม่นาน เป็นอีกหนึ่งจุดที่ทำให้ประชาชนตั้งข้อสังเกตว่า กัลฟ์เชื่อมโยงกับคดีหุ้นสื่อไอทีวีหรือไม่ อย่างไร
- ก้าวไกลมีนโยบายพลังงานไฟฟ้าอย่างไร
เมื่อบริษัทกัลฟ์ถูกเชื่อมโยงเข้ากับคดีนี้ ก็ทำให้ประชาชนตั้งคำถามถึงนโยบายของพรรคก้าวไกลที่อาจมีผลต่อกลุ่มทุนด้านพลังงานของประเทศไทย เพราะพรรคก้าวไกลเคยวิจารณ์การจัดการพลังงานที่เอื้อกลุ่มทุนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ
โดยเฉพาะเรื่องค่าไฟ ก้าวไกลเขียนบนเว็บไซต์นโยบายว่า ที่ราคาค่าไฟแพง เพราะรัฐบาลเดิมอนุมัติสัมปทานโรงไฟฟ้าให้กับทุนใหญ่พลังงาน จนประเทศไทยผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการใช้ถึง 60% แต่ประชาชนต้องจ่ายค่าบริการให้กลุ่มทุนพลังงานเพราะรัฐบาลทำสัญญาประกันกำไรไว้ เท่ากับว่า ประชาชนต้องแบกรับ ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ หรือค่ามีโรงไฟฟ้าเกินความต้องการ
จึงเป็นที่มาของการหาเสียงช่วงเลือกตั้งว่า จะลดค่าไฟให้กับประชาชนอย่างน้อย 70 สตางค์/หน่วย (เฉลี่ยบ้านละ 150บาท) โดยปรับนโยบายด้านพลังงาน เช่น ให้ก๊าซจากอ่าวไทยขายให้โรงไฟฟ้าก่อนโรงงานอุตสาหกรรม หรือขายก๊าซให้โรงงานอุตสาหกรรมในราคา LNG เพื่อให้ก๊าซจากอ่าวไทยราคาถูกกว่าป้อนโรงไฟฟ้าได้มากขึ้น และจะเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับสัมปทานทุนใหญ่พลังงานใหม่ เพื่อลดต้นทุนที่เกิดจากค่าความพร้อมจ่าย
ก้าวไกลยังเสนอนโยบาย ‘เปิดตลาดซื้อ–ขายไฟฟ้าเสรี’ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งด้วย ซึ่งคือการเปิดตลาดแข่งขันเสรีค้าไฟฟ้า ปลดล็อกให้ประชาชนเลือกซื้อแผนการใช้ไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตหลายราย (เหมือนเลือกแพ็คเกจโทรศัพท์) และยกเลิกการที่ กฟผ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว เพื่อลดค่าไฟและป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน
มหากาพย์ปลุกผีไอทีวีจะจบลงอย่างไรก็ยังไม่อาจทราบได้ คงต้องลุ้นและติดตามกันต่อไปนะ ว่าท้ายที่สุดจะจบลงอย่างไร หรือพิธาจะรอดคดีนี้หรือไม่
อ้างอิงจาก
election66.moveforwardparty.org
election66.moveforwardparty.org (2)